วิถีแห่งการบรรลุธรรม



เริ่มต้นด้วยคำว่า  "ง่าย" แล้วหยุดกับนิ่งอย่างสบายๆ..แค่นี้จริง ๆ

ศิลปะการต่อสู้ เคล็ดลับสำคัญของแต่ละสำนักอยู่ที่ท่าไม้ตาย ซึ่งกว่าจะได้ท่าไม้ตายแต่ละท่ามา นักสู้ทั้งหลายล้วนต้องผ่านการฝึกฝนที่ผาดโผน ทรหด อดทน จนช่ำชอง ต่างจากศิลปะแห่งการบรรลุธรรม ซึ่งมีเคล็ดลับที่สำคัญคือ  ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่นั่งเฉย ๆ ทำใจโล่ง ๆ ว่าง ๆ ที่ศูนย์กลางกาย แค่ว่างได้ นิ่งได้ ก็สามารถกุมชัยชนะแห่งการเข้าถึงความสุขภายในได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งเคล็ดลับหลักวิชชานี้ เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างง่าย ๆ และเมื่อหลาย ๆ คนนำไปปฏิบัติ ก็สามารถที่จะบรรลุสู่จุดมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรมได้จริง ๆ ดังเรื่องราวตัวอย่างของพระภิกษุธรรมทายาทเหล่านี้...

พระธรรมทายาทยงยุทธ  คุณาธาโร

ตอนอายุ ๒๑ ปี อาตมาเคยบวชแล้ว ๑ ครั้ง ตอนนั้นสวดมนต์ทำวัตรไม่เคยขาด ออกรับกิจนิมนต์อย่างสม่ำเสมอ และยังช่วยหลวงพ่อดูแลรักษาวัด อาตมาบวชอยู่เกือบ ๕ พรรษา ก็มีเหตุให้ต้องลาสิกขา แต่บุญที่จะได้บวชอีกก็ยังพอมี เพราะเมื่อปีที่แล้ว แม่ชีที่อยู่ข้างบ้านเห็นอะไรในตัวอาตมาสักอย่าง จู่ ๆ ก็มาบอกให้บวช แล้วยังบอกอีกว่าถ้าไม่บวชต้องตายไม่ดีแน่ ๆ แล้วโยมแม่ก็อยากให้อาตมาบวชแบบไม่ต้องสึกด้วย ซึ่งโยมป้าก็อาสาจะดูแลโยมแม่ให้ แถมยังบอกอีกว่า ถ้าบวชได้ตลอดก็บวชไปเลย ป้าไม่ทิ้งแม่หรอก จึงตัดสินใจเข้ามาบวชในโครงการ


“ ตอนแรก ๆ ที่เข้าโครงการ ยอมรับว่าท้อ เพราะกฎเยอะ ทำอะไรต้องเป๊ะทุกอย่าง แต่พอทำไปเรื่อย ๆ และได้นั่งสมาธิมากขึ้น ก็เริ่มดีขึ้น แต่ตอนแรกนั่งได้อย่างมาก ๒ นาที ก็เมื่อยแล้ว แต่ก็พยายามนั่ง และเริ่มรู้สึกแปลก ๆ เพราะมักจะเห็นแสงแว็บ ๆ เหมือนคนส่องไฟฉายเป็นประจำ บางทีก็รู้สึกวูบ ๆ บางทีก็รู้สึกโล่งมาก โล่งเหมือนไม่มีใครอยู่ด้วยเลย เป็นอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง รู้สึกว่าตัวเองนั่งดีมาก แล้วก็มีอาการเหมือนตกจากที่สูงเป็นพัก ๆ พอตกครั้งที่ ๔ ก็เหมือนมีอะไรมาไต่ยิบ ๆ อยู่ตรงช่วงหน้าผาก พอไต่ลงมาจนถึงเพดานปากก็รู้สึกเย็น ๆ แล้วก็เห็นเป็นเม็ดแสงกลมเล็ก ๆ ตอนนั้นใจเต้นแรงมาก แต่ก็ทำว่าง ๆ นิ่ง ๆ รู้อีกทีก้อนแสงเล็ก ๆ ก็หล่นตุ้บลงที่กลางท้องแล้ว ก็มีแสงสว่างวาบขึ้นมาเลย

“ ตอนนั้นในท้องเย็นมาก ตัวก็เบาโล่ง ๆ ไม่คิดอะไร แล้วก็เห็นอะไรราง ๆ มีรูปร่างคล้ายองค์พระ พอมองเฉย ๆ เหมือนไม่ได้มอง องค์พระก็ชัดขึ้น สวยงามมาก องค์พระใหญ่แบบพอดี ๆ จนตัวอาตมาเข้าไปสวมอยู่ในตัวท่านได้ ตอนนั้นขนลุกไปหมด ปีติใจมากจนน้ำตาไหล พอเห็นองค์พระแจ่ม ๆ ใจลึก ๆ มันก็พูดกับตัวเองซ้ำ ๆ ว่า องค์พระมีจริง ๆ เป็นอย่างนี้เองหรือ อาตมามีความสุขมาก เกิดมาไม่เคยสุขแบบนี้เลย.. ตั้งแต่วันนั้น องค์พระก็อยู่กับอาตมา คลุมตัวไว้ตลอดทุกฝีก้าว บางทีก็มาแบบราง ๆ บางทีก็เห็นชัดมาก แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะตรึกถึงท่านเสมอ และจะอธิษฐานกับหลวงปู่ ขอให้ช่วยให้องค์พระอยู่กับอาตมาตลอดไปด้วย”

พระธรรมทายาทเชิงชาย   ถิรวิริโย

ก่อนมาบวช อาตมามีอาชีพเป็นช่างรับเหมา ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานปูน งานโครงเหล็ก อาตมา ทำได้ทุกชนิด ช่วงประมาณปี ๒๕๕๔ อดีตเทพธิดาข้างกายได้เสียชีวิตลง ทำให้รู้สึกแย่มาก จิตใจว้าวุ่น ทำอะไรไม่ถูก อาตมาเลยหันหน้าเข้าวัด ยึดธรรมะเป็นที่พึ่ง ซึ่งวัดที่อาตมานับถือแบ่งการปฏิบัติออกเป็นสองบัลลังก์ บัลลังก์แรกให้เดินจงกรม บัลลังก์ที่สองให้นั่งสมาธิ รวมแล้วต้องปฏิบัติถึง ๓ ชั่วโมง แต่อาตมาชอบนั่งสมาธิรวดเดียวไปเลยมากกว่า อาตมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้อยู่ช่วงหนึ่ง ก็พอดีโยมพี่ชายมาเล่าเรื่องที่เคยบวชในโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ฟังว่า " ที่วัดพระธรรมกายเขาฝึกพระเหมือนทหารดี ๆ นี่แหละ มีการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระเบียบทุกอย่างเลย อาตมาฟังแล้วจึงตัดสินใจมาบวช


ตอนบวชใหม่ ๆ อาตมาเคยเห็นองค์พระแก้วใสเข้ามาสัมผัสอยู่ในท้องด้วย แต่ตอนนั้นเห็นแว็บเดียว แค่ชั่วช้างสะบัดหู พอปฏิบัติมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นดวงแก้วเปล่งแสงได้บ้าง ซึ่งเวลาอาตมาฟังหลวงพ่ออ่านผลการปฏิบัติธรรมของพระธรรมทายาทศูนย์อื่น ฟังไปก็จะตรองตามว่าแต่ละขั้นแต่ละตอน ท่านทำกันอย่างไร ความเข้าใจมันก็ค่อย ๆ แตกแขนงออกไป พอมานั่งตามอย่างไปเรื่อย ๆ สมาธิก็ดีขึ้น โดยเวลานั่งอาตมาจะหายใจลึก ๆ ยาว ๆ ก่อน แล้วก็ใช้จิตสำนึกจับองค์พระประธานที่อยู่บนหิ้งพระ เอาท่านมาไว้ในจิตเราที่ศูนย์กลางกาย แล้วก็ค่อย ๆ มองไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับภาวนา "สัมมาอะระหัง" ไปด้วย สักพักจะรู้สึกว่าจิตมันว่างมาก ว่างเหมือนตัวเราไม่มีน้ำหนัก แล้วก็คล้าย ๆ จะตกอะไรสักอย่างที่ลึก ๆ ลงไป ใจมันก็หวิว ๆ ตอนนั้นไม่เจ็บไม่ปวด เหมือนทุกอย่างมันลอย ๆ นุ่มนิ่ม

พอจิตว่างจนรู้สึกว่าว่างดีจริง ๆ อาตมาก็เห็นว่าองค์พระที่จับเอาไว้ตั้งแต่แรกมีลักษณะผิดไปจากเดิม คือท่านดูใสแบบโปร่งแสง มีความสว่างนิด ๆ มีเกตุแหลม ๆ อยู่บนเศียรด้วย แล้วท่านก็ใหญ่ขนาดถ้าจับด้วยมือเดียวก็คงจะเต็มฝ่ามือ พอเอาจิตไปจับท่านไว้นิ่ง ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง จิตมันก็ว่างขึ้นไปอีก ต่อมาจึงลองค่อย ๆ นึกให้ท่านขยายกว้างออก ท่านก็ขยายได้ ขยายจนกรอบนอกของท่านเข้ามาสวมกายของอาตมาไว้ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย รู้แต่ว่าตัวเรากำลังนั่งสมาธิ องค์พระก็กำลังนั่งสมาธิ นิ่งอยู่อย่างเดียว สมองก็ว่างเปล่า จิตใจก็ว่างเปล่า เย็น ๆ อยู่ข้างใน ใจก็ชุ่มชื่นตลอดเวลา”


ในทุกครั้งที่เราปฏิบัติธรรม เราต้องเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ คือ หลับตาเบา ๆ เอาใจวางนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วางนิ่ง ๆ เบา ๆ โดยไม่ต้องคิดหรือคาดหวังอะไรทั้งสิ้น เมื่อจิตปราศจากการคาดหวัง ความสมหวังจึงจะบังเกิด และต้องหมั่นตอกย้ำเสมอว่า ธรรมะเป็นของลึกซึ้ง แต่ไม่ยากที่เราจะเข้าถึง โดยเราต้องไม่ทำของง่ายให้เป็นของยาก เพราะถ้าทำอย่างง่าย ๆ จะเข้าถึงธรรมะได้อย่างง่ายดายจริง ๆ ดั่งประสบการณ์ของพระท่านที่ได้เข้าถึงมาแล้ว ซึ่งถ้าอ่านอีกกี่รอบ ๆ เราจะรู้สึกได้ทันทีว่า ทำไมมันช่างง่ายอย่างนี้ ดังนั้น มาเริ่มต้นที่คำว่า “ง่าย” และหมั่นปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องอย่างสบาย กันดีกว่


Cr.  ธัมม์  วิชชา
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๒๑  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๕

เข้าถึงธรรมะได้อย่างง่ายๆ แค่หยุดใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เท่านั้น

เมื่อนึกถึงองค์พระ และมองในกลางองค์พระฯ 
คลิกอ่านผลการปฏิบัติธรรมของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เมื่อดวงจิตสดใส ชีวิตก็ก้าวไปบนถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ทุกอย่างก้าวของผู้มีใจอยู่ในธรรม คือ ย่างแก้วอันเจิดล้ำของชีวิต
พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการพัฒนาจิตให้ใสสว่าง

สมาธิ (Meditation) สิ่งเติมเต็มความสมบูรณ์แบบแห่งชีวิต
ประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก
เข้าถึงธรรมะได้อย่างง่ายๆ แค่หยุดใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เท่านั้น
เมื่อนึกถึงองค์พระ และมองในกลางองค์พระ ก็จะเห็นองค์พระ ที่อยู่ในกลางองค์พระ
วิถีแห่งการบรรลุธรรม วิถีแห่งการบรรลุธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:07 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.