การพัฒนาคนด้วย “ปัญญา ๓ ฐาน”



หลักในการพัฒนาบุคคลในยุคนี้มีอยู่มากมาย และมีการนำเสนออีกหลักหนึ่งโดย ดร.วรพัฒน์ ภู่เจริญ ท่านเสนอวิธีพัฒนาบุคลากรในองค์กรด้วย หลัก "ปัญญา ฐาน" และที่น่าสนใจคือ หลักปัญญา ฐานนี้ ท่านเอามาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา คือเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งรายละเอียดของ ปัญญา ฐาน คือ ฐานกาย เป็นเรื่องของศีล ฐานใจ เป็นเรื่องของสมาธิ และ ฐานที่ ๓ ฐานความคิด เป็นเรื่องของปัญญา

ข้อแรก ศีล (ฐานกาย)  คือเรื่องความมีวินัยทางกายและวาจานั่นเอง เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยากจะใช้คำว่าฐานวินัย ซึ่งคลุมทั้งกายและวาจา  ฐานวินัยนี้ ในแง่ของการทำงานก็คือให้เป็นคนที่มีวินัยในตัวเองและมีความรับผิดชอบ ถ้าในแง่ขององค์กรก็คือเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ เช่น สินค้าที่ผลิตออกมาการันตีคุณภาพได้ ไม่มีการปลอมปน ปลอมแปลง ไม่ทำแบบกรณีที่เอาเมลามีนมาผสมในนมของจีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ ทำแล้ว เสียหายทั้งบริษัทจนถึงกับล้มละลาย เพราะคนไม่กล้าซื้อผลิตภัณฑ์นมจากบริษัทนี้อีกต่อไป และยังเสียหายไปถึงประเทศจีนอีกด้วย จะเห็นได้ว่าหากขาดความรับผิดชอบเมื่อไร ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นจะต้องปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับบุคลากรทั้งบริษัท เพราะบริษัทเกิดมาจากบุคลากรในบริษัทแต่ละคนมารวมกัน ถ้าทุกคนมีวินัย มีความรับผิดชอบในตัวเอง และมีความซื่อสัตย์ บริษัทนั้นก็เป็นที่ไว้ใจได้

ข้อที่ ๒ สมาธิ (ฐานใจ)  คือเรื่องของความเพียรชอบ มีสติชอบ สมาธิชอบ โดยย่อก็คือให้เป็น คนที่ขยันพัฒนาตนเองตลอด เพราะความขยันหรือ ความเพียรชอบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขยายความออกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. สิ่งไม่ดีในตัวเราที่มีอยู่ ให้เลิก ให้ทิ้งไป

๒. สิ่งไม่ดีที่ยังไม่มี ก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

๓. สิ่งดี ๆ ที่ยังไม่มีในตัวเรา ก็ให้พยายามทำให้เกิดขึ้น

๔. สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็ทำให้เจริญก้าวหน้า ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

พูดง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาตนเองนั่นเอง ลดสิ่งไม่ดีแล้วเพิ่มพูนสิ่งดี ๆ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนให้มากขึ้น แล้วก็ต้องมีสติ มีความรู้ตัว และทำสมาธิได้ หัวใจรวมของข้อนี้ก็คือเรื่องสมาธินั่นเอง ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่ฝรั่งสนใจมาก เพราะเขาพบว่า เมื่อนั่งสมาธิแล้ว อะไร ๆ ก็ดีขึ้นมาก เอาใจหยุดนิ่ง ๆ อย่างเดียว ทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งศีล สมาธิ และปัญญา จริง ๆ แล้วก็อยู่ที่ใจนั่นเอง

เคยมีพระภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล บอกว่าวินัยสงฆ์มีเยอะเหลือเกิน เป็นร้อย ๆ ข้อ รักษาไม่ไหว จะไปขอลาสิกขากับพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่า “ถ้าให้รักษาข้อเดียวไหวไหม” พระรูปนั้นกราบทูลว่า “ไหว” "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นให้เธอรักษาใจ เพราะเมื่อเธอรักษาใจของเธอได้ ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง" แล้วพระวินัยทุกข้อจะสมบูรณ์ ท่านก็ตั้งใจรักษาใจของท่านเต็มที่ สุดท้ายก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า การรักษาใจให้สงบ ให้ หยุด ให้นิ่ง เป็นหัวใจของความสำเร็จทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยากมีความก้าวหน้าในชีวิต และบริษัทที่อยากให้บุคลากรมีคุณภาพ ก็ให้พวกเขา นั่งหลับตาทำสมาธิตามหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ แล้วทุก ๆ อย่างจะดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อที่ ๓ ปัญญา (ฐานความคิด) แบ่งได้ ๒ อย่าง

๑. เรื่องความเห็น มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ

๒. เรื่องความคิด มีสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

ความเห็นกับความคิดต่างกันอย่างไร ความเห็นเป็นตัวชี้ทิศ เป็นกรอบว่าเราจะไปในทิศทางไหน ส่วนความคิดเป็นการคิดเรื่องรายละเอียดตามกรอบนั้น ถ้าวางกรอบผิด วางทิศทางผิด เช่น วางทิศทางไว้ว่าจะต้องเป็นโจร พอวางกรอบอย่างนี้แล้ว ความคิดจะเป็นไปในทางที่เป็นโทษหมดเลย เพราะว่าทิศทางผิดตั้งแต่แรก เช่น คิดว่าทำอย่างไรจะไปขโมยพาสเวิร์ด แล้วก็เอาเงินจากบัญชีธนาคารของคนอื่นมาได้ อย่างนี้ยิ่งเก่งเท่าไรก็ตาม ใช้ความคิดมากเท่าไรก็ตาม ก็จะเป็นไปในทางที่ผิดหมดเลย เพราะฉะนั้นต้องมีสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ เป็นการวางกรอบความคิดที่ถูกต้องไว้ก่อน จากนั้นก็ใช้ความคิดที่ถูกต้องเติมเข้าไปในรายละเอียด ทุกอย่างก็จะสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ฐานเรื่องปัญญาต้องประกอบด้วย ๒ อย่าง คือ ความเห็นและความคิด จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์


นี้คือปัญญา ๓ ฐาน หรือการพัฒนาตนเอง ๓ ฐาน ตามหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วจะต้องมีกิจกรรมอะไรมารองรับ จึงจะสามารถพัฒนาทั้ง ๓ อย่างนี้ขึ้นมาได้  สิ่งที่ต้องทำคือ เราจะต้องมีความสม่ำเสมอในกิจกรรมที่สร้างให้เกิดวินัย สมาธิ และปัญญา เราจะพบว่า ตำราบริหารมีมาก แต่ละอย่างที่ยกมาดี ๆ ทั้งนั้น แต่หัวใจคือจะต้องทำอย่างเอาจริงเอาจังและสม่ำเสมอ ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะเกิดผลดี เพราะเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอจะกลายเป็นนิสัย ทั้งนิสัยส่วนตัวและนิสัยขององค์กร เป็นสิ่งที่ทุกคนทำจนคุ้นเคยเป็นอัตโนมัติ ที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กร สมาชิกใหม่เข้ามาก็จะถูกหลอมกลืนเข้าไปสู่วัฒนธรรมนี้ด้วย เมื่อทำจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ

การใช้เรื่องเล่าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ใช้เรื่องเล่าเป็นวิธีการหลักในการเผยแผ่ธรรมะในพระพุทธศาสนา ถ้าใครเคยอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า ทั้งพระวินัยและพระสูตร จริง ๆ แล้วคือประมวลเรื่องเล่านั่นเอง หลักธรรมแต่ละเรื่องจะมีที่มาที่ไป เล่าท้องเรื่องก่อน แล้วก็มาถึงหัวใจคือหลักธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องเล่าจึงมีความสำคัญ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้คนอยากจะทำตาม

ฉะนั้น จะให้ผู้บริหารมาเล่าเรื่องเร้าใจ เพื่อจูงใจให้เกิดพลังทำสิ่งที่องค์กรปรารถนาก็ได้ ให้สมาชิกช่วยกันเล่าก็ได้เหมือนกัน เพราะเรื่องเล่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจะซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเล่าครั้งเดียวแล้วเลิก อะไรจะเกิดขึ้น ก็หวือหวาชั่วคราวแล้วก็หายไป แต่ถ้ามีเรื่องเล่าจากคนนั้น คนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้สม่ำเสมอทุกวัน ก็จะค่อย ๆ ซึมซับจนกระทั่งเป็นนิสัย แล้วจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรขึ้น

หรืออาจจะใช้ระบบการให้คุณให้โทษในองค์กรก็ได้ เพราะระบบการให้คุณให้โทษถ้าหากทำอย่างชัดเจน แล้ววางเป็นกรอบกติกาที่ทุกคนรับรู้รับทราบพร้อมกันว่า ถ้าทำตามทิศทางนั้นจะ ได้ประโยชน์ แต่ถ้าออกนอกทิศทางก็จะเกิดโทษ อย่างนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนอยากจะไปในทิศทางนั้น และจะมีแนวโน้มอยู่ในกรอบขององค์กร

หรือจะอยู่ในรูปแบบของกิจกรรม เพราะถ้าลงรายละเอียดแล้วจะพบว่าการพัฒนาองค์กรมีรูปแบบหลากหลายมาก จะไปออกกำลังกายด้วยกันก็ได้ หรือบางบริษัทโดยเฉพาะของญี่ปุ่นตอนเช้าก่อนเริ่มงาน บางครั้งจะให้พนักงานเต้นแอโรบิกหรือออกกำลังกายร่วมกันสัก ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วก็เริ่มงาน ในภาคปฏิบัติจริง บางทีไม่ใช่เรื่องของศีลล้วน ๆ สมาธิล้วน ๆ หรือปัญญาล้วน ๆ แต่เป็นลักษณะผสม ขอเพียงให้ภาพรวมอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องก็ใช้ได้ แต่ขอให้ทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นนิสัยขององค์กร เป็นนิสัยของสมาชิกในองค์กร แล้วจะเกิดผลดี นี้คือหัวใจของความสำเร็จที่บางครั้งคนมองข้ามไป ถ้าจับหลักตรงนี้ได้แล้ว จะเอาหลักธรรมแต่ละหัวข้อมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และหากเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะพบว่าเวลาไปอ่านตำราบริหารหรือตำราพัฒนาบุคลากรกี่เล่มก็ตาม ก็จะไม่งง

ให้เราพิจารณาว่า เนื้อหาของกิจกรรมที่จะทำ สอดคล้องกับหลักศีล สมาธิ ปัญญาไหม เป็นการเพิ่มพูนความพร้อมเพรียง ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย รับผิดชอบของสมาชิกในองค์กรนั้น ๆ หรือเปล่า? ทำให้สมาชิกในองค์กรใจนิ่งขึ้น มีความขยันหมั่นเพียร อยากจะพัฒนาตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า? มีสติในการทำงานมากขึ้นหรือเปล่า? ทำให้สมาชิกในองค์กรนั้น มีความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือเปล่า? กรอบความคิดถูกต้องไหม? รู้จักใช้ความคิดให้งานทุกอย่างสำเร็จตามเป้าด้วยหรือเปล่า? หากอยู่ในกรอบนี้ใช้ได้ทั้งนั้นทุกกิจกรรม และให้เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับลักษณะขององค์กร เพราะแต่ละองค์กรมีงานต่างกัน และลักษณะงานของแต่ละหน่วยงานก็ไม่เหมือนกัน ลักษณะของบุคลิกผู้บริหารก็ไม่เหมือนกัน ให้ดูจากสภาพความเป็นจริงว่า ลักษณะงานของบริษัทเป็นอย่างไร สภาพชุมชน แวดล้อมเป็นอย่างไร ผู้คนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารถึงพนักงานมีธรรมชาติอย่างไร กิจกรรมไหนเหมาะกับสภาวะขององค์กรนั้น ๆ ก็เลือกได้เลย ขอเพียงให้ทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ผลดีจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นี้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในภาคปฏิบัติที่ให้ผลดีในปัจจุบันทันตาเห็น แล้วให้ทำไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งใจนั่งสมาธิอย่างจริงจัง ผลดีจะเกิดขึ้นในชาติหน้าด้วย สุดท้ายยังสามารถหมดกิเลสและเข้าพระนิพพานได้

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๙  เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔
การพัฒนาคนด้วย “ปัญญา ๓ ฐาน” การพัฒนาคนด้วย “ปัญญา ๓ ฐาน” Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:28 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.