6 ทักษะการทำงานในอนาคต



เริ่มด้วยที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก่อน ถ้าเราแบ่งพัฒนาการของโลกออกเป็นยุค ๆ จะแบ่งได้ ๓ ยุค คือ ยุคสังคมเกษตรกรรม (คลื่นลูกที่ ๑) ยุคสังคมอุตสาหกรรม (คลื่นลูกที่ ๒) และยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร (คลื่นลูกที่ ๓)

ในแต่ละยุค วิถีชีวิตของคนเราและเรื่องราวต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามอาชีพการงานที่ทำ เช่น ในสังคมยุคเกษตรกรรม อำนาจที่เป็นใหญ่ในยุคนี้ คืออำนาจกำลังกล้ามเนื้อ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจยังไม่ซับซ้อน คนทำไร่ไถนากันเป็นหลัก คนไหนแข็งแรง คนนั้นก็จะทำการงานได้ดี ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรก็เป็นสิ่งที่ใคร ๆ พอจะทำได้ ไม่แตกต่างกันมากนัก ในยุคนี้ฝีมือ ก็มีความสำคัญ แต่ไม่ถึงกับต่างกันมากมาย ประเทศไหนจะเป็นมหาอำนาจก็ต้องมีกำลังกล้ามเนื้อมาก คือมีทหารมาก ๆ มีความแข็งแรงมาก

พอถึงคลื่นลูกที่ ๒ คือยุคอุตสาหกรรม  ยุคนี้มีปัจจัยใหม่แทรกเข้ามาคือเรื่องทุน เพราะว่าใครจะสร้างโรงงานได้ก็ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และถ้าสร้างเสร็จแล้วก็จะมีอำนาจขึ้นมาจากเงิน ยุคนี้ใครมีเงิน คนนั้นก็จะมีอำนาจ สามารถสร้างผลผลิต และคุมกำลังกล้ามเนื้อได้ ประเทศที่มีกำลังทหารเข้มแข็ง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็ไปไม่รอด เหมือนสหภาพโซเวียตที่เคยเป็นอภิมหาอำนาจของโลกคู่กับอเมริกา พอเศรษฐกิจไปไม่ไหว ยังต้องแตกออกเป็น ๑๕ ประเทศโดยไม่ต้องรบกับใครเลย

แต่พอถึงคลื่นลูกที่ ๓ คือยุคข้อมูลข่าวสาร ก็เกิดอำนาจใหม่อีกอำนาจหนึ่งขึ้นมา คืออำนาจของความรู้ จริง ๆ แล้วในแต่ละยุค เช่น ในยุคสังคมเกษตรกรรม เงินทุนก็มีความสำคัญ แต่พอถึงยุคอุตสาหกรรม ความสำคัญของเงินทุนเพิ่มมากขึ้น ความสำคัญของความรู้ก็เพิ่มขึ้น แต่ทุนยังเด่นอยู่ ใครมีทุนก็จ้างคนมีความรู้มาทำงานได้ แต่พอถึงยุคข้อมูลข่าวสาร ความสำคัญของความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าความรู้มีความโดดเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ผู้ที่ยังไม่มีเงิน ยังไม่มีทุน แต่มีความรู้ สุดท้ายก็จะสร้างทุนได้ แล้วทุนก็จะสร้างอำนาจ

อย่างเช่นบิลล์  เกตส์ หรือคนที่ตั้งกูเกิล (Google) ขึ้นมา เริ่มต้นไม่มีเงินแต่มีความรู้ เขาเอาความรู้ไปสร้างธุรกิจจนกระทั่งรวยขึ้นมา พอรวยแล้วก็มีอำนาจ น้ำหนักคำพูดก็ดังขึ้นในสังคมของประเทศนั้น ๆ หรือสังคมโลก บางคนก็ก้าวเข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง ไปสู่ความมีอำนาจในการปกครอง โดยอาศัยฐานความรู้และเงินทุนที่เกิดขึ้น


ถามว่าทำไมความรู้ถึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ในยุคข้อมูลข่าวสาร สาเหตุเป็นเพราะที่มาของความรู้มีมาก คนในยุคก่อนจะมีความรู้ได้ต้องอาศัย คุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ คอยสอนให้ หรือไปเรียนหนังสือที่วัด เป็นต้น แหล่งความรู้ในชุมชนมีจำกัด พอยุคอุตสาหกรรมก็มีโรงเรียนเกิดขึ้น มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น ที่มาของความรู้ก็เป็นระบบมากขึ้น แต่พอมาถึงยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน แค่เราเปิดวิกิพีเดีย (Wikipedia) เปิดอินเทอร์เน็ต ความรู้เต็มไปหมด จะอ่านหนังสือกี่ร้อยกี่พันล้านเล่มมีอยู่ในนั้นหมด จะเป็นตัวหนังสือ ภาพวิดีโอ หรืออยากจะเห็นแผนที่โลก ไม่ต้องมานั่งกลิ้งลูกโลกดูอย่างสมัยก่อน เพราะกูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) พาไปเห็นทั่วโลก จะพลิกดูประเทศไหนก็ได้ จะโฟกัสเข้าไปขยายจนถึงขนาดเห็นตึกรามบ้านช่องก็ยังได้ จะไปดูเขื่อนก็ได้ เห็นของจริงที่ถ่ายจากดาวเทียมลงมาทั้งหมด ฉะนั้นจะเห็นว่าแหล่งข้อมูลเยอะมาก ทำให้แต่ละคนมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เพิ่มศักยภาพของตัวเองได้แตกต่างกันมาก คนไหนรู้จักหาความรู้ ศักยภาพตัวเองก็จะเพิ่มมากขึ้น และพอมีความรู้แล้ว ช่องทางการถ่ายทอดออกไปก็มาก

ในยุคเกษตรกรรม หนังสือพิมพ์ก็ไม่มี วิทยุ โทรทัศน์ก็ไม่มี การถ่ายทอดความรู้ต้องใช้วิธีพูดเท่านั้น จะเขียนหนังสือก็ยังไม่มีโรงพิมพ์ ต้องเขียนทีละหน้า แล้วก็เอาไปลอกทีละหน้า กว่าจะลอกได้ ๑๐ สำเนาก็หมดเวลาแล้ว หรือถ้าอยากจะพูด ก็ไม่มีไมโครโฟน พูดแล้วคนฟังก็ฟังได้แค่กลุ่มเดียว เพราะฉะนั้นความรู้จึงขยายออกไปถึงคนอื่นได้อย่างจำกัด  แต่ในยุคปัจจุบันแค่เขียนเว็บบล็อก (Web Blog) ขึ้นมา ถ้าทำดี ๆ ก็มีคนมาดูเป็นแสนเป็นล้านคน หรือจะเขียนบทความไปลงในสื่อต่าง ๆ ก็ได้ จะพิมพ์เป็นเล่มเองก็ได้ ถ้าเขียนดี ๆ ขนาดเป็นเบสต์เซลเลอร์ (Best Seller) พิมพ์เป็นพันเป็นหมื่นเล่มก็ยังได้ ช่องทางที่เราจะเอาความรู้ ความคิดเห็นของเราออกไปสู่สาธารณะมีมาก บทบาทของความรู้จึงสำคัญมากขึ้น ๆ ในยุคปัจจุบัน พร้อม ๆ กับเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น เขาจึงกล่าวว่า ทักษะของนักทำงานที่ดีในโลกยุคปัจจุบันควรจะมี ๖ ข้อ คือ ๑. อ่าน ๒. ฟัง ๓. คิด ๔. พูด ๕. เขียน ๖. ทำ

๒ ข้อแรกเป็นที่มาของความรู้ คืออาศัยการฟังกับการอ่านเป็นการรับข้อมูลเข้ามา ข้อ ๓ รู้จักคิด รู้จักตรึกตรอง คือรู้จักย่อยสิ่งที่อ่านและฟังด้วยการคิด ข้อที่ ๔ และ ๕ คือ การถ่ายทอดความรู้ออกไปด้วยการพูดและการเขียน ข้อสุดท้าย คือการลงมือทำ รวมเป็น ๖ ทักษะ

ความจริงยังมีทักษะอีกหลายอย่าง เช่น ทักษะในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น และเนื่องจากตอนนี้มีข้อมูลให้รับรู้มากมาย อย่างข้อมูลในอินเทอร์เน็ตใช้เวลาหมื่นปีก็อ่านไม่หมด ในแต่ละวันยังมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นมาตลอด เราจึงต้องมีทักษะในการเลือกรับข้อมูลด้วย เพราะเรามีเวลาจำกัด อย่าไปเสียเวลากับข้อมูลแบบแฟชั่นที่ไม่นานก็เชย ข้อมูลจำพวกนี้ แค่กวาดสายตาผ่านไปให้พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมก็พอ แต่เรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ คือข้อมูลที่จะ ทำให้เข้าใจคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกว่าขณะนี้ กำลังเกิดอะไรขึ้น หรือทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา ปรากฏการณ์อย่างนี้จะทำให้เกิดอะไรในอนาคต เมื่อใช้ความคิดแล้วก็จะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้เรามีข้อมูลมากกว่าคนอื่น ถึงคราวจะทำงานก็จะได้เปรียบ


เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักเลือกรับข้อมูลให้ดี แล้วอย่าไปแยกกระบวนการอ่าน การฟัง กับการคิด ออกจากกัน จริง ๆ แล้วทั้งหมดต้องต่อเนื่องกัน คือ ระหว่างที่รับข้อมูลเราต้องคิดไปด้วย ตรงนี้เขาว่าอย่างนี้จริงหรือเปล่า และนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่าในใจเราทันที คำถาม ๒ คำถามที่ควรมีในขณะที่รับข้อมูล คือ

1.    Why? ทำไมถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นการสาวไปหาเหตุ

2. What will happen? สิ่งนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคต คือเห็นอย่างนี้แล้ว พยากรณ์อนาคตได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าเรามีคำถาม ๒ คำถามนี้อยู่เสมอ จะทำให้เราได้ฝึกคิด แล้วอย่าเชื่อข้อมูลที่เขาให้ทั้งหมด เพราะเราจะถูกเขาชักจูงได้ง่าย ถ้าเราจะเป็นนักทำงานที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ จะต้องสามารถแยกแยะข้อมูลได้ เมื่อรับข้อมูลมาแล้ว ก็ต้องรู้จักย่อย แล้วเอาข้อมูลใหม่ไปสัมพันธ์กับข้อมูลเก่า หากเรามีการคิดและเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว จะทำให้กระบวนการรับข้อมูลโดยการอ่านหรือการฟัง กับกระบวนการย่อยข้อมูลในการคิดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน พอเราเข้าใจอะไรกระจ่างแล้ว ถึงคราวจะถ่ายทอดออกไป ก็จะถ่ายทอดได้ค่อนข้างเป็นระบบ โดยอาศัยการเขียน เป็นการฝึกจัดลำดับความคิด บางคนเวลาพูดสับสน แต่เวลาเขียนความคิดจะเป็นระบบขึ้น และช่วยให้การพูดดีขึ้นด้วย นั่นคือการฝึกทักษะในการถ่ายทอดความรู้ของเราไปถึงบุคคลอื่น ให้เขาเข้าใจความคิดของเรา

ขอฝาก Knowledge Worker นักทำงานในยุคใหม่อีกข้อ เป็นข้อที่สำคัญและไม่ได้กล่าวไว้ในตำรา คือในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ มีข้อมูลมาถึงเราเยอะมาก ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดี เราจะถูกคลื่นข้อมูล ข่าวสารท่วมจนจมหายไปเลย เราจะรู้สึกสับสน เครียดและล้า เพราะมีเรื่องราวมากมายเข้ามา ฉะนั้น เราต้องมีทักษะอีกหนึ่งข้อ คือหยุดคิด รถยนต์ถ้าวิ่ง ๒๔ ชั่วโมงไม่พักเลย ประเดี๋ยวเครื่องก็ร้อนจัดจนกระทั่งดับไปเลย ตัวเราก็เหมือนกัน ถ้าคิดนั่นคิดนี่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็แย่ ต้องรู้จักพักใจบ้างด้วยการทำสมาธิ หยุดความคิด วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกา


หลวงพ่อธัมมชโย เคยพูดเป็นข้อคิดไว้ว่า "คิดอะไรไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบ แล้วจะพบทางออก" นี่คือทักษะที่ Knowledge Worker นักทำงานในยุคปัจจุบันจะต้องมีให้มาก ๆ เพราะจะทำให้ใจสงบและชีวิตมีความสุข ขณะเดียวกันประสิทธิภาพของงานก็จะดีขึ้นไปด้วย คือได้ทุกอย่าง ทั้งตัวเรา งาน และครอบครัว อีกทั้งผู้คนรอบตัวเราก็จะสบายใจและมีความสุขไปด้วย

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๑  เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
6 ทักษะการทำงานในอนาคต 6 ทักษะการทำงานในอนาคต Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:49 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.