อุฏฐานสูตร : ว่าด้วยผลแห่งความหมั่นเพียร


อุฏฐานสูตร : ว่าด้วยผลแห่งความหมั่นเพียร
หลวงพ่อทัตตชีโว
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕



วันนี้ หลวงพ่อมีเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการดําเนินชีวิตของพวกเรา ซึ่งเรื่องนี้หลวงพ่ออ่านมาเป็นสิบปี เพิ่งเข้าใจ และถ้าพวกเราเข้าใจเรื่องนี้ เวลามองเรื่องอะไรในโลกก็จะมองทะลุหมด เข้าใจความเป็นไปของชีวิตและความสุขความทุกข์ของคนในโลกนี้

ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องให้ความสังเกตและสนใจมากๆ ด้วยเหตุนี้เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจเรื่องการประสบความสําเร็จในโลกนี้ยิ่งขึ้น วันนี้หลวงพ่อจึงขอนําเรื่องจากพระไตรปิฎกชื่อ อุฏฐานสูตร มาฝากพวกเรา

เรื่องนี้ว่าด้วย ผลแห่งความหมั่นเพียร ทั้งในเรื่องทํามาหากิน และการสร้างบุญกุศล ตลอดจนผลแห่งความหมั่นเพียรทั้งสองอย่าง เมื่อปฏิบัติแล้ว ทําให้สัตวโลกผู้บังเกิดเป็นคนในโลกนี้ เมื่อละโลกไปแล้วมีที่ไปอยู่ ๔ แห่ง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จําพวกมีปรากฏอยู่ในโลก คือ
๑. บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม
๒. บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรมแต่ไม่ดํารงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร
๓. บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร และดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม
๔. บุคคลผู้ไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร และไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม

ข้อที่ ๑ บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม
หมายความว่า คนในโลกส่วนมากเขายังไม่รู้เรื่องบุญเรื่องบาป จึงเชื่อว่าการดํารงชีวิตอยู่นี้ ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงเท่านั้น ซึ่งความจริงก็มีส่วนถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด

เรามักจะได้ยินบทสรุปทํานองนี้จากผู้ที่ประสบความสําเร็จในชีวิตบ้าง คนใหญ่คนโตในบ้านเมืองบ้าง เขามักจะใช้คําพูดว่า ที่ตั้งเนื้อตั้งตัวอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอาศัยหนึ่งสมองสองมือ หรือหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นต้น

พูดง่ายๆ คนในโลกนี้พวกหนึ่งไม่ค่อยได้ทําบุญข้ามชาติมา เพราะไม่รู้จักเรื่องบุญบาป เมื่อภพชาติที่แล้วดํารงชีวิตด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างเดียว เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่พระพุทธศาสนาไปไม่ถึง จึงไม่รู้จักเรื่องบุญบาป ผลจากการประพฤติอย่างนั้น เกิดมาในชาตินี้เลยได้นิสัยขยันติดตัวข้ามชาติมา แต่เรื่องบุญ เขาไม่รู้จัก

ใครที่เคยไปเที่ยวประเทศที่เจริญมาแล้วจะพบว่า บ้านเมืองของเขาเจริญ แต่ทุกคนก็ทํางานชนิดไม่ได้พัก อาบเหงื่อต่างน้ำมาเหมือนกัน แต่เนื่องจากขยันมาต่อเนื่อง จึงประสบความสําเร็จในชีวิตและรังเกียจความชั่ว บุคคลเหล่านี้จึงมองโลกว่า คนดีคือคนที่ไม่ทําความชั่ว แต่ทําความดีด้านโน้นด้านนี้ ไม่จําเป็นต้องสร้างบุญกุศล

จากตรงนี้เวลาพระภิกษุไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแถบยุโรปหรืออเมริกา ถ้าไม่มีชาวเอเชียนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ในย่านนั้น เราพบว่าการเผยแผ่ทําได้ยาก เพราะขาดกองเสบียงสําหรับคนต่างชาติ ถ้าพระบอกให้รักษาศีลและนั่งสมาธิ เขาปฏิบัติตาม แต่ถ้าให้เขาทําทาน เขาไม่ทํา เพราะไม่รู้จักเรื่องบุญ

ข้อที่ ๒ บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม แต่ไม่ดำรงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร
หมายถึงพวกเทวดาทั้งหลาย เขาไม่ต้องทํามาหากิน แต่อยู่ได้ด้วยอํานาจบุญเก่าของเขา เลยไม่ต้องทําความเพียรอะไร

ข้อที่ ๓ บุคคลผู้ดํารงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร และดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม
หมายถึง มนุษย์ที่ทั้งขยัน และประสบความสําเร็จในชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ หรือเกิดมาก็มียศตําแหน่งมารอ

บุคคลเหล่านี้ ไม่ต้องประกอบธุรกิจการงานอะไรหนักหนาสาหัส แต่เมื่อถึงคราวไปหยิบไปจับอะไร สําเร็จเป็นอัศจรรย์ไปหมด

บุคคลประเภทนี้ เมื่อภพชาติที่แล้วขยันศึกษาหาความรู้ ต่อมาขยันทํามาหากิน และขยันสร้างบุญกุศลไปด้วย

หลวงพ่อมาได้คําตอบตรงนี้เองว่า ทําไม แผ่นดินไทยนี้ ชาวบ้านทั้งหลายก็ไม่ได้ฉลาดอะไรนัก แต่กลับมีความอุดมสมบูรณ์มาก

ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้เกิดจากผลทานของผู้ที่ขยันหมั่นเพียร และขยันทําบุญนั่นเอง และอีกพวกหนึ่งเกิดจากผลทานของผู้ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องบุญกุศล แต่ก็ทําบุญตามเขาไป ผลออกมาจึงมีสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออํานวยต่อการทํามาหากิน

กลุ่มที่ ๔ บุคคลผู้ไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร และไม่ดํารงชีพด้วยผลแห่งกรรม
หมายถึง พวกสัตว์นรกนั่นเอง พวกนี้ไม่ต้องขยัน บุญไม่ต้องทํา เช่นไม่ต้องอยากกิน เดี๋ยวก็มีนายนิรยบาลนําน้ำทองแดงมากรอกปาก มีหอกดาบมาแทงบ้าง มีเครื่องทัณฑกรรมสารพัดมาทรมานบ้าง พวกนี้อายุยืนด้วยผลของบาป กว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นคนก็ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก

พวกเราที่มาทําบุญนี้ต้องบอกว่ามีวาสนา วนเวียนอยู่ในกลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๓ หลวงพ่อก็ขออนุโมทนาด้วย

สุดท้ายนี้ หลวงพ่อขอฝากข้อคิดไว้ให้พวกเราว่า เมื่อเราเข้าใจเรื่องผลของความขยันทํามาหากิน และความขยันสร้างบุญกุศลแล้ว พวกเราก็ควรจะคิดคํานึงให้เยอะๆ ว่า เราจะทําอย่างไร จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลบุญของเราให้เต็มที่ ให้สมกับที่เราเกิดมาในชาตินี้ ตั้งแต่ทําบุญรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี

ปู่ ย่า ตา ทวด ท่านให้ข้อคิดในลักษณะบุญรายวันว่า “เช้าใดยังไม่ได้ทําทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน คืนใดยังไม่ได้ทําภาวนาคืนนั้นอย่าเพิ่งนอน”

บุญรายสัปดาห์ ให้คิดว่า แต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไป เราน่าจะมีบุญอะไรที่ใหญ่ๆ เกินกว่าที่จะทําในรายวัน ให้สมกับว่า ๗ วันที่แล้วเราใช้เสบียงไปมาก น่าจะต้องเพิ่มบุญพิเศษขึ้นมาเป็นการฉลองหรือให้ของขวัญกับตัวเอง

จากนั้นก็ไล่ลําดับต่อไปว่า

ครบ ๑ เดือน ควรจะได้ทําบุญใหญ่อะไรบ้าง
ครบ ๑ ปี ควรจะได้ทําบุญใหญ่อะไรบ้าง
ถึงวันเกิดเราควรจะมีบุญอะไรพิเศษๆ ให้กับตัวเองบ้าง

เพราะฉะนั้น เรื่องของการขยันทําบุญ ควบคู่กับการขยันทํามาหากินนี้ พวกเราต้องคิดกันให้รอบคอบ คิดกันเป็นทีม คิดกันให้เป็นนิสัยติดตัวข้ามชาติ เพราะปัจจุบันเราอยู่ในฐานะบุคคลประเภทที่ ๓ คือใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยผลแห่งความหมั่นเพียรในชาติปัจจุบัน และอยู่ด้วยผลแห่งกรรมดีที่ทํามาแล้วในอดีตชาตินั่นเอง

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/07/blog-post_57.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/19G5K1Efhea42ytilRFz0AH_vP3D8v_H5/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/03YNB_4601/03YNB_4601.html#p=6

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
อุฏฐานสูตร : ว่าด้วยผลแห่งความหมั่นเพียร อุฏฐานสูตร : ว่าด้วยผลแห่งความหมั่นเพียร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.