หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๓)
ร่องรอยธรรมกายในจีนและยุโรป
ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ
ๆ ทิ้งท้ายไว้ ๒ ประเด็น ในการรายงานผลการทำงาน การศึกษาค้นคว้า
การลงพื้นที่สำรวจและทำงานภาคสนามในการค้นหาแหล่งคัมภีร์โบราณในวาระครบ ๑๐๐
ปีวิชชาธรรมกายว่า จากการทำงานศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายตลอด ๑๗ ปีที่ผ่านมานั้น
สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้ค้นพบว่า
บรรดาหลักฐานธรรมกายไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของจารึกใบลาน หรือคัมภีร์ใด ๆ
ก็ตามที่เกี่ยวข้องนั้นล้วนแต่กล่าวถึง “ธรรมกาย” ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับพระสัพพัญญุตญาณและพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และกล่าวถึงพระธรรมกายในลักษณะที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติทั้งสิ้น¹ ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าข้อสรุปที่ได้จากหลักฐานธรรมกายดังกล่าวนี้ก็ล้วนมีความสอดคล้องกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายด้วยทั้งสิ้น
ทำให้สามารถกล่าวได้อย่างสนิทใจว่า ธรรมกายคือสิ่งที่มีอยู่จริง
ปฏิบัติได้จริงและดีจริง ความรู้เรื่องธรรมกายนี้ย่อมมิใช่ของใหม่
แต่เป็นสิ่งที่มีผู้รู้ผู้ศึกษากันมาอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานมาแล้ว
เช่นเดียวกับการค้นพบร่องรอยหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พระพุทธศาสนาในประเทศจีน ที่พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ นักวิจัยท่านหนึ่งของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย กำลังรวบรวมศึกษาอยู่นั้น ก็มีความคืบหน้าที่น่าสนใจ และช่วยยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่า เรื่องราวของหลักฐานธรรมกายนั้นเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า เป็นเรื่องราวที่ให้คำตอบเชื่อมโยงไปสู่ “พระสัพพัญญุตญาณและพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” และการปฏิบัติ (ธรรม) ทั้งสิ้น ซึ่งไม่แตกต่างไปจากหลักฐานธรรมกายชิ้นต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทยแต่อย่างใดเลย
นักวิชาการนานาชาติด้านพุทธศาสตร์เยี่ยมชมวัดฝอกวงซัน โทรอนโต แคนาดา
|
ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ในช่วงที่เรียนปริญญาโทด้านพุทธศาสตร์ที่สถาบันโซแอส พระเกียรติศักดิ์ได้รับทุนจาก DILA ให้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการแปลคัมภีร์จีน ณ วิทยาลัยศิลปศาสตร์ฝากู่ ไต้หวัน
|
ทั้งนี้
ในระหว่างการศึกษาและการทำวิจัยที่ผ่านมา พระเกียรติศักดิ์ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้า
เข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เข้าไปร่วมศึกษาเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
และมีโอกาสเยี่ยมเยียนหน่วยงานหรือองค์กรที่สำคัญ ๆ
ทางวิชาการและพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ เช่น มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น, วิทยาลัยสงฆ์หังโจว,
สถาบันวิจัยตุนหวง, มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์
เป็นต้น ด้วยความสนใจใฝ่รู้ของท่านดังกล่าวนี้
ทำให้ท่านมีโอกาสได้เก็บเล็กผสมน้อยในเรื่องหลักฐานธรรมกายเพิ่มขึ้น ๆ
อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลถึงการสรุปผลการวิจัยในการศึกษาระดับปริญญาโท
และการทำวิจัยในระดับที่สูงขึ้นในปัจจุบันด้วย
วิทยาลัยสงฆ์หังโจว ประเทศจีน |
สิ่งที่พระเกียรติศักดิ์ได้ค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เช่น ในงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการทำสมาธิในคัมภีร์จีนยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๐” ซึ่งได้คะแนนในระดับยอดเยี่ยม (Distinction) นั้น ก็ยังได้ชี้ว่า ในการปฏิบัติธรรมแบบพุทธานุสติอย่างโบราณของจีนในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้สอนให้ผู้ปฏิบัติเริ่มต้นโดยการวางใจไว้ที่กลางท้อง เพราะการเอาใจวางไว้ที่กลางท้องนั้น จะทำให้ผู้ปฏิบัติค่อย ๆ เกิดประสบการณ์ “การเห็นองค์พระผุดซ้อนเป็นชั้น ๆ ได้” ซึ่งตรงกับหลักฐานธรรมกายอื่น ๆ หลาย ๆ ชิ้น ที่ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับธรรมกาย และตรงกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ที่ได้กล่าวถึงเสมอมา
(ภาพที่ ๑-๒) พระเกียรติศักดิ์นำเสนอผลงาน การวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ
เรื่ององค์พระที่กลางกายหมายถึงพระธรรมกายหรือพุทธภาวะภายในกายตน
|
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า ข้อสรุปอีกอย่างหนึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า วิธีการทำสมาธิที่ให้เอาใจวางไว้ที่กลางท้องดังกล่าวนี้ เคยแพร่หลายในแถบเอเชียกลางมาก่อนหากต่อมาได้สูญหายไป ซึ่งก็ตรงกับที่เราเหล่าลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ต่างก็เคยได้ยินมาเสมอว่า วิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันค้นพบมานี้ “เป็นวิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่สูญหายไป ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่ง ที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จะได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้าต่อไป
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย มีดวงปัญญาที่สว่างไสว เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายตลอดไป ได้มาร่วมกันเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย และขอให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามจงทุกประการเทอญ
ขอเจริญพร
------------------------------
¹ดังตัวอย่างที่ชัดเจนจากคาถาอุปปาตสันติ ที่ได้แยกรูปกายและธรรมกายของพระพุทธเจ้าออกจากกันอย่างชัดเจน และขณะเดียวกัน ก็ยังได้กล่าวไว้อีกว่า "พระธรรมกายสามารถเห็นได้ด้วยปัญญา มิใช่ด้วยสายตาสามัญทั่วไป" เป็นต้น หรือในคัมภีร์จตุรารักขา ที่พบคำว่า "ธรรมกาย" ในคาถาที่ ๑๑ ซึ่งเป็นข้อความสรุปถึงการปฏิบัติพุทธานุสติ อันมีเนื้อความว่า ทิสฺสมาโน ปิตาวสฺส รูปกาโย อจินฺตโย อสาธารณญาณฑฺเฒ ธมฺมกาเย กถา ว กาติ ฯ ที่หมายความว่า "แม้พระรูปกาย (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ที่ปรากฏอยู่ก็ยังเป็นเรื่องอจินไตย จะกล่าวไปไยถึงพระธรรมกายของพระองค์ ซึ่งมั่งคั่งไปด้วยญาณ คือ ความรู้ที่ไม่ทั่วไป"
¹ดังตัวอย่างที่ชัดเจนจากคาถาอุปปาตสันติ ที่ได้แยกรูปกายและธรรมกายของพระพุทธเจ้าออกจากกันอย่างชัดเจน และขณะเดียวกัน ก็ยังได้กล่าวไว้อีกว่า "พระธรรมกายสามารถเห็นได้ด้วยปัญญา มิใช่ด้วยสายตาสามัญทั่วไป" เป็นต้น หรือในคัมภีร์จตุรารักขา ที่พบคำว่า "ธรรมกาย" ในคาถาที่ ๑๑ ซึ่งเป็นข้อความสรุปถึงการปฏิบัติพุทธานุสติ อันมีเนื้อความว่า ทิสฺสมาโน ปิตาวสฺส รูปกาโย อจินฺตโย อสาธารณญาณฑฺเฒ ธมฺมกาเย กถา ว กาติ ฯ ที่หมายความว่า "แม้พระรูปกาย (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ที่ปรากฏอยู่ก็ยังเป็นเรื่องอจินไตย จะกล่าวไปไยถึงพระธรรมกายของพระองค์ ซึ่งมั่งคั่งไปด้วยญาณ คือ ความรู้ที่ไม่ทั่วไป"
Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๓)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
05:05
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: