หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๒)
หลักฐานธรรมกายฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้
เป็นฉบับที่ตีพิมพ์ในเดือนที่มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งคือ วันมาฆบูชา
หมายถึง “การบูชาพระในเดือนสาม” ซึ่งความสำคัญของวันมาฆบูชาก็คือการประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่
ครั้งแรก และครั้งเดียวในพุทธันดรนี้ และมีพุทธโอวาทที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ
“โอวาทปาฏิโมกข์” เกิดขึ้นวันนี้ด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับการครบรอบ ๑๐๐ ปี วิชชาธรรมกาย ที่มิได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย
เพราะเป็นวันที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ท่านต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการค้นพบวิชชาธรรมกายที่ห่างหายไปเป็นเวลายาวนานหลังพุทธปรินิพพานให้กลับคืนมา
และการที่พวกเราลูกศิษย์หลานศิษย์ของท่านได้รับโอกาสในการสืบสาน
สืบค้นหลักฐานความรู้อันแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจในปัจจุบันและในอนาคตด้วยนั้น ย่อมถือเป็นมงคลยิ่งของชีวิต
อนึ่ง เมื่อมาถึงวาระครบ ๑๐๐ ปี วิชชาธรรมกายนั้น
สิ่งหนึ่งที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยดำเนินการมาโดยตลอดก็คือ
การรายงานผลการทำงาน การศึกษาค้นคว้า การลงพื้นที่สำรวจ
และทำงานภาคสนามในการค้นหาแหล่งคัมภีร์โบราณควบคู่กันไปด้วยว่ามีความคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง ดังที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปเมื่อคราวที่จัดเสวนาหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณครั้งที่
๓ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ (เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา) ในหัวข้อการบรรยายว่า “ร่องรอยธรรมกายในเส้นทางภูมิศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา”
เพื่อชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในพื้นที่โซนต่าง
ๆ หลายแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และในประเทศไทยของเราเอง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย
(DIRI) ก็ได้ลงพื้นที่ศึกษาสืบค้นไปแล้วมากกว่า ๒๒
ประเทศทั่วโลก และได้พบกับความสำเร็จในเชิงวิชาการมากมาย
ซึ่งในจำนวนนี้ผลงานการสืบค้นหลักฐานธรรมกายที่ผู้เขียนภาคภูมิใจมากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ
ผลงานการศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกายที่พบในประเทศไทยของเราเอง
โดยเราได้พบหลักฐานทั้งที่เป็นศิลาจารึก จารึกลานเงินอักษรตัวเขียนประเภทสมุดไทย
ใบลานรวมทั้งหลักฐานธรรมกายที่ถูกจารด้วยอักษรเขมรโบราณ อักษรขอมไทยอักษรธรรมอื่น
ๆ ทั้งที่เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาไทย
จารึกเมืองพิมาย นโม วุทฺธาย นิรฺมฺมาณ ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย
จารึกพระธรรมกาย พ.ศ. ๒๐๙๒
|
โดยในการค้นพบนั้น
เราพบหลักฐานธรรมกายในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น ๑๔ ชิ้น แบ่งเป็นศิลาจารึกถึง ๖ หลัก
จารึกลานเงิน ๑ ชิ้น คัมภีร์จารึกใบลานหนังสือพับสารวม ๖ คัมภีร์
และในรูปแบบหนังสืออีก ๑ เล่ม ซึ่งไม่ว่าหลักฐานชิ้นใดที่ค้นพบนั้นต่างก็มีเนื้อหาที่เป็นการสรรเสริญคุณลักษณะของพระธรรมกาย
การอธิบายถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างพระสัพพัญญุตญาณ พระปัญญาจักษุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ดังเช่น ใน คาถาอุปปาตสันติ
ที่ได้แยกรูปกายและธรรมกายของพระพุทธเจ้าออกจากกันอย่างชัดเจน
และขณะเดียวกันก็ยังได้กล่าวไว้อีกว่า “พระธรรมกายสามารถเห็นได้ด้วยปัญญา
มิใช่ด้วยสายตาสามัญทั่วไป” เป็นต้น หรือใน คัมภีร์จตุรารักขา
ที่ได้พบคำว่า “ธรรมกาย” ในคาถาที่
๑๑ ซึ่งเป็นข้อความสรุปถึงการปฏิบัติพุทธานุสติ อันมีเนื้อความว่า
ทิสฺสมาโน ปิตาวสฺส รูปกาโย
อจินฺติโยอสาธารณญาณฑฺเฒ ธมฺมกาเย กถา ว กาติ ฯ
ซึ่งหมายความว่า “แม้พระรูปกาย (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ที่ปรากฏอยู่ ก็ยังเป็นเรื่องอจินไตย
จะกล่าวไปไยถึงพระธรรมกายของพระองค์ซึ่งมั่งคั่งไปด้วยญาณ คือ ความรู้ทั่วไป”
คัมภีร์อุปปาตสันติ อักษรธรรมลาว
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติลาว
|
และก็มิใช่เพียงในคาถาอุปปาตสันติหรือในคัมภีร์จตุรารักขาเท่านั้น
ที่มีปรากฏเรื่องราวของธรรมกาย
หากแต่ในคัมภีร์พระธัมมกายาทิที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ดี
หรือฉบับเทพชุมนุมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ก็ดี
ซึ่งนับเป็นคัมภีร์สำคัญฉบับหนึ่งของชาติ ยังปรากฏข้อความสำคัญที่ควรจดจำ ความว่า
อญฺเญสํเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธอติวิโรจติ
ยสฺสตมุตฺตมงฺคาทิญาณํ
สพฺพญฺญุตาทิกํ ธมฺมกายมคฺคํ พุทฺธํ
นเมตํโลกนายกํ อิมํ ธมฺมกาย
พุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ
ปตฺเถนฺเตน ปุนมฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ
คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม ร.๓ วัดพระเชตุพนฯ
|
อันหมายความว่า “เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระอวัยวะทุกส่วนสูงสุด ดุจดั่งประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ
ที่รู้กันว่าพระธรรมกายไม่มีใครจะเป็นผู้นำโลกได้เท่า
ทรงรุ่งโรจน์กว่าเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น พระโยคาวจรผู้มีญาณแก่กล้า
เมื่อปรารถนาจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกถึงซึ่งพุทธลักษณะคือ
พระธรรมกายบ่อย ๆ สิ่งนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงรุ่งเรืองเหนือกว่ามนุษย์และเทวาทั้งปวง
เพราะทรงมีธรรมกาย และพระธรรมกายนี้เองสามารถนำไปสู่พุทธภาวะได้”
คัมภีร์ธัมมกาย อักษรธรรมล้านนา ฉบับวัดป่าสักน้อย เชียงใหม่
ที่มา : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
|
จารึกลานเงินประกับทอง ปัจจยาการและธรรมกาย
ที่มา : วัดพระเชตุพนฯ
|
หรือใน คัมภีร์ธัมมกาย ฉบับวัดป่าสักน้อย ก็ดี คัมภีร์ลานเงิน
ที่ถูกค้นพบจากกรุพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ วัดพระเชตุพนฯ
ที่คาดว่าถูกสร้างขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ดี
ต่างก็มีสาระสำคัญที่ระบุถึงความเชื่อมโยงกันของพระสัพพัญญุตญาณ
และความเป็นอจินไตยของพระธรรมกายทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงคัมภีร์มูลกัมมัฏฐาน
ที่มีไว้เพื่อใช้ในการแนะนำการปฏิบัติกรรมฐานนั้น
ก็ยังมีการกล่าวถึงอานุภาพของพระธรรมกายอันสามารถจะช่วยรักษาอาการผิดปกติได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นอจินไตยทั้งสิ้น โดยสรุปแล้ว หลักฐานธรรมกายที่ทีมงานของสถาบันดีรีร่วมกันค้นพบนั้น
ไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งใดหรือในรูปแบบใดก็ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของธรรมกาย
และอานุภาพอันไม่มีประมาณของธรรมกายทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เสมอเหมือนกันหมด
การที่ผู้เขียนนำพาท่านผู้อ่านย้อนกลับมารำลึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นพบหลักฐานธรรมกายในประเทศไทย
ตามที่ทีมงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้ค้นพบในวาระครบ ๑๐๐
ปีของการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
อีกครั้งหนึ่งนี้เพียงเพราะผู้เขียนต้องการที่จะยืนยันความมีอยู่จริง ดีจริง
ของธรรมกาย ซึ่งมิได้เป็นสิ่งที่เราอุปโลกน์ขึ้นเอง
หากแต่บรรดาหลักฐานในพระพุทธศาสนาอันเก่าแก่ที่บรรพบุรุษชาวพุทธทั่วโลกต่างรังสรรค์ขึ้นไว้ให้เราเห็นมากมาย
ไม่เว้นแม้ในประเทศไทยของเราที่ความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมกายยังไม่สมบูรณ์ ก็ปรากฏว่ามีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่จะช่วยยืนยันความหนักแน่นของหลักฐานธรรมกายต่อไปในอนาคตได้ด้วย
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านมีดวงปัญญาที่สว่างไสว
มีความสมบูรณ์พร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย
เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร)
ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายและได้มาร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏให้พุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้ซาบซึ้งและรักในวิชชาธรรมกายตราบเท่าเข้าถึงที่สุดแห่งธรรม
เทอญ ฯ
ขอเจริญพร
Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๒)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: