หลวงพ่อตอบปัญหา



ถาม : อะไรคือความสำคัญของใจที่ต้องรู้ ?


ตอบ : คนเราประกอบด้วย ๒ ส่วน ส่วนแรก คือส่วนที่เราเรียกว่า ร่างกาย หรือ กาย ในภาษาบาลี อีกส่วนหนึ่ง คือส่วนที่เราเรียกกันว่า ใจ


กายที่เราจับต้องได้นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งอย่างง่าย ๆ เพื่อสื่อสารกันให้พอรู้เรื่องว่า กายนั้นประกอบด้วยธาตุหยาบ ๔ ชนิดด้วยกัน คือ


๑. ธาตุดิน คือ ส่วนที่เป็นของแข็ง ที่มาเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นกระดูกของเรา

๒. ธาตุน้ำ คือ ส่วนที่เป็นของเหลว อยู่ในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำเหลือง น้ำลายหรือเหงื่อก็ถือว่าเป็นส่วนที่เป็นธาตุน้ำ

๓. ธาตุลม คือ ส่วนที่เป็นลมพัดเคลื่อนไหวอยู่ในตัว เช่น เป็นออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ หรือจะเป็นอะไรก็ตามที่พัดอยู่ในลำไส้บ้าง พัดอยู่ในหัวใจบ้าง พัดอยู่ในผิวกายที่ทำให้เราขนลุกขนพองกันบ้าง ก็เป็นส่วนของธาตุลมที่มีอยู่ในตัว

๔. ธาตุไฟ คือ ส่วนที่คนปัจจุบันเขามองว่าเป็นพลังงาน แต่โบราณใช้คำว่าธาตุไฟ เป็นความอบอุ่น เป็นพลังงานที่อยู่ในตัวของเรา


ร่างกายมนุษย์ต้องประกอบด้วย ๔ ธาตุนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ถ้าไม่ได้สัดส่วนกันเมื่อไรจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในร่างกาย สมัยโบราณเวลารักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็อาศัยรักษาโดยการสังเกตธาตุทั้งสี่นี้ว่าธาตุไหนกำเริบ ธาตุไหนหย่อน ธาตุไหนวิปริตไป แล้วรักษาตามอาการ นั่นเป็นการรักษาโรคโดยการปรับธาตุของคนโบราณ ซึ่งช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นสุขมาจนถึงบัดนี้ ไม่สูญพันธุ์ไปก่อน


เมื่อรู้จักกายพอสมควรแล้ว ก็มารู้จักใจกัน พระพุทธองค์ตรัสว่าใจเป็นธาตุละเอียด ตาเปล่ามองไม่เห็น ธาตุชนิดนี้มีความสามารถพิเศษ คือมีอำนาจในการรู้ ชื่อเต็มของใจในภาษาบาลีที่พระพุทธองค์ทรงเรียก คือ วิญญาณธาตุ


วิญญาณธาตุหรือใจอาศัยอยู่ในกายขณะมีชีวิต ถ้ามีแต่กายไม่มีวิญญาณธาตุเรียกว่า ศพ ถ้ามีแต่วิญญาณธาตุร่อนเร่อยู่ไม่มีกายเรียกว่า สัมภเวสีหรือภูตผีปีศาจ ซึ่งแล้วแต่จะเรียกกัน


ทีนี้มาดูลักษณะของใจที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้


อสรีรํ (อะสะรีรัง) ใจไม่ใช่กาย เป็นคนละส่วนกับกาย ไม่มีสรีระหรือไม่มีโครงสร้างที่จับต้องได้


เอกจรํ (เอกะจะรัง) ใจมีลักษณะเป็นดวง เที่ยวไปดวงเดียว เพราะเกิดขึ้นทีละดวง เกิดขึ้นดวงหนึ่งแล้วก็ดับ เวลาจะดับก็เกิดอีกดวงขึ้นมาแทน ต่อเนื่องกันเป็นสาย แต่ละดวงมีอำนาจในการคิด ๑ ดวงก็คิด ๑ เรื่อง เพราะฉะนั้น คนเราในเวลาคิดจะคิดได้ทีละเรื่อง เวลาเราดูทีวี เราเห็นภาพแล้วได้ยินเสียงด้วย เหมือนว่ามันเกิดขึ้นพร้อมกัน ความจริงแล้วใจดวงที่ได้ยินเสียงกับใจดวงที่เห็นภาพเป็นคนละดวงกัน แต่เกิดต่อเนื่องกันรวดเร็วจนกระทั่งเราแยกไม่ออก


เมื่อใจเกิดขึ้นทีละดวง คิดได้ทีละเรื่อง จึงเป็นโอกาสให้เรามีความสามารถที่จะเลือกคิดได้ว่าจะคิดเรื่องดีหรือไม่ดี ซึ่งขึ้นอยู่ที่การฝึกของตัวเรา


คุหาสยํ (คุหาสะยัง) ใจมีถ้ำคือกายเป็นบ้านที่อาศัย ใจต้องมีบ้านอยู่ ไม่ร่อนเร่ อาจจะเที่ยวไปไกล ๆ แม้ตัวนั่งอยู่ที่นี่แต่ใจเที่ยวไปถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว แต่ไปได้เหมือนเรา ปล่อยว่าวไป คือมีสายโยงไว้ ไปไกลถึงไหนก็แล้วแต่ ถึงเวลาแล้วต้องกลับมาบ้าน


ทูรงฺคมํ (ทูรังคะมัง) ใจชอบเที่ยวไปได้แม้ในที่ไกล ๆ ตัวนั่งอยู่นี่ ใจเที่ยวไปถึงบ้านและกลับมาเรียบร้อยแล้ว ไปมาหลายเที่ยวแล้วตั้งแต่เช้า ไม่ว่าจะข้ามเขาหรือข้ามน้ำข้ามทะเลก็ไปได้ แม้ที่สุดจะไปดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ แค่ชั่วแวบเดียว กะพริบตาทีเดียวก็ไป-กลับมาแล้ว


สุทุทฺทสํ (สุทุททะสัง) เห็นใจได้ แต่ว่าทำได้แสนยาก


ทุนฺนิคฺคหํ (ทุนนิคคะหัง) หากคิดเตลิดไปแล้ว ควบคุมใจยาก เมื่อมีอะไรมาแหย่ใจ ยั่วยุใจ ให้เตลิดไปแล้ว ยากที่จะกลับ นี้คือธรรมชาติของใจ


ลหุ (ละหุ) ใจเกิดดับเร็วมาก ท่านใช้คำว่า ลัดนิ้วมือเดียว ใจเกิดดับเป็นล้าน ๆ ครั้งต่อลัดนิ้วมือ คือเร็วจนไม่รู้จะเร็วอย่างไร เร็วจนกระทั่งสังเกตไม่ออก เพราะเกิดดับเร็วเหลือเกิน เท่ากับว่าทุกลมหายใจเข้าออก ใจเรามีเกิด-มีดับตลอดเวลา โดยที่เราเองไม่รู้


ผนฺทนํ (ผันทะนัง) ดิ้นรนอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย มักคิดเรื่องที่ไม่ควรคิดอยู่ตลอดเวลา ใจคิดอยู่กับอะไรได้เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ไปคิดอย่างอื่น คิดเรื่องที่ไม่ควรจะคิด คือคิดหมกหมุ่นในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่น่าใคร่ อยู่ตลอดเวลา


จปลํ (จะปะลัง) ไม่ดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว ชอบเปลี่ยนเรื่อง คิดกวัดแกว่งเหมือนอย่างกับลิง ลิงโดดจากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่งเร็วอย่างไร ใจของเราก็ชอบคิดกวัดแกว่งเหมือนลิงเคลื่อนที่บนกิ่งไม้อย่างนั้น คิดได้เป็นร้อย ๆ เรื่อง แต่ไม่จบสักเรื่องหนึ่ง ผลสุดท้ายเอาดีอะไรก็ไม่ได้


ทุรกฺขํ (ทุรักขัง) รักษาให้มั่นคงได้ยาก


ทุนฺนิวารยํ (ทุนนิวาระยัง) ห้ามได้แสนยาก ใจมักคิดมักเที่ยว ห้ามคิดห้ามเที่ยวได้ยาก


ปภสฺสรํ (ปะภัสสะรัง) มีความสว่างในตัวเอง ใจที่อยู่นิ่ง ๆ จะสว่าง ใจที่วุ่นวาย ฟุ้งซ่านจะมืด


ทนฺตํ (ทันตัง) ฝึกให้ดียิ่งขึ้นได้ ฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด


ลักษณะของใจ ๒ ประการหลังนี้มีคุณค่ามหาศาลและให้คุณประโยชน์กับมนุษย์อย่างยิ่ง ถ้าเราสามารถรักษาความสว่างของใจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะจึงฝึกใจตัวเองได้จนกระทั่งหมดกิเลสมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำความจริงเหล่านี้มาบอกพวกเรา


ต่อไปมาดูโครงสร้างและกลไกการทำงานของใจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้หลวงปู่วัดปากน้ำหรือพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้นำโครงสร้างของใจออกมาให้เราเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าใจมีลักษณะเป็นทรงกลม มีเนื้อเป็นชั้น ๆ ถึง ๔ ชั้นด้วยกัน คือ


เนื้อใจชั้นนอก ทำหน้าที่ รับ

เนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่ จำ

เนื้อใจชั้นที่ ๓ ทำหน้าที่ คิด

เนื้อใจชั้นที่ ๔ ทำหน้าที่ รู้


รับแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดแล้วก็รู้ เมื่อมีภาพมากระทบตา ประสาทตาส่งมาให้ใจชั้นนอกรับเอาไว้ เรียกว่า เห็น เมื่อมีเสียงมากระทบหู ประสาทหูส่งมาให้ใจ ใจชั้นนอกรับเอาไว้เรียกว่า ได้ยิน กลิ่นกระทบจมูก ประสาทจมูกส่งให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า ได้กลิ่น วัตถุมีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อะไรก็ตามที มากระทบลิ้น ประสาทลิ้นส่งให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า ลิ้มรส มีวัตถุมากระทบผิวกายส่วนไหนก็ตาม ประสาททางกายส่งให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า สัมผัส


เนื้อใจชั้นนอกทำหน้าที่รับ หมายถึงรับรู้ รู้สึก เรียกว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คือการรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่มากระทบกับส่วนของกายตามลำดับ


เมื่อเกิดการรับที่เนื้อใจชั้นที่ ๑ แล้วเนื้อใจชั้นที่ ๑ ส่งให้เนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่จำ หรือบันทึกไว้เป็นข้อมูลเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่บันทึกภาพและเสียงเอาไว้ แต่ใจสามารถบันทึกไว้ได้ละเอียดมากกว่า คือบันทึกทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไว้ทั้งหมด


จากเนื้อใจชั้นที่ ๒ ก็ส่งข้อมูลให้เนื้อใจชั้นที่ ๓ เอามาคิด ข้อมูลที่ทยอยส่งเข้ามา ใจนำมาคิดแล้วคิดอีก ในที่สุดกระบวนการก็นำไปสู่ขั้นตัดสินด้วยการส่งให้เนื้อใจชั้นที่ ๔ ตัดสินต่อเรื่องนั้น สิ่งนั้น ว่าเชื่อหรือรู้ว่าเป็นอย่างไร


คุณภาพของการรับมีผลต่อไปอย่างมาก ถ้ารับผิดก็จำผิด จำผิดก็คิดผิด คิดผิดก็จะทำให้รู้ผิด ในทางตรงข้าม ถ้ารับถูกก็จำถูก จำถูกก็คิดถูก คิดถูกก็รู้ถูก แค่ตาของเราถ้าใส่แว่นสีดำเห็นอะไรก็ดำหมด ใส่แว่นสีชาเห็นอะไรก็สีชาหมด ใส่แว่นสีเขียวเห็นอะไรก็เขียวหมด ฤดูแล้ง ฟาร์มไม่มีหญ้าสด ๆ ให้ม้ากิน ต้องเอาหญ้าแห้งให้ม้ากิน ม้าไม่ยอมกินหญ้าแห้ง คนเลี้ยงม้าแก้ปัญหาด้วยการหลอกม้า โดยเอาแว่นเขียวใส่ให้มัน พอเห็นหญ้าสีเขียว ๆ มันเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหญ้าสด เดี๋ยวมันก็ยอมกิน


คุณภาพการรับรู้ของใจก็ถูกย้อมสีได้ เช่น ถ้าร่างกายมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อมีอาการปวดศีรษะ ยามนั้นเชื่อว่าใครจะมาพูดอะไร เสียงในยามปกติที่เคยรู้สึกว่าเพราะแค่ไหนก็ตาม เมื่อได้ยินในเวลาปวดศีรษะไม่มีเสียงไหนเพราะเลย หรือเวลาเมามีใครพูดกับขี้เมารู้เรื่องบ้าง หรือกรณีพื้นใจพื้นนิสัยคนนั้นเป็นคนขี้โลภ เห็นอะไรชอบใจก็คิดจะเอาของเขาไปเป็นของตัวหมด พวกนี้ใจถูกย้อมแบบถาวร เห็นอะไรก็คิดจะโกยเข้าเป็นของตัว เห็นแก่ได้ กินข้าววงเดียวกับคนอย่างนี้อย่าหวังเป็นสุข มีกับข้าวอะไรอร่อยก็ตักเอา ๆ ตามใจ ไม่คิดจะเผื่อแผ่ใคร


พวกขี้โกรธก็เห็นผิดไปอีกแบบ เห็นอะไรขัดหูขัดตาไปหมด โกรธง่าย โมโหง่าย 


พวกขี้หลง พวกนี้ไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ ทำอะไรขึ้นอยู่กับอารมณ์ วันนี้จะเอาอย่างนี้ ก็จะเอาอย่างนี้ ใครจะว่าอะไรก็ไม่ยอม จะเอาอย่างนี้ แต่เมื่อวานกลับว่าอีกอย่าง


พวกขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ใจถูกย้อมสีแบบถาวร เพราะฉะนั้นพูดกับพวกนี้ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง


เมื่อเป็นอย่างนั้นใจก็เลยรับในทางผิด ๆ แล้วก็จำผิด คิดผิด รู้ผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงเป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ในที่เดียวกัน ฟังเรื่องเดียวกัน ก็คิดไม่เหมือนกันหรอก ขึ้นอยู่กับว่าสุขภาพกายเป็นอย่างไร มีสติสมบูรณ์ดีไหม เมาหรือไม่เมา หรือพื้นนิสัยเดิมเป็นอย่างไร


แม้แต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อการรับรู้ของใจ เช่น เวลาเราจะมองภาพอะไรต้องมีระยะพอดี ชิดนัยน์ตาก็มองไม่เห็น ห่างไปก็ไม่เห็น เรื่องเสียงก็ต้องมีช่องว่าง ถ้าลำโพงจ่อหูได้ยินไม่ชัด ต้องห่างในระดับหนึ่งจะได้ยินพอดี ใกล้นักก็ก้องจนไม่รู้ว่าเสียงอะไร ไกลนักก็ไม่ได้ยิน จะต้องมีช่องว่างที่พอดีของมัน เมื่อจะดมดอกไม้ก็เหมือนกัน ต้องมีระยะห่าง เป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัตถุกับประสาทสัมผัส


คุณภาพของใจจึงมีสิ่งที่ต้องระวังเกี่ยวกับใจ คืออันตรายจะเกิดเมื่อใจตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส ใจจะถูกกิเลสบังคับให้คิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด เปลี่ยนเรื่องคิดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งไม่หยุดเลย ทั้งถี่ทั้งเร็ว ทั้งที่เรื่องเดิมยังคิดไม่จบ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อแล้ว ใจจะคิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด ยิ่งเปลี่ยนเรื่องคิดจากเรื่องหนึ่งไปเรื่องหนึ่งถี่เร็วและคิดในเรื่องที่ไม่ควรคิดด้วย ใจจะมืดลง ๆ ล้าง่าย เหนื่อยง่าย แล้วคุณภาพชีวิตของคนคนนั้นจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดีในสังคมไม่ว่าระดับใดก็ตาม จึงจำเป็นต้องสร้างขึ้น หากบรรยากาศสิ่งแวดล้อมสงบเงียบดี ใจจะสดชื่นขึ้นมาเลย มันเป็นของมันโดยอัตโนมัติ


เรื่องสำคัญที่จะต้องรู้อีกประการก็คือ รู้ว่ากิเลสคืออะไร กิเลสเป็นธาตุละเอียดชนิดหนึ่ง เป็นธาตุสกปรก เมื่อเข้าไปอยู่ในใจแล้ว ทำให้ใจเศร้าหมอง กิเลสเข้าไปอยู่ในใจตั้งแต่เกิดเลย เมื่อมีรูป เสียง กลิน่ รส สัมผัส มายั่ว มากระทบเมื่อไร ก็เหมือนกับกวนน้ำที่ตะกอนนอนก้นไปแล้วให้ขุ่น กิเลสจะกำเริบขึ้นมา กำเริบคือทำให้ใจขุ่นมัวมากขึ้น ใจจะเสียคุณภาพการเห็น การจำ การคิด การรู้ พอเสียคุณภาพการเห็น เห็นผิดไปแล้ว ก็จำผิด คิดผิด รู้ผิด เกิดคิดโลภ โกรธ หลงขึ้นมา และตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่ผิด ที่ไม่เหมาะสม จนอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปเลย


นี้เป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยพระองค์เอง แล้วทรงนำมาบอกให้ชาวโลกรู้ว่า กิเลสคือเครื่องทำลายใจของเราได้ เมื่อมันกำเริบขึ้นมาแล้ว ทำให้ใจอ่อนล้า มืดมิด เสียคุณภาพการเห็น จำ คิด รู้ เกิดอาการคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง คิดอิจฉาตาร้อน คิดพยาบาท คิดไม่เข้าท่าทั้งหลาย นี้คือการทำลายใจของกิเลส โบราณเลยอุปมากิเลสเหมือนสนิมใจ เพราะเหล็กแท่งโตเท่าโตก็ถูกสนิมกัดกร่อนทำลายลงได้หมด


กิเลสฝังอยู่ในใจตั้งแต่วันเกิด จากนั้นทำอาการต่าง ๆ ทั้งบีบทั้งคั้นใจ ทั้งหมัก ทั้งดอง ทั้งกัด ทั้งกร่อน จนกระทั่งตาย เหมือนอย่างสนิมพอเกาะเหล็กได้แล้ว ไม่มีเว้นแม้แต่อนุวินาทีที่จะทำลายเหล็ก พอเราตายกิเลสมันไม่ตายตามเรา เราถูกเผาในเชิงตะกอน กิเลสยังฝังค้างอยู่ในใจ ตามไปบีบคั้นใจชาติหน้าต่อไปอีก กิเลสไม่เคยพรากจากใจ ใจจึงคุ้นกับกิเลสเหมือนปลาคุ้นน้ำ หากจับปลาโยนขึ้นมาบนบก มันจะดิ้นสุดชีวิตเพื่อจะกลับลงน้ำ เช่นกันกับคนที่นิสัยไม่ดี จะคุ้นกับกิเลส ถ้าให้เลิกนิสัยอะไรสักอย่างที่ติด จะออกอาการทุรนทุราย อยากกลับไปทำผิด ๆ เหมือนเดิมอีก เพราะใจคุ้นกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำ มันเป็นอย่างนี้


กิเลสทำให้ใจที่ปกติมีความสว่างอยู่ในตัวเกิดความขุ่นมัว มืดมิด เราจึงต้องพยายามรักษาใจให้มีความสว่างอยู่เป็นนิจ แล้วทำอย่างไร ก็ด้วยการทำสมาธิหรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ สัมมา แปลว่า ถูกต้อง สัมมาสมาธิคือสภาพที่ใจตั้งมั่นหยุดนิ่งในศูนย์กลางกาย ไม่ซัดส่ายไปมา การฝึกสมาธิคือการทำให้ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ทำให้ใจหยุดคิดสิ่งที่ไม่เข้าท่า ยิ่งฝึกสมาธิ ใจก็ยิ่งนิ่ง ยิ่งสว่าง ยิ่งแจ่มใส ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งทรงพลัง ยิ่งมีความสว่างมากเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นถูกไปตามความสว่างของใจมากเท่านั้น การฝึกใจให้หยุดนิ่งจะทำให้มีพลังในการทำความดีเพิ่มขึ้น มีแต่ความชุ่มชื่นเบิกบาน เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพการเห็น จำ คิด รู้ของใจขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อใจเห็นถูก จะทำให้เราคิดถูก พูดถูก ทำถูก ทำแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์อทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม เมื่อทราบคุณสมบัติของใจและวิธีปรับปรุงคุณภาพใจเช่นนี้แล้ว พวกเราทุกคนก็ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกสมาธิให้สม่ำเสมอ และฝึกให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book



คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ Photos
  

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***


คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

    คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

      คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๔ (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

      คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
      หลวงพ่อตอบปัญหา หลวงพ่อตอบปัญหา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:07 Rating: 5

      ไม่มีความคิดเห็น:

      ขับเคลื่อนโดย Blogger.