ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๗)
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๗ : แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและการหลุดพ้นในยุคอินเดียโบราณ
คนเราเมื่อตายแล้ว...ไปอยู่พระจันทร์ ??
แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
ซึ่งต่อมาได้ใช้ศัพท์เฉพาะว่า “สังสาระ” (saṃsāra) นั้น มีการทิ้งร่องรอยไว้ในยุคพระเวทบ้าง
แต่เริ่มมาปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงปลายยุคพราหมณะถึงช่วงต้นยุค
อุปนิษัท
ในที่นี้ได้มีการกล่าวถึงว่า
เมื่อมนุษย์เราหลับตาลาโลกนี้ไป ดวงวิญญาณจะไปบังเกิดที่ “พระจันทร์”
จากนั้นดวงวิญญาณจะตกลงมายังโลกมนุษย์อีกครั้งพร้อมกับ “น้ำฝน” และซึมลงไปใน
“ผืนดิน” แล้ว “ธัญพืช” ทั้งหลายก็ดูดซึมดวงวิญญาณนั้นเข้าไป และเมื่อ “บุรุษ” กินธัญพืชนั้นเข้าไป
ดวงวิญญาณก็จะไปอยู่ในกายของบุรุษ ต่อเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับ “สตรี” ดวงวิญญาณนั้นก็จะเข้าไปสู่ครรภ์ของสตรี
นับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่
จากแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดดังกล่าวนี้
แม้จะตอบโจทย์ในเรื่อง “ตายแล้วไปไหน” ก็ตาม แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับ
“เป้าหมายสูงสุดและวิธีการหลุดพ้น” ค้างคาใจให้ผู้คนในยุคนั้นแสวงหาคำตอบกันต่อไป
โมกษะ...หลุดจากสภาวะหนึ่งไปผูกกับอีกสภาวะหนึ่ง
??
ด้วยสาเหตุในข้างต้น
ส่งผลให้พราหมณ์ต้องตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการหลุดพ้นหรือ “โมกษะ” (mokṣa) ให้ได้ จึงได้เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” (Brahman-Ātman) ในเวลาต่อมา
ดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดนี้
เรียกว่า “อาตมัน” ซึ่งบังเกิดจากสภาวะสูงสุดอันเป็นอุดมคติ เรียกว่า “พรหมัน”
หรือ “พระพรหม” ตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั้น “อาตมัน”
หรือสิ่งที่เรียกกันว่า “ดวงวิญญาณ” ก็จะทำหน้าที่ไปเกิดมาเกิดอยู่เรื่อยไป
ยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ต่อเมื่อวันใดที่ “อาตมัน”
ได้กลับไปสู่สภาวะสูงสุดดั้งเดิม คือ “พรหมัน” เมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่า “หลุดพ้น”
หรือ “โมกษะ”นั่นเอง
แต่ทว่าวิธีการเพื่อให้เข้าถึง
“โมกษะ” นั้นควรทำอะไร? และจะอธิบายอย่างไร
เพื่อจะไม่ให้ขัดแย้งกับหลักการดั้งเดิมในเรื่องของการบูชายัญ? เรามาศึกษาร่วมกันในตอนต่อไป...
Cr. เรื่อง : พระมหาดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย
ภาพ : พระณัฏฐวัฒน์ ณฏฺฐิโต (เปรม)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๗ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๗ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๗)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:22
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: