ทำไม..ต้องรอรื้อผังจนถึงชาติหน้า

กัลฯธันยธร เกตุชมภู

"ทำไม..ต้องรอรื้อผังจนถึงชาติหน้า
เราต้องรื้อในชาตินี้แหละ เพราะเราเข็ด..ไม่อยากจนอีกแล้ว" 

ชื่อ ธันยธร เกตุชมภู จบ ป.6 มีอาชีพร้อยพวงมาลัยส่งขาย ส่วนสามีชื่อ เมืองเพชร  สุรารักษ์ จบ ป.4 เป็นคนงานทำงานในโรงงานทำเส้นบะหมี่มาตั้งแต่ 13 ปี จนถึงปัจจุบันค่ะ

ว่าไปแล้ว..ชีวิตเราลำบากเหลือเกิน เพราะต้องตรากตรำทำนามาตั้งแต่เล็ก แต่ทำไงได้..ในเมื่อครอบครัวเราจน แถมพ่อแม่มีลูกตั้ง 7 คน ดังนั้นเมื่อเราอายุ 15 ขวบ ก็ต้องผละออกจากอ้อมอกแม่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นแจ๋วช่วยเถ้าแก่เจ้าของโรงงานทอผ้าทำงานบ้านทุกอย่าง โดยต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปลากกระสอบข้าวที่หนักมากๆ ขนข้าวมาหุงเลี้ยงคนงานในโรงงานจำนวนมากถึง 500 คน ซ้ำร้ายต้องซักผ้าให้กับคนทั้งบ้านรวม 10 คน และต้องเลี้ยงลูกทั้ง 6 คนของเถ้าแก่ด้วย ซึ่งกว่าจะได้นอนก็ 4 ทุ่มกว่า ซึ่งตอนมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ ก็ได้แต่นอนร้องไห้คิดถึงแม่ แต่ต้องทน เพื่อแลกกับเงินเดือนเพียง 500 บาท ที่ต้องส่งไปให้พ่อแม่ผู้ยากไร้ที่ จ.ร้อยเอ็ด และพอเราอายุได้ 19 ปี ก็ออกมารับจ้างเย็บผ้าในโรงงาน โดยมีรายได้เริ่มต้นแค่ 350 บาทต่อเดือน

จนในปี 2535 พี่ที่เย็บผ้าอยู่ด้วยกัน ก็ชวนเราเข้าวัดพระธรรมกาย ซึ่งคนจนๆ อย่างเราก็ไม่ค่อยมีเงินทำบุญกับเขาหรอกค่ะ คือ พอเขายื่นซองมาให้ ก็ไม่มีเงินจะใส่ซอง จนรู้สึกอายเขาอยู่บ่อยๆ แต่แม้เราจะยากจนมากแค่ไหน เราก็อยากทำบุญสร้างพระธรรมกายประจำตัวมาก จึงพยายามเก็บเงินสร้างพระให้ได้เดือนละ 100 บาท และพอครบ 500 บาท ก็นำมาทำบุญทีหนึ่ง  จนภายหลังเราอยากจะรวยกว่านี้ จึงลาออกมาหุ้นกับเพื่อน 3 คนเปิดร้านรับเย็บผ้าเหมา แต่ก็ไม่รุ่ง จนสุดท้ายต้องเลิก พร้อมกับมีหนี้สินค่าจักรเย็บผ้าที่ต้องชดใช้เขาหลายหมื่นบาทติดออกมาด้วย จึงทำให้เราต้องกลับไปเป็นลูกจ้างเย็บผ้าอีกเหมือนเดิม

จนกระทั่งเราตัดสินใจแต่งงานในปี 2540 แล้วย้ายมาเช่าห้องแถวอยู่ และหลังจากคลอดลูกสาวคนแรกได้ไม่นาน ลูกก็เปลี่ยนอาชีพมาร้อยพวงมาลัยขาย คือ หลังจากที่สามีรีบตื่นเข้าโรงงานไปทำเส้นบะหมี่ตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ถึง 10 โมงเช้ากลับมา เราก็ให้เขาขี่มอเตอร์ไซด์ไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาดด้วยทันที แล้วเอามาลองร้อยที่ 50 พวงก่อน และพอร้อยเสร็จ ก็ไปร้องเร่ขายตามที่ต่างๆ ในราคา 3 พวง 10 บาท ซึ่งเราก็ขอร้องให้เขาช่วยซื้อค่ะ โดยบอกว่า จะเอาเงินมาเลี้ยงลูกที่ยังเล็กมาก คือ ณ วินาทีนั้นจะเรียกเราว่า..พวงมาลัย..แม่ลูกอ่อนก็ได้ 

แต่จนแล้วจนเล่า พวงมาลัย..แม่ลูกอ่อนผู้น่าสงสารอย่างเรา ก็ขายไม่หมด เหลือเน่าเต็มตระกร้าเลย แต่แม้ชีวิตเราจะรันทดหรืออับจนมากแค่ไหน ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เราก็พยายามไปเติมบุญที่วัดตลอด คือ จะเอาเสื้อขาวใส่ถุง และซ้อนมอเตอร์ไซด์อัด 4-5 คน คือ สามีเป็นคนขับ ลูกที่เกิดแล้ว 2 คนนั่งตรงกลาง ส่วนเราและลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ซ้อนปิดท้าย ซึ่งกว่าจะขี่จากย่านวรจักร ฝ่าแดดฝ่าฝนไปทำบุญถึงปทุมธานี เราก็โดนตำรวจเรียกแล้วเรียกอีก

แต่ด้วยการที่เราหมั่นมาเติมบุญนี่แหละ ผลบุญก็ส่งให้พวงมาลัยเราขายดีขึ้นมาก จนสามารถเก็บเงินทำบุญทอดกฐิน 1 แสนแรกในชีวิตได้ในปี 2550  และพอทำเสร็จ พวงมาลัยก็เกิดขายดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ คือ จากเดิมเราขายได้สัปดาห์ละ 1,000 -2,000 บาท ก็เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3,000 บาท จนเราเริ่มมีเงินเก็บเป็นก้อน ทำให้ปี 52 เรามีเงินทอดกฐินกันอีกที่ 1 S และพอทอดกฐินเสร็จ เราก็ขายดีขึ้นอีก เป็นสัปดาห์ละ 4,000 -5,000 บาท จนกระทั่งปี 53 ครอบครัวเรามีเงินทอดกฐินกันที่ 1 S อีก และพอทำเสร็จ รายได้จากการขายพวงมาลัยก็พุ่งไปถึงสัปดาห์ละ 7,000 บาทอย่างเหลือเชื่อ

จนทำให้ในปี 2554 นี่สิค่ะ เป็นปีที่เรามีเงินเก็บ 1 ล้านแรกในชีวิต ซึ่งเป็นเงินที่เกิดจากเงินเดือนหมื่นกว่าบาทของสามี ที่ตรากตรำทำเส้นบะหมี่ด้วยความเหนื่อยยาก รวมกับเงินที่ขายพวงมาลัยของลูก ซึ่งตลอดชีวิตของเรา 2 คน ไม่เคยมีเงินเก็บมากถึงขนาดนี้มาก่อน ซึ่งพวกเราตั้งใจไว้ว่า จะเอาไว้ให้ลูกทั้ง 3 คน เรียนหนังสือ เพราะเราไม่อยากให้ลูกๆ มีความรู้น้อย และไม่มีทางเลือกเหมือนพวกเรา  ซึ่งตอนนี้คนโตอายุก็แค่ 13 ขวบ คนกลางก็ 10 ขวบ คนเล็กก็แค่ 2 ขวบกว่าเท่านั้นเอง

แต่พอเราได้ข่าวว่า ปีนี้..จะมีการทอดกฐินสร้างทุกสิ่ง เราก็อะเลิร์ท อยากทำบุญนี้ขึ้นมาอย่างจับใจ จึงตกลงกับสามีอยู่ 1 สัปดาห์ ซึ่งพอสามีOK. เราก็รวมลูกๆ ทั้ง 3 คนมาเจรจาว่า..

“ลูกจ๊ะ..ครอบครัวของพวกเราลำบากยากจนมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และพ่อกับแม่ก็พบกับความลำบากแสนสาหัสมาทั้งชีวิต แม่ขออนุญาตเอาเงินล้านก้อนนี้ ทำบุญรื้อผังจนถาวรของครอบครัวเรานะจ๊ะ แม้เงินก้อนนี้จะหมดไป ถึงเราจะจนลงกว่านี้ก็ไม่เป็นไร เราพร้อมจะจน เพราะตลอดชีวิตของเราจนกันมามากแล้ว แต่การที่เราจะได้ทำบุญเป็นประธานกองกฐิน 1 M นี่สิ ตั้งแต่เกิดมาเรายังไม่เคยทำกันเลย แม้ลูกจะไม่ได้เรียนสูงๆ แต่ด้วยเงินก้อนนี้..ลูกจะไปสูงกว่านั้น เราจะรื้อผังจน และนับจากภพชาตินี้ไป เราจะไม่จนกันอีกแล้ว”

เมื่อลูกอธิบายให้ลูกๆ เข้าใจอย่างนี้ ลูกๆ ทั้ง 3 คน ก็เกิดอะเลิร์ทปิดบัญชีส่วนตัวของพวกเขารวมกันได้ 27,000 บาท ร่วมหุ้นบุญกับเราด้วย และพอยายของเด็กๆ รู้ เขาก็น้ำตาไหลและร่วมบุญมากับพวกเรา 1,000 บาท และก็พูดว่า กูขอเกาะพวกมึงไปด้วย

ณ ตอนนี้...พวกเราชนะแล้วค่ะ ชนะความตระหนี่ได้อย่างสมภาคภูมิ เราจะไม่รอรื้อผังจนในชาติหน้า เพราะเราเข็ดกับความจนเหลือเกิน ความจนทำให้เราไม่มีทางเลือกอะไรเลย ดังนั้นเราต้องรื้อผังและขอออกแบบชีวิตตัวเองและครอบครัวเราใหม่

ตอนนี้ก็ใกล้ถึงวันทอดกฐินแล้ว โอกาสที่จะทำให้ทุกคนออกแบบชีวิตมาถึงแล้ว อย่ารอให้ผังจนและผังความยากลำบากอยู่กับเราต่อไปอีกเลย... 





















Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ 
ทำไม..ต้องรอรื้อผังจนถึงชาติหน้า ทำไม..ต้องรอรื้อผังจนถึงชาติหน้า  Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:24 Rating: 5

8 ความคิดเห็น:

  1. ขอให้ร่ำรวยๆรื้อผังจนได้สำเร็จในชาตินี้นะคะสาธุค่ะ

    ตอบลบ
  2. เป็นผู้มีจิตใจงดงามเป็นต้นแบบแก่ชาวโลก สมที่เกิดเป็นมนุษย์ ...อยากทำมั่งครับ

    ตอบลบ
  3. ความเชื่อมั่น ศรัทธา จากปัญญาญาณ ไม่ใช่ความรู้ ทั่วไป แต่เป็นความรู้จาก จิตใต้สำนึก ว่า คุ้ม จึงทำ ขนาดนี้ ; บุญชัย จันทโรกร

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ ท่านทำสำเร็จด้วยใจที่ตั้งมั่นในบุญ

    ตอบลบ
  5. อนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ ท่านทำสำเร็จด้วยใจที่ตั้งมั่นในบุญ

    ตอบลบ
  6. อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ สาธุๆๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  7. ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ...

    ตอบลบ
  8. ขออนุโมทนาบุญด้วยน่ะคะ สุดยอดจริงๆ เป็นครอบครัวตัวอย่างเป็นยอดกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลกโดยแท้ สาธุๆๆ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.