หลงเครื่องแบบ
ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนายทหารยศพันเอกพิเศษ เคยถามตรงๆ ว่า
“คุณก็เป็นคนมีสติปัญญาปราดเปรื่อง สมัยโน้นทําไมไม่เรียนหมอ ฐานะทางบ้านคุณก็ร่ำรวย ไม่มีปัญหาเลย ดิชั้นซะอีกแม้จะมีปัญญาพอเรียนหมอไหว แต่พ่อแม่ไม่รวยพอส่งให้เรียนได้ เลยต้องเรียนครูแทน”
เขาก็ตอบข้าพเจ้าตรงๆ ว่า
“โธ่คุณเอ๋ย ปัญญาดีที่คุณชมผมน่ะ มันดีแค่มีไว้เรียนหนังสือหรอก ปัญญามันไม่ดีจนทําให้รู้อะไรตลอดรอดฝั่ง นี่ถ้าผมรู้ว่าวิชาต่างๆ ที่ทหารต้องเรียนกันมันมีอะไรมั่ง จ้างให้ผมเรียนก็ไม่เรียนหรอก คงไปเรียนหมออย่างที่คุณถามนั่นไปแล้ว”
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจแจ่มแจ้งนัก จึงขอให้เขาสาธยายเหตุผลให้ละเอียดสักหน่อย เขาก็ว่า
“พอเราเรียนชั้นมัธยมจบ คุณก็รู้นี่ เราเป็นวัยรุ่นเต็มตัว มันก็เห่อเครื่องแบบยังไงล่ะ เรียนเป็นนายร้อยทหาร พอจบก็ติดดาวบนบ่ามันโก้พิลึก ความจริงมันโก้ตั้งแต่เป็นนักเรียนโน่นแล้ว เดินไปไหนมีคนมองกันเป็นตาเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงสาวๆ นี่ค่านิยมของสังคมมันเป็นอย่างนี้ เพราะค่านิยมอย่างนี้เลยทําให้เราต้องหลงตามไปด้วย โง่เพราะหลงเครื่องแบบ”
“โง่ยังไงกัน มันก็โก้สมใจคุณไม่ใช่รึ ผู้หญิงก็รุมรักคุณเกรียวนะเท่าที่รู้ สมใจแล้วเนี่ย”
“สมใจความโง่ไงล่ะ พอโก้ ผู้หญิงคนโน้นคนนี้มารุมรัก ผมก็เจ้าชู้ละซี ผิดศีลข้อกาเมฯ บานตะไทเลย เป็นไง ความโก้กับความโง่มันอยู่ด้วยกันเห็นมั้ย โง่แล้วมันก็เป็นหนทางให้บาปกรรมไหลมาเทมา ผมไม่ใช่คนใจเดียวเหมือนคุณนี่”
“อ้าว...ทําไมวกมาที่ฉัน เอาเป็นว่าฉันไม่ใช่คนเจ้าชู้เหมือนคุณเลยนึกไม่ออก แล้วเรียนวิชาทหารมันโก้ แต่โง่ยังไง ชั้นว่ามันก็โก้ตลอด เป็นนักเรียนนายร้อยน่ะแหละ จนออกมาติดดาวดวงเดียวบนบ่า แล้วก็ดาวหลายๆ ดวง แล้วก็มงกุฎครอบดาวอะไรนี่น่ะ ไม่โก้หรือ เงินเดือนก็เยอะ งานก็น้อย ตํารวจยังงานหนักกว่า ไล่จับผู้ร้ายทีก็เสี่ยงตายทุกครั้งไป” ข้าพเจ้าตอบเพื่อน
“นี่ถ้าคุณเรียนวิชาที่ผมเรียนมาละก็ คุณจะไม่สงสัยยังงี้หรอก คุณรู้มั้ยวิชาที่ผมเรียนสมัยเป็นนักเรียนนายทหารน่ะ เป็นวิชาฆ่าคนซะตั้งเยอะ ทําไงจะทําลายฝ่ายข้าศึกให้ได้ง่ายและมากที่สุด โดยให้เราเสี่ยงน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทําลายด้วยอาวุธ ด้วยยาพิษ ด้วยอุบายต่างๆ พูดแค่นี้คุณคงเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว”
เพื่อนพูดไม่กี่คําเท่านี้ ข้าพเจ้าก็นิ่งเงียบ รู้สึกหดหู่ไปจนถึงที่สุด จะเรียกว่าก้นบึ้งของหัวใจก็คงจะไม่ผิด เออ...ทําไมนะ เมื่อก่อนเราจึงคิดเรื่องนี้ไม่ออก เฝ้าบอกให้น้องชาย ให้ลูกชาย ไปสอบเข้าเรียนอาชีพโก้ๆ อย่างนี้ คิดแต่ว่าเรียนจบก็มีงานทํา ไม่ต้องวิ่งหางานให้ยุ่งยาก ทำไมจึงคิดเรื่องบาปกรรมเหล่านี้ไม่ออก โชคดีที่น้องชายสอบไม่ติดเลยรอดตัวไป ส่วนลูกชายไม่ชอบอาชีพนี้เอาเสียเลย ไม่ว่าตํารวจ ทหาร เลยพ้นเวรไป บางทีอาจจะเป็นเพราะบุญเก่าอุปถัมภ์เขาอยู่ก็ได้จึงไม่พลาดท่า
ข้าพเจ้าเก็บเอาถ้อยคําที่เพื่อนนายทหารคุยกับข้าพเจ้า หลังจากที่เราสองคนหันมาสนใจเรื่องศาสนากันแล้ว มาเล่าให้ฟังว่าการหลงใหลในเครื่องแบบ ในยศถาบรรดาศักดิ์ นี่ก็เรียกว่าหลงใหลกําหนัดยินดี รักใคร่พอใจในรูปเหมือนกัน คุณของรูปก็มีเยอะ แต่โทษของมันก็ไม่ใช่เล็กน้อย เป็นโทษข้ามชาติทีเดียว ต้องมาทําบาปเพิ่ม
ในเรื่องรูปที่เล่าให้ท่านฟัง ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าเล่าไปในเรื่องรูปที่เป็นรูปร่างตัวบุคคล เป็นผู้หญิงผู้ชาย เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ง่ายและรวดเร็วชัดเจน
ความจริง รูป คือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยตา แล้วทําความพอใจให้ผู้มองเห็นนั้น มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าเดินทางจากบ้านพักไปยังวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นระยะทางห่างกันอยู่ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ได้มอง สิ่งต่างๆ ที่พบเห็นและคิดว่ามีสิ่งใดบ้างทำความรักใคร่พอใจยินดีให้เกิดขึ้นในใจของผู้คน ได้พบหลายสิ่งดังนี้คือ
ออกจากบ้าน สิ่งแรกที่เห็นอยู่ข้างถนนคือรถเข็นข้าวแกงไปขายที่ปากซอย มีทั้งกับข้าวที่เป็นของผัด ทอด และต้ม นอกจากเรื่องการปรุงแต่งด้วยรสด้วยกลิ่นแล้ว คนขายยังปรุงแต่งด้วยสีให้ดูน่ากิน แกงบางชนิดเช่นแกงเผ็ด ถูกใส่สีจนแดงแช้ด ซึ่งสีของพริกจริงๆ ไม่แดงถึงขนาดนี้ คนซื้อเห็นสีของอาหารเกิดความพอใจย่อมเลือกซื้อ และนี่เองเป็นเหตุให้ผู้คนนิยมรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน แต่ในสถานที่ต่างกัน เพราะติดในเรื่องการเห็น ยอมเสียเงินราคาแพงหลายเท่าตัว กินอาหารในภัตตาคาร เพราะได้เห็นสิ่งถูกใจต่างๆ เช่น ความสวยงามของอาหารที่จัดไว้อย่างประณีต สถานที่นั่งน่าสบาย มีนักร้องหรือคนเสิร์ฟสวยๆ มองแล้วสบายตาพาให้สบายใจ นี่ก็เป็นการพอใจในรูป
สิ่งที่สอง รถที่ข้าพเจ้านั่งสวนทางกับรถนายทหารผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นเครื่องหมายยศบนบ่าเป็นมงกุฎครอบดาว และตรงสี่แยกมีตำรวจยืนอยู่หลายคน เพราะขณะนั้นใกล้จะมีขบวนรถพิเศษผ่าน ยศบนบ่าพวกเขามีตั้งแต่นายสิบไปจนถึงนายพัน ทําให้นึกได้ว่าคนที่พอใจในยศได้แต่งเครื่องแบบชนิดต่างๆ ก็หลงใหลได้ปลื้ม นี่ก็เป็นรูปที่น่าพอใจ
สิ่งที่สาม มองเห็นคนขายรูปภาพสวยๆ อยู่ที่ฟุตบาทข้างถนน ทำให้นึกถึงคนที่พอใจซื้อหาไปประดับตกแต่ง พลอยให้นึกไปถึงภาพวาดของศิลปินมีชื่อเสียงต่างๆ บางครั้งประมูลขายกันราคาเป็นร้อยล้านบาท นั่นก็เป็นเรื่องหลงรูปของคนซื้อ พอผ่านที่ทําการไปรษณีย์ก็นึกถึงราคาแสตมป์สมัยเก่าๆ ที่ผู้คนยินดีรับซื้อกันด้วยราคาดวงละเป็นหมื่นเป็นแสนบาท ก็ทํานองเดียวกัน
สิ่งที่สี่ เห็นร้านขายเสื้อผ้า ดอกไม้ เครื่องประดับ ของใช้ต่างๆ ก็ล้วนแต่ทําสีสันรูปแบบให้สวยงามถูกใจแก่ผู้พบเห็น ทําให้เกิดความ “อยากได้” แล้วก็ซื้อหาเอาไปโดยไม่ใช่สิ่งจําเป็นแท้จริง หรือเป็นสิ่งที่มีอยู่ แล้ว เห็นรูปร่างสีสันถูกใจก็ซื้อเพิ่มไปอีก เป็นความสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น
สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกขำอยู่ในใจคือ พอถึงย่านรังสิต มีร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้าน เอาเรือสําปั้นขึ้นไปวางไว้บนบกหน้าร้าน แล้วคนขายเข้าไปนั่งทำก๋วยเตี๋ยว อยู่ในเรือเสียด้วยเลย นั่นก็เป็นการติดรูป ก๋วยเตี๋ยวเรือ ของทั้งคนขายและคนกิน ให้คนเข้าไปนั่งกินสมมติเอาเองว่ากําลังเดินทางด้วยเรือ ติดรูปกันถึงขนาดนี้
ขึ้นชื่อว่า รูป คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ถ้าเรียกด้วยภาษาทางธรรม เรียกว่า “สี” เพราะของทุกอย่างที่ตามองเห็นได้ต้องมีสี ถ้าของสิ่งใดปราศจากสี เช่น อากาศ เราจะมองไม่เห็นสิ่งนั้น ความจริงตัว “รูป” เองเป็นของกลางๆ เป็นของธรรมดาธรรมชาติของมันอย่างนั้นเองไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว
แต่ที่คนเราเอามาคิดกันว่ารูปนั้นสวยน่าพอใจอยากได้ รูปนี้ไม่สวยน่าเกลียดไม่อยากได้ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากความยึดถือ เพราะมีกิเลสบันดาลใจเราต่างหาก รูปใดที่ชอบใจอยากได้ก็สมมติตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นว่ารูปนั้นเป็นของดี ตรงข้ามรูปไหนไม่อยากได้ รู้สึกเกลียดกลัว ก็ผลักไสไล่ส่งก็ตั้งให้รูปนั้นเป็นของเลว
ใจที่คิดปรุงแต่งว่าควรทําอย่างนั้นอย่างนี้ต่อรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ทําให้เกิดความสุขความทุกข์ขึ้นในใจ ชอบใจรูปใด ก็อยากได้มาเป็นของตน เป็นโลภะ
ไม่ชอบใจรูปใด ก็เลือกไสไล่ส่ง เป็นโทสะ
ทั้งรูปที่น่าพอใจ และรูปที่น่าเกลียดชัง ถ้าไม่ได้ตามที่ต้องการ คือเอามาและทิ้งไป ก็ทําให้ทุกข์เกิดได้ในที่สุด แม้แต่รูปที่พอใจแล้ว แสวงหามาได้ ก็จะให้ความสุขอยู่เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ยั่งยืน แล้วก็จะต้องทุกข์ยากด้วยการดูแลรักษา หรือทุกข์ด้วยการต้องแสวงหาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงมักตรัสสอนไว้ในที่หลายแห่งว่า
“เห็นสิ่งใดให้สักแต่ว่าเห็น ได้ยินสิ่งใดสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่งใดก็ตามให้สักว่าได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส แต่ไม่ต้องให้ใจคิดปรุงแต่งต่อเนื่องไปว่า สิ่งที่มากระทบนั้นดีหรือไม่ดี ชอบใจหรือไม่ชอบใจเพราะเมื่อชอบใจหรือไม่ชอบใจแล้ว ตัณหาคือความอยากจะเกิดตามมาได้โดยง่าย อยากได้มาหรืออยากกําจัดทิ้งไป ท้ายที่สุดก็จะวนไปเกิดทุกข์ขึ้นมาจนได้”
ถ้าตัดขาดเสียแต่ต้น ห้ามใจไม่ให้คิดปรุงแต่งเสียตั้งแต่เมื่อตากระทบสี หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรื่องทุกอย่างก็จะจบลง ไม่สร้างความทุกข์ใดๆ ให้เกิดตามมาได้เลย ข้อสําคัญ เราจะมีสติกั้นการกระทบนั้นได้รวดเร็วทันเหตุการณ์เพียงใดเท่านั้น
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๓ บทที่ ๑๔
หลงเครื่องแบบ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:31
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: