ทำงานอย่างไร..ให้มีกำลังใจไม่ท้อแท้ท้อถอย


ในเรื่องนี้หลวงพ่อขอนำคุณยายอาจารย์ฯ มาเป็นแบบอย่าง ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงพ่อเห็นคุณยายท่านทำงานสร้างวัดพระธรรมกายด้วยความกระตือรือร้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะมีอุปสรรคยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด ก็ไม่เคยเห็นท่านท้อแท้ท้อถอยแม้แต่ครั้งเดียว เรามาลองศึกษาและพิจารณาดูหลักการทำงานของท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและการสร้างกำลังใจให้ตัวของเราเอง

เริ่มตั้งแต่ประการแรก คือ “หลักคิดในการทำงาน” ของคุณยายอาจารย์ฯ

เมื่อครั้งที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ตั้งคำถามกับลูกศิษย์ที่นั่งสมาธิอยู่ในโรงงานทำวิชชาว่า

“พวกเราที่นั่งทำวิชชาอยู่ในที่นี้ ทำเพื่อใคร?

คำถามสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่นี้ ท่านไม่ได้ถามแก่ใครทั่วไป แต่ถามกับผู้ที่นั่งสมาธิทำวิชชาธรรมกายได้แล้ว และไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มทำวิชชา แต่เป็นผู้ที่ทำวิชชากันมานานเป็นปี ๆ จนมีความก้าวหน้าในการทำวิชชากันแล้ว นั่นแหละคือบุคคลที่หลวงปู่ตั้งคำถามนี้ให้ตอบ

การทำวิชชานั้นเป็นการทำงานทางใจที่มีเป้าหมายคือปราบกิเลสในตัวเอง และปราบมาร ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้กิเลสมนุษย์กำเริบด้วย ผู้ที่ทำวิชชาปราบมารจะต้องมีคุณสมบัติ คือ เข้าถึงพระธรรมกายได้ชัด เข้ากลาง ๑๘ กาย ได้ชำนาญ ระลึกชาติตัวเองได้ ระลึกชาติคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ไกลขนาดไหนก็ปราบกิเลสได้เท่านั้น

คำถามนี้แหละที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านถามบรรดาเหล่าผู้ทำวิชชา ซึ่งมีทั้งฝ่ายพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ฝ่ายละ ๓๐ รูป/คน ว่ากำลังทำเพื่อใคร? บ้างก็ตอบว่าทำเพื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ บ้างก็ว่าทำเพื่อพระพุทธศาสนา บ้างก็ตอบว่าทำเพื่อพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าทำเพื่อให้ได้บุญมาก ๆ

แต่คำตอบของคุณยายอาจารย์ฯ คือ “ทำเพื่อตัวเอง” เป็นคำตอบที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านพอใจที่สุด

การที่ปราบกิเลสในตัวเองก็เพื่อจะไม่ต้องเป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลส ซึ่งคอยบังคับควบคุมใจให้คิด พูด ทำ ก่อบาปอกุศลกรรมต่าง ๆ และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ต้องปราบมารซึ่งควบคุมกิเลสอีกที เมื่อปราบมารสำเร็จก็จะไม่มีกิเลสมาบีบบังคับใจของใครได้ งานทั้งหมดนี้เป็นการทำเพื่อตัวเอง แต่ผลพลอยได้นั้นได้ทั่วถึงทุกคนหมดทั้งโลก

หลวงพ่ออยากให้ดูตรงนี้ให้ชัด การทำงานอย่างมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น “ผลหลัก” และ “ผลพลอยได้” ผลหลักเกิดขึ้นต่อตัวผู้ทำ ส่วนผลที่เกิดแก่คนอื่น ๆ ด้วยนั้นจัดเป็นผลพลอยได้ คุณยายท่านมีหลักคิดตรงนี้ชัดว่า การงานทุกอย่างล้วนทำเพื่อตัวเอง ผลหลักหรือผลแรกที่เกิดก่อนย่อมเกิดแก่ผู้ทำก่อนเป็นคนแรก

การทำงานนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเหน็ดเหนื่อย แต่นั่นเป็นแค่ส่วนของร่างกายเท่านั้น เพราะกล้ามเนื้อทำงานมากย่อมล้าต้องการการพักผ่อน แต่ไม่เหนื่อยใจ ไม่หน่ายที่จะทำต่อไป มีแต่ความกระตือรือร้นที่จะทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คุณยายท่านมีหลักในการคิดหรืออาจจะเรียกว่า ทัศนคติที่ถูกต้องต่อการทำงาน ท่านจึงไม่เหนื่อยหน่ายในการที่จะทำงานคือการสร้างบุญสร้างบารมีของท่าน

ประการที่ ๒ “หลักในการทำงาน” ของคุณยายอาจารย์ฯ

คุณยายมีหลักในการทำงาน คือ “เอาบุญของเราเป็นตัวตั้ง” นอกนั้นเป็นผลพลอยได้ หมายความว่าผลหลักที่เกิดจากงานบุญคือบุญ นี่เป็นสิ่งที่คุณยายท่านจะเก็บเกี่ยวไปเป็นของท่าน ส่วนผลงานที่เกิดขึ้น ใครได้ใช้ประโยชน์ต่อไปจัดเป็นผลพลอยได้จากการทำงานของท่าน

หลวงพ่อขอยกตัวอย่างการทำงานของคุณยายสักเรื่องหนึ่ง ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน หลวงพ่อก็ได้อาศัยทุกอย่างที่คุณยายทำไว้ให้ แม้อาสนะที่พระนั่งฉันในหอฉันทุกวันนี้ก็เป็นผลงานของคุณยาย เรื่องการเลือกอาสนะที่นั่งของพระเวลาฉันภัตตาหารในหอฉัน คุณยายท่านมองว่า การที่อาสนะที่นั่งฉันของพระจะก่อให้เกิดบุญได้เต็มที่ ควรจะดูแลให้ครอบคลุมถึงผลทุกอย่างที่จะเกิดจากการใช้อาสนะ

คุณยายท่านมองอย่างไร ข้อแรก ท่านมองถึงความสะดวกสบายของพระภิกษุผู้ขบฉัน ข้อที่สอง ท่านมองถึงความสะดวกสบายของญาติโยม และข้อที่สาม ซึ่งเป็นประการสำคัญ ท่านมองถึงความน่าเลื่อมใส น่าศรัทธา ในตัวพระภิกษุและพระพุทธศาสนา

เริ่มต้นท่านก็ประชุมหารือกันในหมู่คณะว่า เวลาพระฉันจะนั่งกันอย่างไร ต่างก็ช่วยกันคิดหาทางเลือกที่เป็นไปได้ซึ่งมีอยู่หลายทาง เช่น ปูเสื่อนั่งฉันสบาย ๆ หรือนั่งเก้าอี้ก็สะดวกดี หรือจะให้มีอาสนะทำเป็นตั่งเป็นแท่นนั่ง ที่ประชุมถกเถียงกันไปมาตามแต่ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาต่าง ๆ กัน

คุณยายท่านเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้ ท่านบอกว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านทำต้นแบบไว้ดีแล้ว คือยกเป็นแท่นเป็นอาสนะขึ้นมา แล้วคุณยายก็เมตตาแจกแจงเหตุผลข้อดีข้อด้อยของแต่ละทางเลือก เพื่อให้ทุกรูปทุกคนได้เข้าใจชัดเจนตรงกันว่า

ถ้านั่งกับพื้น ระดับมันก็เสมอกันกับญาติโยม เวลาที่ญาติโยมจะเข้ามาประเคนก็จะลำบาก ดูไม่เรียบร้อย ดูไม่งาม

การนั่งเก้าอี้นั้น เวลาถวายสังฆทาน เวลาถวายของ พระจะหันหน้าคนละทางสองทาง หันหน้าให้โยมบ้าง หันหลังให้โยมบ้าง แม้ได้ความสะดวกสบาย แต่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ อย่าไปทำ

คุณยายท่านให้ทำอย่างที่หลวงปู่ท่านทำไว้ดีแล้ว คือยกแท่นขึ้นมา เวลาถวายสังฆทานไม่ว่าใครจะนั่งอยู่ตรงอาสนะไหน ก็หันหน้าให้ญาติโยมได้ทุกทิศ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่น่าเลื่อมใส แต่ในส่วนขนาด ความสูง ความกว้าง ความยาว หรือรูปแบบการจัดรายละเอียดต่าง ๆ นั้น เนื่องจากเป็นคนละสถานการณ์ ให้ไปคำนวณหากันเอาเอง ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับที่วัดปากน้ำ

การที่ท่านคิดอย่างนี้ สั่งอย่างนี้ ท่านได้บุญเพื่อตัวท่านไปแล้ว ผลพลอยได้ก็คือพระมีที่ฉันที่ใช้กันอย่างสะดวกสบาย ญาติโยมมาทำบุญได้สะดวก เพิ่มพูนกุศลศรัทธาให้แก่พุทธบริษัททั้งฝ่ายพระภิกษุ ฝ่ายญาติโยม ซึ่งจะมีผลทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดไปได้อีกยาวไกล

งานครั้งนี้ของคุณยายเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงได้บุญเต็มที่ เต็มเม็ด เต็มหน่วย เพราะการทำงานของท่านเป็นวิธีทำงานที่ยึดบุญเป็นหลัก ลูกศิษย์ต่างได้อาศัยผลพลอยได้นี้ไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นผลหลักคือบุญเกิดแก่ตัวเองต่อไป เมื่อทำเช่นนี้จึงจะเป็นบุญต่อบุญกันเรื่อยไปไม่รู้จบ

แล้วในการทำงานโดยเอาบุญเป็นตัวตั้งอย่างนี้ เป็นความอัศจรรย์ที่จะไม่มีใครบดบังรัศมีใคร จะทำงานไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย ไม่มีใครขัดใคร ไม่มีใครได้ประโยชน์แล้วอีกฝ่ายเสียประโยชน์ ทุกคนทุกฝ่ายจะมีแต่ได้ประโยชน์กับได้ประโยชน์ เหมือนกับการเอาดวงอาทิตย์เป็นตัวตั้ง ในเวลากลางวัน เราเดินทางไปที่ใด ดวงอาทิตย์ตามไปด้วย ไม่ว่าองศาดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ดวงอาทิตย์ก็ยังส่องสว่างอยู่เหนือศรีษะเราทุกคน

ดังนั้น เมื่อเราทำการงานใดก็ตาม ถ้าเอาบุญเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะมีแต่ได้กับได้กันทุกคน และก็ทำให้ทุกคนปลื้มใจ อิ่มใจในบุญ ไม่รู้สึกท้อแท้ท้อถอยในการทำความดี แม้บางครั้งร่างกายอาจะเหนื่อยล้า แต่เรามีหลักคิดแล้วว่า เมื่อทำความดี คนที่ได้บุญก็คือตัวเรา ส่วนผลพลอยได้ที่ตามมานั้น ก็คือผลดีที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม เราทำมากเท่าไร ก็เป็นผลบุญที่เกิดขึ้นกับตัวเราและผลดีที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมมากเท่านั้น ทำให้ไม่ว่าจะมีอุปสรรคยากลำบากใด ๆ เกิดขึ้น เราก็ยกใจข้ามอุปสรรคไปได้ เพราะมีผลบุญที่เราจะได้รับเป็นตัวตั้งนั่นเอง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕
ทำงานอย่างไร..ให้มีกำลังใจไม่ท้อแท้ท้อถอย ทำงานอย่างไร..ให้มีกำลังใจไม่ท้อแท้ท้อถอย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 04:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.