คนแบบไหนที่เราควรคบ ?


หลวงพ่อทัตตชีโว : วันนี้ถ้าเราจะหาเพื่อนใหม่อีกสักคนสองคน จะเอาอะไรเป็นมาตรฐานในการเลือกคบคน จะเอาความรู้ ฐานะ ตำแหน่ง ยศ หน้าที่ ดีกรีการศึกษาเป็นมาตรฐาน หรือจะเอาความหล่อความสวยเป็นมาตรฐาน

ลองคิดไล่ไปไล่มา เดี๋ยวเราก็จะพบว่า ใครหล่อไม่หล่อ สวยไม่สวย รวยไม่รวย ได้ดอกเตอร์ไม่ได้ดอกเตอร์ก็ช่างเถอะ ขอแค่เขามีนิสัยดี ๆ คนนั้นแหละที่เราจะคบได้

ในที่สุดก็มาหยุดอยู่ตรงที่ว่า นิสัยสำคัญกว่าทุกอย่าง นิสัยนั้นเป็นโปรแกรมทั้งบุญทั้งบาปทั้งดีทั้งชั่วประจำตัวของแต่ละคน ร่างกายและจิตใจของมนุษย์เป็นเพียงฮาร์ดแวร์ (Hardware) แต่นิสัยต่างหากที่สำคัญ เพราะนิสัยเป็นซอฟต์แวร์ (Software) ที่จะขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ให้ดำเนินชีวิตไปทิศทางใดก็ได้

คนเราต่างคนต่างก็มีนิสัยแตกต่างกัน แต่ นิสัยพื้นฐานสำคัญที่มนุษย์ต้องการจริง ๆ มี ๓ อย่าง คือ เคารพ วินัย และอดทน

นิสัยเคารพ วินัย อดทน แต่ละอย่างคืออะไร ทำไมจึงมีความสำคัญ แล้วทำอย่างไร จึงจะได้ ๓ นิสัยนี้เกิดขึ้นในตัวเรา วันนี้เรามาพูดกันที่นิสัยแรกก่อน คือ นิสัยมีความเคารพ

ความเคารพคืออะไร

คำว่า เคารพ ภาษาบาลีใช้คำว่า คารว (อ่านว่า คา-ระ-วะ) มีรากศัพท์จาก ครุ (ครู) แปลว่า ความเป็นของหนัก ความเป็นของสำคัญ ครูกับความเคารพมีความหมายเดียวกัน ครูคือผู้ที่ควรแสดงความเคารพ ความเคารพคือการเห็นว่าผู้นั้น สิ่งนั้น เป็นของสำคัญ

ความเคารพ คือ การมองแต่ส่วนดีหรือความพยายามค้นหาความดีที่มีอยู่จริงจากทุกสิ่งทุกคน ทุกเหตุการณ์ ที่เราเข้าใกล้

เมื่อไปเจอแล้วว่าเขามีความดีอันนั้น ๆ ต้องการจะบอกให้เขารู้ว่า เรารู้แล้วว่าเขามีความดีก็แสดงออกด้วยการแสดงความเคารพ

ดังนั้น ความเคารพกับการแสดงกิริยาเคารพจึงต่างกัน ความเคารพเป็นเรื่องของปัญญาของเรา ส่วนท่าทางแสดงความเคารพเป็นกิริยามารยาทที่ทำให้เขาทราบว่า เราเห็นความดีของเขา จึงแสดงกิริยาท่าทางที่บ่งบอกถึงความเคารพออกมา อย่างน้อยก็แสดงให้เขารู้ว่าเราไม่ได้จ้องจับผิดเขา และเราเป็นผู้มีปัญญาดี มองเห็นคุณความดีของเขา การแสดงความเคารพออกมาเป็นผลดีทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้

ความเคารพในบุคคลเราคงพอเข้าใจ แต่ยังมีความเคารพในอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะในวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ถึงตรงนี้เราคงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ในวัตถุสิ่งของนี้ต้องไปหาคุณความดีด้วยหรือ ตอบว่า จำเป็น ลองดูให้ชัดนะ

ดินเหนียวก้อนเดียวกันแบ่งออกมา ๔ ส่วน ส่วนหนึ่งเอาไปปั้นหม้อ อีกส่วนหนึ่งเอาไปปั้นพระ อีกส่วนหนึ่งเอาไปปั้นตุ๊กตา อีกส่วนคนปั้นปั้นไม่เป็น เอาไปทำเลอะบ้าน ดินก้อนเดียวกันแบ่งออกมาแล้วแต่ละส่วนคุณค่าไม่เท่ากัน ส่วนที่ทำเลอะบ้าน คุณค่าคือได้ไม้เรียวแม่หวดก้น ส่วนที่ปั้นเป็นตุ๊กตา คุณค่าคือเอาไว้ดูเพลิน ๆ ส่วนที่ทำเป็นหม้อคุณค่าคือเอาไว้ใช้สอย ส่วนที่ปั้นเป็นองค์พระ คุณค่าคือเอาไว้ยกใจให้สูงสู่ทางบุญกุศล คุณค่าไม่เหมือนกันเลยแม้มาจากดินก้อนเดียวกัน

ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เช่นกัน เช่น ในการเรียน เหตุการณ์คือเขากำลังเรียนกันอยู่ อย่าไปส่งเสียงดังรบกวนการเรียนของเขา เพราะความรู้ความดีกำลังจะเกิดในเหตุการณ์นี้ หรือวันวิสาขบูชา เขากำลังจะเวียนเทียนกันอยู่ กำลังยกใจกันอยู่ เหตุการณ์นี้ไม่ควรไปทำอะไรขัดจังหวะ หรือเหตุการณ์ต้อนรับปฏิสันถาร เช่น มีคนมาเยี่ยมสถานที่ของเรา อาจจะเป็นใครจากไหนก็ไม่รู้ เขาได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับสถานที่ของเรา เขาก็เลยมาเยี่ยม นี้ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ แล้วเกิดอะไรขึ้น ระวังให้ดี ถ้าให้การต้อนรับแบบเสียไม่ได้แล้วเขาก็กลับไป การต้อนรับเพียงแค่ไม่กี่นาทีนี้แหละ ชาตินี้ทั้งชาติตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ ถ้าใครถามถึงเราว่าเป็นอย่างไร เขาจะมีคำตอบเดียวว่าเราไม่ได้เรื่อง เพราะเขาไปเจอกับตัวมาแล้ว แต่ถ้าเราให้การต้อนรับที่ดี ตลอดชาติของคนนี้ เขาจะพูดถึงเราในทางที่ดี เพราะเขาก็เคยเจอกับเรามาแล้วครั้งหนึ่ง

เคารพจึงเป็นเรื่องของการเปิดใจเพื่อค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในบุคคล ในวัตถุสิ่งของ ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พบ เมื่อพบแล้วก็ยอม รับ นับ และถือปฏิบัติตามคุณความดีนั้น ๆ อย่างเหมาะสม

คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือทำไมต้องยอม ที่เรียกว่ายอมคืออย่างไร ยอมคือไม่ต่อต้าน ส่วนรับคือเอาเข้ามาในตัว ถ้ายอมแต่ไม่รับ อย่างนี้ความดีเกิดไหม ก็ไม่เกิด ต้องยอมแล้วก็รับด้วย

แล้วทำไมต้องนับ นับคืออะไร นับก็คือหาปริมาณว่ามากหรือน้อย ถ้าไม่นับก็อาจจะรับมาได้ไม่หมด มีตกหล่น พอนับเสร็จก็ถือปฏิบัติตาม ทำไมจึงต้องปฏิบัติตาม ก็เพื่อว่าวันหนึ่งเราก็จะได้มีความดีนั้น ๆ เกิดขึ้นในตนด้วย คนที่ทำเช่นนี้ได้จะเป็นคนมีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มพูนขึ้นไปตลอด

มาถึงตรงนี้ เราคงจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมความเคารพจึงสำคัญ ก็เพราะว่า ความเคารพจะทำให้เราสามารถรับการถ่ายทอดความดีจากเขามาสู่เราได้ นั่นเอง

ความเคารพใดที่ต้องรีบฝึกให้มีเป็นนิสัยของเรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้เรามีความตระหนักในสิ่งที่มีคุณค่าที่สำคัญ ๗ ประการ ได้แก่

๑. ให้มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. ให้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ให้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ให้มีความเคารพในการศึกษา
๕. ให้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ให้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๗. ให้มีความเคารพในการต้อนรับปฏิสันถาร

เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปค้นไปศึกษาให้รู้ได้ว่า พระพุทธดีอย่างไร พระธรรมดีอย่างไรพระสงฆ์ดีอย่างไร แล้วเราควรแสดงความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปคิด คุณพ่อ คุณแม่ คุณครูท่านดีอย่างไร ไปควานหาให้เจอแล้วให้เราแสดงความเคารพในสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง

บุคคลที่มีความเคารพอย่างนี้ เป็นบุคคลที่ควรแก่การเข้าไปคบหาอย่างยิ่ง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๐ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2018/11/blog-post_25.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๐ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปีได้ที่นี่
คนแบบไหนที่เราควรคบ ? คนแบบไหนที่เราควรคบ ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:56 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.