วีรบุรุษกองทัพธรรม
"ภิกษุใดยังหนุ่มพากเพียรอยู่ในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากเมฆหมอก
สว่างรุ่งเรืองฉะนั้น" (พุทธพจน์)
พุทธบุตรผู้เป็นวีรบุรุษกองทัพธรรมในยุคหลังพุทธกาล...เป็นผู้นำสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
และเป็นต้นคิดโครงการ ส่งพระธรรมทูตขยายพระศาสนาสู่ดินแดนไกลโพ้นจากอินเดีย
ท่านเป็นเจ้าของวาทธรรมที่รู้จักกันดีว่า "ผู้ใดอนุญาตให้บุตรของตนบวช ได้ชื่อว่าเป็นทายาท พระศาสนา" ท่านผู้นี้มีนามอุโฆษว่า "พระโมคคลีบุตรติสสเถระ" กว่าจะมาเป็นยอดวีรบุรุษกองทัพธรรมผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนต้องมีบุคคลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งสิ้น
มหาพรหมผู้กอบกู้พระศาสนา
ย้อนไปเมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่
๒ (พ.ศ.๑๐๐) พระเถระทั้งหลายปรารภถึงภัยของพระศาสนาในอนาคต
จึงใช้ญาณทัศนะตรวจดูก็เห็นว่า "สมัยพระเจ้าอโศก จักมีเสี้ยนหนามพระศาสนา เกิดขึ้น
เหล่าเดียรถีย์หวังลาภสักการะได้ปลอมตัวเข้ามาบวช และบิดเบือนพระธรรมวินัย มีเพียงติสสมหาพรหมเท่านั้นที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้" จึงพร้อมใจกันเหาะขึ้นไปพรหมโลก อัญเชิญติสสมหาพรหมว่า "ในอนาคตกาลนับแต่นี้ จะเกิดภัยอย่างหนึ่งแก่พระศาสนา พวกเราตรวจดูหมดทั้งภพสาม
ก็มีท่านมหาพรหมเท่านั้นที่จะมาขจัดภัยนี้ได้
ขอท่านจงรับคำเชิญเพื่อมากอบกู้พระศาสนาด้วยเถิด" มหาพรหมได้ฟังก็ร่าเริงใจ ตอบรับคำเชิญเหล่าพระมหาสมณะผู้ทรงคุณวิเศษ
ติสสมหาพรหมได้จุติมาเกิดในบ้านโมคคลีพราหมณ์
ซึ่งยังไม่ใคร่นับถือพระพุทธศาสนาเลย
พระสิคควะได้รับหน้าที่จากหมู่สงฆ์ให้ไปทำหน้าที่ชักชวนติสสะบวช
ท่านไปยืนบิณฑบาตหน้าบ้านพราหมณ์ทุกวันไม่เคยขาดเลยเป็นเวลาถึง ๗ ปี แต่ก็ไม่เคยได้ข้าวสักทัพพีเลย
แต่มีอยู่วันหนึ่งพระเถระมายืนหน้าบ้านตามปกติ คนในบ้านของพราหมณ์ได้พูดกับท่านว่า
"นิมนต์ไปโปรดบ้านอื่นเถิดท่าน" พราหมณ์ซึ่งกลับมาจากทำธุระนอกบ้าน ในระหว่างทางได้เดินสวนกับพระเถระจึงเอ่ยถามว่า "ท่านนักบวช ท่านได้อะไรบ้างหรือยัง" พระเถระตอบว่า "ได้แล้ว โยม" พราหมณ์รู้สึกขุ่นเคืองใจจึงกลับเข้าไปถามคนในบ้าน พวกเขาก็ยืนยันว่าไม่ได้ให้อะไรแก่พระเถระเลย
วันต่อมาพราหมณ์จึงนั่งรอพระเถระเพื่อจะจับผิดท่าน
พอพระเถระมาถึง เขาก็พูดดุว่า "เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้อะไรจากเรือนข้าพเจ้า แต่กลับบอกว่าได้ แสดงว่าท่านพูดเท็จ" พระเถระจึงตอบกลับไปว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ตลอด ๗ ปีมานี้ อาตมาไม่เคยได้อะไรแม้กระทั่งคำสนทนา แต่เมื่อวานอาตมาได้คำสนทนาจากคนในบ้านของท่านแม้เพียงเล็กน้อยว่านิมนต์ไปโปรดบ้านอื่นเถิด
ดังนั้นอาตมาจึงบอกว่าได้" พราหมณ์เมื่อฟังดังนั้นก็คิดว่า "สมณะนี้ก็ไม่ได้พูดเท็จเลย ได้แค่คำพูดทักทายยังชมเรา แล้วถ้าได้อาหารมาบริโภคล่ะจะยิ่งชมขนาดไหน" จึงเกิดความเลื่อมใสถวายภัตตาหารและปวารณาใส่บาตรทุกวัน
ต่อมาเขาได้เห็นอาการสงบเรียบร้อยของท่านก็ยิ่งเลื่อมใสหนักขึ้น
จึงนิมนต์ให้มาฉันในบ้านทุกวัน
ศาสนทายาทผู้รอบรู้แตกฉาน
เมื่อติสสกุมารมีอายุได้
๑๖ ปี เขาแตกฉานในไตรเพท แต่ยังมิได้ศรัทธาต่อพระเถระเหมือนบิดา
เมื่อติสสะไปเรียนหนังสือกับอาจารย์ คนใช้ก็จะเอาผ้าขาวคลุมตั่งที่นั่งของเขาไว้
พระเถระจึงอาศัยโอกาสนี้เพื่อจะได้สนทนากับติสสกุมาร ท่านจึงอธิษฐานฤทธิ์ให้ที่นั่งอื่น
ๆ อย่าปรากฏให้เห็น ยกเว้นตั่งของติสสกุมารเท่านั้น เมื่อคนใช้ไม่เห็นตั่งอันอื่น
จึงถวายตั่งของติสสะให้พระเถระนั่งแทน
เมื่อเขากลับมาบ้านได้เห็นพระเถระนั่งบนตั่งของเขา จึงแสดงอาการไม่พอใจมาก เมื่อพระเถระฉันเสร็จก็เอ่ยถามขึ้นว่า "พ่อหนุ่ม เธอมีความรู้มนต์อะไรบ้าง" ติสสกุมารจึงตอบกลับว่า "ถ้าข้าพเจ้าไม่รู้ แล้วใครจะรู้ ก็ท่านล่ะ รู้มนต์ด้วยหรือ" "งั้นก็ลองถามอาตมาสิ" ติสสะถามคำถามเกี่ยวกับไตรเพทมากมายชนิดที่เรียกว่ายากมาก ๆ
แม้กระทั่งตนและอาจารย์ ยังไม่อาจรู้คำตอบได้
พระเถระตอบได้หมด เพราะท่านจบไตรเพทมาก่อน
แล้วถามอภิธรรมกลับไปว่า "จิตของบุคคลใดกำลังเกิด ไม่ใช่กำลังดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับ
ไม่ใช่จักเกิดใช่หรือไม่ อีกอย่างหนึ่งจิตของบุคคลใดจักดับ ไม่ใช่จักเกิด
จิตของบุคคลนั้นกำลังเกิด ไม่ใช่กำลังดับใช่หรือไม่ เพียงคำถามเดียวทำให้ติสสะถึงกับมืดแปดด้าน เขาจึงถามว่า "มนต์นี้ชื่ออะไรหรือ" "ชื่อว่าพุทธมนต์" "ท่านจะสอนมนต์นี้ให้ข้าพเจ้าได้ไหม “อาตมาจะสอนให้ได้เฉพาะคนที่มีเพศบรรพชิตเท่านั้น" ติสสกุมารจึงไปขออนุญาตบิดามารดาออกบวช และได้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมา พระเถระได้สอนกรรมฐานให้สามเณร ไม่นานนัก สามเณรก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
จากนั้นพระสิคควเถระก็ส่งมอบภารกิจให้พระจัณฑวัชชี
โดยให้สามเณรติสสะไปเรียน พระไตรปิฎกกับท่าน
เพื่อให้สามเณรมีความรู้ภาคปริยัติแตกฉานยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในขั้นแรกเมื่อถูกส่งตัวไป
พระจัณฑวัชชีได้ให้สามเณรทำหน้าที่อุปัฏฐาก เตรียมน้ำฉันน้ำใช้และปัดกวาดเสนาสนะต่าง
ๆ เมื่อเห็นว่าสามเณรเป็นผู้ว่าง่าย
พระเถระจึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจสอนพระไตรปิฎก เมื่อสามเณรได้รับการอุปสมบทยังไม่ทันได้พรรษาก็เป็นผู้มีความแตกฉานในพระไตรปิฎก
ท่านได้นำความรู้ภาคปริยัติมาปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อมาท่านได้เป็นคณาจารย์สอนธรรม
มีพระลูกศิษย์มากมาย เป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า "พระโมคคลีบุตรติสสเถระ"
คุณูปการอันยิ่งใหญ่
เมื่อภัยพระศาสนาเกิดขึ้นจริงตามที่พระมหาเถระในสมัยก่อนได้ทำนายเอาไว้
ครานั้นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งทูตไปอาราธนาพระโมคคลีบุตรติสสเถระว่า
"ขณะนี้พระศาสนากำลังเสื่อมโทรม ขอพระคุณเจ้ามาร่วมกันเชิดชูพระศาสนากันเถิด" ท่านสดับราชสาส์นนั้นก็คิดว่า "ที่เราบวชมาก็ด้วยตั้งใจว่าจะเชิดชูพระศาสนาตั้งแต่ต้น บัดนี้ถึงเวลานั้นแล้ว" ท่านจึงลุกขึ้นไปกับคณะราชทูตนั้นเพื่อแบกภาระใหญ่ แก้ไขภัยจากเดียรถีย์ที่ปลอมมาบวช ขจัดให้เดียรถีย์ออกไปจากพระศาสนาดั่งขจัดเอามลทินออก
ต่อมาท่านได้เป็นประธานสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๕)
ซึ่งเป็นครั้งที่มีการขยายผลไปในวงกว้างมากที่สุด
ครั้นทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จเรียบร้อย
ท่านได้ใช้ญาณทัศนะมองไปถึงอนาคตพระศาสนาภายภาคหน้าว่า "ในอนาคตพระศาสนาจะตั้งมั่นดีในนานาประเทศ" ท่านจึงนำเสนอพระเจ้าอโศกในการส่งพระธรรมทูต ๙ สายไปยังดินแดนต่าง ๆ หนึ่งใน ๙ สายนั้น มีดินแดนสุวรรณภูมิ (รวมถึงประเทศไทยของเรา)
ที่ได้รับแสงสว่างจากพระธรรม พระพุทธศาสนาในยุคนั้นถือว่ารุ่งเรืองมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมา
เพราะการมองการณ์ไกลของพระโมคคลีบุตรติสสเถระนั่นเอง
ผลจากการไม่ทอดธุระของพระมหาเถระในอดีต
และที่สำคัญที่สุด คือ การมองการณ์ไกลถึงอนาคตพระศาสนา
จึงได้ศาสนทายาทเพื่อมาจรรโลงศาสนาให้รุ่งเรือง ภารกิจของพวกเรา ณ ตอนนี้ก็เช่นกัน
คือ ตามหาศาสนทายาทให้เขาเหล่านั้นได้ยกฐานะจากคนสามัญธรรมดาเป็นลูกพระพุทธเจ้า..เพื่อสั่งสมกองกำลังรบกับกิเลสในใจชาวโลก
ดุจยามมีศึกทางการจะสร้างพลเรือนให้เป็นทหาร ให้ฝึกหยิบจับอาวุธทุกอย่างที่มีเข้าต่อสู้อริราชศัตรูได้ทันท่วงที
ขณะนี้พุทธศาสนากำลังมีภัย หลายวัดกำลังจะร้าง
แต่พวกเราจะรวมใจทำให้รุ่ง..
คนหมู่มากทำบาป
มีจิตน้อมไปในอบาย เราจะชักนำให้เขาสั่งสมบุญเพื่อไปยังที่สบาย...
แม้ศาสนทายาทจะลดน้อยถอยลง
แต่พวกเราจะทำหน้าที่ชวนกุลบุตรให้มาบวชมากขึ้นเรื่อย ๆ
การตามหากุลบุตรมาเป็นวีรบุรุษกองทัพธรรม
คือหน้าที่ของพวกเรา ยุคนี้จะต้องเป็นอีกยุคทอง ของนักสร้างบารมี ผู้จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
พลิกพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่พึ่งของอนุชนรุ่นหลังเหมือนพระมหาเถระในครั้งบรรพกาลให้ได้
สิ่งที่เราสู้มาตลอดจะไม่มีวันสูญเปล่า เพราะมีวีรบุรุษกองทัพธรรมที่เราสร้างไว้บังเกิดขึ้นเป็นคุณูปการแก่พระศาสนา
ท่านจะได้ชื่อว่าเป็น "วีรบุรุษของวีรบุรุษ" แห่งกองทัพธรรม เป็นเบื้องหลังสนับสนุนประคับประคองศาสนทายาทให้แข็งแกร่งเป็นที่พึ่งของชาวโลก แล้วท่านจะอยู่ในห้วงลึกสุดใจ ของวีรบุรุษกองทัพธรรมเหล่านั้น
ไม่มีวันจางหาย ตราบนานเท่านาน
Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี
ป.ธ.๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๐
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔
วีรบุรุษกองทัพธรรม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:25
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: