ญาติธรรม.. ..ธรรมทายาท
"ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย
ไม่สามารถชักนำไปในทางอื่นได้ ผู้นั้นควรเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า
เป็นโอรสเกิดแล้วจากพระโอษฐ์ เป็นบุตรเกิดแล้วโดยธรรม
อันธรรมเนรมิตแล้วเป็นธรรมทายาท" (วาเสฏฐสูตร)
ความเป็นชาวพุทธในปัจจุบันนี้มีหลายประเภท
บางคนเป็นเพียงชาวพุทธในทะเบียน นาน ๆ จะมีโอกาสไปวัดหรือทำบุญในโอกาสพิเศษ
เพราะมัวเอาเวลาที่มีอยู่ไปทำมาหากินอย่างเดียว บางคนเข้าวัดเพราะไปร่วมฟังสวดศพ
บางคนไปวัดตอนเป็นศพ!! บางคนเป็นธรรมทายาทมีโอกาสได้บวชเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
บางคนเป็นทายก ทายิกา ได้สั่งสมบุญอย่างต่อเนื่อง ฟังธรรม
ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ และลงมือปฏิบัติจนบรรลุธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับ
แล้วพวกเราทั้งหลาย จะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธเช่นไร
ในสมัยหลังพุทธกาลประมาณ ๒๐๐ ปี
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิเพื่อสร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง
ในวันฉลองพระวิหารพระองค์ประทับยืนอยู่ที่อโศการาม ทรงเหลียวดูตลอดทั้ง ๔ ทิศ
ได้ทอดพระเนตรเห็นชมพูทวีป ซึ่งมีมหาสมุทรเป็นที่สุดโดยรอบ และพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง
ที่รุ่งโรจน์อยู่ด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่ ทรงเกิดปีติปราโมทย์ใจอย่างท่วมท้น
ดำริว่า ความปีติปราโมทย์เห็นปานนี้เคยเกิดขึ้นแก่ใครบ้างไหม
พระราชาตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ในพระศาสนาของพระโลกนาถเจ้ามีใครบ้าง ได้สละทรัพย์บริจาคอย่างมากมาย
การบริจาคของใครเล่ายิ่งใหญ่เช่นนี้บ้าง" พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ถวายพระพรว่า "มหาบพิตร
ขึ้นชื่อว่าผู้ถวายปัจจัยในพระศาสนาของพระทศพลเช่นกับพระองค์
แม้พระตถาคตเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ไม่มีใครเลย
ที่จะทรงบริจาคได้ยิ่งใหญ่เท่า"
พระราชาสดับคำของพระเถระแล้ว
ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่มีผู้ใดถวายพระวิหารได้ยิ่งกว่าพระองค์
จากนั้นได้ตรัสถามต่อว่า "โยมได้ยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น
เมื่อเป็นเช่นนี้ โยมได้ชื่อว่าเป็นทายาทแห่งพระศาสนาหรือยังหนอ"
พระเถระได้ฟังพระราชดำรัสแล้วมองเห็นอุปนิสัยของพระราชโอรสของพระองค์ว่า
ถ้าออกบวชแล้วพระพุทธศาสนาจักแผ่ขยายตั้งมั่นสถิตสถาพรสืบต่อไป จึงทูลพระราชาว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ผู้ที่จะเป็นทายาทพระศาสนา หาใช่เป็นด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่
อีกอย่างผู้ที่ได้ถวายปัจจัยไทยธรรมได้ชื่อว่าเป็นทายก ทายิกา
หรือเป็นอุปัฏฐากเท่านั้น ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนา"
พระราชาตรัสถามว่า
"ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ถ้าเช่นนั้นทายาทพระศาสนาจะมีได้อย่างไรเล่า" พระเถระถวายพระพรว่า "มหาบพิตร
บุคคลใดเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย
ได้ถวายบุตรธิดาผู้เป็นที่รักของตนบวชในพระพุทธศาสนา บุคคลนั้น
ได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนา"
เมื่อพระเถระถวายพระพรดังนั้นแล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงดำริว่า "แม้เราบริจาคทานถึงเพียงนี้
ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทแห่งพระพุทธศาสนาเลย"
ทรงปรารถนาความเป็นทายาท จึงทอดพระเนตรเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้แล้วทรงเห็นพระมหินทกุมารซึ่งประทับยืนอยู่ไม่ไกล
ทรงรำพึงว่า "เราประสงค์จะสถาปนาพระกุมารนี้ไว้ในตำแหน่งอุปราช
แต่ตำแหน่งนั้นก็ไม่ประเสริฐกว่าการเป็นสมณะ
เพราะการบรรพชาเป็นสิ่งประเสริฐกว่าตำแหน่งอุปราชอย่างเทียบกันไม่ได้" พระราชาจึงรับสั่งกับพระราชโอรสว่า
"ลูกเอ๋ย ลูกสามารถบวชให้พ่อได้ไหม"
นับตั้งแต่พระติสสกุมารออกผนวชแล้ว
พระมหินทกุมารก็มีพระประสงค์อยากจะออกผนวชด้วย เช่นกัน
เมื่อได้สดับพระราชประสงค์ของพระบิดาเช่นนั้นก็เกิดความปีติปราโมทย์ใจเป็นอย่างยิ่ง
รีบกราบทูลว่า "หม่อมฉันมีความปรารถนาจะบวชอยู่แล้ว
ถ้าทูลกระหม่อมทรงอนุญาต หม่อมฉันก็จะบวช"
ขณะเดียวกัน พระราชธิดาชื่อสังฆมิตตา
ซึ่งประทับยืนอยู่ข้าง ๆ ทรงมีความประสงค์จะผนวชเช่นกัน จึงได้ทูลขออนุญาตลาบวชด้วย
พระราชาทรงอนุโมทนาต่อพระราชโอรส
และพระราชธิดาด้วยพระทัยที่เบิกบานตรัสกับภิกษุสงฆ์ว่า "พระคุณเจ้าจงให้โอรสและธิดาทั้งสองบวช
แล้วกระทำโยมให้เป็นทายาทในพระพุทธศาสนาเถิด" พระสงฆ์รับพระราชดำรัสแล้ว
ก็ให้พระราชโอรสบรรพชาโดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นพระอุปัชฌาย์
พระราชโอรสบังเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
มีใจที่ผ่องใสหยุดนิ่งดีแล้ว ในวันอุปสมบท นั้นเองก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
ส่วนพระนางสังฆมิตตาเมื่อผนวชแล้ว ได้ตั้งใจประพฤติธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เถรีเช่นกัน
พระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช
เมื่อผนวชแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เป็น
กำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป โดยเฉพาะพระมหินทเถระได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังประเทศลังกา
นำพาหมู่ชนในที่นั้นให้ได้พบแสงสว่างแห่งพระสัทธรรม ทำให้ผู้มีบุญได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมากมาย
อย่างน้อยก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
จะเห็นได้ว่า
แม้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ สร้างพระวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ หลัง ไว้ในพระพุทธศาสนา
พระองค์ก็ทรงเป็นได้เพียงแค่โยมอุปัฏฐากเท่านั้น
ครั้นทรงถวายพระราชโอรสและพระราชธิดาผู้เป็นประดุจแก้วตาดวงใจไว้ในพระศาสนา
จึงได้ชื่อว่าเป็นญาติพระศาสนาอย่างแท้จริง พระมหินทเถระและสังฆมิตตาเถรี
เมื่อบวชแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ได้ชื่อว่าเป็นทั้งศาสนทายาทและธรรมทายาทตามพุทธประสงค์อย่างภาคภูมิใจ
และยังได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเกิดมาเป็นมนุษย์อีกด้วย
นักสร้างบารมีทั้งหลาย...จากนี้ไปเราจะไม่เป็นเพียงชาวพุทธในทะเบียนบ้านเท่านั้น
โดยเฉพาะช่วงนี้ พระพุทธศาสนาต้องการชาวพุทธใจเพชร
ผู้มาทำหน้าที่เป็นประดุจช้างเท้าหน้า เป็นพุทธบุตรนักรบกล้าแห่งกองทัพธรรม
ที่จะรบกับกิเลสในใจของมนุษยชาติ นำพาเขาเหล่านั้นให้เข้าสู่กระแสธรรม
และธำรงพุทธศาสน์ให้เป็นที่พึ่งของชาวโลกตราบนานเท่านาน
หากใครอยากจะเป็นญาติกับพระศาสนาก็ให้ส่งกุลบุตรเข้ามาบวช
จะบวชพระหรือเป็นสามเณรตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่มีการจัดอบรมกันก็ได้
ฝ่ายท่านหญิงก็ให้เข้ามาบวชเป็นอุบาสิกาแก้ว เมื่อเราทำได้ดังนี้จึงจะได้ชื่อว่า
เป็นชาวพุทธผู้มีหัวใจรักศาสน์อย่างแท้จริง เราจะเป็นทั้งโยมอุปัฏฐาก เป็นญาติธรรม
และเป็นธรรมทายาทผู้สืบทอดพระศาสนา และเป็นผู้บรรลุธรรมของพระบรมศาสดา
Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.
๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๑
เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ญาติธรรม.. ..ธรรมทายาท
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:54
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: