เข้าพรรษา รักษาอุโบสถ



" ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ เพราะว่าจิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้"

ต้นหญ้าเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ หากขาดคนดูแล ปล่อยให้ใบไม้ทับถมหญ้าทุก ๆ วัน ทำให้หญ้าไม่มีโอกาสได้รับออกซิเจนหญ้าสีเขียวย่อมเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุดฉันใด จิตใจที่ถูกความโลภ โกรธ หลง ครอบงำทุกวัน โดยเจ้าตัวไม่หาโอกาสขจัดออกไป จิตนั้นย่อมมัวหมอง ระทมทุกข์ได้ฉันนั้น

ความสุขของมนุษย์เริ่มต้นจากจิตใจที่ดีงามใสบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์มากย่อมมีความสุขมาก พระบรมศาสดาทรงสอนให้เราหมั่นตามรักษาจิต หากไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีแล้ว จะส่งผลเสียให้ถึงคนรอบตัว ธรรมชาติของจิตมีปกติดิ้นรนเหมือนลิง คือไม่ชอบอยู่นิ่ง ถ้าไม่ควบคุมให้ดี มักจะดิ้นรนซัดส่ายไปหากิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ผู้ปรารถนาความสุขจึงต้องเริ่มต้นที่การฝึกใจ เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วจึงนำสุขมาให้

งูพิษรักษาอุโบสถ

มีเรื่องเล่าว่า มีงูพิษตัวหนึ่งเลื้อยออกจากป่าไปหาเหยื่อตามทุ่งนา ขณะเดียวกัน โคตัวหนึ่งกำลังขวิดจอมปลวกเล่นอยู่ งูกลัวจะถูกเหยียบจึงรีบเลื้อยไปหลบอยู่ในจอมปลวก แต่เลื้อยหลบไม่พ้นจึงถูกโคเหยียบหาง มันโกรธจัด จึงฉกโคแล้วพ่นพิษใส่ ทำให้โคล้มตายในทันที เจ้าของเห็นโคของตนตายก็รู้สึกโศกเศร้าเสียใจมาก จึงขุดหลุมฝังมันด้วยความอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก เมื่อเจ้าของโคกลับไปแล้ว งูได้สำนึกผิดว่า  "เพราะความโกรธของเราแท้ ๆ ทำให้โคตัวนี้ตาย ผู้คนต้องมาโศกเศร้าเสียใจไปด้วย หากเราข่มความโกรธไว้ไม่ได้ เราจะไม่ยอมออกหาอาหารอย่างเด็ดขาด"  จากนั้น มันได้เลื้อยเข้าไปในอาศรมของฤๅษี นอนสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มความโกรธตามที่ตั้งใจไว้


สุนัขรักษาอุโบสถ

สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหาร เห็นช้างตายอยู่ข้างทาง มันดีใจคิดว่า เป็นลาภลอยชิ้นใหญ่ของเราแล้ว เลียปากแผล็บ ๆ แล้วตรงรี่เข้าไปกัดที่งวง แต่กัดไม่เข้า จึงเปลี่ยนไปแทะที่งา ก็รู้สึกเหมือนกับแทะแผ่นหิน กัดที่หาง ก็รู้สึกเหมือนกัดสากตำข้าว ครั้นกัดช่องทวารหนัก ก็รู้สึกว่าได้กินเนื้อนุ่ม ๆ จึงเกิดติดใจมุดเข้าไปอยู่ข้างในท้องช้าง แล้วกัดกินเครื่องในอย่างเอร็ดอร่อย เมื่ออิ่มแล้วมันจึงยึดท้องช้างนั้นเป็นที่พักผ่อนนอนหลับไม่ยอมออกไปไหนเลย หลายวันผ่านไป ซากของช้างเริ่มแห้งลง ทำให้ช่องทวารหนักถูกปิด มันจึงติดอยู่ข้างในหาทางออกไม่ได้ วันหนึ่ง ฝนตกหนักทำให้ช่องทวารหนักของช้างอ่อนตัวลง สุนัขจิ้งจอกจึงรีบตะเกียกตะกายออกไปจนสุดกำลัง เมื่อรอดชีวิตมาได้ มันสอนตนเองว่า  "เพราะความโลภแท้ๆ ทำให้แทบเอาชีวิตไม่รอด ถ้าเราข่มความโลภไม่ได้ เราจะไม่ยอมออกหากินเด็ดขาด" จากนั้น มันได้ไปนอนสมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโลภที่อาศรมของฤๅษี


หมีป่ารักษาอุโบสถ

ฝ่ายเจ้าหมีป่าตัวใหญ่ล่ำบึ้กตัวหนึ่งไม่พอใจในถิ่นที่อยู่ของตน เพราะรู้สึกว่าอยู่ในป่าไม่สนุก เพราะหาคู่ทดลองกำลังไม่ได้ อยากทดลองไปเที่ยวในถิ่นของมนุษย์บ้าง เผื่อจะได้เจอประสบการณ์พิเศษ ๆ บ้าง จึงออกจากป่าไปหากินตามแถบชนบท พวกชาวบ้านเห็นจึงพากันเอาธนูยิงใส่ เอาไม้พลองทุบตีจนเลือดไหลอาบทั้งตัว เจ้าหมีได้แต่แยกเขี้ยว แต่ไม่สามารถทำร้ายมนุษย์ได้เลย จึงต้องรีบเผ่นอ้าวหนีเข้าป่าชนิดหางจุกตูดทีเดียว เมื่อหลบหนีเงื้อมมือมนุษย์มาได้ มันได้คิดว่า "เป็นเพราะเราไม่รู้จักประมาณตนแท้ๆ จึงต้องได้รับความเจ็บปวดปางตายถึงเพียงนี้"  จากนั้น มันได้ไปสมาทานอุโบสถศีลที่อาศรมของฤๅษี เพื่อข่มความทะยานอยากของตน


ฤๅษีรักษาอุโบสถ

ฝ่ายฤๅษีโพธิสัตว์กำลังมัวเมาอยู่ในอำนาจมานะ ถือตัวว่าตนเองมีชาติตระกูลสูง จึงไม่หมั่นเจริญสมาธิภาวนา แม้จะแสดงตนว่าเป็นนักบวชที่เคร่งครัด แต่มีจิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สามารถทำฌานสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้ ขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งหวังจะอนุเคราะห์ท่านฤๅษีเพราะเห็นว่าบำเพ็ญบารมีมานาน จึงมาปรากฏกายให้เห็น พร้อมทั้งแนะนำให้รีบเร่งทำความเพียร หมั่นสำรวมระวังจิตให้ดี อย่าได้ประมาท แต่ท่านกลับไม่เชื่อ เพราะถือตัวว่าเป็นนักบวชเหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงได้เหาะขึ้นไปในอากาศให้เห็นด้วยตาเนื้อกันจะจะเลยทีเดียว ท่านฤๅษีเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้นก็ได้สติและเกิดความสลดใจว่า "ท่านผู้นี้เป็นสมณะ มีสรีระหนักแต่สามารถเหาะไปในอากาศได้เหมือนปุยนุ่น ส่วนเรามัวแต่ถือตัว จึงไม่มีคุณวิเศษอะไร ชาติตระกูลจะช่วยอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ เมื่อทิฐิมานะของเรายังพอกพูนอยู่เช่นนี้ก็มีแต่จะพาเราไปสู่นรก ฉะนั้น หากเรายังข่มมานะไม่ได้ เราจะไม่ไปหาผลไม้มาขบฉันอย่างเด็ดขาด"

ท่านรีบเข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มมานะ นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ เพียงไม่กี่วันก็สามารถทำใจหยุดนิ่งจนได้อภิญญาสมาบัติ แล้วจึงเหาะไปหาผลไม้มาฉันตามปกติ เมื่อท่านเห็นสัตว์ทั้งสามที่มาสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มจิต ท่านเมตตาสั่งสอนให้ตั้งใจรักษาอุโบสถศีลไว้ให้มั่น ภพชาติต่อไปจะได้ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานอีก

เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ หากรู้จักรักษาจิตแล้วย่อมก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมโลก เหตุที่มนุษย์เกิดมามีความแตกต่างกัน เพราะได้ทำกรรมที่แตกต่างกัน การกระทำที่แตกต่างกันนั้นก็มาจากจิตใจที่ต่างกัน เพราะใจเป็นบ่อเกิดของคำพูดและการกระทำ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกัน กรรมที่แตกต่างกันเพราะกิเลสทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ เมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว คำพูดหรือการกระทำก็ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย การตามรักษาจิตให้ผ่องใสเป็นภารกิจหลักของตัวเราเองแล้วความผ่องใสนี้จะแผ่ขยายไปสู่คนรอบข้างและสังคมโลก

ลูกพระธัมฯ รักษาอุโบสถ

ในพรรษานี้ ลูกพระธัมฯ ทั่วโลกควรให้โอกาสกับตนเองในการเข้าอยู่จำอุโบสถ ซึ่งมีวิธีการง่ายๆ คือสมาทานศีล ๘ ในวันพระ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ เป็นประจำ แม้ไม่ได้ไปอยู่อุโบสถศีลที่วัดเหมือนคุณตาคุณยาย ก็ถือว่ารักษาอุโบสถได้เหมือนกันเพราะถ้าเป็นความดีที่เราตั้งใจจะทำเป็นประจำ และลงมือทำจนสำเร็จ สิ่งนั้นได้ชื่อว่าอุโบสถ เหมือนสัตว์ร้ายที่ปฏิญาณตนว่าจะละความโลภ ความโกรธ แล้วอยู่จำอุโบสถนั้นแหละ การบอกตัวเองว่าจะนั่งธรรมะให้ได้ทุกวันก็ถือว่าเป็นอุโบสถ นี่คือวิธีการอันประเสริฐที่จะทำให้จิตดวงนี้เป็นจิตที่ประภัสสรสว่างไสวและใสบริสุทธิ์ เป็นใจที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงที่พึ่งอันประเสริฐภายใน คือ พระธรรมกาย

"ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกตามความเป็นจริง"

Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๖  เดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
เข้าพรรษา รักษาอุโบสถ เข้าพรรษา  รักษาอุโบสถ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:30 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.