พุทธวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตนเอง
พุทธวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตนเอง
เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
วันนี้ พวกเราพร้อมใจมาสร้างบุญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับความสวัสดีมีชัยในปีใหม่ เพื่อให้การมาสร้างบุญกุศลครั้งนี้ บังเกิดผลกับตัวเองอย่างเต็มที่ หลวงพ่ออยากจะให้เรามองเห็นตัวเองได้ชัดๆ จึงตั้งใจนำวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นตัวอย่างมามอบให้พวกเรา เพราะเมื่อพวกเราปฏิบัติตามนี้แล้ว แต่ละวันที่ผ่านไป แม้เราจะแก่ด้วยวันเวลา แต่ว่าบุญบารมีของเราก็แก่กล้าตามไปด้วย แล้วบุญบารมีที่แก่กล้าจะไปผลักดันความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นมาตามความคิด ความปรารถนาของเรานั่นเอง
การที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราประกอบเหตุบุญไว้ดี เราจึงได้ผลดีตามมา
เพราะฉะนั้น ในปีนี้อีกเหมือนกัน เราอยากรู้ว่า เราเจริญก้าวหน้าได้ดีเพียงไหน ก็ต้องมาตามประเมินจากหลักประเมิน ๔ ชุดต่อไปนี้ของพระพุทธองค์
ในการประเมินผลนั้น ขอให้เราทำใจเป็นกลางๆ อย่าเข้าข้างหรือหลอกตัวเอง เพื่อเราจะได้ทราบความจริงเกี่ยวกับการประกอบเหตุบุญของตัวเราให้มากที่สุด โดยอาศัยคำสอบถามที่หลวงพ่อจะให้ดังต่อไปนี้
ชุดที่ ๑ แ บ บ ท ด ส อ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล ค ว า ม ป ร ะ พ ฤ ติ ตั ว เ อ ง
ในชุดที่ ๑ นี้มีทั้งหมด ๑๔ ข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า กรรมกิเลส แปลว่า การกระทำที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง ก็เรียกว่าเป็นเมฆบังจันทร์ของตัวเรา ถ้าบังเกิดขึ้นในครอบครัวก็เป็นสัญญาณว่า ครอบครัวของเราได้เข้าสู่วิกฤตการณ์ และถ้าไปเกิดขึ้นในสังคมใด บอกได้คำเดียวว่าสังคมนั้นมีจุดรั่ว เป็นความพิการของสังคม
สำหรับแบบประเมินชุดแรกนี้ เป็นวิธีการประเมินข้อบกพร่อง ข้อเสียหาย หรือเป็นรอยร้าวฉานของตัวเราเองก็ได้ ของครอบครัว หรือของสังคมก็ได้ รวมทั้งเป็นของประเทศชาติ บ้านเมืองด้วย แต่ในวันนี้ จะมุ่งมาที่การประเมินตัวเองก่อน เพื่อดูว่าใน ๑ ปีที่ผ่านมานี้ เราไปทำผิดอย่างนั้นใช่หรือไม่ใช่ ให้ตอบตัวเองให้ชัดๆ
ข้อที่ ๑ เรายังมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่หรือเปล่า ตั้งแต่สัตว์เล็กจนกระทั่งสัตว์ใหญ่ เลยไปถึงคนก็ตาม เรามีเจตนาจะทำร้ายใครบ้างไหม ตอบตัวเองให้ชัด
ข้อที่ ๒ เราไปลักทรัพย์ใครเขาบ้างไหม หรือมีเจตนาจะเอาทรัพย์สมบัติใครมาในทางที่ไม่ชอบบ้างไหม
ข้อที่ ๓ เราไปประพฤติผิดในลูกในเมียในสามีของใครเขาบ้างหรือเปล่า แวะข้างทางไปเรื่อยใช่หรือไม่
ข้อที่ ๔ เราไปพูดเท็จกับใครเขาเอาไว้บ้างไหม ไม่ว่าจะพูดเท็จกับเพื่อน หรือกับใคร แม้พูดเท็จให้เขาสบายใจ อย่างนี้ก็ไม่ได้
ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นการประเมินทางด้านกรรมกิเลส ๔ ซึ่งแท้ที่จริงคือศีล ๕ เพียงแต่ตัดข้อสุราออกไป
หัวข้อต่อไป หลวงพ่อจะเจาะลึกการประเมินในเรื่องความลำเอียง ลองพิจารณาดูว่าเรามีนิสัยลำเอียงทั้ง ๔ อย่างนี้หรือเปล่า
ข้อที่ ๕ เราลำเอียงเพราะรักหรือเปล่า ก็คือ ไม่ว่าเขาจะทำผิดอย่างไร ฉันเป็นเข้าข้างว่าไม่ผิดทุกทีไป
ข้อที่ ๖ เราลำเอียงเพราะชังหรือเปล่า เจ้าคนนี้ ฉันไม่ค่อยจะชอบหน้า ทำอะไรผิดนิดผิดหน่อย เป็นเล่นงานทันที
ข้อที่ ๗ เราลำเอียงเพราะโง่หรือเปล่า คือ ไม่ทันคน โดนเขาหลอกเข้าให้ เลยลำเอียงโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า
ข้อที่ ๘ เราลำเอียงเพราะกลัวหรือเปล่า บางคนกลัวว่าลูกจะไม่รัก มีอะไรก็ประดังประเดให้ลูกหมด ลูกเลยเป็นลูกบังเกิดเกล้า เสียผู้เสียคนไป อย่างนี้ก็มี
ลำดับต่อมา ลองมาดูว่า เราได้ไปยุ่งเกี่ยวกับปากทางแห่งความฉิบหาย ความพินาศ เรียกว่า อบายมุข ๖ บ้างหรือเปล่า เรามาลองประเมินดูว่า
ข้อที่ ๙ เราดื่มสุรายาเมาหรือสิ่งเสพติดหรือเปล่า
ข้อที่ ๑๐ เรายังไปในสถานที่ที่ไม่ควรไปอยู่อีกไหม
ข้อที่ ๑๑ เราหมกมุ่นในเรื่องบันเทิงเริงรมย์อยู่หรือเปล่า
ข้อที่ ๑๒ เราเล่นการพนันอยู่หรือเปล่า
ข้อที่ ๑๓ เรายังคบคนชั่วเป็นมิตรอยู่ไหม
ข้อที่ ๑๔ เรายังเป็นคนขี้เกียจอยู่หรือเปล่า
ทั้ง ๑๔ ข้อนี้ ถ้าเกิดขึ้นในสังคม ก็บอกว่านี้คือความพิการของสังคม แต่ถ้าเป็นในครอบครัวเรา นี้คือความพิการในครอบครัวของเรา หรือถ้าตัวเราเป็นเองก็เป็นความพิการในตัวเรา ที่ทำให้เราห่างจากหนทางพระนิพพานไปทุกทีๆ และทั้ง ๑๔ ข้อนี้ คือ เหตุแห่งความอัปมงคลทั้งหลายในโลกนี้
ชุดที่ ๒ แ บ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล เ รื่ อ ง มิ ต ร แ ท้ มิ ต ร เ ที ย ม
หลังจากที่เราได้ประเมินตนเองจากชุดแรกไปแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ประเด็นต่อมาให้เห็นว่า ความเสียหายทั้งหลายของมนุษย์เรา รวมทั้งความเลวร้ายทั้งหลายในโลกนี้ด้วย ต้นเหตุจริงๆ เริ่มมาจาก "การคบมิตรชั่ว" ด้วยเหตุนี้จึงทรงสั่งสอนให้เลือกคบคนให้เป็นให้ได้
พระองค์ทรงแบ่งเพื่อนออกเป็น ๒ ประเภท คือ มิตรแท้ ๔ ประเภท กับมิตรเทียม ๔ ประเภท แต่ละประเภทมีความประพฤติหลักของตัวเองอยู่ ๔ อย่าง รวมเป็นความประพฤติดีของมิตรแท้ ๑๖ อย่าง และความประพฤติชั่วของมิตรเทียม ๑๖ อย่าง สรุปว่าการประเมินผลความเป็นมิตรแท้-มิตรเทียมของคนเราต้องดูจากพฤติกรรม ๓๒ อย่าง หลวงพ่ออยากให้พวกเราลองส่องดูตัวเองกันว่า เราเป็นมิตรแบบไหนกันแน่
มิตรเทียม ๔ ประเภท
มิตรประเภทนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอยู่ ๔ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ มิตรปอกลอก ลองดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. ยอมเสียแต่น้อย เพื่อหวังเอามาก
๓. ไม่รับทำกิจให้เพื่อนในคราวมีภัย
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
ประเภทที่ ๒ มิตรดีแต่พูด ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
๑. ชอบเอาเรื่องบุญคุณที่เรามีต่อเขามาปราศรัย ผ่านไปนานแล้วก็ยังพูดอยู่
๒. อ้างเรื่องที่ยังมาไม่ถึงมาปราศรัย เช่น มีอะไรขอให้บอก จะจัดการให้แจ๋วไปเลย แต่พอถึงเวลาก็ไม่ช่วย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ อ้างโน่นอ้างนี่สารพัดจะได้ไม่ต้องให้
๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ ก็อ้างเหตุขัดข้องทุกที
ประเภทที่ ๓ มิตรหัวประจบ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
๑. เพื่อนจะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. เพื่อนจะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าเพื่อนก็สรรเสริญ
๔. ลับหลังเพื่อนก็นินทา
ประเภทที่ ๔ มิตรชักชวนในทางที่ฉิบหาย ลองประเมินดูว่า เราเคยมีนิสัยชักชวนเพื่อนทำนองนี้บ้างไหม
๑. ชักชวนให้เพื่อนดื่มสุรา
๒. ชักชวนไปเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนไปเที่ยวเตร่เสเพล
๔. ชักชวนเล่นการพนัน
คนเราโดยทั่วไป ถ้ามาถึงจุดนี้ เราเริ่มจะพบแล้วว่า ที่เราว่าเราดีแสนดี ความจริงยังดีไม่จริง มันยังมีข้อบกพร่องอยู่ รู้แล้วจะได้แก้ไขกันเสีย
มิตรแท้ ๔ ประเภท
คราวนี้เราหันมาดูฝ่ายดีบ้างว่า ที่ว่ามิตรแท้นั้น แท้จริงเป็นอย่างไร มิตรแท้หรือมิตรมีอุปการะที่ดีๆ มีอยู่ ๔ ประเภทอีกเหมือนกัน
ประเภทที่ ๑ มิตรมีอุปการะ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม ดังนี้
๑. เมื่อเพื่อนประมาทก็ตักเตือนช่วยเหลือ เป็นกัลยาณมิตรให้
๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อนไว้
๓. เมื่อเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพักพิงให้เพื่อนได้
๔. เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า คือให้มากกว่าที่เพื่อนเอ่ยปาก
ประเภทที่ ๒ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยดีๆ อย่างนี้ไหม
๑. บอกความลับแก่เพื่อน เพื่อไม่ให้เพื่อนต้องเสียคนเสียของ
๒. ปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย เมื่อเพื่อนมีอันตราย ไม่ทอดทิ้งเพื่อน
๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้ เป็นยังไงก็เป็นกัน
ประเภทที่ ๓ มิตรมีใจรักใคร่ห่วงใย ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม ดังนี้
๑. ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน เราเป็นคนอย่างนั้นหรือเปล่า
๒. ยินดีในความเจริญของเพื่อน เมื่อเพื่อนได้ดี เรายินดีกับเพื่อนหรือเปล่า
๓. ห้ามคนที่ติเตียนเพื่อน ใครเขานินทาเพื่อนก็ช่วยห้ามช่วยแก้ไขแทนเพื่อนหรือเปล่า
๔. สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อนเรา ใครดีกับเพื่อนเรา ก็นิยมชื่นชมกับคนๆ นั้นด้วย
ประเภทที่ ๔ มิตรแนะนำประโยชน์ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้บ้างไหม
๑. ห้ามเพื่อนจากความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางไปสวรรค์ให้
ตกลงเราก็ได้ตะแกรงมาร่อนดูความดี หรือว่าความประพฤติดีของมิตรแท้ ว่ามีอยู่ในตัวของเรากี่ข้อ ครบหมดทั้ง ๑๖ ข้อไหม ถ้าไม่ครบก็ไปทำให้ครบ
ชุดที่ ๓ แ บ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล เรื่ อ ง ห ัว ใ จ กั ล ย า ณ มิ ต ร
ชุดนี้เป็นชุดที่ ๓ แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า พวกเราที่เข้าวัดก็ล้วนมีจิตใจงามทั้งนั้น อยากจะเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่น แต่ครั้นพอไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นจริงๆ ด้วยความที่เราเองยังดูคนไม่เป็น บางทีเขาไม่เข้าใจ เลยด่าเอาให้เสียอีก บางทีเขาก็ไล่ออกจากบ้าน เพราะเราดูคนไม่เป็น ไม่ทันคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีดูคน อยากจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ในทางที่เจาะลึกลงไป พระองค์ทรงให้ทำอย่างไร สำหรับประเด็นนี้หลวงพ่ออยากจะให้เอาไว้เจาะดูตัวเองว่าได้มีการพัฒนาตัวเองเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรบ้าง สมกับการที่จะบำเพ็ญหน้าที่กัลยาณมิตรต่อไปหรือไม่ ดังนี้
ข้อที่ ๑ คนๆ นั้นอยากเห็นพระหรือไม่อยากเห็นพระ ถ้าไม่อยากจะเห็นพระ ก็ต้องมาคิดต่อว่า ทำอย่างไรเขาจึงจะอยากเห็นพระ แล้วก็มีกุศโลบายที่นุ่มนวล
ข้อที่ ๒ เมื่อเห็นพระแล้ว อยากฟังท่านเทศน์หรือว่าไม่อยากฟัง ถ้าเขาไม่อยากฟังธรรม ต้องหาทางให้เขาอยากฟังธรรมโดยวิธีการแยบคายให้ได้
ข้อที่ ๓ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฟังธรรม
ข้อที่ ๔ ตั้งใจฟังแล้ว ตั้งใจจำหรือไม่
ข้อที่ ๕ พอจำได้แล้ว นำมาไตร่ตรองหรือเปล่า
ข้อที่ ๖ นำธรรมะที่ไตร่ตรองนั้นมาปฏิบัติหรือเปล่า
ข้อที่ ๗ บอกพรรคพวกเพื่อนฝูง ชักชวนกันมาประพฤติปฏิบัติธรรมตามกัน
ชุดที่ ๔ แ บ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล เรื่ อง ค ว า ม รู้ จั ก จั บ จ่ า ยใ ช้ ส อ ย
มาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ประเมิน คือการประกอบอาชีพ และความรู้จักจับจ่ายใช้สอยของพวกเรา คือมาตรวจสอบดูว่า อาชีพของเราที่ทำอยู่ขณะนี้ สมควรหรือไม่สมควรอย่างไร ครั้นเมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว เราจะนำทรัพย์นั้น มาเลี้ยงตัวเองและสร้างบุญสร้างกุศลได้อย่างไรบ้าง
แบบประเมินเรื่องนี้ หลวงพ่อนำมาจากพระไตรปิฎกชุดที่เรียกว่า "กามโภคีสูตร" เรามาพิจารณากันเป็นข้อๆ ไป ขอให้ตั้งใจพิจารณาให้ดีด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงพิจารณาตัวเองในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยไว้ดังนี้
พระองค์ทรงให้พิจารณาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ไว้เป็นข้อๆ ว่า
ข้อที่ ๑ การแสวงหาทรัพย์ เป็นอย่างไร
ข้อนี้แบ่งการพิจารณาออกเป็น ๒ พวก
๑.๑) ได้มาแบบชอบธรรม
๑.๒) ได้มาแบบไม่ชอบธรรม
ข้อที่ ๒ การใช้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพเลี้ยงชีวิตของเราเป็นอย่างไร ข้อนี้แบ่งการพิจารณาออกเป็นอีก ๒ พวก
๒.๑) เอามาเลี้ยงตัวเองอย่างดี
๒.๒) ไม่เลี้ยงตน ยอมอด ๆ อยาก ๆ
ข้อที่ ๓ การใช้ทรัพย์ทำบุญทำทานของเราเป็นย่างไร ข้อนี้ก็ยังแบ่งเป็นอีก ๒ พวก
๓.๑) ทำบุญ
๓.๒) ไม่ทำบุญ
ข้อที่ ๔ ปัญญาที่จะทำตัวเองให้หลุดให้พ้นจากกิเลสเป็นอย่างไร
สำหรับข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำพฤติกรรมการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์จาก ๓ ข้อข้างต้นมาประกอบด้วย แล้วแบ่งให้เห็นเป็น ๑๐ กลุ่ม เพื่อให้เราพิจารณาว่าการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ของเรานั้น ยิ่งมีสมบัติ เรายิ่งมีปัญญา ยิ่งมีบุญ หรือว่า ยิ่งมีสมบัติ ยิ่งก่อเวร หรือสร้างบาป
กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์มาโดยความไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตน แล้วก็ไม่ยอมทำบุญทำทานอีกด้วย พระองค์ทรงเรียกว่า คนประเภททรัพย์สกปรก อดอยาก แล้วก็ตระหนี่ขี้เหนียวไม่ยอมทำบุญทำทาน เรื่องมีปัญญาไม่มีปัญญา ไม่ต้องพูดแล้ว เพราะว่าไม่มีแน่ ๆ อยู่แล้ว
กลุ่มที่ ๒ ได้ทรัพย์มาแบบไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วเลี้ยงตน แล้วไม่ยอมทำบุญ นั่นคือ ทรัพย์สกปรก กินอิ่ม แต่ว่า ตระหนี่ขี้เหนียว
กลุ่มที่ ๓ หาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วก็เลี้ยงตน แล้วก็ทำบุญทำทานด้วย นั่นคือทรัพย์สกปรก กินอิ่ม มีโอกาส ก็ทำบุญทำทาน ประเภทนี้จะเรียกว่าผู้ร้าย-ผู้ดี ก็เรียกได้
กลุ่มที่ ๔ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วไม่เลี้ยงตน และไม่ทำบุญ คือ ทรัพย์ก็หากินทั้งสะอาด ทั้งสกปรก แล้วก็อด ๆ อยาก ๆ แถมขี้เหนียวด้วย นี่เป็นอีกพวกหนึ่ง
กลุ่มที่ ๕ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วเลี้ยงตน แต่ไม่ทำบุญ คือ หาเลี้ยงตัวเองทั้งทรัพย์ที่สะอาด และสกปรกแล้วก็เลี้ยงเสียอิ่มหนำสำราญแต่ว่าก็ขี้เหนียวไม่ทำบุญทำทาน
กลุ่มที่ ๖ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วเลี้ยงตน และทำบุญ คือ ทรัพย์สะอาดบ้างสกปรกบ้าง เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แล้วทำบุญทำทานไม่ขี้เหนียว
กลุ่มที่ ๗ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แต่ไม่เลี้ยงตน แล้วก็ไม่ทำบุญ นั่นคือเป็นประเภททรัพย์สะอาด แต่ยังอดอยากแล้วก็ตระหนี่
กลุ่มที่ ๘ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม เลี้ยงตน แต่ไม่ทำบุญ นั่นคือ ทรัพย์สะอาดแล้วก็เลี้ยงตนเอง ให้อิ่มหนำสำราญ แต่ว่าตระหนี่
กลุ่มที่ ๙ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แล้วก็เลี้ยงตน และทำบุญ คือ ทรัพย์ก็สะอาด เลี้ยงให้อิ่มหนำสำราญดีทั้งครอบครัว แล้วก็ใจบุญสุนทานด้วย
กลุ่มที่ ๑๐ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แล้วก็เลี้ยงตน ทำบุญ มีปัญญาเป็นเครื่องหลุดพ้น นั่นคือทรัพย์สะอาด แล้วก็กินอย่างอิ่มหนำสำราญ ทำบุญด้วย แล้วก็นั่งสมาธิกันตัวตั้งเลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญกลุ่มที่ ๑๐ นี้ และหลวงพ่อก็อยากให้พวกเรายึดเอากลุ่มที่ ๑๐ นี้เป็นต้นแบบในการหาทรัพย์ และใช้ทรัพย์ เพราะนั่นหมายความว่าเรายิ่งมีสมบัติก็ยิ่งมีปัญญา และก็มีบุญบารมีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับวันนี้ หลวงพ่อคงฝากให้พวกเรานำแบบการประเมินความเจริญก้าวหน้าของตัวเองตามพุทธวิธีเช็คตัวเองกันอย่างนี้ ไปประเมินตัวเอง ให้คะแนนตัวเอง แล้วเก็บไว้ที่หัวนอน เพื่อจะได้นำมาดูบ่อย ๆ ใช้เตือนตัวเองด้วย เตือนสมาชิกในครอบครัวด้วย ทั้งเขาและเราจะได้มีความเจริญร่วมกัน
สุดท้ายนี้ ขอให้ลูกของหลวงพ่อทุกคน จงเป็นผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้มั่นคงอยู่ในเส้นทางโลก และทางธรรม บำเพ็ญตน เป็นกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชาวโลก เป็นขุนพลกล้าของกองทัพธรรม เป็นมหาเศรษฐีใจบุญค้ำจุนพระพุทธศาสนา ตราบถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญ
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
พุทธวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตนเอง
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: