วันแห่งกตัญญูบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์




นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ที่แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วหลายพันปี แต่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ค้นพบการปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นกายตรัสรู้ธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กลับมาสู่ชาวโลกอีกครั้งเมื่อ ๙๔ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่เหนือการค้นพบใด ๆ ที่เคยปรากฏมา ด้วยเป็นแนวทางอันประเสริฐที่จะนำพาชาวโลกทั้งหลายที่กำลังแสวงหาได้พบกับสันติสุขที่แท้จริง และยังเป็นที่ประจักษ์ว่า การค้นพบของท่านได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์อันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย โดยสิ่งที่ท่านได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นมรดกธรรมทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นการวางรากฐานเพื่องานเผยแผ่และสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ทั้งด้าน การศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง ทั้งที่เป็นพระภิกษุและ ฆราวาสอย่างอเนกอนันต์ ทั้งยังเป็นการจุดประกายความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาให้ส่องสว่าง ยังให้ เกิดความสงบสุขให้แก่ผองชนชาวโลกทั้งหลาย แม้ท่านจะละสังขารไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ แต่บารมีธรรมของท่านก็ยังคงอยู่ ยังคอยปกป้องคุ้มครองรักษาเหล่าศิษยานุศิษย์และผู้ประพฤติปฏิบัติตามอยู่เสมอ

วันบูชาครูวิชชาธรรมกาย

บัดนี้ วันเวลากำลังเวียนมาถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นี้ ตรงกับวันที่ ๑๒ กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันแห่งการเข้าถึงพระธรรมกายของหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อประมาณ ๙๔ ปีที่ผ่านมา ณ อุโบสถ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี และ หลังจากนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ได้ไปสอนวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนี้ ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จนมีพระ ๓ รูป และ คฤหัสถ์ ๔ คน สามารถรู้และเข้าถึงพระธรรมกายตามท่านได้อีกด้วย ซึ่งนับจากวันนั้นเป็นต้นมา การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายก็แผ่ขยายไปทั่วประเทศและทั่วโลก ดังนั้นในปีนี้ วัดพระธรรมกายจึงได้จัดให้มีพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย อันเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ณ สภาธรรมกายสากล ซึ่งมีผู้คนจากทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีบูชาครูอย่างหนาแน่นโดยไม่กังวลใจว่าเป็นวันจันทร์ ซึ่งไม่ใช่วันหยุดงานแต่อย่างใด และแม้จะเป็นช่วงที่น้ำกำลังไหลบ่าท่วม ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่เหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายก็ไม่หวั่นต่ออุปสรรคหรือภัยทางธรรมชาติ ใด ๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งในช่วงเช้า เมื่อทุกคนเริ่มทยอยเดินทางมาถึง ณ บริเวณประกอบพิธีแล้ว ก็ได้ร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ถวายสังฆทาน และรับพรพระ ส่วนในภาคบ่าย เป็นการประกอบพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย โดยมีหลวงพ่อธัมมชโย เป็นประธาน โดยมีพระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการผู้ทรงสมณศักดิ์หลายรูป ได้มาร่วมพิธีบูชาครูครั้งนี้ด้วย เช่น พระธรรมปิฏก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระราชปริยัติสุธี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดคลองเกตุ พระสุธีวราภรณ์ เจ้าคณะอำเภอแก่งคอย เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี นอกจากนั้น ยังมีพระครูสิริวัฒนวิสุทธิ์ เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พระครูปิยธรรมพิมล เจ้าอาวาสวัดบางปลา จังหวัดนครปฐม และพระครูอนุวัฒน์ อายุวัฑฒโน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน) จังหวัดนนทบุรี ก็มาร่วมในพิธีด้วย





ปิดทองหลวงปู่
ทั้งองค์ภายนอกและองค์ภายใน

หลังจากที่หลวงพ่อธัมมชโยได้นำกล่าวคำบูชาครูวิชชาธรรมกายแล้ว ท่านก็ได้นำสาธุชนนั่งสมาธิและให้เริ่มต้นปิดทองพระเดชพระคุณหลวงปู่ ตั้งแต่องค์ที่อยู่กลางกายของทุกคนก่อน และเมื่อออกจากการนั่งสมาธิแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงเริ่มต้นนำทุกคนปิดทองรูปเหมือนหลวงปู่ องค์ที่อยู่ภายนอกที่หล่อด้วยทองคำแท้ ประดิษฐาน ณ ศูนย์กลางมณฑลพิธี ตามด้วยพระมหาเถรานุเถระ ได้ขึ้นปิดทองรูปเหมือนพระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยความนอบน้อมบูชา แล้วให้สาธุชนได้ร่วมกันปิดทองจนถึงเวลาค่ำ และเนื่องจากผู้คนมากันอย่างเนืองแน่น จึงเปิดโอกาสให้ปิดทองได้อีกในหลายสัปดาห์ และในขณะที่ปิดทองนั้น เชื่อว่าหลายท่านต่างรำลึกถึงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าค้นพบการปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งนับจากวันที่ท่านค้นพบและเข้าถึงจนกระทั่งบัดนี้ วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายแห่งองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวนั้น ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก และเมื่อบุคคลใดได้พิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนสามารถเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ย่อมจะตระหนักในคุณค่าแห่งพระรัตนตรัย เพราะการเข้าถึงพระธรรมกายคือสิ่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงแก่นแท้แห่งพระธรรม เพราะเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประสูติ นั้นถือเป็นการบังเกิดขึ้นของ "รูปกาย"  แต่ต่อมาพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต ตามเส้นทางสายกลางจนตรัสรู้พระอริยสัจธรรม ถือเป็นการเกิด ครั้งที่ เรียกว่าเกิดขึ้นด้วย "ธรรมกาย" หรือ กล่าวได้ว่าธรรมกายได้อุบัติขึ้นแล้วบนโลกมนุษย์ และหลังจากนั้นอีก ๕๔ พรรษา พระพุทธองค์ได้ดำเนินพุทธกิจเพื่อนำพาชาวโลกทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมกายเช่นเดียวกับพระองค์ ดังนั้น การบูชาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ที่ได้ค้นพบ และสืบทอดการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคำสอนอันสูงค่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปสู่ชาวโลก จึงเป็นการบูชาบุคคลผู้ควรบูชาอย่างแท้จริง





บูชาครู รู้ไหมว่า..บูชาใคร

บุคคลผู้ได้ชื่อว่าครูบาอาจารย์ผู้เลิศนั้นนอกจากรู้จริงแล้วยังต้องรู้แจ้ง คือสามารถปฏิบัติได้ด้วย ถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุคคล ผู้สมควรได้รับการสักการบูชาในฐานะปูชนียาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่เรายกย่องและบูชาพระเดชพระคุณ หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นอย่างสูงเช่นนี้ เหตุเพราะท่านเป็นแบบอย่างแห่งความดีงาม เป็นกำลังใจให้เรามุ่งมั่นที่จะสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป เพราะนอกจากเป็นผู้รู้แล้ว ท่านยังสามารถเป็นแบบอย่างนำการปฏิบัติจนกระทั่งเห็นผลจริงอีกด้วย

ซึ่ง "วิชชาธรรมกาย" นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจนบังเกิดเห็นผลจริง และได้นำออกเผยแผ่ต่อมาโดยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คำว่า "ธรรมกาย" ยังเป็นของใหม่ ยังไม่เป็นที่คุ้นหูของผู้คนเท่าใดนัก บางคนก็ไม่สนใจ แต่บางคนก็กลับคิดไปว่าท่านคิดบัญญัติขึ้นมาใหม่ เป็นการบัญญัติขึ้นเองเพื่อใช้ตามแนววิธีการสอนของท่าน เคยมีพระมหาเถระได้ปรารภเรื่องนี้กับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า

"คนเช่นเราไม่ใช่ไร้ปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เราจะฆ่าตัวเราเองเพราะความปรารถนาทำไม ที่เขาพูดหาว่าเราอย่างนั้น บางคนคงจะไม่รู้จัก คำว่า “ธรรมกาย” มีอยู่ที่ไหน หมายเอาใคร เขาอาศัยความไม่รู้มาว่าเราผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อผู้ไม่รู้มาติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขาจะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าจะกลบก็กลบได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าดวงแก้วของพระพุทธศาสนาก็จะเปล่งรัศมีให้ผู้มีปัญญาเห็นด้วยสายตาของตนเอง..."

...การที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ปฏิบัติธรรม เข้าถึงธรรม และเห็นธรรมแจ่มแจ้งเช่นนี้ ท่านจึงมีความองอาจและสง่างามในเวลาที่ท่านแสดงธรรม ธรรมะในคัมภีร์ต่าง ๆ ท่านสามารถชี้ให้เห็นแนวการปฏิบัติให้เกิดผลแห่งธรรมนั้นได้ตามสมควรแก่การปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงกล่าวได้ว่า ท่านสามารถเป็นแบบอย่างและสามารถถ่ายทอดแนวการปฏิบัติได้ตามอย่างท่านเป็นอย่างดี และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังมีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะปราบมารอันเป็นต้นแหล่งแห่งความทุกข์ทั้งปวงนี้อีกด้วย ดังนั้น นอกจากท่านจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบการปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ยัง ได้ชื่อว่า "พระผู้ปราบมาร" อีกด้วย ซึ่งการที่บุคคลใดกล้าที่จะตั้งมโนปณิธานที่จะปราบมารเช่นนี้ แสดงว่าท่านย่อมมีบุญบารมียิ่งใหญ่ไม่ใช่ธรรมดา และย่อมจะเตือนเราให้รู้เสมอว่า เรากำลังทำบุญกับบุคคลที่ไม่ใช่ธรรมดาเช่นกัน



คนจริง ปฏิบัติจริง ย่อมพบของจริง

ผู้คนทั้งหลาย เมื่อเกิดมาแล้วต่างต้องการที่พึ่งที่ระลึกให้แก่ตน แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ก็พากันบูชากราบไหว้ภูเขา ต้นไม้ใหญ่ จอมปลวก เป็นต้น แต่บัดนี้ เราทั้งหลายทราบแล้วว่าพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ดังนั้นการยกย่องสักการบูชาพระเดชพระคุณหลวงปู่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นอกจากจะเป็นการบูชามหาปูชนียาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธรรม อันเป็นสิ่งพิสูจน์ยืนยันว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดความดีแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติจริง จนบุคคลธรรมดากลายเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่ยกย่องบูชากราบไหว้ของมหาชนทั่วไป และในที่สุดก็เป็นการสักการบูชาในพระพุทธองค์ ผู้ตรัสรู้และจำแนกธรรม นำเอาความประเสริฐนี้ออกเผื่อแผ่แก่ชาวโลก ก่อให้เกิดความสุขความเจริญ นำไปสู่สันติสุขอันแท้จริงแก่โลกได้ ดังนั้น การบูชาบุคคลผู้ควรบูชาและการพึ่งพาในสิ่งที่เป็นสรณะที่แท้ถือเป็นมงคลอันสูงสุด และย่อมจะยังให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้อย่างสูงส่ง สมควรค่าแห่งการได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้อย่างแท้จริง



Cr. พระสมศักดิ์  จนฺทสีโล
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๘  เดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
วันแห่งกตัญญูบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ วันแห่งกตัญญูบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:41 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.