มาสวดมนต์กันเถิด
การสวดมนต์มีที่มาจากไหน
อย่างไร
การสวดมนต์เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
ซึ่งยังไม่มีการบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลายลักษณ์อักษร
สมัยก่อนใช้วิธีการที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" คือ การท่องจำ
เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนอะไรไว้ พระภิกษุก็จะท่องจำ แล้วบอกต่อ ๆ กันไป
ดังนั้น การสวดมนต์ก็คือการสาธยายธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
เป็นการมาทบทวน เพราะถ้าไม่ทวนบ่อย ๆ ก็จะลืม และถ้าเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญ ๆ
ก็ยิ่งต้องท่องกันบ่อย ๆ ส่วนหัวข้อธรรมที่นาน ๆ จะใช้สักครั้ง ก็แบ่งหน้าที่กันว่าพระภิกษุรูปไหนจะท่องจำหัวข้อธรรมอะไร
แต่ถ้าเป็นเรื่องหลัก ๆ เช่น คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
การพิจารณาความไม่เที่ยงอนัตตา ความทุกข์ ฯลฯ ก็จะมีการทบทวนสม่ำเสมอ
โดยแปลงมาเป็นการสวดมนต์ทำวัตร หรือเป็นบทสวดมนต์ของเด็ก ๆ ที่สวด “อะระหัง สัมมา
สัมพุทโธ ภะคะวา... “ คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
เป็นพื้นฐานสำคัญ
นอกจากเป็นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว การสวดมนต์มีประโยชน์อะไรบ้าง
การสวดมนต์ถือว่าเป็นการเตรียมใจให้พร้อมเบื้องต้นสำหรับการทำสมาธิก็ว่าได้
วิถีชาวพุทธที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา คำว่า “ภาวนา” คลุมทั้งสวดมนต์ ทั้งนั่งสมาธิอยู่ในตัว
เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง มีอานิสงส์ทำให้ใจสงบ เป็นสมาธิ
นี้ประการแรก
ประการที่ ๒
การสวดมนต์เป็นทางมาแห่งบุญ เรียกว่า ภาวนามัย คือบุญที่เกิดจากการทำภาวนา
ใครก็ตามที่สวดมนต์บ่อย ๆ เวลาจะเจอเหตุร้าย ก็จะแคล้วคลาดไป และสิ่งดี ๆ
จะเกิดขึ้น โบราณบอกว่าเทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาเขาก็อยากได้บุญ แต่เขาอยู่ในภาวะที่เป็นกายละเอียด
ทำบุญเองไม่สะดวก ดังนั้นถ้าเขาอยากได้บุญ เขาจะดูว่าใครทำความดี เขาจะลงรักษา
พอลงรักษาแล้วเวลาคนนั้นไปทำความดี เขาจะได้ส่วนบุญด้วยในฐานะเป็นผู้สนับสนุน
สวดมนต์ยาวหรือสั้นได้บุญมากน้อยกว่ากันหรือไม่
ไม่ถึงขนาดกำหนดว่าสั้นยาวแค่ไหนจะได้ผลเท่าไร
ถ้าสวดสม่ำเสมอและสวดด้วยใจที่สงบ บุญจะเกิด ยิ่งใจสงบมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเกิดมากไปตามส่วน
เด็กเล็ก ๆ ก็ให้หัดสวดสั้น ๆ ก่อน โตขึ้นก็สวดยาวขึ้น
การสวดมนต์ยังเป็นการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
แต่ไม่ถึงขนาดว่าระหว่าง สวดต้องคิดถึงคำสอนไปด้วย เน้นทำใจให้สงบ
จะเป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในระดับที่ลึกกว่า
ไม่ต้องสวดไปด้วยและนึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปด้วย จะรบกวนความเป็นสมาธิ
ให้สวดด้วยใจนิ่ง ๆ เพราะการที่ใจนิ่งแล้วสวดมนต์ ความซาบซึ้งในพระรัตนตรัย
จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่
สวดโดยทราบความหมายกับไม่ทราบความหมายให้ผลแตกต่างกันไหม
ถ้าทราบความหมายก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่ทราบความหมายก็อย่าไปคิดว่าไม่ได้ประโยชน์
หรือ เวลาฟังพระสวด แม้เราไม่รู้ความหมาย แต่เราก็รู้ว่าท่านสวดบูชาพระรัตนตรัย
แล้วก็มีนัยที่ดี ถ้าเราตั้งใจฟังคำสวดโดยทำใจนิ่ง ๆ สงบ ๆ เพียงเท่านี้
บุญเกิดขึ้นอย่างมหาศาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบว่า การทำใจให้สงบแม้เพียงช่วงสั้น
ๆ เพียงแค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น อานิสงส์มหาศาลยิ่งกว่า สร้างโบสถ์สร้างวิหารอีก
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราสวดมนต์ หรือเวลาพระท่านสวดนานเป็นสิบ ๆ นาที
ถ้าเราทำสมาธิแล้วฟังด้วยใจที่สงบ บุญมหาศาลเลย เวลามีการสวดมนต์ในงานใดก็ตาม
ขอให้ตั้งใจฟัง พนมมือหลับตาทำใจนิ่ง ๆ อยู่ที่กลางท้อง ระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง
แล้วก็ฟังไป อย่างนี้ถูกหลักวิชา บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล
อย่าว่าแต่คนเลย ในอดีตมีค้างคาวได้ฟังธรรม แม้ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ฟังแล้วซาบซึ้ง
สบายใจ มีความสุข อานิสงส์ฟังพระสาธยายธรรมทำให้ค้างคาวไปเกิดเป็นเทวดา
แค่ค้างคาวส่งใจไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ของพระ บุญยังส่งผลให้ไปเป็นเทพบุตร
ฉะนั้นอย่าดูเบาการสวดมนต์ ถ้าเราสวดเองด้วยยิ่งได้บุญทับทวีคูณ
เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่าถ้าแปลคำสวดมนต์แล้วจะทำให้ไม่ขลัง
คงไม่ได้เกี่ยวกับขลังหรือไม่ขลัง
แต่ภาษาบาลีเป็นภาษาที่เวลาสวดจังหวะจะเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น
ถ้าจะสวดมนต์แปลสั้น ๆ ก็พอได้ แต่ถ้าแปลยาว ๆ สวดบาลียาวไปเลยดีกว่า
จะช่วยการฝึกสมาธิของใจได้ดีกว่า เพราะจังหวะดีกว่าสวดคำแปลไปด้วย ยกเว้นบางบทสั้น
ๆ ที่เราอยากจะรู้ความหมายจริง ๆ จะแถมบทแปลไปด้วยก็ได้ แต่ว่าโดยภาพรวม ถ้าเป็นภาษาบาลีน่าจะดี
ไม่เกี่ยวกับความขลัง แต่เกี่ยวกับความราบรื่นของใจที่สงบและเป็นสมาธิ
แต่อย่างไรก็ตาม จะแปลหรือไม่แปล สวดย่อมดีกว่าไม่สวด
มีนักวิจัยชาวตะวันตกวิจัยว่าการสวดมนต์ช่วยรักษาสุขภาพได้
เรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไรบ้าง
คนเราประกอบด้วยกายกับใจ ทั้ง ๒ ส่วน
ส่งผลเนื่องกัน ถ้าตอนไหนเรามีเรื่องเครียด ไม่สบายใจ หลาย ๆ
วันเข้าเรามีสิทธ์ที่จะไม่สบายได้ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ
มีโรคนั้นโรคนี้มา ถ้าตอนไหนรู้สึกสบายใจ อารมณ์ดี รู้สึกมีสิ่งดี ๆ
เกิดขึ้นในชีวิต หน้าตาผิวพรรณจะสดใส กายกับใจจะส่งผลเนื่องกัน
ขณะเดียวกันถ้าร่างกายไม่แข็งแรง ป่วยนาน ๆ ใจก็ย่อมหดหู่ไปด้วย
แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ใจเราจะมีโอกาสสดชื่นมากกว่า ทั้ง ๒ ส่วนส่งผลซึ่งกันและกัน
ทีนี้การสวดมนต์ทำให้ใจเรานิ่งสงบและสบายใจ พอสบายใจ ใจที่ได้สมดุล ย่อมนำไปสู่ภาวะร่างกายที่สมดุลด้วย
จึงทำให้คนที่สุขภาพดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น ถ้าหากป่วยไข้ไม่สบายก็จะทุเลาลง
เรื่องของการสวดมนต์แต่ละศาสนา
ถ้าดูในแง่วิทยาศาสตร์ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
มีผลการทดลองอันหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มี
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เขาทดลองเอาน้ำมาทำให้เย็นจนกระทั่งแข็งตัวจับเป็นผลึก
แล้วทำให้เป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นรีบเอามาส่องกล้อง
จุลทรรศน์ดูว่าลักษณะผลึกน้ำเป็นอย่างไร
แล้วเขาก็ทดลองนำน้ำจากแหล่งเดียวกันมาแยกเป็น ๒ ขวด แล้วพูดเพราะ ๆ
กับน้ำขวดหนึ่ง อีกขวดหนึ่งพูดไม่ดีด้วย ใช้คำที่ร้าย ๆ เช่น แย่ เลว
ปรากฏว่าผลึกของน้ำแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่พูดเพราะ ๆ ด้วยเป็นผลึก ๖ เหลี่ยม
สวยงาม แต่ที่พูดไม่ดีด้วย ผลึกของน้ำไม่เป็นรูปเลย ราวกับว่าน้ำนั้นหัวใจสลาย
แม้แต่ข้าวก็เหมือนกัน
หุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอาไปใส่ขวดโหล ๒ ขวด ปิดฝาไว้ แล้วพูดขอบคุณ ข้าวในขวดแรก
แต่กับอีกขวดหนึ่งพูดไม่ดีด้วย พูดว่าไอ้โง่ทุกวัน ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ข้าวในขวดที่พูดเพราะ
ๆ ด้วยมีสีเหลืองสวยงาม แต่อีกขวดเป็นสีดำ
อีกภาพเป็นผลึกของน้ำจากเขื่อนฟูจิวาร่า
ก่อนได้ฟังเสียงสวดมนต์ลักษณะของผลึกไม่เป็นรูปเลย แต่พอสวดมนต์ให้ฟังทุกวัน
ปรากฏว่าผลึกมีรูปร่างสวยงาม นี่เป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถทำซ้ำได้
ทำกี่ทีก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ร้อย ๆ พัน ๆ ปี แล้วบังเอิญเกิดขึ้นทีหนึ่ง
ถ้าใครมีกล้องจุลทรรศน์ก็สามารถทดลองอย่างนี้ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าถ้าเปิดเพลงจังหวะต่าง
ๆ ให้น้ำฟัง ลักษณะของผลึกน้ำก็จะเปลี่ยนไปตามจังหวะเพลง
ถ้าเป็นเพลงคลาสสิกลักษณะผลึกก็ค่อนข้างจะสวยงาม ถ้าเป็นเพลงที่ก้าวร้าวรุนแรง
เหมือนยุให้คนไปทำร้ายกัน ผลึกก็จะไม่เป็นรูปเลย
คนทั่ว
ๆ ไป สวดมนต์ใส่น้ำ กับพระสงฆ์สวดมนต์ใส่น้ำ ผลึกน้ำจะมีความแตกต่างกันไหม
ตรงนี้น่าสนใจ ถามว่า ข้าวก็ตาม
น้ำก็ตาม มันรู้จักภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาไทยด้วยหรือ ตอบว่าจริง ๆ
แล้วไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องของกระแสใจ ตอนที่เราพูดว่าขอบคุณ จะใช้ภาษาไหน
ก็ตาม กระแสใจที่ออกมาจะเป็นกระแสของความรู้สึกที่ดี แต่ถ้าพูดว่าไอ้โง่ แม้จะพูดในการทดลองก็ตาม
กระแสใจเริ่มเปลี่ยนแล้ว พอกระแสด้านลบออกมาซ้ำ ๆ กันทุกวัน ก็จะส่งผลให้ข้าวและน้ำที่แม้ไม่รู้จักภาษาพูด
แต่สามารถสัมผัสกระแสความรู้สึกที่ออกไปได้ ทำให้กระแสนั้นไปส่งผลต่อลำดับโครงสร้างโมเลกุลของน้ำ
ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในข้าวได้
ดังนั้น
ถ้าเราสวดมนต์ทุกวันด้วยความดื่มด่ำ ซาบซึ้ง
ก็จะมีคลื่นที่ดีออกมาจากภายในให้กับตัวเราเอง สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นในชีวิต
เลือดหรือน้ำในตัวเราทั้งหมด ถ้านำไปส่องกล้องแล้วผลึกจะต้องสวยมาก ผิวพรรณวรรณะก็จะผ่องใส
รูปร่างหน้าตาก็จะดีขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราปรารถนาให้ตัวเรามีสุขภาพแข็งแรง
มีความเบิกบานผ่องใสแล้วละก็ สวดมนต์เถิด เครื่องสำอางยี่ห้อไหนก็สู้ไม่ได้
ในแง่พระพุทธศาสนา
การสวดมนต์มีอานิสงส์อย่างไรบ้าง
คำว่าอานิสงส์มีความหมายคล้าย ๆ
กับคำว่าประโยชน์ พอเราสวดมนต์ใจเราก็จะสงบและเกิดบุญกุศลขึ้นมาหล่อเลี้ยงใจ
แล้วจะดึงดูดสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา และเป็นการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
ชีวิตเราจะดำเนินไปทางบวก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบานผ่องใส หน้าที่การงานจะดี
การเรียนและทุกอย่างจะดีไปเรื่อย ๆ
มีเรื่องราวกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า
มีเด็ก ๒ คนเป็นเพื่อนกัน อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี คนหนึ่งอยู่ในครอบครัวชาวพุทธที่มีสัมมาทิฐิ
อีกคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวมิจฉาทิฐิ เวลาแข่งเล่นกีฬาตีคลี เด็กคนแรกจะสวดมนต์ก่อนสั้น
ๆ ว่า นะโม พุทธายะ แปลว่า ข้าพเจ้านอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่อีกคนหนึ่งสวดบูชาพระพรหม
เล่นกันทีไรเด็กคนแรกชนะตลอด จนเด็กคนหลังถามว่า เธอมีเคล็ดลับอะไร ทำไมชนะตลอด
เด็กคนแรกก็เลยบอกว่า เธอต้องสวด นะโมพุทธายะ เด็กอีกคนไม่ได้รู้ถึงความสำคัญของคำว่า
นะโมพุทธายะ แต่ก็สวด เพราะหวังว่าเวลาทำอะไรจะได้ประสบความสำเร็จ
มีอยู่คราวหนึ่ง
เด็กคนหลังตามพ่อไปตัดไม้ในป่า โคที่เทียมเกวียนหนีไป
พ่อเลยไปตามโคจนมืดก็ยังไม่กลับ เด็กชักกลัวเลยหลบไปนอนใต้เกวียน
ในป่านี้มียักษ์อยู่ ๒ ตน ตนหนึ่งไม่รังแกคน อีกตนเจอคนก็จะรังแก
บางครั้งก็เอามาเป็นอาหาร ยักษ์ทั้งคู่เห็นเกวียนก็ด้อม ๆ มอง ๆ ดู ปรากฏว่าเจอเท้าเด็กโผล่ออกมา
ยักษ์ใจร้ายบอกว่าโชคดีได้เด็กเป็นอาหารแล้ว ยักษ์ใจดีบอกว่าอย่าไปยุ่งเลย
ไปหาผลไม้กินก็ได้ แต่ยักษ์ใจร้ายจะกินเด็ก เลยจับขาเด็กลากออกมา เด็กตกใจรีบท่อง
นะโมพุทธายะ ท่องเท่านั้นเอง ยักษ์รู้สึกว่าร้อนเหมือนจับเหล็กเผาไฟแดง ๆ สะดุ้งคลายมือทันทีเลย
และคิดว่าเด็กคนนี้มีบุญ ถ้าเราไปทำร้ายเขาสงสัยบาปเกิดแน่ ๆ เลยขอโทษเด็ก แล้วก็เชื่อมให้เด็กกับพ่อเจอกันและกลับบ้านด้วยความปลอดภัย
อานิสงส์แค่สวดมนต์อย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ สวดแค่สั้น ๆ
บุญยังเกิดขึ้นอย่างนี้เลย คนโบราณท่านรู้หลักนี้ เวลาเกิดอะไรขึ้น จะอุทานว่า
คุณพระช่วย คือนึกถึงพระรัตนตรัยก่อน ผูกใจไว้กับพระรัตนตรัยเลย
เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราจับหลักได้อย่างปู่ย่าตายาย
ผลดีจะเกิดขึ้นกับเราอย่างไม่น่าเชื่อ
คนไม่ค่อยมีเวลา
จะสวดมนต์ตอนไหนดี
มีโยมอาจารย์คนหนึ่ง
เขาสอนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขานอนวันละ ๔ ชั่วโมง
เที่ยงคืนถึงตี ๔ ทุกวัน ตลอดมา ๒๐ กว่าปี เขามีงานเยอะมาก ๆ ทั้งสอนหนังสือ
ทำวิจัย ทำงานบ้านทุกอย่าง ดูแลทุกเรื่อง แต่เขาสวดมนต์วันหนึ่งได้เป็นร้อยจบ สวด “อิติปิ
โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ...” จบหนึ่งก็ราว ๓ นาที เวลาขึ้นรถไปมหาวิทยาลัยก็สวดมนต์ในใจไปเรื่อย
ๆ ถ้าตอนไหนอยู่คนเดียวก็สวดเบา ๆ แทนที่จะปล่อยให้คิดฟุ้งซ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้
สวดมนต์ไปเรื่อย ๆ นี่เป็นตัวอย่างว่างานเยอะก็สวดมนต์ได้
เราเองในแต่ละวันมีเวลาที่ไร้สาระเยอะมาก
ถ้าเอาเวลาเหล่านี้มาสวดมนต์ก็จะได้หลายรอบ แทนที่จะปล่อยใจไปคิดเรื่องอื่น
อาบน้ำอยู่ก็สวดได้ ไม่บาป เพราะการระลึกถึงพระรัตนตรัยคือการแสดง ความเคารพ
ล้างหน้า แปรงฟัน สวดได้หมด กินข้าวยังสวดได้เลย ทำอย่างนี้แล้วจะไม่มีคำพูดว่า
ไม่มีเวลาสวดมนต์ ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ
การสวดมนต์แบบออกเสียงกับไม่ออกเสียงอย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน
ถ้าสถานที่เหมาะสมสวดออกเสียงดีกว่า
จะทำอะไรก็ตาม ถ้าอยู่ในใจก็แค่แรงระดับหนึ่ง ถ้าพูดออกมาจะแรงเพิ่มขึ้น ถ้าลงมือทำก็หนักขึ้นไปอีก อย่างเช่น คิดจะทำร้ายคนอื่นก็ส่งผลลัพธ์แค่ใจชักจะไม่ดี
ถ้าพูดว่าฉันจะเล่นงานแก ผลจะหนักขึ้น แต่พอลงมือทำร้ายผลจะออกมาแรงที่สุด
เพราะฉะนั้น การสวดมนต์ก็เหมือนกัน ออกเสียงดีกว่า
อาตมาเคยมีประสบการณ์ตอนเรียนอยู่คณะแพทย์
ปกติจะเป็นคนค่อนข้างจะอารมณ์ดี เพราะเข้าวัดตั้งแต่มัธยมปลาย แต่มีอยู่คราวหนึ่งเพื่อนไม่รักษาคำพูด
ทำให้เสียหายมาก อาตมารู้สึกโกรธเลยไปสวดมนต์ทำวัตรเช้า เสร็จแล้วเช็กใจตัวเองดู
ปรากฏว่าความโกรธหายไปประมาณ ๗๐-๘๐ % แต่ยังเหลืออีกตั้ง ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์
เลยเริ่มสวดใหม่อีก ๑ รอบ เช็กใจตัวเองดู ความโกรธหายไปประมาณ ๙๕ เปอร์เซ็นต์
เหลืออีกนิดหน่อย ปรากฏว่าพอเลิกสวดมนต์
เพื่อนที่ก่อเรื่องมาขอโทษโดยชวนไปเลี้ยงข้าว ตอนนั้นยิ้มออกแล้ว เพราะหายโกรธไป
๙๕ % แล้ว ทุกอย่างก็เลยดี
เพราะฉะนั้น
บ้านไหนแม่บ้านอยากให้พ่อบ้าน กลับบ้านตรงเวลาและครอบครัวสงบ อบอุ่น ร่มเย็น
ลองสวดมนต์ดู มีบ้านหนึ่งพ่อบ้านเลิกงานแล้วไม่ค่อยกลับบ้าน
ทำให้มีปัญหาในครอบครัว
แม่บ้านเลยไปกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น พระอาจารย์ให้พระเครื่องมาองค์หนึ่ง
แล้วบอกว่า เวลาพ่อบ้านกลับบ้านให้แม่บ้านเอาพระขึ้นมาอมเลย จะมีเมตตามหานิยม
แม่บ้านก็ทำตาม พอพ่อบ้านเปิดประตูรั้วปั๊บ เอาพระใส่ปากอมเลย
พออมพระอยู่ในปากแล้วจะพูดไม่ถนัด ปกติแม่บ้าน บ่นจนพ่อบ้านรำคาญ
เลยไม่อยากจะกลับบ้าน พอเลิกบ่นพ่อบ้านก็รู้สึกสบายใจ บรรยากาศก็ดีขึ้น
นี่แค่หยุดพูดในทางไม่ดีนะ แต่ถ้าเมื่อไรรวมพลังสวดมนต์ ทำความดีทั้งคุณพ่อ คุณแม่
และคุณลูกผลคือบรรยากาศในบ้านจะอบอุ่นและสงบร่มเย็น ทุกอย่างจะดีขึ้นจากพลังเสียงสวดมนต์ของทุกคนในบ้าน
สำหรับผู้ที่เริ่มสวดมนต์จะเลือกสวดบทไหนดี
ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็ให้สวด “อะระหัง
สัมมา...” ที่เขาสวดหน้าเสาธงก่อนเข้าเรียน แล้วก็ต่อด้วย “นะโม ตัสสะ...”
ถ้าขึ้นชั้นประถมปลายควรจะให้สวด “อิติปิ โส...”
ได้แล้ว ถ้าขึ้นมัธยมแล้ว
อยากให้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นให้ได้ ถ้าสวดไม่เป็นให้เปิด DMC ดูก็ได้
ช่วงที่มีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น จะมีตัวหนังสือที่หน้าจอด้วย มีเสียงด้วย
เราก็สวดไปพร้อม ๆ กันทุกวัน ไม่เกิน ๑ เดือน สวดได้ ไม่ยากเลย แล้วได้ผลดีมาก
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๗
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
มาสวดมนต์กันเถิด
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:30
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: