บุคคลท่านนั้น ก็คือ พระพิศาลประชานุกูล หัวหน้าศูนย์อบรมศีลธรรม และส่งเสริมพระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง บ้านแมสลิดหลวง ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของท่านในฐานะพระธรรมจาริก ได้นำไปสู่การบังเกิดขึ้นของถนนพุทธวิถี ที่ใช้เวลาสร้างมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๑๐ ปี โดยมุ่งหวังให้ถนนสายนี้นำความเจริญมาสู่พื้นที่บนยอดดอยแดนไกล และนำแสงสว่างแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ดวงใจของพี่น้องชาวไทยภูเขาทุกคน
๑๐ ปีแห่งความมุ่งมั่นและทุ่มเท
หากย้อนไปเมื่อ ๑๐ ปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่า ถนนพุทธวิถีจะบังเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากเป็นถนนที่สร้างขึ้นด้วยสองมือ ของชาวปวาเก่อญอ ที่มีเพียงแค่จอบและเสียม สำหรับใช้ขุดและถากถาง เพื่อเนรมิตเส้นทางบนภูเขาอันสูงชัน โดยไม่มีแม้แต่เครื่องจักรกลมาคอยอำนวยความสะดวก แต่ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่พระพิศาลประชานุกูลกลับสามารถนำชาวบ้านขุดถนนบนภูเขาได้ยาวถึงหนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตร นับเป็นสิบปีแห่งความสำเร็จ ที่ต้องแลกมาด้วยความทุ่มเทและเสียสละ เพื่องานพระศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งพระพิศาลประชานุกูลได้เมตตาบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างถนนพุทธวิถีนี้ว่า
"ที่ผ่านมาการเผยแผ่ธรรมะบนยอดดอยของคณะพระธรรมจาริกเป็นงานที่ยากลำบากมาก ๆ ทั้งในเรื่องอาหารขบฉัน การเดินทาง ความเป็นอยู่ และสภาพอากาศที่หนาวมาก กุฏิหรือศาลาก็ไม่มี ปัจจัยไม่มี กิจนิมนต์ไม่มี เครื่องอำนวยความ
สะดวกก็ไม่มี หลายที่รถเข้าไม่ถึง ไม่มีมือถือ ไม่มีไฟฟ้า พระธรรมจาริกหลายรูปต้องดูแลหมู่บ้านชาวเขาหนึ่งรูปต่อหลาย ๆ ดอย
จากการที่อาตมาได้จาริกไปตามดอยต่าง ๆ เพื่อสั่งสอนพี่น้องชาวไทยภูเขา ก็เลยได้พบเห็นเรื่องความยากลำบากของ ชาวบ้านที่อยู่ในดอยลึก ๆ เพราะเมื่อเวลาเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเดินทางออกมารักษาตัวได้ บางแห่งในช่วงหน้าฝนจะขาดแคลนอาหาร ไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะหุง ถึงขนาดต้องต้มหน่อไม้กินกัน นอกจากนี้หลายพื้นที่ก็ยังมีปัญหายาเสพติดและการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย เพราะทางการเข้าไปดูแลไม่ถึง อาตมาจึงคิดหาวิธีการช่วยเหลือชาวบ้าน จึงคิดว่าหากมีถนนเข้าไปถึง ปัญหาเหล่านี้ก็จะต้องลดลง ความเป็นอยู่และการสัญจรของชาวบ้านก็จะดีขึ้นด้วย เมื่อมีถนนทางการก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ อีกหน่อยความเจริญต่าง ๆ ก็จะเริ่มเข้าไปถึง เช่น มีโรงเรียน น้ำประปา หรือว่าพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ที่สำคัญการจาริกเผยแผ่ธรรมะของเราก็จะสะดวกขึ้นด้วย คือทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่ถนนหมดเลย
เมื่อคิดจะสร้างถนน อาตมาจึงเริ่มด้วยลองเอาจอบมาขุดถนนดู และชวนพี่น้องชาวเขามาช่วยกันขุดโดยเริ่มต้นขุดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เรื่อยมา จากตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จนถึงตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรทำเสร็จแล้ว แต่ว่าทางเส้นนี้จะใช้ได้เฉพาะหน้าหนาวกับหน้าร้อนเท่านั้น หน้าฝนใช้งานไม่ได้ อาตมาจึงนำชาวบ้านมาช่วยกันขุดถนนเส้นใหม่เชื่อมระหว่างตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากกับตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อยขึ้นไปอีกทางหนึ่ง เพื่อทำให้เป็นถนนที่สามารถใช้งานได้ทุกฤดู ตอนนี้ก็ขุดไปเรื่อยๆ เหลืออีกเพียงแค่ไม่ถึง ๑๐ กิโลเมตรก็จะสำเร็จแล้ว..."
ถนนสายประวัติศาสตร์นี้ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
ประธานคณะพระธรรมจาริก ตั้งชื่อว่า "ถนนพุทธวิถี" และท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้เมตตาเดินทางมาเปิดถนน สายนี้ด้วยตัวเองเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งถนนสายนี้จะทำให้พี่น้องชาวไทยภูเขาในเขตพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับประโยชน์ในการสัญจรและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก ด้วยคุณูปการนี้ส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลประชานุกูล เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ นับเป็นพระภิกษุชาวปวาเก่อญอรูปแรกของโลก ที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้
นักขอผู้ยิ่งใหญ่
ความมหัศจรรย์ของถนนพุทธวิถีนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างขึ้นด้วยสองมือและพลังใจของพี่น้องชาวไทยภูเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นถนนที่ไม่ได้อาศัยงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่จะต้องแบกรับภาระอันสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระพิศาลประชานุกูล ที่ต้องทำหน้าที่แจงข่าวบุญกับทุก ๆ คนที่รู้จัก ซึ่งระยะเวลาตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ท่านต้องพบเจอกับทั้งผู้ที่ยินดีให้ความช่วยเหลือและอุปสรรคจากผู้ที่ไม่เข้าใจ ซึ่งพระพิศาลประชานุกูลได้เมตตาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า "๑๐กว่าปีที่ผ่านมาอาตมาต้องดิ้นรน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เรียกว่ารู้จักใครเป็นไม่ได้ แม้รู้จักนิด ๆ หน่อย พอเขาส่งยิ้มมา ก็จะไปบอกบุญเขาเลย บอกบุญปลากระป๋องบ้าง มาม่าบ้าง บอกขอให้ช่วยบริจาคสิ่งนั้น สิ่งนี้ บอกบุญเขาอยู่เรื่อย ๆ เจอใครก็ทำอย่างนี้ แต่มีบางคนที่เขาไม่ค่อยชอบ ก็จะพูดว่านี่มันเป็นเรื่องของทางการ จะทำไปทำไม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็บอกว่ารอมานานไม่เห็นมาทำสักที อาตมาก็ต้องทำ หรือบางคนก็พูดว่า เห็นอาตมาขออยู่เรื่อย ๆ ขอเท่าไรก็ไม่พอสักที ที่เขาพูดเพราะเขาไม่รู้ว่ากว่าจะได้ถนนสักกิโลเมตรหนึ่งต้องหมดข้าวหมดของไปเป็นคันรถ เพราะเราใช้แรงคนขุด ไม่ได้ใช้เครื่องจักร
คนที่ไม่ชอบใจก็เลยตั้งฉายาให้อาตมาว่าเป็นชูชก แต่อาตมาคิดว่า อาตมาไปขอบริจาคเครื่องอุปโภค บริโภคที่เป็นส่วนเกินของเขา ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนเลยเพราะคิดว่าหากเขาเอาไปแจกให้กับคนยากจน ก็เพียงช่วยให้คนจนอิ่มไปได้มื้อหนึ่ง แล้วมันก็หมดไปเฉย ๆ แต่ว่าอาตมาเอาข้าวของมาเลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยกันขุดถนน ซึ่งข้าวของก็หมดไปเหมือนกัน แต่ได้ถนนที่จะเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป และยังเป็นการสอนชาวบ้านให้รู้จักความขยัน ไม่ต้องคอยเอาแต่ขอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไป ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ภาคภูมิใจกับถนนที่พวกเขาช่วยกันขุดขึ้นมา ซึ่งถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งความสามัคคีของชาวไทยภูเขาเลยทีเดียว
นอกจากนี้ การสร้างถนนยังช่วยให้การเผยแผ่ธรรมะได้รับการยอมรับจากชาวบ้านมาก ช่วงปีใหม่ที่ผ่านนี้ ที่วัดของอาตมาจัดให้มีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะของพี่น้องชาวปวาเก่อญอ จำนวนถึง ๕๐๐ ครอบครัว และเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ที่ผ่านมา อาตมาและเพื่อนสหธรรมิกได้ไปทำหน้าที่เชิญชวนให้พี่น้องชาวปวาเก่อญอ เข้าร่วมสอบ World - PEC ได้ถึงกว่าสี่พันคนอีกด้วย
จากผลงานการเผยแผ่ธรรมะที่ผ่านมา นับได้ว่าพระพิศาลประชานุกูลได้ทำหน้าที่ของพุทธสาวกได้อย่างดียิ่ง
เพราะคำว่า ภิกษุ นั้นมาจากคำในภาษาบาลีว่า "ภิกฺขุ" ซึ่งแปลว่า "ผู้ขอโดยปกติ" ซึ่งเป็นอริยประเพณีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่คณะสงฆ์ทุกยุคทุกสมัยปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขอเพื่อเปิดโอกาสให้มหาชนได้สั่งสมทานบารมี ซึ่งจะช่วยเปิดหนทางสวรรค์และพระนิพพานให้กับชาวโลกทุกคน ดังนั้น ปฏิปทาของท่านเจ้าคุณพระพิศาลประชานุกูล จึงเป็น "นักขอผู้ยิ่งใหญ่" ในสายตาของบัณฑิตนักปราชญ์อย่างแท้จริง
จากใจตะวันธรรม สู่ตะวันบนดอย
เมื่อพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้ทราบถึงหัวใจอันแกร่งกล้าของพระพิศาล
ประชานุกูลในการสร้างถนนพุทธวิถีดังกล่าว ซึ่งยากที่ใคร ๆ จะทำได้เช่นนี้ และท่านเจ้าคุณได้ขอความช่วยเหลือ เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อทำให้ภารกิจของท่านสำเร็จได้โดยเร็ววัน พระราชภาวนาวิสุทธิ์จึงเมตตาให้พระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นตัวแทนเดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ชุดแรกถึง อาศรมธรรมจาริก แม่สลิดหลวง ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก นอกจากนี้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ยังได้ร่วมบุญกับพระพิศาลประชานุกูล เพื่อสร้างพระเจดีย์ไมตรีมิตรภาพ ในส่วนของประตูทั้ง ๔ บาน ที่ยังขาดงบประมาณก่อสร้าง และยังไม่มีเจ้าภาพร่วมบุญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ทั้งนี้ พระพิศาลประชานุกูลได้กล่าวถึงความประทับใจที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยและกัลยาณมิตรทั่วโลกว่า
"การที่พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้เมตตาถวายเครื่องอุปโภคบริโภคมาในครั้งนี้อาตมภาพและคณะ
พระธรรมจาริกรวมถึงพี่น้องชาวไทยภูเขาทุกคน รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง จนยากที่จะบรรยาย และสิ่งของที่พระเดช พระคุณหลวงพ่อร่วมบุญมาถึง ๑๐ กว่าคันรถสิบล้อนั้น ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง และคิดว่าถนนเส้นนี้ จะสำเร็จอย่างแน่นอน ด้วยความช่วยเหลือของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และหมู่คณะจากวัดพระธรรมกาย เพราะลำพังถ้าอาตมาทำเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะเสร็จ เพราะปัจจัยสี่มีน้อย
อาตมารู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเมตตาร่วมสร้างพระเจดีย์ไมตรีมิตรภาพ เพราะพระเจดีย์นี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และเหลือแต่ประตูทั้ง ๔ บานนี้ ที่รอเจ้าภาพมาร่วมบุญนานหลาย ปีแล้ว และเหตุที่อาตมาสร้างพระเจดีย์ขึ้นก็เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์รวมใจของพี่น้องชาวปวาเก่อญอ เพราะทุกวันปีใหม่ของชาวปวาเก่อญอคือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ ของทุก ๆ ปี ชาวปวาเก่อญอทุก ๆ ความเชื่อจะมารวมตัวกันในงานวันปีใหม่นับหมื่นคน อาตมาจึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพระเจดีย์นี้ให้เป็นศูนย์รวมใจและเพื่อให้พี่น้องชาวปวาเก่อญอได้มาใช้เป็นสถานที่สั่งสมบุญกุศลติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ดังนั้น อาตมาต้องขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มา ณ ที่นี้ด้วย..."
พลังใจคือสิ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และทำความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างของพระพิศาลประชานุกูล ผู้มีจิตใจอันกล้าแกร่ง นำพี่น้องชาวปวาเก่อญอสร้างถนนพุทธวิถี ด้วยสองมือและพลังใจอันเต็มเปี่ยมด้วยหมายมั่นที่จะนำธรรมะไปสู่จิตใจของชาวไทยภูเขาทุก ๆ คน
ณ วันนี้ ปฏิปทาอันงดงามของท่านเป็นที่ประจักษ์ของเหล่ากัลยาณมิตรทั่วโลก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่เครื่องอุปโภคบริโภค จนโครงการสำเร็จลุล่วงไป สมดังวาทธรรมของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ที่ว่า พุทธบริษัท ๔ ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว เพราะหากชาวพุทธเรามีความสมัครสมานสามัคคีกันเช่นนี้ ในอนาคตไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามสักเพียงใด งานทุกสิ่งก็ย่อมสำเร็จลงได้อย่างแน่นอน...
Cr. ธีรนาถ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
|
ไม่มีความคิดเห็น: