ทันโลก ทันธรรม : ประโยชน์ของการอบรมธรรมทายาท

ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ(M.D. Ph.D.) จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC


         

อีกไม่นานก็จะถึงช่วงอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อนกันแล้ว มีหลายท่านถามมาว่า การอบรมธรรมทายาทมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างไร
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวท่านได้ให้โอวาทไว้ว่า ธรรมะทุกข้อที่เราได้ศึกษาจะมีอานุภาพและเป็นประโยชน์จริง ก็ต่อเมื่อเราได้นำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติในวิถีชีวิตของเราจนกระทั่งกลายเป็นนิสัยติดตัว
ถามว่านิสัยคืออะไร นิสัย คือ สิ่งที่ตัวเราทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งเคยชิน ถ้าได้ทำแล้วจะรู้สึกสบายใจ ถ้าไม่ได้ทำ จะรู้สึกหงุดหงิด ยกตัวอย่างเช่นใครเคยดื่มเหล้าเป็นประจำ ตกเย็นเป็นต้องตั้งวงชวนพรรคพวกมาล้อมวงดื่มคนละกรึ๊บสองกรึ๊บพร้อมกับแกล้มคุยกันไปเฮ ๆ ฮา ๆ ทำจนชิน พอวันไหนแดดร่มลมตกแล้วไม่ได้ดื่มมันจะหงุดหงิด กระวนกระวายรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปอย่าง พอได้ทำก็รู้สึกพอใจ หรือคนไหนเคยสูบบุหรี่ พอไม่ได้สูบก็รู้สึกหงุดหงิด คนไหนเคยเล่นการพนัน พอไม่ได้เล่นก็รู้สึกหงุดหงิด
ในด้านตรงข้าม บางคนมีนิสัยในทางดี เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนนอนจนเคยชินเป็นนิสัย วันไหนไม่ได้สวดมนต์จะให้นอนก็นอนไม่หลับ ต้องได้สวดมนต์ก่อนถึงจะสบายใจ คนไหนฝึกนิสัยรักความสะอาดจนชิน ไม่ได้อาบน้ำ ก็นอนไม่หลับ แต่ถ้าคนไหนไม่อาบน้ำจนเคยชิน อย่างคนที่พเนจรไม่มีบ้านอยู่ เดือนหนึ่งจะอาบน้ำสักครั้ง พอวันไหน ได้อาบน้ำมันจะรู้สึกแปลก ๆ นอนไม่ค่อยหลับ มันอยู่ที่ความคุ้นเคย คนไหนชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝึกความเป็นระเบียบจนชิน ข้าวของทุกอย่างวางเข้าที่เข้าทางเข้ามุมอย่างดี โต๊ะหนังสือสะอาดสะอ้าน บ้านช่องห้องหอเรียบร้อย ถ้าเห็นอะไรไม่เรียบร้อยก็ต้องรีบไปจัดให้มันเรียบร้อยจึงจะสบายใจ
พอเข้าใจนิยามคำว่านิสัยแล้ว เราพบว่านิสัยจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกลจักรในการผลิตบุญผลิตบาปให้กับเรา ใครที่ได้ฝึกนิสัยดี ๆ เอาไว้ เขาจะสามารถทำความดีซ้ำได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่รู้สึกต้องฝืน เช่น เคยสวดมนต์ก่อนนอน นั่งสมาธิก่อนนอนจนเคย ถึงเวลาสวดก็ไม่รู้สึกต้องฝืนทำ เพราะมันเป็นธรรมชาติความเคยชินไปแล้ว บุญกุศลก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ใครฝึกนิสัยรักความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝึกนิสัยพูดสุภาพ มีน้ำใจไมตรีกับทุกคน บุญกุศลความสุขความเจริญก็เกิดขึ้นกับตัวผู้ประพฤติตลอดเวลา ในทางกลับกันใครไปสร้างนิสัยไม่ดีเอาไว้ ไม่ว่านิสัยชอบดื่ม ชอบสูบบุหรี่ พูดจากระโชกโฮกฮากหรือนิสัยชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เป็นต้น ทำอย่างนี้ซ้ำ ๆ บาปก็เกิดบ่อย ๆ อกุศลก็เกิดบ่อย ๆ และก็พาไปสู่อบาย
นิสัยจึงสำคัญมาก ฝึกนิสัยดีบุญก็จะเกิดต่อเนื่องเลยทีเดียว ในทางกลับกันนิสัยไม่ดีที่อยู่ติดตัวเราก็จะเป็นกลจักรในการสร้างบาปตลอดต่อเนื่องเหมือนกัน
เราจึงต้องหาทางแก้นิสัยไม่ดีให้ลดน้อยถอยไปจากตัวเราให้ได้ ถามว่าจะฝึกอย่างไร วิธีการที่ดี คือ ฝึกที่กิจวัตรประจำวัน สิ่งที่ตัวเราทำซ้ำ ๆ ในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน ถ้ากิจวัตรของเราลงตัว และระหว่างนั้นได้ฝึกการบริหารปัจจัย ๔ ทั้งที่อยู่อาศัยให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ข้าวปลาอาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ ปัจจัยทั้ง ๔ อย่างเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ใครปฏิบัติต่อปัจจัย ๔ ได้อย่างถูกต้องและมีกิจวัตรที่ลงตัว จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนิสัยได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว


  

การอบรมธรรมทายาทจะเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่มุมนี้ เพราะผู้เข้ารับการอบรมจะได้ใช้เวลาตลอด ๑ เดือน เดือนครึ่ง หรือ ๒ เดือนแล้วแต่หลักสูตรทั้งชายทั้งหญิงมาปฏิรูปนิสัยของเราใหม่ เพราะในช่วงอบรม ตัวเราปลอดจากภารกิจอื่นสามารถจัดกิจวัตรกิจกรรมได้อย่างลงตัว ตั้งแต่เช้าตี ๔ ครึ่ง ก็ล้างหน้าล้างตา เข้าห้องน้ำ เสร็จเรียบร้อย สวดมนต์ทำวัตรเช้านั่งสมาธิ แล้วก็ช่วยกันรับบุญแบ่งหน้าที่กัน พอ ๗ โมงรับประทานอาหารเช้า ช่วงสายปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ๑๑ โมง ก็ทานข้าวเพลเสร็จแล้วแบ่งบุญกัน ใครรับเรื่องล้างจาน ใครเช็ดถูปูเสื่อ แบ่งหน้าที่กัน บ่ายฟังเทศน์ ฟังธรรม ทำกิจกรรมกลุ่ม ตกเย็นช่วยกันรับบุญอีกครั้งแล้วอาบน้ำซักผ้า รอบค่ำก็สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ๔ ทุ่มก็เข้านอน กิจวัตรแต่ละวันลงตัว ฝึกความเป็นผู้มีวินัยเรื่องเวลาได้อย่างดีเยี่ยม
คนเรานี้แปลก ถ้าให้อยู่คนเดียวแล้วฝึกวินัยตนเองมันยากเหมือนกัน เคยตั้งใจไว้ว่า ๙ โมง จะนั่งสมาธิ ถึงเวลาจริง ๆ ก็บอกว่าเมื่อย ง่วง นอนเสียก่อนดีกว่า อ่านหนังสือพิมพ์ก่อน เวลาก็จะเลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่พอทำเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะใหญ่เป็นร้อยคน พลังของหมู่จะช่วยเสริมพลังเดี่ยว ถึงเวลาตี ๔ ครึ่ง เพื่อน ๆ เขาตื่นกันหมด เราจะหลับอยู่คนเดียวได้อย่างไรก็ต้องตื่นด้วย เมื่อเขาสวดมนต์กันหมดเราก็ต้องสวดมนต์พร้อมเขา แบ่งบุญกันทำหน้าที่อะไร ล้างถ้วยล้างจานรับหน้าที่อะไรมาเราก็ต้องทำ พลังของหมู่คณะจะเสริมพลังเดี่ยวเราได้อย่างดี ได้ฝึกวินัยเรื่องเวลา ฝึกกิจวัตรประจำวัน ฝึกนิสัยที่ดีในการบริหารปัจจัย ๔ เช่น ซักเสื้อผ้า ซักอย่างไรถึงจะสะอาด ตากอย่างไรให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่นอนหมอนมุ้งดูแลอย่างไร มารยาทในการรับประทานอาหาร ตักข้าวอย่างไร เคี้ยวอย่างไร กลืนอย่างไร ทุกอย่างได้รับการฝึก
นอกจากนี้ช่วงอบรมเป็นช่วงที่เราปลอดจากภารกิจอย่างอื่นมารบกวนจิตใจ ทั้งวันอยู่กับการปฏิบัติธรรม จึงเป็นช่วงที่เรามีจิตใจผ่องใส บุญหล่อเลี้ยงใจเต็มที่ เมื่อใจผ่องใส ศัพท์ทางพระจะใช้คำว่า ใจจะนุ่มนวลควรแก่การงาน ใจมันนุ่มนวล ดัด ปั้นง่ายเหมือนดินเหนียว พอมันนุ่มมันอ่อนอยู่เราก็ปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น เป็นถ้วยโถโอชามได้ แต่ถ้ามันแข็งมันปั้นไม่ลง ฝืนดัดมันก็จะหัก ใจคนเหมือนกัน ถ้ายังกระด้างอยู่จะให้ฝืนนิสัยมันทำได้ยาก เพราะนิสัยมันติดตัวมาไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ แต่ติดมาข้ามภพข้ามชาติเลยทีเดียว แต่พอมาปฏิบัติธรรมใจมันจะนุ่มนวลควรแก่การงาน สามารถปั้นรูปทรงใหม่ให้กับนิสัยตัวเองได้ง่าย

เมื่ออบรมเสร็จกลายเป็นคนที่ปฏิรูปตัวเองได้สมบูรณ์ขึ้น และพร้อมที่จะกลับไปเรียนหนังสือปฏิบัติการงานต่อไปในอนาคตได้อย่างดี เป็นผู้ที่มีหลักธรรมประจำใจ คำว่าหลักธรรมประจำใจ คือหลักธรรมที่อยู่ในใจ เพราะปฏิบัติจนคุ้นเป็นนิสัยแล้วและนิสัยที่ดีมันก็จะติดข้ามภพข้ามชาติเป็นกลจักรสร้างบุญให้เราทั้งภพนี้ ภพหน้า ตลอดไปจนถึงที่สุดแห่งธรรม
เพราะฉะนั้น พวกเราเยาวชนทั้งหลายถ้าปลีกเวลาได้ ภาคฤดูร้อนนี้มาอบรมธรรมทายาทกัน ใครมีลูกมีหลาน เพื่อนพ้องน้องพี่ ชวนกันมาเถิด ช่วงเวลาหนึ่งถึงสองเดือนนี้ จะเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ามหาศาล แล้วเราจะได้เป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตทั้งภพนี้และภพหน้าตลอดไป



Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
ทันโลก ทันธรรม : ประโยชน์ของการอบรมธรรมทายาท ทันโลก ทันธรรม : ประโยชน์ของการอบรมธรรมทายาท Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:09 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.