ไทยมหารัฐ
ไทยมหารัฐ ดูหัวเรื่องแล้วเหมือนกับว่าประเทศไทยจะไปเป็นมหาอำนาจแข่งกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกกันเลยทีเดียว
ลองมาดูกันว่ามีความเป็นไปได้ไหม และควรจะเป็นในทิศทางใด ก่อนอื่นลองมองย้อนอดีตดูจะพบว่า
เราเคยเจอวิกฤตใหญ่ ๆ มาหลายครั้ง เช่น ในช่วง ไอ.เอ็ม.เอฟ. พ.ศ. ๒๕๔๐
เกิดวิกฤตการณ์ที่เขาเรียกว่า Tom Yam Kung Disease คือ ฟองสบู่ทางการเงินแตก ซึ่งถ้าเป็นประเทศอื่น
ๆ เช่น ประเทศในอเมริกาใต้ ในแอฟริกา เมื่อไรที่เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแรง ๆ
ก็มักจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายทางด้านสังคมตามมาด้วย แต่ประเทศไทยของเรากลับผ่านไปได้ค่อนข้างราบรื่น
และฟื้นตัวได้เร็วพอสมควร
เป็นเพราะคนไทยมีคุณลักษณะพิเศษซึ่งเกิดจากคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ
เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นเราจะไม่ตีโพยตีพายจนเกินไป
แต่มองว่าทั้งหมดเกิดจากผลแห่งการกระทำของเราที่ผ่านมาในอดีต
จากนี้ไปเราจะเอาเรื่องนั้นเป็นบทเรียนแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
สิ่งนี้เองที่ช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขได้ ขณะเดียวกันเราก็ค่อนข้างจะเป็นคนมีน้ำใจ
เห็นใครลำบากก็สงสาร อยากช่วย ทำให้สังคมโดยรวมพอจะประคับประคองกันไปได้
แล้วเราก็โชคดีที่ทรัพยากรธรรมชาติ ค่อนข้างจะเอื้ออำนวย ลำบากอย่างไรก็ไม่ถึงขนาดอดตาย
เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมเราจึงพอที่จะประคับประคองตัวกันมาได้ และฟื้นตัวค่อนข้างเร็วพอสมควร
แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองแทรกซ้อนขึ้นมาด้วยก็ตาม
เงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปเป็นไทยมหารัฐจริง
ๆ ก็คือ ผู้นำหรือ รัฐบาลที่บริหารประเทศ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หมู่สัตว์ทั้งหลายจะเป็นไปตามผู้นำ
ถ้าผู้นำนำไปดี ก็จะพากันไปดีหมด แต่ถ้าพาไปผิดทาง ก็จะพากันตกเหวจมน้ำตายกันหมด อย่างเช่นฝูงวัว
ถ้าจะข้ามแม่น้ำเวลาน้ำหลาก ถ้าจ่าฝูงฉลาดว่ายทวนน้ำไปเล็กน้อย
เมื่อบวกกับกระแสน้ำที่พัดมาก็จะข้ามฝั่งได้ตรงจุดพอดี ในระยะทางที่สั้นที่สุด แต่ถ้าจ่าฝูงตัวไหนไม่ฉลาดว่ายตัดไปตรง
ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นทางที่สั้นที่สุด แต่พอเจอกระแสน้ำพัดไป
จะกลายเป็นทางที่ยาวที่สุด ผลคือถ้าแม่น้ำกว้าง ว่ายไปไม่ไหวสุดท้ายเลยพากันจมน้ำตายทั้งฝูงเลยก็มี
ประเทศก็เช่นเดียวกัน
ทิศทางจะไปอย่างไร จริง ๆ แล้วมีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วน หนึ่งคือ ผู้นำ หรือรัฐบาล
อีกส่วนคือประชาชน แต่จุดที่ควรเน้น คือ ผู้บริหารประเทศต้องมีความสามารถ
ความสามารถที่ว่านี้หมายถึง
๑. ตาถึง มีวิสัยทัศน์
๒. มือถึง สามารถเอาวิสัยทัศน์ที่ตาถึงมาทำให้เกิดขึ้นได้จริง
๓.
ใจถึง นอกจากตาถึง มือถึง
ต้องใจถึงด้วย
ตาถึง ก็คือมีวิสัยทัศน์ มองออกว่าทิศทางแนวโน้มของโลกกำลังเป็นไปในทิศทางใด
จุดอ่อนจุดแข็งในประเทศคืออะไร ควรที่จะพัฒนาไปในทิศทางใด ถ้ามีสถานการณ์ใด ๆ
เกิดขึ้นในโลก ก็มองออกว่าจะเกิดภัยลามมาถึงประเทศของตนหรือเปล่า จะต้องรีบป้องกันแก้ไขอย่างไร
เห็นจุดยืนของประเทศในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก
มือถึง บางคนตาถึงแต่มือไม่ถึง
ยกตัวอย่างเรื่องที่มีการพูดกันว่า ประเทศไทยควรจะต้องเป็นศูนย์กลางทางด้านการรักษาพยาบาล
ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น บ้านเรามีหมอที่มีฝีมือ
ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี กระแสเรื่องโรงพยาบาลของเราเริ่มตื่นตัวขึ้น
ผู้คนทั้งตะวันออกกลาง เอเชีย ยุโรป อเมริกา ยังเดินทางมารักษาที่เมืองไทย
เพราะค่าใช้จ่ายถูก ฝีมือดี หรือ
เรื่องที่ประเทศเราควรจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับการที่คนไทยมีอัธยาศัยไมตรี
ใครมาเที่ยวแล้วก็อยากจะมาอีก อีกเรื่องคือที่พูดกันว่า เราควรเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก
เนื่องจากทิศทางอาหารกำลังแพงขึ้น เพราะว่าน้ำมันขึ้นราคา พื้นที่ในการเพาะปลูกก็น้อยลง
ถ้าเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกก็น่าจะดี สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ของเราด้วย
เรื่องนี้มีการกล่าวถึงกันมาก
ที่จริงเรื่องพวกนี้รัฐบาลก็คงจะรู้เหมือนกัน
แต่สำคัญที่ว่าเมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว จะทำให้สิ่งที่เห็น เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร
ก็จะต้องมือถึง มิฉะนั้นก็จะเป็นแค่ความคิดเลื่อนลอย ไม่ได้เกิดผลอะไรจริง ๆ
ขึ้นมา ทุกอย่างจะเป็นจริงได้ต้องมือถึงในการผลักดันให้เกิดขึ้น ต้องดูว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาได้จะต้องอาศัยอะไรบ้าง
เช่น ต้องสัมพันธ์กับชาวบ้าน ประชาชน และผู้ที่ทำธุรกิจในด้านนั้น ๆ
รัฐจะต้องกำหนดระเบียบกติกาอย่างไรที่จะเอื้อให้สิ่งที่วาดหวังไว้เป็นจริงขึ้นมา
จะต้องประสานความร่วมมืออย่างไร ให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้
และแหล่งทุน จะปรับกติกากฎระเบียบอย่างไรให้รวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
เพราะรัฐมีเครื่องไม้เครื่องมือ และความพร้อมมากกว่าเอกชน และมีอำนาจในการออกกฎระเบียบ
วางกรอบทิศทาง ในกรณีที่เอกชนหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกัน รัฐก็ควรเอาอำนาจและความสามารถที่มีทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ
แล้วผลักดันให้สิ่งที่หวังเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว อย่างนี้ จึงจะสอดคล้องกับคำว่า
มือถึง
ทั้ง ๓ ข้อต้องเกี่ยวโยงกันหมด
ตาถึงก็ต้องมือถึง มือถึงก็ต้องใจถึงด้วย ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่ารัฐบาลจะต้องใจถึง
และต้องฟังทุกคำท้วงติงด้วยความใส่ใจ พินิจพิเคราะห์เอามาประกอบในการวางนโยบายในการดำเนินงานให้สุขุม
รัดกุมยิ่งขึ้น ไม่หวั่นกลัวคำวิพากษ์วิจารณ์จนไม่กล้าทำอะไรเลย
ถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศก็จะย่ำอยู่กับที่ เรื่องใจถึงนี้ก็ต้องมีวิธีการ
ไม่ได้ใจถึงแบบบ้าบิ่น จะปรับเปลี่ยนอะไรขึ้นมาในสังคม แรงเสียดทานแรงต้านย่อมมีเสมอ
ผู้ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงต้องมีความอดทนและใจถึง อุปสรรคเกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว
เดินหน้าต่อไปทีละก้าว ๆ ด้วยความสุขุมรอบคอบ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นในที่สุด
ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้การเมืองจะต้องมีเสถียรภาพด้วย เพราะฉะนั้น
ทั้งผู้บริหารประเทศและประชาชนจะต้องร่วมมือกัน
ในตอนต้นได้กล่าวเอาไว้ว่าคนไทยเรามีข้อดีมาก
แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องปรับ อย่างที่เรามักจะพูดกันอยู่บ่อย ๆ ว่า
ถ้าตัวต่อตัวละก็คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เรียนหนังสือก็สู้เขาได้ ชกมวยก็พอสู้เขาได้
แต่ถ้าเมื่อไรเป็นทีมขึ้นมาเรามักจะทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะคนไทยมักเก่งเดี่ยว
ๆ เวลาเห็นคนลำบากเราสงสารเขา แต่พอเขาได้ดีเกินหน้าเราบางทีชักจะหมั่นไส้
ซึ่งคำว่าหมั่นไส้ไม่มีในภาษาอังกฤษ มีเฉพาะในภาษาไทย ฝรั่งไม่เข้าใจเวลาเราพูดคำว่าหมั่นไส้
ฝรั่งมีแต่ว่าเวลาใครทำดี ประสบความสำเร็จ เขาจะชื่นชมยกย่อง
คนไทยก็ชื่นชมแต่ถ้าเขามีท่าทางที่ภูมิใจตัวเองมากไปนิดเดียว เราจะเกิดอาการหมั่นไส้ตามมา
แล้วก็ไม่อยากสนับสนุน เขา เลยกลายเป็นการดึงขากันเอง คนจะโตก็โตไม่ถึงไหน
เวลาลำบากก็ไปช่วยเขา แต่พอเขาจะโต ก็ดึงแข้งดึงขา ก็เลยวน ๆ อยู่กับที่
ก็ขอให้ปรับ แล้วเวลามองใครอย่าไปมองเล็งผลเลิศว่าเขาต้องดีพร้อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
คนอย่างนั้นทั้งโลกมีแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว นอกนั้นก็ดีบ้างไม่ดีบ้างประกอบกัน
ถ้าภาพรวม ๆ พอจะยอมรับกันได้ก็เดินหน้ากันไป
ประเด็นสำคัญที่อยากจะฝากเอาไว้
คือคำว่า ไทยมหารัฐ ถามว่าเราจะไปเป็นมหาอำนาจทางไหนดี เป็นมหาอำนาจทางทหาร ทางเศรษฐกิจ
หรือทางเทคโนโลยีอย่างที่โลกเคยมีในอดีต อาตมาคิดว่า
เราคงต้องพยายามทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจก็ต้องดี
เทคโนโลยีก็ต้องก้าวหน้า แต่ไม่ต้องไปแข่งกับใครว่าเราจะต้องเก่งที่สุดในโลก แค่พอตัวให้ประชาชนอยู่ดี
กินดี อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ในกลุ่มระดับนำของโลกก็คงจะน่าพอใจแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวโลกกำลังโหยหาอย่างมาก ก็คือคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะสมาธิ
ทั้งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย ผู้คนโหยหาที่พึ่งพิงทางจิตใจและมีการตื่นตัวต้องการฝึกสมาธิกันขนานใหญ่
แต่ว่ายังไม่มีใครให้ความรู้แก่เขาอย่างเป็นระบบ แต่ประเทศไทยมีศักยภาพ
และมีความพร้อม ทำไมเราไม่เป็นมหาอำนาจทางศีลธรรม
เอาความร่มเย็นเป็นสุขไปให้กับโลก เราควรภูมิใจกับความเป็นมหาอำนาจทางศีลธรรม
เวลาคนไทยไปที่ไหนพอชาวโลกรู้ว่าเป็นคนไทย ให้เขามองเราด้วยความรู้สึกให้เกียรติ
ให้ความเคารพยกย่องในฐานะที่เป็นผู้นำทางด้านศีลธรรม เป็นครูของโลก
เราต้องทำให้สังคมเราสงบร่มเย็น เป็นแบบอย่างแก่สังคมโลก
เศรษฐกิจก็เป็นที่พอใจอยู่ในกลุ่มแนวหน้า แต่ว่าสังคมสงบร่มเย็น
ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี เป็นแบบอย่างให้ชาวโลกดู แล้วก็ช่วยกันนำเอาหลักธรรมปฏิบัติโดยเฉพาะการทำสมาธิไปเผยแผ่ให้ทั่วโลก
องค์กรธุรกิจ กลุ่มงานต่าง ๆ ในประเทศไทยที่เติบโตระดับโลกจริง ๆ ตอนนี้ยังไม่มี อย่างมากก็แค่ระดับภูมิภาค
เรามาลองทำองค์กรพุทธให้เติบโตเป็นเครือข่ายระดับโลกไปเลย ทำให้คนไทยเกิดความเชื่อมั่นว่าเราสามารถเป็นองค์กรที่ใหญ่ระดับโลกได้
ให้ทุกคนทั้งโลกได้รู้จักและยอมรับเรา โดยใช้การฝึกสมาธิเป็นตัวนำ เป็นหัวเจาะทะลุทะลวงไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางศีลธรรม แล้วเราจะเป็นไทยมหารัฐอย่างที่ควรเป็นอย่างสมบูรณ์ยั่งยืน และสามารถนำความสงบร่มเย็นไปให้กับชาวโลกได้ด้วย
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๘
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓
ไทยมหารัฐ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: