มรรค เกี่ยวข้องกับารเข้าถึงธรรมอย่างไร ?


ถาม : มรรคมีองค์ ๘ มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงธรรมได้อย่างไร แล้วเราควรจะเริ่มต้นปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างไร จึงจะทำให้เข้าถึงธรรมได้โดยง่าย โดยเร็ว

ตอบ : ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตัวของเรา มีอยู่ในตัวของเราเท่านั้น ไปหาที่อื่นไม่ได้ ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็จะมีธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เรียกว่าธรรมะนี้อยู่ในตัว เพราะฉะนั้นจะแสวงหาธรรมะ อย่าไปหาที่อื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเอาไว้แล้ว พระองค์เองก็ทรงค้นพบธรรมะจากภายในตัวเช่นเดียวกับเรา

ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ หรือธรรมะที่อยู่ในตัวของเรามีคุณสมบัติอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก เมื่อใครเข้าถึงธรรมชาติบริสุทธิ์ หรือธรรมะในตัวแล้ว จะทำให้คนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ประการที่ ๒ เมื่อใครเข้าถึงแล้ว จะทำให้ใจของผู้นั้นสว่างตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้ด้วย สว่างยิ่งกว่าเอาตะวันเที่ยงมาเรียงเป็นดวง ๆ เต็มอยู่ในใจเราทีเดียว เลยทำให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อเห็นตามความเป็นจริงเข้า ก็เลยเลิกโง่ เพราะฉะนั้นก็เลยมีปัญญาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อเข้าถึงธรรมก็เลยรู้ความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา

ประการที่ ๓ เมื่อเข้าถึงธรรมในตัวดวงนี้ ก็เลยทำให้เกิดความเมตตา ความปรารถนาดี ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายตามมาด้วย เพราะสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า เจ้ายังเข้าไม่ถึงธรรม เจ้าก็เลยทำอะไรโง่ ๆ ที่ก่อทุกข์ให้ตัวเองอยู่ เหมือนอย่างข้าพเจ้า ซึ่งเมื่อก่อนยังเข้าไม่ถึงธรรม หัวอกเดียวกันมาก่อน เพราะฉะนั้นก็เลยสงสารสัตว์โลก แล้วก็ปรารถนาจะช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมตามมาด้วย

ธรรมะ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคน มีคุณสมบัติมหัศจรรย์เหลือเกินว่า ใครเข้าถึงแล้วจะทำให้ผู้นั้นใจบริสุทธิ์ มีปัญญาได้เป็นอัศจรรย์ ทำให้ผู้นั้นมีจิตใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย

แต่การที่จะเข้าถึงธรรมะภายในตัวได้ มีข้อแม้ว่า จะต้องทำใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่งอยู่ในตัวด้วย ถ้าใจสงบหยุดนิ่งในตัวแล้ว ใจจะบริสุทธิ์เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมะ ถ้าใจยังไม่สงบ ไม่หยุดนิ่งในตัว ก็ไม่เหมาะจะเข้าถึงธรรม

ทีนี้การที่จะทำให้ใจสงบ หยุด นิ่ง ละเอียดอ่อน จนกระทั่งเหมาะเข้าถึงธรรมะภายในตัวนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ต้องปฏิบัติธรรมะที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งธรรมะทั้ง ๘ ข้อนี้ ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แยกทำทีละข้อ จึงเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘

มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วยธรรมะอะไรบ้าง
๑. ขอพูดเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ คือ มีความเข้าใจถูกในเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ความเข้าใจถูกตรงนี้ จะทำให้ใจของเราไม่กระสับกระส่าย ใจของเราเลิกโง่ไประดับหนึ่งทีเดียว ถ้าเข้าใจผิดเรื่องบุญเรื่องบาป จะเป๋ไปว่าทำชั่วได้ดีมีถมไป แล้วใจก็จะหยาบ ไม่หยุดไม่นิ่ง
๒. เมื่อเข้าใจถูกเรื่องบุญเรื่องบาป ก็เลยคิดถูก คือ คิดที่จะละความชั่ว คิดที่จะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คิดที่จะทำใจให้ใสขึ้นมา
๓. พอคิดถูกอย่างนี้ก็เลยส่งผลต่อไปอีก ทำให้แม้ถึงคราวจะพูด ก็จะเลือกพูดในสิ่งที่ดีที่งาม ที่ถูกต้อง เพราะเวลาคนเราพูด ก็ต้องคิดก่อนทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคิดมากคิดน้อย คนที่เข้าใจเรื่องบุญบาปไม่พอ ก็คิดสั้นไปหน่อย เลยพูดผิด ๆ แต่เมื่อเข้าใจถูกจริง ๆ แล้ว ก็เลยคิดถูก ๆ แล้วก็เลยพูดสิ่งที่ถูก ที่ต้อง ที่ควร ได้ชัดเจน
๔. เมื่อพูดถูก พูดได้ชัดเจนดี ก็ส่งผลให้แม้ในการกระทำทางกาย ก็จะเลือกทำในสิ่งที่ถูก ที่ควร ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน จะหยิบจะทำอะไร ถ้าไม่ถูกไม่ทำ
๕. ในเมื่อแม้แต่การที่จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไร ก็ระวังเลือกทำในสิ่งที่ถูก ไม่มีการฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม เป็นต้น มันก็เลยส่งผลให้แม้ในการประกอบอาชีพก็จะเลือกประกอบอาชีพในทางที่ถูก ที่เราคุ้นกับคำว่า สัมมาอาชีวะ นั่นแหละ
๖. เมื่ออาชีพก็ทำถูกต้องดีงาม เลี้ยงชีวิตด้วยความเหมาะสม ก็มีเวลาที่จะสำรวจข้อบกพร่องของตัวเอง ก็จะเห็นว่า ตัวเรานี้ก็ยังมีสิ่งที่ไม่ดีแทรก ๆ อยู่ในใจเหมือนกัน เช่น นิสัยไม่ดีบางอย่าง ซึ่งถ้าแก้สิ่งที่ไม่ดีให้หมดแล้ว ก็จะเหมาะจะสมยิ่งขึ้น และนิสัยดี ๆ ที่มีอยู่ในตัวเรา ก็น่าจะพัฒนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงจะเหมาะจะควร ทำให้เกิดความพยายามที่จะปรับปรุงนิสัยตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
๗. พยายามถูก คือ ระมัดระวังตัวให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่จะไม่ให้เกิดอะไรผิดพลาด อะไรเป็นบาปสักนิดจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นกับตัวเรา แต่บุญแม้เล็กน้อยก็ยิ่งจะต้องทำ ถ้าบุญใหญ่ยิ่งต้องทำมากยิ่งขึ้นไปอีก
๘. ถ้าอย่างนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องฝึกสมาธิให้ใจหยุดใจนิ่งได้สมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าเมื่อทำมา ๗ ประการแรก ใจก็หยุดนิ่งมาระดับหนึ่ง ใจที่เคยหยาบคายร้ายกาจ ก็ละเอียดอ่อนลงมาระดับหนึ่ง พอตั้งใจฝึกสมาธิมากขึ้น จะทำให้ใจหยุดใจนิ่งได้สนิท เมื่อทำครบ ๘ ประการนี้แล้ว ใจจะสงบ ประณีต ละเอียดอ่อน เหมาะต่อการเข้าถึงธรรมะภายในที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบวิธีที่จะเข้าถึงธรรมนี้ ซึ่งเราเรียกกันว่า ตรัสรู้ธรรม พระองค์ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เข้าถึงธรรม แล้วนำธรรมะที่พระองค์ได้รู้ได้เห็นมาตรัสเล่าให้พวกเราฟัง จึงมีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น สำหรับพวกเราเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต่อแต่นี้ไป ก็เริ่มศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนา จากตำรับตำราด้วย แล้วก็จากท่านผู้รู้ด้วย ไปกราบขอความรู้จากท่านผู้รู้เหล่านั้น แล้วก็ลงมือทั้งรักษาศีล ทั้งฝึกสมาธิของเราไป เมื่อทำไปซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกวัน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ต่อเนื่องกันไป มรรคมีองค์ ๘ ก็จะสมบูรณ์ขึ้นมาเอง

ส่วนที่เรียกว่าความเข้าใจถูก คิดถูกนั้น ก็เป็นส่วนที่เราเรียกกันว่า "ปัญญา" ส่วนที่พูดถูก ทำถูก และประกอบอาชีพถูก ก็คือ ส่วนที่เรียกว่า "ศีล" และส่วนที่พยายามแก้ไขนิสัย พยายามระมัดระวังสติไม่ให้เผลอไผล และความตั้งใจทำใจให้หยุดนิ่ง เราเรียกกันว่า "สมาธิ" ตกลงมรรคมีองค์ ๘ สรุปแล้วเหลือแค่ ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งใจปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทุกวัน ทุกคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน  วันหนึ่งก็จะสามารถเข้าถึงธรรมะตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา.
ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ.
ส. ส. ๑๕/๕๐.
------------------------

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
มรรค เกี่ยวข้องกับารเข้าถึงธรรมอย่างไร ? มรรค เกี่ยวข้องกับารเข้าถึงธรรมอย่างไร ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:15 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.