ศรัทธาข้ามขอบฟ้า คำตอบกับแรงแสวงหาของธรรมทายาทนานาชาติ รุ่นที่ ๘





๗๐ คือ จำนวนคนกลุ่มนี้

๒๐ คือ จำนวนเชื้อชาติ

ด้วยอำนาจตัวเลข อาจบ่งชี้ความน่าสนใจได้ระดับหนึ่ง ยิ่งใครติดตามคุณครูไม่ใหญ่ ผ่านรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทางช่อง DMC จะทราบดีว่า พรรษานี้ มีชาวต่างชาติเดินทางมาบวชเป็นพระฝรั่ง ในโครงการอบรมธรรมทายาทนานาชาติจำนวนมาก และเข้าร่วมบรรพชาสามเณร ในโครงการ "บวชพระแสนรูปเข้าพรรษา" ณ วัดพระธรรมกาย จนกลายเป็นไฮไลต์     

คนเหล่านี้ ถือกำเนิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน ในที่ที่ห่างกัน เรียก “แม่” ด้วยคำไม่เหมือนกัน หลายเดือนที่แล้วก็ยังไม่รู้จักกัน แต่แสงใหม่ของวัน...ฉายให้เห็นว่าตอนนี้ทุกคนกำลังใช้ชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน และนุ่งห่มจีวรสีส้มของพระพุทธศาสนา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ..แต่เป็นปีที่ ๘ แล้วที่การบวชนานาชาติจัดขึ้น และบ่งบอกถึงการเติบโตของพระพุทธศาสนา แม้จะใช้เวลาถึง ๔ สัปดาห์ แต่ก็มีผู้สนใจเดินทางจากทั่วโลก เช่น อเมริกา อังกฤษ เอธิโอเปีย คองโก นิวซีแลนด์ อินเดีย และจีน ถือเป็นกราฟที่พุ่งขึ้น ต่างจากการอบรมครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๖ ที่มีอยู่ ๘ สัญชาติ ทำไมผู้คนเหล่านี้ถึงตัดสินใจมาบวช เป็นคำถามที่น่าสงสัยพอ ๆ กับคำถามที่ว่า ท่านกำลังจะพบกับอะไร

พระแบราเค็ต  อัลเลมาโย่  ฉายาธัมมาโภ อายุ ๓๐ ปี หนุ่มเอธิโอเปียที่หลงเสน่ห์ในหลักเหตุและผล แต่ก็สนใจในด้านศาสนาและปรัชญา ท่านเพิ่งมาเมืองไทยครั้งแรกกับโครงการ Peace Revolution เมื่อวันมาฆบูชาปีนี้ที่วัดพระธรรมกายและประทับใจมากจนสามารถกลับไปรวมเพื่อน ๆ นั่งสมาธิด้วยกัน ที่เอธิโอเปีย ท่านเล่าว่า  "เมื่อทราบข่าวการบวชจากพระอาจารย์ก็ตัดสินใจลองมาใช้ชีวิตการบวชเป็นพระภิกษุสัก - ปี ในวันที่มีพิธีตัดปอยผม อาตมารู้สึกว่าเป็นพิธีที่มหัศจรรย์มาก ทำให้น้ำตาไหลออกมาเลย อาตมารู้สึกดีใจที่ได้ละเลิกนิสัยไม่ดีเก่า และเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นความปรารถนาจากส่วนลึกของหัวใจที่อยากค้นหาความหมายของชีวิตและอยากได้รับความสุข ความสงบ และปัญญาเพิ่มขึ้น"






เมื่อเข้าอบรม ท่านได้พบบทฝึกไม่ต่างจากว่าที่พระใหม่รูปอื่น  "นี่คือ สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเป็นกิจวัตรประจำวันของอาตมาเลย เช่น ตื่นตั้งแต่ตี ๔ ครึ่ง ปฏิบัติธรรม รับบุญทุกอย่าง แต่อาตมาก็ยินดีที่จะปรับตัวเอง สิ่งที่สำคัญ คือ ทำให้เรามีวินัยในชีวิตและรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น"

"เมื่ออาตมานั่งสมาธิก็พบประสบการณ์ที่สว่างมาก มีความรู้สึกว่าร่างกายอบอุ่น นั่งแล้วมีความเพลิดเพลินกับแสงสว่าง และเหมือนได้อยู่ตรงจุดกึ่งกลางความสว่างนั้น จนอดนึกไม่ได้ว่าเรา คิดไปเองหรือเปล่า สมาธิทำให้รู้สึกผ่อนคลายไปทั้งตัว มีความสุขมากครับ"

แม้ท่านไม่ใช่ชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่สมาธิก็ไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลกันอีกแล้ว และความสุขที่ท่านได้รับจากสมาธิ อาจหมายถึงความหมายของชีวิตที่กำลังค้นหา

ไม่มีใครจะดูแลตัวเราได้ดีกว่าตัวเรา ฉะนั้นการหยิบยื่นชีวิตที่เป็นสุขให้ตัวเอง จึงสมควรกระทำ ขณะเดียวกันการเผื่อแผ่ความสุขไปสู่รอบข้างก็ไม่ต่างจากสุขชั้นที่ ๒ ของตัวเองด้วย เช่นเดียวกับพระต่างชาติหลาย ๆ รูป ท่านปรารถนาจะเก็บประสบการณ์ให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การเผยแผ่ธรรมะในบ้านเกิดของตัวเอง

พระชิบันดา  เบอนอยท์  ฉายาสัปปัญโญ คือ อีกรูปหนึ่งที่จากแดนไกลตั้งแต่วัยหนุ่ม หลังจากท่านพบพระอินเดียเพียงช่วงสั้น ๆ และเรียนรู้หลักธรรม ท่านกลายเป็นผู้นำของชาวพุทธในชื่อ “โพธิราชา” ยืนหยัดสอนคนคองโกให้รู้จักและเคารพพระพุทธเจ้า แม้คองโกจะยังมีการสู้รบ ตัดสินถูกผิดด้วยเสียงกราดยิง แต่ท่านเลือกใช้ชีวิตด้วยธรรมะและเสียงสวดมนต์ จนขยายศูนย์สาขาชาวพุทธได้ถึง ๔ แห่ง ในใจกลางทวีปแอฟริกา แม้ปีนี้ท่านจะอายุ ๖๐ แล้ว แต่วัยเกษียณไม่ใช่อุปสรรคต่อการเป็นพระ "อาตมาศรัทธาพระพุทธศาสนามาหลายปีแล้ว เริ่มจากที่บ้านเกิดในเมืองลูบุมบาชี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในปี ค.ศ.๑๙๖๗ ตั้งแต่นั้นก็พยายามเผยแผ่พระพุทธศาสนาในบางแคว้นของคองโก วันนี้มาที่นี่ ก็เพื่อมาบวชพระ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้มากที่สุดในแผ่นดินคองโก"





ไม่เฉพาะดินแดนที่ห่างไกลอย่างแอฟริกาที่ต้องการหลักความจริงจากพระพุทธศาสนา แม้แต่ประเทศต้นกำเนิดพุทธศาสนาเองก็เช่นกัน "อาตมาตั้งใจเดินทางจากอินเดียเพื่อบวชเป็นพระ ที่ผ่านมาไม่เคยมีโอกาส แต่ตอนนี้กำลังจะได้รับโอกาสนี้จากวัดพระธรรมกาย อาตมาตั้งใจจะฝึกฝนตนเองให้เป็นพระที่ดี ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอน เพื่อที่จะได้ไปเผยแผ่ที่บ้านเกิด"  พระเฮมันตะ  ชินเด ฉายา เวปุลโล เล่าถึงความต้องการอย่างแรงกล้า หลังทราบข่าวการบวชจากเพื่อนที่ดูไบ

นับเป็นความจริงที่น่าขบคิด เมื่อแดนพุทธภูมิในวันนี้ ยังไม่เอื้อต่อการศึกษาธรรมะมากนัก การมาถึงของท่านจึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง แต่ก่อนจะกลับแดนพุทธภูมิอย่างเต็มภาคภูมิ ท่านต้องเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าให้ได้ก่อน และคำตอบนั้นอยู่ที่สมาธิ "ในขณะที่นั่งปฏิบัติธรรม ช่วงบนของร่างกายจะผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเหมือนหายไปเลย สักพักอาตมาก็มีความรู้สึกว่าหายไปทั้งร่างกาย ทำให้ใจนิ่งได้อย่างน้อย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ พอหยุดนิ่งไปที่องค์พระ ซึ่งเป็นองค์เดียวกับที่อยู่ในหนังสือสวดมนต์ คราวนี้ไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำให้ใจหยุดไปในศูนย์กลางกายแล้ว ใช้แต่ความเบาสบายก็พอ"

การบวชและการทำสมาธิเป็นของคู่กันมาแต่ครั้งพุทธกาล เพราะหัวใจของการเป็นพระ คือ จะต้องซักฟอกใจให้หลุดจากคราบกิเลส และวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ และดำเนินสู่ทางสายกลางภายในก็ได้จากการทำสมาธิ

พระอาจารย์หัวหน้าโครงการฯ เมตตาอธิบายว่า  "วิธีทำสมาธิให้เข้าถึงได้อย่างนี้ ตอนแรกอาจจะเริ่มให้นึกพระจันทร์วันเพ็ญ (full moon) หรือพระอาทิตย์ที่ส่องสว่าง (shining sun) บริเวณกลางท้องก่อน แต่หากฝึกมาได้สักระยะแล้วก็ให้นึกดวงแก้วเลยก็ได้"  เหล่าพระอาจารย์ทราบดีว่า การนึกถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนไม่เคยนั่งสมาธิสามารถนำใจที่นิยมการซัดส่าย ให้กลับมายอมหยุดนิ่งที่กลางตัว เพื่อใจจะได้ไปสู่จุดที่เรียกว่าศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นหนทางสายกลางภายใน

แต่ความรู้จะไปถึงทั่วโลกด้วยภาษา ฉะนั้น ไม่เพียงแต่หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ยังมีหลักสูตรภาคภาษาจีน ที่จัดอบรมไปพร้อม ๆ กัน แน่นอนว่า นักพิสูจน์ความจริงจากโลกตะวันออกอย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย จีนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง ก็ได้มารวมกันบวชในครั้งนี้ด้วย

หนึ่งในตัวอย่างของนักพิสูจน์ที่ ณ วันนี้ เริ่มมั่นใจในพระพุทธศาสนาแล้ว คือ พระเฉินกัง  อาสโภ เจ้าของดีกรีปริญญาโทด้านปรัชญาขงจื๊อจากจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปีที่แล้วท่านเพิ่งมาอบรมธรรมทายาทนานาชาติและช่วยงานแปลพระไตรปิฎก กับโครงการแลกเปลี่ยนของสถาบันธรรมชัย ปีนี้จึงอยากมาบวชอีก และตั้งใจมาปฏิบัติธรรมเพื่อให้พบความสุขที่แท้จริงของชีวิต  "อาตมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถนำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส มีชีวิตที่บริสุทธิ์ และมีความสุข ทำให้อาตมาต้องการเป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนหนึ่ง"

และแล้วในวันหนึ่ง ในช่วงที่เหล่าธรรมทายาทนานาชาติกำลังรับฟังโอวาทเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว ขณะที่หลวงพ่อกำลังอธิบาย พระเฉินกังก็เอาใจจรดไว้ที่ศูนย์กลางกาย ใจของท่านค่อย ๆ เข้าสู่ความสงบ แล้วท่านก็พบตัวเองนั่งสมาธิอยู่ที่กลางท้อง ท่านเล่าว่า "ผมรู้สึกดีมาก ความรู้สึกแบบนี้เป็นการพักผ่อนอย่างดีเยี่ยม ขณะที่ใจผมนิ่งอยู่นั้น ยังได้เห็นดวงแก้วอยู่ที่กลางท้องด้วย ทำให้ใจสงบ มีความสุขมาก หลังจากเลิกนั่งแล้ว จะเดินหรือเข้าแถวก็รู้สึกว่าใจสบายเหมือนมีน้ำพุผุดออกมาจากกลางกายอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเลยครับ"




สิ่งที่ท่านพบ อาจเป็นต้นทางไปสู่จุดหมายที่เป็นจริง คือ การได้เป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ความสุขที่คนเราแสวงหากันอยู่นั้นช่างหาได้ยากในชีวิตแบบหนึ่ง แต่กลับค้นพบได้ไม่ยากในการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง

ความอยากรู้ อยากลอง และอยากพิสูจน์ว่าพระพุทธศาสนาดีอย่างไร ทำให้ชาวต่างชาติกล้าที่จะก้าวเข้ามาบวชหลายต่อหลายรูป แต่เหตุผลนั้นเป็นแค่เรื่องเล็ก สำหรับพระหนุ่มชาวไต้หวันอย่าง พระล่าย จง หลง สุจิตโต เพราะการทำงานที่อยู่ใกล้ความเป็นความตาย ทำให้ท่านเห็นสัจธรรมของชีวิตมากกว่าใคร ๆ  "อาตมาเคยทำงานเป็นพนักงาน ดับเพลิง ทำให้ได้เห็นว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนมีแต่ คนเจ็บ คนตาย รับรู้ได้ถึงความทุกข์ของชีวิตมนุษย์ ทำให้อาตมาอยากแสวงหาวิธีการพ้นทุกข์ เมื่อทราบข่าวสว่างเรื่องการบวชธรรมทายาทนานาชาติที่วัดพระธรรมกายจากเว็บไซต์ อาตมาก็รู้ว่านี่เป็นบุญกุศลใหญ่จึงได้ปลีกตัวหาเวลาและโอกาสมาบวช และยังเป็นการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยครับ"

ในระหว่างการอบรม ท่านก็ค่อย ๆ รับรู้ว่า ตัวเองตัดสินใจไม่ผิด "เมื่อตัดสินใจมาอบรมอยู่ที่นี่ รู้สึกว่าร่างกายและจิตใจไม่มีความเครียดเลย มีแต่ความปีติสุข โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการหลับตาทำสมาธิ เมื่ออาตมานึกถึงดวงแก้วที่ศูนย์กลางกาย ผ่านไประยะหนึ่งก็รู้สึกว่ามีแสงสว่างปรากฏขึ้นมา รู้สึกว่าร่างกายเบาสบายเหมือนลอยได้ กลมกลืนไปกับบรรยากาศ และมีความสว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งก็เห็นองค์พระจำนวนมากในอากาศครับ"



ความสุขที่ท่านกำลังได้รับเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งจากจำนวนนับไม่ถ้วน หากระยะทางที่ห่างไกล เป็นบทพิสูจน์ความมีอยู่จริงของศรัทธาในตัวท่าน ผลการปฏิบัติธรรมก็คือ บทพิสูจน์ความมีอยู่จริงของสิ่งที่ท่านศรัทธา

ประสบการณ์จากธรรมทายาทนานาชาติทุกรูป กำลังบอกคนทั้งโลกว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหนและจะไปถึงได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่สมาธิ เพราะสมาธิ คือ ความสุขที่แสวงหา สมาธิ คือ สิ่งที่จะนำไปปักหลักพระพุทธศาสนาในทุกดินแดนของโลกได้

การมาตามหา  "สิ่งที่มีอยู่จริง" ในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ อาจทำให้ชาวพุทธโดยกำเนิด” อย่างเราฉุกคิดได้ว่า เวลาที่ผ่านมาเราหลงลืมอะไรไปบ้างหรือไม่ การไม่สนใจปฏิบัติตามคำสอนแม้เพียงศีล ข้อแรก ก็เหมือนทอดทิ้งให้พระพุทธศาสนาถึงจุดเสี่ยงต่อการดำรงอยู่เกินพอแล้ว ทั้ง ที่พระพุทธศาสนามีคำสอนที่ดูแลเราได้ ขอเพียงเราเริ่มทำ

หรือเราหลงลืมไปแล้วว่า การหาโอกาสไปทำบุญ ทำใจสงบนั้น ได้ความสบายกาย สบายใจมากแค่ไหน การปลีกตัวเองไปฟังธรรมเสียบ้าง จะได้ทั้งสติไว้แก้ทุกข์ ข้อคิดไว้แก้กลุ้ม แถมเคล็ดลับไว้แก้จน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่พระพุทธศาสนาช่วยเรา “ผ่าทางเศร้า” ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนึกถึงหรือไม่

ที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้มาเพื่อค้นหาความเชื่อ แต่มาเพื่อค้นหาความจริง จึงไม่มีเหตุผลใดจะเสแสร้งแกล้งกล่าว ตรงกันข้ามนี่กำลังเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจเวลาที่ผ่านมาของตัวเอง หลายคนใกล้ชิดพระพุทธศาสนาแต่ในทะเบียนบ้าน เพียงแต่ไม่ค่อยนำข้อดีออกมาใช้ เราเคยหรือยัง ที่จะยอมอุทิศชีวิตเพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนา ค้นพบความสุขมากกว่าแค่การเรียกร้องจากใคร ๆ เราจะได้เจอคำตอบเหมือนอย่างชาวต่างชาติ ต่างภาษาเหล่านี้










Cr. ธรรมยันตี
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๔  เดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
ศรัทธาข้ามขอบฟ้า คำตอบกับแรงแสวงหาของธรรมทายาทนานาชาติ รุ่นที่ ๘ ศรัทธาข้ามขอบฟ้า  คำตอบกับแรงแสวงหาของธรรมทายาทนานาชาติ รุ่นที่ ๘ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:54 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.