ช่องว่างระหว่างวัย
คนเรามีวัยต่างกัน
ประสบการณ์ชีวิตต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาแต่ละช่วงก็ต่างกัน ดังนั้น ความคิด
ความเห็น ความชอบ หรือรสนิยมต่าง ๆ ก็ต้องแตกต่างกันบ้างเป็นของธรรมดา ทำให้เกิด Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัยขึ้น
การแบ่งช่วงชั้นระหว่างวัยในแต่ละสังคม
แต่ละยุค มีความแตกต่างกัน ในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันนี้
แบ่งช่วงชั้นแต่ละวัยออกเป็นช่วงละ ๓ ปี เพราะเขารู้สึกว่า คนที่อายุห่างกันแค่ ๓
ปี ก็ชักจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว เพราะว่าสังคมเขาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
แต่มีสังคมอีกสังคมหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ
คือ สังคมของสงฆ์ ธรรมทายาทที่บวชแต่ละปี เช่น ในช่วงเข้าพรรษา ผู้บวชมีตั้งแต่อายุ
๒๐ ปี จนถึง ๖๐, ๗๐ ปี วัยต่างกันถึง ๔๐-๕๐ ปี
แต่ทางพระถือว่า พอมาบวชแล้ว อายุทางโลกลบไปหมดเลย
เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หลังจากบวชแล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะอายุ ๒๐ ปี ก็ตาม ๓๐, ๔๐, ๕๐, ๖๐ ปี หรือแม้แต่ ๗๐ ปี ก็ตาม
ถือว่ามีอายุทางธรรมเท่ากัน คือ เริ่มต้นนับปีที่ ๑ เหมือนกัน
อย่างนี้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างวัยใหญ่เลยหรือ
เพราะหลากหลายยิ่งกว่าคนในครอบครัวเสียอีก ไม่ใช่ต่างกันแค่ ๑๐-๒๐ ปี
แต่ต่างกันถึง ๔๐-๕๐ ปี อยู่รวมกันแล้วจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าอยู่กันค่อนข้างจะราบรื่น
ความคิด ความแตกต่างระหว่างพระวัย ๒๐ ปี กับพระวัย ๕๐-๗๐ ปี
ก็ต้องมีบ้างเป็นของธรรมดา แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ได้มากมาย
เพราะพระทุกรูปมีกิจวัตรกิจกรรมเหมือนกัน มีจุดร่วมเดียวกัน คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม
การศึกษาพระธรรมวินัย เรื่องนี้ให้คำตอบแก่เราหลายประการทีเดียวว่า
วิธีแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยนั้น ไม่ว่าในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในสังคม
สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องใส่ใจ ก็คือ จะต้องสร้างกิจกรรมร่วม ถ้าในบ้านเดียวกัน
พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปอีกทาง ไม่มีกิจกรรมร่วมกันเลย ลูกก็ดูหนัง ฟังเพลง hip hop พ่อแม่ฟังเพลงไทยเดิม ไปคนละเรื่องคนละราว
ก็จะเกิดช่องว่างได้ง่าย
บางคราวเจอหน้ากัน
พ่อแม่อยากจะแสดงความรักที่มีต่อลูก ก็ไม่รู้จะแสดงอย่างไร ขัด ๆ เขิน ๆ
ลูกก็อยากจะแสดงความรักต่อพ่อแม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกิจกรรมร่วมให้เกิดขึ้น
กิจกรรมร่วมที่ดีที่สุดไม่มีอะไรเกินการไปวัดปฏิบัติธรรม ถ้าได้ไปวัดด้วยกัน
ไปปฏิบัติธรรม ฟังหลวงพ่อเทศน์สอน ไปร่วมงานบุญต่าง ๆ
ก็จะมีประเด็นคุยที่เป็นประเด็นเดียวกัน เด็ก ๕ ขวบ ๑๐ ขวบ หรือคนอายุ ๒๐, ๓๐, ๖๐ ปี จนถึง ๑๐๐ ปี ก็คุยประเด็นเดียวกันได้ คือ เรื่องบุญกุศล
เรื่องธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยอยู่เสมอ ข้ามพ้นวัย ข้ามพ้นกาลเวลา ยิ่งพูด
ยิ่งคุย ใจก็ยิ่งผ่องใส อยู่ในบุญกุศล แล้วใจของคนในครอบครัวทุกคนก็จะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ในที่ทำงาน ถ้าชวนกันไปวัดก็จะมีประเด็นในการพูดคุยเหมือน
ๆ กัน จะหลอมรวมรสนิยม ความชอบทัศนคติของทุกคนเข้าด้วยกัน
แล้วช่องว่างระหว่างวัยจะหายไปอย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่น่าเชื่อ บ้านก็อบอุ่น ที่ทำงานก็สงบร่มเย็น
ทุกอย่างประสานกันได้เป็นอย่างดี โดยมีกิจกรรมร่วม ก็คือ การปฏิบัติธรรม
และการไปวัด
นอกจากนี้ยังต้องดูรายละเอียดต่อไปว่า
การตัดสินเรื่องต่าง ๆ ของคนเราว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ
จะเอาหรือไม่เอา มักจะประกอบด้วย ๒ ประการหลัก ประการแรก คือ เหตุผล ประการที่ ๒
คือ อารมณ์
เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอคนวัยต่างกัน
หรือ วัยใกล้เคียงกัน แต่รสนิยมต่างกัน ขอให้เราอย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่า
ไม่ชอบคนนี้เลย หรือไม่เข้าใจว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม
อย่าเพิ่งไปสรุปรวบยอดเหมารวมอย่างนั้น แต่ให้แยกแยะดูว่า สิ่งที่เขาทำแต่ละเรื่อง
เป็นเรื่องของความถูกผิด ดีชั่ว บุญบาป หรือเป็นเรื่องของความชอบพอเรื่องรสนิยม ซึ่งไม่มีถูกหรือผิด
เป็นเรื่องที่แต่ละคนชอบ
ถ้าเรื่องถูกผิด ดีชั่ว สิ่งไหนไม่ถูก
เป็นบาป เราต้องปฏิเสธ ถ้าสิ่งไหนเป็นความดี เป็นบุญกุศล เราก็ชื่นชม แต่ถ้าบางคนอยากไปเล่นกีฬา
บางคนชอบดูหนัง หรือชอบฟังเพลง ซึ่งเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน
ไม่ใช่เรื่องถูกผิดหรือดีชั่ว เราก็ไม่ควรก้าวล่วง ควรรักษาระยะให้ดี
ไม่เอาความชอบ ไม่ชอบของเราไปครอบใคร
ถ้าเรารู้จักแยกแยะได้ถูก
เราก็จะวางบทบาทของเราได้ถูก เวลามองใครความรู้สึกเหมารวมว่าชอบ ไม่ชอบ
จะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราแยกออก เราจะเห็นทุกอย่างกระจ่างขึ้น และจะเข้าใจเขา พอเราเข้าใจเขา
เขาก็จะเข้าใจเรา แล้วความผสานก็จะเกิดขึ้น ช่องว่างระหว่างวัยก็จะหดแคบลง
เดี๋ยวก็หลอมรวมเป็นหนึ่ง
การที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้
เราจะต้องฝึกเรื่อง การไตร่ตรองและเรื่องเหตุผลมามากพอ
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว ท่านย้ำกับลูก ๆ บ่อย ๆ ว่า เห็นอะไร
ฟังอะไรแล้วให้ตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า why ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วหมั่นขบคิดหาคำตอบ เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น
กระจ่างขึ้น เป็นคนมีเหตุ มีผลมากขึ้น ถึงคราวคนอื่นเขาไม่เข้าใจที่เราทำ
พอเขาถามเราก็ตอบได้ทันทีว่า ทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เรามีเหตุมีผลอย่างไร หรือถ้าเราเห็นคนอื่นทำไม่ถูก
เช่น เห็นลูกทำไม่ถูก เราก็สามารถสอนลูกได้ว่าอย่างนี้ไม่ควร
เพราะว่าจะเกิดผลเสียอย่างไร สิ่งไหน เขาทำดีเราก็ชื่นชม ชี้ให้เห็นว่า ดีนะลูก
ทำต่อไป
ถ้าเราฝึกเป็นคนมีเหตุ มีผล แยกแยะได้ชัดเจนอย่างนี้
เราก็จะสามารถให้คำแนะนำและสอนคนอื่นได้ ตอบคำถามคนอื่นได้ถึงพฤติกรรมของตัวเราเอง
เวลาจะปรับจะแก้อะไรเขา เราก็ให้เหตุผลได้ โดยไม่ใช้อำนาจเข้าข่มว่า ฉันเป็นพ่อ
ฉันเป็นแม่ ลูกต้องฟังอย่างเดียว ห้ามเถียง เถียงแล้วโกรธ
บางครั้งเป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่มีเหตุผล เอาความเป็นผู้ใหญ่เข้าข่ม เด็กเลยไม่กล้าเถียง
แต่ในใจต่อต้านไม่ยอมรับ อย่างนี้ทำให้ยิ่งเกิดช่องว่างระหว่างวัย มากขึ้น
แต่ถ้าเราสามารถให้เหตุให้ผลได้ดี คนอื่นก็พร้อมที่จะยอมรับเรา
พวกเราชาวพุทธโชคดี
เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานเหตุและผลที่สมบูรณ์
ใครหมั่นศึกษาหลักธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้หูตากว้างขวาง มีความคิดที่เป็นระบบ
เข้าใจเรื่องเหตุและผลได้ดี
แต่คนเราไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียว
บางทีมีอารมณ์ด้วย เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจตรงนี้ว่า แต่ละคนมีกิเลส ๓
ตัวเหมือน คือ โลภ โกรธ หลง ระดับอาจต่างกันบ้าง รายละเอียดอาจต่างกันบ้าง แต่ตัวหลัก
ๆ มี ๓ ตัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเราดี
รู้จักตัวเองได้ดี ก็จะรู้จักคนอื่นได้ดีเช่นกัน ฉะนั้น การจะศึกษาคน รู้จักคน
ไม่ต้องเริ่มจากใครเลย เริ่มจากตัวของเราเอง หมั่นสังเกตตัวเอง
ทำความเข้าใจตัวเองจนกระทั่งกระจ่างเมื่อไร เราจะเข้าใจคนอื่น
เห็นเขาแสดงท่าทางอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ก็รู้เลยว่าเขาคิดอย่างไร
พอเข้าใจแล้ว รู้จักอัธยาศัยของคนแล้ว
เราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนได้เป็นอย่างดี เวลาเขามาอย่างนี้
เราควรจะตอบสนองกลับไปอย่างไร เขาจึงจะรับได้ ตรงไหนเป็นเรื่องอารมณ์ เราก็ปรับได้พอดี
ตรงไหนเป็นเรื่องของถูกผิด ดีชั่ว
เราก็มีวิธีการที่จะแนะจะสอนได้อย่างพอดิบพอดีกับแต่ละคน แล้วช่องว่างระหว่างวัยก็จะหายไป
ไม่มีปัญหาอีก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก เด็ก ผู้ใหญ่ พี่ น้อง
เพื่อนร่วมงานทุกอย่างจะราบรื่นหมด เพราะฉะนั้น การแก้ช่องว่างระหว่างวัย ก็คือ
การศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหตุ และผลโดยเริ่มจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของเรา
แล้วศึกษาให้เข้าใจอารมณ์ของคน โดยเริ่มต้นจากการมีสติ หมั่นสังเกตตัวเองให้เข้าใจ
จากนั้น สร้างกิจกรรมร่วมของทุกกลุ่ม ไม่ว่าในครอบครัวก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม คือ
การไปวัด การประพฤติปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ เพื่อให้ทุกคนมีประเด็นสนทนา
ประเด็นความสนใจร่วมกัน แล้วทุกสังคมไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็ตาม
จะสมัครสมานสามัคคีไม่มีช่องว่างเลย
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙๔
เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ช่องว่างระหว่างวัย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: