ความจริง ความเชื่อ เกี่ยวกับศาสนา
มีผู้สงสัยว่า
การที่มนุษย์นับถือศาสนาที่แตกต่างหลากหลายกันนั้น ส่วนใหญ่นับถือตามครอบครัวของตน
เช่น ใครเกิดในครอบครัวชาวพุทธ ก็นับถือพระพุทธศาสนา ใครเกิดในครอบครัวชาวคริสต์
ก็นับถือคริสต์ศาสนา ใครเกิดในครอบครัวชาวมุสลิม ก็นับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น
อย่างนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าศาสนาที่เรานับถือนั้น เป็นศาสนาที่ดีที่สุดจริง ๆ
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความเชื่อตามบรรพบุรุษเท่านั้น
การพิจารณาว่า
ศาสนาที่เรานับถืออยู่นั้น เป็นการเลื่อมใสศรัทธาที่ถูกต้องหรือไม่
ขอให้พิจารณาอย่างนี้ คือ
ดูประวัติศาสดา
ให้พิจารณาจากประวัติของศาสดา เช่น
ศาสดาของชาวพุทธ ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ประสูติในตระกูลกษัตริย์
ทรงเป็นรัชทายาท ซึ่งจะได้ขึ้นครองราชย์กรุงกบิลพัสดุ์ต่อไปในอนาคต ตั้งแต่ประสูติมาพระบิดาก็ทรงดูแลอย่างดีทุกอย่าง
สร้างปราสาท ๓ ฤดูให้ และทะนุถนอมถึงขนาดที่คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ยังไม่เคยให้เห็น
ให้พบแต่สิ่งที่เจริญหู เจริญตา เจริญใจเท่านั้น ถึงคราวทรงร่ำเรียนเขียนอ่าน
ก็ทรงเรียนจบวิชา ๑๘ ประการ ถ้าเทียบกับในปัจจุบัน คือ จบปริญญา ๑๘ สาขา
โดยใช้เวลาเพียงแค่ ๗ วัน เมื่อถึงคราวอภิเษกสมรส ก็ทรงมีพระชายา คือ พระนางพิมพา
ซึ่งเป็นหญิงเบญจกัลยาณี คือ มีรูปร่างงดงามมากและมีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อม
สิ่งที่ชาวโลกแสวงหา
ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุข
คู่ครองที่ดี พระองค์ทรงมีพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง พระองค์ทรงพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ให้ความสุขที่จีรังยั่งยืน พระองค์จึงทรงละทิ้งทุกสิ่งที่ชาวโลกแสวงหา ละจากความเป็นผู้มีอะไร
ๆ อย่างที่ชาวโลกต้องการ ไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีอะไร ไปอยู่กลางป่า
แล้วทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อแสวงหาโมกขธรรม หนทางพ้นทุกข์อยู่ถึง ๖ ปีเต็ม
จนสุดท้ายก็บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วเริ่มเผยแผ่พระธรรมคำสอนต่อเนื่องเรื่อยมา
ดูจากประวัติของพระองค์แล้ว
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้เลยว่า ทรงมาบวช มาสอนศาสนา มาตั้งตัวเป็นศาสดา
เพราะหวังจะเป็นใหญ่ หวังการยอมรับจากผู้คน ไม่มีความจำเป็น
เพราะพระองค์ทรงมีชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง
ความสะดวกสบายทั้งปวงพร้อมอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนบวช หากปรารถนาสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต้องออกบวช
อยู่ทางโลกสบายกว่า แต่พระองค์ทรงสละทุกอย่าง ออกแสวงหาโมกขธรรม จึงสามารถตอบได้
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าประวัติของพระบรมศาสดาของเรางามพร้อมบริบูรณ์
ดูคำสอนและการเผยแผ่คำสอน
เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้วให้ดูว่า
คำสอนและการเผยแผ่คำสอนเป็นอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญการเบียดเบียนหรือการฆ่า
แม้ใครจะอ้างเหตุว่าฆ่าเพื่อ พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นเมื่อไร
บาปเมื่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนศาสนาเดียวกัน ต่างศาสนา หรือแม้แต่สัตว์ก็ตาม ดังนั้น
ชาวพุทธจึงไม่มีความคิดเรื่องการเบียดเบียน เพื่อหวังจะเผยแผ่ศาสนาอยู่ในใจเลย
พระสาวกของพระองค์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
ได้ดำเนินตามแนวทางที่พระองค์ทรงวางไว้ คือ เผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความสงบ
ไม่เบียดเบียนศาสนาอื่น ดังนั้น ๒,๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ชาวพุทธเราจึงไม่เคยมีสงครามศาสนาเลย
ครั้งหนึ่ง มีฝรั่งที่เป็นหมอสอนศาสนา
มาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อจะหาช่องโจมตี แล้วนำไปเป็นประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนาของตน
แต่เมื่อศึกษาไปแล้ว สุดท้ายก็เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วลงมือเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง
เขาบอกว่า เพียงมองจากแง่มุมที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีธาตุแห่งความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน
ซึ่งต่างจากศาสนาอื่นโดยสิ้นเชิง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาด้วยหัวใจ
ดูสาวก
นอกจากนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงปิดกั้นความรู้ ไม่เคยตรัสว่า
ความรู้ที่ทรงตรัสรู้มานั้น มีพระองค์รู้ได้คนเดียว คนอื่นห้ามรู้
ต้องเชื่อพระองค์อย่างเดียว ใครไม่เชื่อบาป
แต่พระองค์ทรงบอกทุกคนที่ฟังธรรมจากพระองค์ว่า
อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ไตร่ตรองให้ดี ลงมือปฏิบัติเสียก่อน พิสูจน์ได้ด้วยตนเองเมื่อไรแล้วค่อยเชื่อ
ดังคำสรรเสริญพระพุทธคุณที่เราสวดกันอยู่เป็นประจำว่า เอหิปัสสิโก แปลว่า
จงมาพิสูจน์เถิด
ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วหมดกิเลสตามพระองค์ไปมีมากมาย ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน
เป็นพยานยืนยันสิ่งที่ทรงตรัสรู้
ซึ่งพระสาวกของพระองค์มีทั้งที่เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วสละราชสมบัติออกบวช ได้แก่
พระมหากัปปินะ พระภัททิยะ ที่เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ก็มี เช่น เมณฑกเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี
ฯลฯ และยังมีพราหมณ์มหาศาล คหบดี อัครมหาเสนาบดี รวมทั้งนักบวชต่างศาสนา
ที่ยอมทิ้งความเชื่อถือเดิม เช่น ชฎิล ๓ พี่น้อง
ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ ๑ ใน ๔
ของประเทศมหาอำนาจของอินเดียในยุคนั้น
ยังยอมเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่เคยเป็นชฎิลบูชาไฟ หันมาขอบวชเป็นพระภิกษุ
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีเหตุจูงใจใด ๆ เลยที่จะบอกว่า
ท่านทั้งหลายเหล่านี้มาหลอกเรา ทุกคนล้วนแต่มีสถานภาพสูงในสังคมทั้งนั้น
และมีจำนวนมาก ไม่ใช่แค่คนสองคน และต่างยืนยันตรงกันทั้งสิ้นว่า
สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นความจริง เป็นสัจธรรม ไม่ใช่ความเชื่อ
ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ได้ศรัทธาพระพุทธศาสนาเพราะความเชื่อ
แต่ศรัทธาด้วยปัญญาจากการพิสูจน์จนรู้แจ้งเห็นจริง
พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย
แม้ยังปฏิบัติไม่ถึงจุดที่หมดกิเลส แล้วพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองถึงจุดนั้น แต่เราสามารถไตร่ตรองด้วยเหตุผลอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว
ทั้งเรื่องประวัติขององค์พระศาสดา พระสาวก พระธรรมคำสอน
และวิถีแห่งการเผยแผ่ของพระองค์ เมื่อเปรียบเทียบกับทุกศาสนาแล้ว เราจะได้คำตอบว่า
พระพุทธศาสนาที่เรานับถืออยู่นั้น เป็นศาสนาที่เลิศ ที่ประเสริฐ ที่เราชาวพุทธทุกคนควรจะภาคภูมิใจว่า
เป็นบุญของเราเหลือเกินที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ มาพบ พระพุทธศาสนา มาพบคำสอนที่เป็นสัจธรรม
ซึ่งเป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ และยืนหยัดท้าทายต่อการพิสูจน์มาตลอด ๒,๐๐๐ กว่าปี เมื่อภูมิใจอย่างนี้แล้ว
ขอให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งทาน ศีล ภาวนา ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ให้เราสามารถพูดได้ว่า เราไม่ใช่ชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน แต่เป็นชาวพุทธเต็มตัว
ถ้าเราปฏิบัติตนสมกับที่พบพระพุทธศาสนา จริง ๆ แล้ว เราก็จะได้ประโยชน์จากความเป็นชาวพุทธอย่างเต็มที่
มาถึงจุดนี้
พวกเราคงจะได้คำตอบแล้วว่า ที่เราเกิดมาในครอบครัวชาวพุทธ ในเมืองพุทธ
และได้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นเพียงการนับถือตามพ่อแม่ แต่ศาสนาของเราดีจริง
และเราทุกคนมีบุญที่สร้างไว้ดี จึงโชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวชาวพุทธ
ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา และเป็นพุทธศาสนิกชน เหลือเพียงอย่างเดียว คือ ขอให้ตั้งใจดำเนินชีวิตตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้
แล้วอย่าดำเนินแค่เพียงลำพังตัวคนเดียว
แต่ให้มีเมตตาจิตช่วยแนะนำวิถีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐนี้
ไปสู่เพื่อนร่วมโลกของเราด้วย เราจะได้
ทำหน้าที่บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ด้วยความไม่ประมาทอย่างพร้อมบริบูรณ์
ตามปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะได้สั่งสมบุญติดตัวไปมหาศาล
เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามวัฏฏะของเราจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายปลายทาง คือ
เข้าสู่นิพพานในที่สุด
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙๕
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ความจริง ความเชื่อ เกี่ยวกับศาสนา
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:25
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: