ทอดกฐินอย่างไร ให้ได้บุญอย่างคุณยาย
จุดกำเนิดกฐินคุณยาย
สมัยที่คุณยายปฏิบัติธรรมอยู่ในโรงงานทำวิชชากับหลวงปู่วัดปากน้ำ มีบางคนมักจะขอลาหลวงปู่วัดปากน้ำไปโน่นไปนี่หลายครั้ง เดี๋ยวไปทอดกฐิน ไปทอดผ้าป่า ไปบวชพระ ส่วนคุณยายนั้นหลวงปู่วัดปากน้ำไม่เคยอนุญาตให้ไปไหนเลย พอคุณยายขอ หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ให้นั่งเข้าที่ไปเอง แถมยังบอกต่ออีกว่า ไปดูข้างนอกก็เหมือนอย่างนี้แหละ ชีวิตของคุณยายที่่วัดปากน้ำจึงขลุกอยู่แต่ในโรงงานทำวิชชามาตลอด จึงเกิดเป็นความปรารถนาอยู่ในใจคุณยายเสมอมาว่า "บุญละเอียดเราก็ทำมาตั้งเยอะแล้ว บุญหยาบเราอยากทำจังเลย ขอให้เราได้บวชพระ ขอให้เราได้สร้างวัด ขอให้เราได้ทอดกฐิน" กระทั่งย้ายมาที่นี่คุณยายก็ได้สร้างวัด ได้บวชพระแล้ว เหลือแต่เพียงความปรารถนาสุดท้ายเท่านั้น ที่ยังติดค้างในใจของคุณยายตลอดมาว่าจะต้องทอดกฐินให้ได้ จนคุณยายมักพูดติดปากเสมอ ๆ ว่า
"ยายคิดมา ๒-๓ ปีแล้ว ยายจะทอดกฐินให้ได้สักครั้ง" คุณยายพูดรำพึงอยู่เช่นนี้นานหลายปีเลยทีเดียวกว่าที่ความปรารถนาของท่านจะสำเร็จ เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ หลังจากวันงานบุญใหญ่ทอดกฐินของวัดพระธรรมกายผ่านไปไม่นาน ขณะที่หลวงพ่อธัมมชโยนั่งฉันภัตตาหารเช้าอยู่ คุณยายได้ตัดสินใจเดินเข้าไปหาหลวงพ่อธัมมชโย พนมมือไหว้แล้วกล่าวกับหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อ หลวงพ่อ ยายคิดมา ๒-๓ ปีแล้ว ยายอยากทอดกฐินสักครั้งหนึ่ง ปีนี้ยายอายุ ๘๐ ปีแล้วนะ ขอให้ยายเป็นประธานกฐินสักครั้งหนึ่งเถอะ" เมื่อหลวงพ่อท่านได้ฟังดังนั้น ท่านก็อนุญาต และอนุโมทนากับคุณยายทันที และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์กฐินคุณยาย ที่ต่อเนื่องมานานนับสิบปีของวัดพระธรรมกาย
ความรู้สึกของคุณยายที่เป็นประธานกฐินครั้งแรกในชีวิต
นับจากวินาทีแรกที่คุณยายได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อให้เป็นประธานกฐินใหญ่ ดูเหมือนพลังแห่งชีวิตของคุณยายจะเพิ่มพูนขึ้นอีกเท่าตัว คุณยายดูแข็งแรงขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา และใจของคุณยายก็มีแต่คำว่า "กฐินยาย" ดังนั้นไม่ว่าจะพบเจอใครก็ตาม คุณยายจะเชิญชวนให้มาทอดกฐินกับท่านทุกคน และคุณยายจะขยันบอกบุญทุกคนที่พบอย่างไม่รู้จักเหนื่อย คุณยายจะกล่าวแทบทุกครั้งที่พบหลวงพ่อธัมมชโย หรือเมื่อพบกับพระภิกษุ สามเณรทุกรูป ด้วยคำพูดที่ติดปากคุณยายว่า "ขอให้ทุกท่านมาร่วมบุญกฐินกับยายนะ ช่วยยายบอกกฐินด้วยนะ" และทุกเช้าท่านจะมารอที่โรงฉัน เพื่อบอกบุญพระลูกพระหลานให้มาร่วมบุญกับท่าน "ปีนี้หลวงพ่อให้ยายเป็นประธานกฐิน พระทุกองค์ช่วยยายด้วยนะ" ท่านทำอย่างนี้ทุกเช้าไม่เคยขาดเป็นเดือน ๆ แม้ขณะที่พบใครช่วงที่ท่านนั่งสามล้อ ท่านก็จะพูดชักชวนอีก ทุกรูป ทุกคน ทุกครั้ง และจะพูดชวน อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งต่อวันเลยทีเดียว ท่านไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายแต่อย่างใด มีแต่ความรู้สึกเบิกบาน แจ่มใสยิ่งขึ้น
การเตรียมตัวของคุณยาย
คุณยายเคยพูดว่า พอได้รับอนุญาต ยายดีใจมาก นั่งเข้าที่นึกถึงบุญ นึกถึงบริวาร จะชักชวนทุกคนให้มาสร้างบุญกับยาย ทุกคนจะได้ไปเกิดร่วมสร้างบารมีด้วยกันอีก นั่งธรรมะทีไรก็นึกอธิษฐานเรียกบุญ ตามบริวาร ลูกศิษย์ ตามทุกคนให้มาร่วมบุญกับยาย
คุณยายไปบอกบุญทั่วทุกภาค
คุณยายท่านอายุ ๘๐ ปีแล้ว
ไปไหนมาไหนก็ลำบาก ด้วยวัยของท่านจะเหนื่อยง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว
แต่ท่านก็ไม่กลัวต่อความเหนื่อยยาก หรือความยากลำบาก
ท่านเดินทางไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อุบลฯ ขอนแก่น
ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา รวมทั้งกรุงเทพฯ ท่านก็ไปบอกบุญเขามิได้หยุดหย่อน
เพราะดวงใจที่ท่านรักลูกหลาน ท่านบอกว่า "ยายสงสารหมดทั้งคนจน คนรวย
คนจนเพราะอดีตทำทานน้อย จึงเกิดมาลำบาก ต้องชวนเขาทำบุญเขาจะได้รวย
มีสมบัติติดตัวไป ส่วนคนรวยในอดีตเขาทำทานไว้ดี ชาตินี้กำลังกินบุญเก่า
ถ้าไม่ชวนเขาทำบุญ ชาติหน้าจะเป็นคนจน ยายจึงสงสารทั้งคนจนคนรวย ใครทำบุญกับยาย
ก็จะมีสายบุญเชื่อมโยงกันเอาไว้ ภพชาติต่อไปก็จะมาเจอกัน สร้างบารมีร่วมกันอีก
ใครจะไปกับยายก็มาทอดกฐินกับยายนะ ทุก ๆ คน"
เมื่อคุณยายไปพบที่บ้าน
ทุกสถานที่ที่คุณยายไปถึง จะให้การต้อนรับคุณยายอย่างเต็มที่
อย่างเช่นที่ขอนแก่น ปี ๒๕๓๑ คนก็จะมากันจนแน่นเต็มศูนย์กัลยาณมิตรทั้ง ๒ ชั้น
อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าสอบถามคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็จะบอกกันว่า
บางคนไม่เคยไปวัดพระธรรมกาย ไม่เคยเห็นหน้าก็ยังมากันเลย พอรู้ว่า คุณยายอาจารย์จะมา
พอเข้าไปถามก็จะบอกกันว่ารู้จักคุณยาย
ได้ยินชื่อเสียงของท่านตั้งแต่ท่านอยู่ทำวิชชากับหลวงปู่วัดปากน้ำ
พอรู้ว่าคุณยายจะมาก็เลยดีใจ อยากเข้ามากราบท่าน พอคุณยายไปถึง
คุณยายก็นำพวกเขานั่งสมาธิกัน แล้วก็ชวนเขาทำบุญ ทอดกฐินกับคุณยาย
ท่านจะเป็นคนแจกซองกฐินกับมือท่านเองเลย
ทุกคนดีใจมากและจะเข้ามารับด้วยความปีติกันทุกคน แล้วคุณยายท่านก็ให้พรว่า
ให้ได้บุญกันเยอะ ๆ ให้ได้บุญกับยายกันทุก ๆ คนนะ
จะยากดีมีจนอย่างไร คุณยายก็ไม่ทิ้ง
คุณยายท่านจะบอกบุญทุกคนโดยไม่เว้นเลย
เพราะท่านจะเอาบุญเป็นที่ตั้ง อยากให้เขาได้บุญไปกับท่าน บางคนท่านบอกไปแล้ว
พอเจอครั้งใหม่ ท่านก็บอกเขาอีก บอกให้เขาไปชวนญาติของเขา เพื่อนของเขา
ให้มาร่วมบุญทอดกฐินด้วย อย่างบางรายไม่ค่อยมีเงิน เช่น คนงานที่วัด
คุณยายก็บอกบุญเขา เขาก็ร่วมบุญกับคุณยายอย่างเต็มกำลังด้วยแรงศรัทธา หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกลอตเตอรี่ถึง
๓๐๐,๐๐๐ บาท จะเห็นว่า พอใจเป็นบุญ
ทำบุญด้วยความศรัทธาแล้วใจมันเปิด สามารถดึงดูดสมบัติมาได้ คุณยายช่วยเขาแท้ ๆ
คุณยายไม่ลืมบอกบุญหมู่ญาติ
คุณยายท่านจะไปบอกบุญกับทุก ๆ คน และไม่เคยลืมหมู่ญาติของท่านเอง ท่านจะกลับไปเยี่ยมบ้านที่นครชัยศรี ไปบอกบุญหมู่ญาติของท่านให้มาร่วมบุญทอดกฐินกับท่านด้วย ท่านไปสอน ไปเล่าธรรมะ เล่าถึงอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐินให้ฟัง หมู่ญาติของท่านก็จะรวบรวมเงินทำบุญทอดกฐินมากับท่าน หรือบางทีก็จะให้หลานสาวของท่านนำมาถวายท่านที่วัด
คุณยายไม่ลืมบอกบุญหมู่ญาติ
คุณยายท่านจะไปบอกบุญกับทุก ๆ คน และไม่เคยลืมหมู่ญาติของท่านเอง ท่านจะกลับไปเยี่ยมบ้านที่นครชัยศรี ไปบอกบุญหมู่ญาติของท่านให้มาร่วมบุญทอดกฐินกับท่านด้วย ท่านไปสอน ไปเล่าธรรมะ เล่าถึงอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐินให้ฟัง หมู่ญาติของท่านก็จะรวบรวมเงินทำบุญทอดกฐินมากับท่าน หรือบางทีก็จะให้หลานสาวของท่านนำมาถวายท่านที่วัด
คุณยายอธิษฐานผ้ากฐิน
ท่านจะไปบอกพี่แข่งแขเรื่องการตัดเย็บจีวร และจะไปทวงบ่อย ๆ เรื่องผ้ากฐิน
ถามว่าเสร็จหรือยัง ยายจะเอาไปไว้หัวนอน จะได้เข้าที่เอาผ้าไตรไปอธิษฐานจิตทุกคืน
เมื่อได้ผ้าไตรมาแล้ว ท่านดีใจมาก แล้วท่านก็จะนำเข้าที่ไปถวายพระพุทธเจ้าวันละหลาย ๆ ครั้ง ตรงนี้สำคัญ คนที่เป็นประธานกองหรือร่วมบุญกฐินกับคุณยายในครั้งนี้
ให้ตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็ให้จบผ้าไตรอธิษฐานจิต เพราะคำอธิษฐานจิตนั้น
จะเป็นผังสำเร็จ
เป็นคำอธิษฐานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ผลมากกว่าที่เราอธิษฐานเองตลอดชีวิต
ต้องอธิษฐานไม่ให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว
เพราะคุณยายทำวิชชาให้บุญเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา นับตั้งแต่ได้ผ้าไตรไปแล้ว
ที่สำคัญคือว่าเราจะต้องนั่งสมาธิไม่ให้บุญหกหล่น คือต้องประคองใจให้ดี ๆ อย่าโกรธ
อย่าหงุดหงิด อย่าเศร้าหมอง ซึม ๆ ท้อแท้ หดหู่ สิ่งนี้อย่าให้เกิดขึ้น
เพราะเดี๋ยวบุญจะหกหล่น ต้องรักษาใจไว้ตลอดก่อนที่จะถึงช่วงงานกฐิน
ความเคารพที่คุณยายมีต่อหลวงปู่วัดปากน้ำ
คุณยายเคารพครูบาอาจารย์มาก
เพราะฉะนั้นคุณยายจะทุ่มสุดชีวิตเลย ไม่ว่าจะเป็นคุณยายทองสุข
หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ แต่ผู้ที่มีพระคุณมากที่สุด ก็คือพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ซึ่งนอกจากท่านจะทำตามคำสั่งที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านบัญชาว่าให้ไปตามผู้ที่สืบทอดวิชชาธรรมกาย
ซึ่งเกิดแล้วที่ จ.สิงห์บุรี
และให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปให้กว้างไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คุณยายท่านก็ได้ทำสุดความสามารถ จนกระทั่งท่านหมดลมหายใจ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณยายอยากทำมาก
คือ สร้างมหาวิหาร บูชาธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณยาย
ที่คุณยายจะบูชามหาปูชนียาจารย์ของท่าน คือพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
คุณยายจึงทุ่มเทอย่างที่สุด แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว ท่านก็ยังมีหัวใจไปตามลูกหลานของท่านให้มาร่วมบุญกฐินในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
บุญจากการนั่งสมาธิทำวิชชา
จัดว่าได้บุญมากที่สุด แต่ทำไมคุณยายจึงต้องทอดกฐิน
สู้เอาเวลามานั่งสมาธิอย่างเดียว ไม่ดีกว่าหรือ
คุณยายท่านบอกว่า
ยายอยากได้ทั้งบุญหยาบบุญละเอียด บุญหยาบก็หมายถึงสร้างวัด บวชพระ ทอดกฐิน
ทอดผ้าป่า หรือบุญที่เอาออกมาแล้วเห็นเป็นรูปธรรม ถ้าทำบุญหยาบแล้วอานิสงส์ก็คือ
เราจะได้ทรัพย์สมบัติที่มีความสมบูรณ์ บริบูรณ์
เกิดไปทุกภพทุกชาติก็จะสร้างบารมีอย่างไม่ลำบาก ถ้าเคยอ่านใน
พระไตรปิฎกก็จะเห็นว่าพระอรหันต์ บางรูปที่แม้บรรลุธรรมแล้ว ท่านไปเดินบิณฑบาต
ยังไม่ได้ภัตตาหารเลยก็มี เพราะท่านไม่ได้ทำบุญอย่างนี้ไว้ แต่อย่างพระสีวลี
ที่เป็นเลิศทางด้านลาภสักการะ จะไปแห่งหนตำบลใดก็ตาม ท่านก็จะมีความสมบูรณ์
และความบริบูรณ์ มีความสะดวกสบายในการสร้างบารมีตลอด
เพราะฉะนั้นบุญหยาบจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณยายจึงเห็นความสำคัญของการทอดกฐินมาก
เหตุที่ต้องทำบุญทอดกฐิน
การทำบุญทอดกฐินเป็นบุญที่ทำได้ปีละครั้ง หรือที่เรียกว่าเป็นบุญตามกาล
คือให้ตามเวลาที่ควรจะให้ เช่น ให้กับพระหรือคนที่กำลังเดินทาง
หรือให้ผลไม้ตามฤดูกาลเป็นทาน หรือให้ของกับผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วย
ที่สำคัญการทอดกฐินเป็นการทำบุญกับพระภิกษุ ที่เพิ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือน
ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญเป็นอย่างดี และผู้ที่ทำบุญตามกาลเช่นนี้ จะมีผลบุญติดตัวไป คือ
ไม่ว่าจะเกิดมากี่ภพ กี่ชาติ ก็จะเป็นผู้มีสมบัติมาก
ได้รับความสำเร็จตามประสงค์ในเวลาที่ต้องการได้โดยง่าย หรือเรียกได้ว่า
มีสมบัติมาไม่ขาดมือ แม้อาจจะไม่ใช่คนรวย แต่หากอยากได้สิ่งใดก็จะได้ดั่งใจ
หรือถ้าจะไปอ่านในพระไตรปิฎกเพิ่มเติมก็จะพบว่า อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐินนั้น
ในชาติที่เกิดมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะได้รับการบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
มีผ้าลอยลงมาจากบนท้องฟ้า
ทำอย่างไรถึงได้บุญมาก
จะได้บุญมากหรือน้อยนั้น
ขึ้นอยู่กับความตั้งใจทุ่มเททำอย่างเต็มที่ มีความศรัทธาที่ต่อเนื่อง รักษาใจให้ใส
ไม่ให้หงุดหงิด เพื่อไม่ให้บุญหกบุญหล่นเลย
แล้วทำบุญอย่างเต็มกำลังของเราให้มากที่สุด ชักชวนคนอื่นทำอย่างเต็มที่
หรือแม้ว่าเราจะเป็นประธานกองเอง เราทำบุญในส่วนของเราเต็มหมดแล้ว
แต่เวลาในการทอดกฐินยังมาไม่ถึง ก็ขอให้เราทำอีกอย่างเต็มที่
เพราะอานิสงส์ที่เราจะได้นั้น จะเป็นอานิสงส์ที่เกินควรเกินคาด ใจเราก็จะใส
เกาะเกี่ยวอยู่ในบุญตลอดเวลา ทำตามอย่างคุณยาย
ท่านชวนคนทำบุญตลอดถ้ายังไม่ถึงวันทอดกฐิน แม้ทอดกฐินไปแล้ว
ท่านก็ชวนทอดกฐินในปีต่อไป ถ้าเราตั้งใจทำอย่างเต็มที่แล้ว เราก็จะได้บุญเต็มที่
คิดก่อน ทำก่อน ได้ก่อน
อย่างในพระไตรปิฎกเรื่องจูเฬกสาฎก
ที่มีพราหมณ์ ๒ สามีภรรยา เป็นมหาทุคตะที่จนมาก มีผ้าห่มเพียงผืนเดียว
เวลาจะไปไหนมาไหน ต้องผลัดกันห่มออกไปข้างนอก
มีอยู่วันหนึ่งจะไปฟังธรรมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้พราหมณ์ ผู้เป็นสามีไปก่อน
พอฟังธรรมพราหมณ์เกิดศรัทธาปีติอย่างเปี่ยมล้น จะถวายผ้าผืนเดียวที่ตัวเองมีอยู่
แต่ยังห่วงภรรยาที่บ้านกลัวจะไม่มีผ้าห่ม ยาม ๑ ยาม ๒ ผ่านไป ทั้ง ๆ ที่ศรัทธามากแต่ก็ยังตัดใจไม่ได้
พอยาม ๓ ถึงได้ตัดใจถวายแด่พระพุทธเจ้า ด้วยผลบุญนี้
ทำให้พระราชาพระราชทานทรัพย์สมบัติมากมายให้เขา แต่ถ้าถวายในยาม ๒ จะได้เป็น ๒
เท่าของยาม ๓ แต่ถ้าถวายตั้งแต่ยาม ๑ จะได้เป็น ๔ เท่าของยาม ๓
จะเห็นว่าถวายผ้าเหมือนกัน แต่คนละยาม คนละเวลา ผลบุญที่ได้รับต่างกัน
การทอดกฐินครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้าศรัทธาแล้วพร้อมก่อน ถวายก่อน ผลบุญก็ได้เต็ม ๆ
อย่างไม่ตกไม่หล่นเลย
สิ่งที่อยากจะฝากไว้
เมื่อเรารู้ว่าการทอดกฐินในครั้งนี้เป็นบุญใหญ่
ที่เราได้บูชาธรรมคุณยายอาจารย์ เมื่อเราทำบุญนี้ด้วยตัวเองแล้ว
อยากให้เรานำสิ่งที่ดี ๆ เช่นนี้ ไปบอกกับทุกคนที่เรารัก ให้เขารู้ ให้เขาเข้าใจ
และทำได้ เพราะในเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว อย่าให้โอกาสผ่านไปเปล่า ๆ เลย
จากเรื่องราวประวัติการสร้างบารมีของคุณยาย และกฐินคุณยาย
เป็นเรื่องราวที่ทุกคนที่ได้มีโอกาสร่วมทอดกฐินกับคุณยายต่างมีความปีติเปี่ยมล้น
ท่านเป็นต้นบุญให้กับลูกหลานทุกคนได้สร้างบุญสร้างบารมีร่วมกับท่าน
แล้วจะได้อานิสงส์สุดจะนับจะประมาณได้
คุณยายอาจารย์ฯ ผู้เป็นหนึ่งในดวงใจของลูกหลานยายทั่วโลก |
เรื่อง ร.ลิ่มเฉลิมวงศ์ e-mail : r.luck072@gmail.com
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๔
ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ทอดกฐินอย่างไร ให้ได้บุญอย่างคุณยาย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:07
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: