คลื่นความคิดกับการรักษาโรค


วันนี้จะกล่าวถึงเรื่องคลื่นความคิดกับการรักษาโรค นิยามของคำว่า "โรค" หรือคำว่า "สุขภาพดี" สามารถนิยามได้หลายแบบ แต่วันนี้จะเสนอนิยามคำว่าโรคในอีกนัยหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นภาวะสมมุติ ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ไม่สมดุล พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นคนแข็งแรงปกติดี ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะอยู่ในภาวะสมดุล มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สมดุล ถ้าเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่ายังอยู่ใน normal rank คือ อยู่ในเกณฑ์สมดุล คนเราทุกคนไม่มีใครที่ร่างกายจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ตลอด ต้องมีอุณหภูมิขึ้น ๆ ลง ๆ ปริมาณน้ำ ปริมาณความเข้มข้นของเลือด ทุก ๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มากไปนิด น้อยไปหน่อย ก็ยังไม่ได้ป่วยไข้อะไร ยังแข็งแรงอยู่ ถ้ายังอยู่ในช่วงที่ถือว่าปกติ ก็ถือว่าเรายังไม่ป่วย

แต่ถ้าเมื่อไรการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากเกินไป หรือน้อยเกินไปจนเกินขอบเขตปกติ เมื่อนั้นเราก็จะป่วย เพราะว่าส่วนต่าง ๆ ของร่างกายปรุงแต่งไม่สมดุลแล้ว แต่การป่วยถือว่ายังเป็นภาวะสมมุติชั่วคราว ถ้าเกิดเราปรับสมดุล ซึ่งบางคนเรียกว่าปรับธาตุ ให้เข้าสู่ภาวะสมดุลใหม่เมื่อไร เราก็หายป่วย ที่หมอรักษาคนไข้ด้วยการให้ยามาทานบ้าง หรือใช้วิธีการต่าง ๆ นานาสารพัด ก็เพื่อหาทางให้กลไกการทำงานของร่างกายเรากลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง จะได้หายป่วย

คราวนี้ พอเราดูต่อไปจะพบว่า ตัวของเราประกอบไปด้วยกายกับใจ คนเราไม่ได้มีแค่กายอย่างเดียว มีใจด้วย แล้วทั้งสองส่วนนี้ก็ส่งผลเนื่องถึงกัน ถ้าหากจิตใจผ่องใส สดชื่น ร่างกายก็จะพลอยแข็งแรงไปด้วย แต่ถ้าเมื่อไรจิตใจหดหู่ เศร้าหมอง เซื่องซึม มีเรื่องกลุ้มใจมาก ๆ ไม่กี่วันร่างกายก็จะพลอยป่วยตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการทดลองหลายอย่างทีเดียว เช่น เคยมีอาจารย์เล่าให้นักศึกษาแพทย์ฟังว่า มีการทดลองนำคนไข้ ๒ คน ที่ป่วยด้วยโรคเดียวกัน อาการหนักเบาใกล้เคียงกันมาก ทั้งอายุ สุขภาพ ทุก ๆ อย่างใกล้เคียงกันมาก แล้วให้แยกพักคนละห้อง คนหนึ่งที่ปลายเตียงเขียนข้อความว่า "วันนี้เราสดชื่นแข็งแรงขึ้นมาอีกนีดหนึ่งแล้วนะ" พอลืมตาตื่นตอนเช้ามองไปที่ปลายเตียง ก็จะเห็นข้อความนั้นทุกวัน แต่อีกห้องที่ปลายเตียงเขียนข้อความว่า "วันนี้เราทรุดไปอีกหน่อยแล้ว วันนี้เราแย่ไปอีกนิดแล้ว" ตื่นเช้าลืมตาขึ้นมาทีไร เห็นแต่ข้อความที่ปลายเตียงว่า เราแย่ลงไปอีกหน่อย ปรากฏว่าผ่านไปแค่ ๑-๒ อาทิตย์ อาการคนไข้ ๒ คนนี้ต่างกันเลย

คนไข้ที่ปลายเตียงมีข้อความว่า เราแข็งแรงขึ้นอีกนิด เกือบจะหายป่วยแล้ว อาการดีขึ้นมาก แต่อีกห้องที่เขียนว่า เราแย่ไปอีกหน่อยแล้ว ปรากฏว่า อาการทรุดหนักลงไปกว่าเก่า ก็แปลกดี แต่ก็เป็นตัวชี้วัดได้ชัดเจนว่า ใจมีผลต่อกายแน่นอน จิตใจที่ได้สมดุล ร่างกายก็จะพลอยเข้าสู่สมดุลได้ง่ายไปด้วย แต่ถ้าใจเสียดุลเมื่อไร ร่างกายก็จะเสียดุลตาม แล้วอาการเจ็บป่วยก็จะตามมา ถ้าร่างกายเสียดุลอยู่แล้ว ก็ยิ่งหนักไปใหญ่ จะแก้ให้หายจากโรคก็ยาก

มีอีกการทดลองหนึ่ง ในช่วงสงครามได้นำนักโทษประหารมาถามว่า ในเมื่อคุณจะต้องตายอย่างแน่นอนแล้ว จะเลือกให้ถูกยิงเป้าตายไปเฉย ๆ หรือว่าจะยอมให้หมอเจาะแขนแล้วปล่อยให้เลือดไหลออกจากตัว เพื่อศึกษาว่าเลือดไหลออกมามากเท่าไรถึงจะตาย ถ้าทำอย่างนี้ชื่อของคุณจะอยู่ในประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ ว่าการทดลองเกิดขึ้นจากใคร ซึ่งก็ตายเหมือนกัน แต่ถูกยิงเป้าตายแบบเงียบ ๆ ไม่มีชื่อเสียง คุณจะเลือกแบบไหน

มีนักโทษคนหนึ่งอาสาว่า เขาอยากตายแบบมีชื่อเสียง หมอก็นำนักโทษคนนั้นไปไว้ในห้อง แล้วก็แทงเข็มต่อสายน้ำเกลือที่แขน แต่ไม่ได้มีน้ำเกลือ แทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือดเฉย ๆ แล้วปล่อยให้เลือดไหลออกมาเสียงหยดดังติ๋ง ๆ ลงบนภาชนะที่รองรับไว้ ให้นักโทษเห็นว่าเลือดกำลังไหลออกมา เสร็จแล้วหมอก็ปิดไฟในห้อง โดยบอกว่าเพื่อความสงบของนักโทษ แล้วก็มีเครื่องวัดชีพจรดูว่าตอนนี้นักโทษเป็นอย่างไร ยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่ถึงชั่วโมงนักโทษก็ตาย

ทั้งที่ความจริงแล้ว หมอคนนี้หลอกนักโทษ ช่วงแรกที่ยังเปิดไฟอยู่ เขาให้นักโทษมองเห็นเลือดไหลออกมาหยดติ๋ง ๆ แต่พอปิดไฟปั๊บ หมอก็ปิดสายน้ำเกลือนั้น แล้วก็เปิดสายน้ำเกลืออีกสายที่แอบเตรียมไว้ข้างล่าง เสียงติ๋ง ๆ เป็นเสียงน้ำเกลือที่หยด ไม่ใช่เลือดของนักโทษ นักโทษแค่มีเข็มคาอยู่ที่แขนเล่มเดียวแค่นั้น แต่นักโทษไม่รู้ คิดว่าเสียงติ๋ง ๆ คือเลือดตัวเองที่ไหลออกมา ก็มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังทรุดลง ๆ ไม่ถึงชั่วโมงก็ตาย นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ความคิดของคนเราส่งผลต่อร่างกายได้อย่างไม่น่าเชื่อจริง ๆ

คนบางคนเป็นโรคกลัว เช่น กลัวความสูง กลัวลิฟต์ กลัวบันไดเลื่อน บางคนบอกว่าไม่เห็นจะน่ากลัวเลย ความกลัวเหล่านี้มักจะมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเรื่องนั้น เช่น ขึ้นลิฟต์แล้วลิฟต์ค้าง เลยตกใจมาก ภายหลังไม่กล้าขึ้นลิฟต์อีกเลย เพราะมีความรู้สึกกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือเปล่า ความกังวลนี้ส่งผลถึงขนาดที่ว่าหัวใจเต้นตุ๊บตั๊บ ๆ แล้วก็แทบจะทรงตัวต่อไปไม่ได้เลย ทางการแพทย์เรียกว่าโฟเบีย (Phobia) คือ ความกลัวแบบไร้เหตุผล แต่ว่ายับยั้งไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วความกลัวนี้เกิดขึ้นจากความคิด ฉะนั้นความคิด จึงมีอิทธิพลต่อสุขภาพของเรามหาศาลทีเดียว

ถ้าเรามองในทางศาสนาจะพบว่าแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า "ดูก่อนตัณหาผู้เป็นเจ้าเรือน เรารู้แล้วเจ้าเกิดจากอะไร" แล้วพระองค์ก็สรุปว่าจริง ๆ แล้ว ตัณหาเกิดจากความคิด ขนาดตัณหาซึ่งถือว่าเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง พระองค์ยังตรัสว่าเกิดมาจากความคิด เพราะฉะนั้นความคิดในใจของเราจึงมีความสำคัญจริง ๆ ส่งผลทุกเรื่อง ตั้งแต่สุขภาพไปจนถึงเป็นพลังที่จะนำตัวเราไปทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ เราจึงต้องรู้จักใช้ความคิดของเราไปในทางที่ถูกต้อง คิดในเชิงบวก คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดแต่เรื่องดี ๆ อย่ามองโลกในแง่ร้าย ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี อย่าเพิ่งไปโทษ ไปปรักปรำ ตีโพยตีพาย ปัญหาแม้ใหญ่ท่วมฟ้า ถ้าค่อย ๆ แก้ทีละเปลาะ ๆ เดี๋ยวก็แก้ได้ ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงเท่าสูง ย่ำทีละก้าว สุดท้ายก็ยังขึ้นถึงยอดเขาได้ พระจันทร์อยู่ไกลแสนไกล แต่เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและเชื่อว่าไปถึงได้ แล้วค่อย ๆ หาทางไป สุดท้ายก็สำเร็จได้จริง ๆ

ด้วยเหตุนี้ ใครที่เจออุปสรรคใหญ่เท่าไร สถานการณ์ย่ำแย่แค่ไหน ให้รักษาใจเราไว้ให้ดี ทำใจให้นิ่ง ๆ สงบ ๆ เมื่อใจเราหยุดนิ่งแล้ว ความคิดในทางสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้น และให้มีความเชื่อมั่นว่า เราสามารถแก้สถานการณ์ได้ แล้วค่อย ๆ ทำไป แล้วปัญหาทั้งหลายก็จะคลี่คลายไปเอง สุขภาพเราก็จะดีขึ้นด้วย

ส่วนใครที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ ให้เริ่มสำรวจใจของตัวเอง ให้เชื่อมั่นว่าเราอยู่ได้ เราสู้ได้ สุดท้าย เราก็จะสู้ได้จริง ๆ ที่ป่วยหนักก็จะเบา ที่เบาก็จะหาย แต่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ต้องทำใจให้สงบเป็นสมาธิตั้งมั่น ถ้าใจฟุ้งซ่านกระเพื่อมอยู่ จะให้คิดดี ๆ บางทีก็คิดไม่ค่อยออก ดังนั้นจึงไม่ควรเว้นจากการปฏิบัติธรรม และอย่าเว้นจากการอยู่ใกล้กัลยาณมิตร เมื่อใจกำลังยุ่ง ๆ สับสน ให้นั่งหลับตา ถ้ายังหลับไม่ลง ก็ให้นิ่ง ถ้ายังนิ่งไม่ลง ก็เปิดจานดาวธรรมฟังพระเดชพระคุณหลวงพ่อสอนเสียก่อน แล้วค่อย ๆ น้อมนำใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา แล้วใจเราจะโปร่งสบายมากขึ้น ถึงคราวหลับตาใจก็จะนิ่งได้ แล้วความคิดดี ๆ จะเกิดขึ้นมา แล้วเราก็จะดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D., Ph.D.)
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


คลื่นความคิดกับการรักษาโรค  คลื่นความคิดกับการรักษาโรค Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.