พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด



เรื่องของการพูดเป็นเรื่องใหญ่ ดังที่โบราณบอกไว้ว่า "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท" หรือสุนทรภู่เคยกล่าวไว้ว่า

"ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
  มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
  แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
  จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา"

นอกจากนี้ ยังมีคำคมเกี่ยวกับเรื่องคำพูดอยู่อีกมากมายทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องคำพูดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คำพูดที่ดีต้องมีองค์ประกอบ ๕ อย่าง ได้แก่

๑. ต้องเป็นเรื่องจริง

๒. ต้องพูดด้วยคำสุภาพ

๓. เรื่องที่พูดเป็นเรื่องมีประโยชน์

๔. ผู้พูดต้องพูดด้วยจิตเมตตา

๕. พูดถูกกาลเทศะ

ข้อที่ ๑ เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง

ข้อนี้คนทั่วไปที่ศึกษาธรรมะรู้สึกว่าไม่ยาก แต่ความยากอยู่ที่ว่าจะเอาหลักธรรมมาใช้จริง ๆ ได้อย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่มักจะถือตัวเองเป็นที่ตั้ง เช่น เวลาพูดก็จะคิดแค่ว่า เรื่องที่พูดนี้เป็นเรื่องจริง แล้วก็พูดออกไปเลย ประเด็นนี้ขอให้มองว่า เราจะต้องสามารถสื่อสารความจริงไปถึงผู้ฟังให้ได้ด้วย คือบางครั้งเราคิดว่า เราพูดเรื่องจริง แต่เรื่องที่เราพูดกับความเข้าใจของผู้ฟังบางครั้งไม่ตรงกัน

ฉะนั้นที่ว่าพูดเรื่องจริงนั้น หมายถึงว่า เราจะต้องฝึกทักษะในการสื่อสารด้วย คือต้องสื่อให้คนฟังเข้าใจตรงตามที่เราคิด เราคงเคยมีประสบการณ์ที่พูดออกไปด้วยความหวังดี แต่พูดแล้วคนอื่นเข้าใจผิด ทำให้เขาโกรธและไม่ชอบเรา นั่นแสดงว่า ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่าจะพูดเรื่องจริง เรื่องดี แต่เรายังไม่สามารถสื่อสารความจริงข้อนั้นไปถึงผู้ฟังได้ ดังนั้นถ้าคิดจะพูดอะไรก็ต้องฝึกตัวเองจนกระทั่งสามารถสื่อสารเรื่องนั้นให้ผู้ฟังเข้าใจตรงตามที่เราต้องการได้ด้วย

ข้อที่ ๒ ต้องพูดด้วยคำสุภาพ

คนทั่วไปมักจะคิดว่า เราก็พูดคำสุภาพอยู่แล้ว แต่เราต้องจับคอนเซ็ปต์ของคำว่า “สุภาพ”  ให้ได้ว่า ประเด็นหลักของคำสุภาพคือ จะต้องสามารถเปิดใจผู้รับสารจากเราได้ ไม่ว่าเราจะพูดด้วยท่าทีอย่างไร ถ้าเปิดใจเขาได้แสดงว่าสุภาพ ถ้าพูดเพราะเหมือนผู้ดีทุกอย่าง แต่ผู้ฟังไม่ชอบ รู้สึกหงุดหงิดหมั่นไส้ แสดงว่าคำพูดนั้นไม่ถือว่าสุภาพ คือ จะสุภาพหรือไม่สุภาพไม่ได้ถือตัวเราเป็นที่ตั้ง แต่ต้องถือผู้รับสาร ผู้ฟัง หรือผู้อ่านเป็นที่ตั้ง ถ้าเขารับสารจากเราแล้วใจเปิด แสดงว่าคำพูดที่เราสื่อออกไปใช้ได้ ถือว่าเป็นคำสุภาพ เรื่องนี้ไม่ได้เน้นเฉพาะคำพูดอย่างเดียว ท่าทีที่แสดงออกก็มีความสำคัญ ทั้งอากัปกิริยาท่าทีทางกายของเรา ทั้งน้ำเสียงและถ้อยคำที่ใช้ เมื่อสื่อออกไปแล้วต้องเปิดใจผู้ฟังได้ถึงจะถือว่าเป็นคำสุภาพ

ข้อที่ ๓ เรื่องที่พูดเป็นเรื่องที่มีประโยชน์

เรื่องที่เราพูด แม้เป็นคำจริง สุภาพ แต่ถ้าไม่มีประโยชน์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่าอย่าพูดเลย ให้พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ตรงนี้ต้องไตร่ตรองให้ดีว่า พูดอะไรออกไปแล้ว เป็นประโยชน์หรือเปล่า พูดแล้วต้องเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเราและผู้อื่น ไม่ใช่พูดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัวอย่างเดียว

เรื่องเนื้อหาคำพูดมีประโยชน์หรือไม่นั้น พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ที่คนมักจะมองข้ามไปก็คือ เรื่องการพูดเชิงอวดตัว ข่มคนอื่น คือ พูดว่าตัวเอง เก่งอย่างนั้น ดีอย่างนี้ จนคนอื่นหมั่นไส้ ถ้าอย่างนี้ ถือว่าเป็นการพูดที่ไม่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเราและผู้ฟัง เพราะพูดไปแล้วแทนที่จะดี แทนที่เขาจะชื่นชมยกย่อง เขากลับหมั่นไส้ พอเขาหมั่นไส้แล้ว อารมณ์เขาก็เสีย ไม่มีประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย

ฉะนั้นอย่าไปอวดตัว อย่าไปข่มใคร หรือเสียดสีกระทบกระแทกใคร ให้พูดเรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ไม่ใช่พูดเพื่อตอบสนองความต้องการจะอวดตัวของตัวเอง ต้องมองที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าผู้ฟังรู้สึกว่า เรื่องนี้เขาฟังแล้วได้ประโยชน์ เป็นความรู้ เป็นสาระ มีข้อคิด เขาก็จะมีอารมณ์อยากฟัง แล้วจะเกิดความรู้สึกที่ดี แต่ถ้าฟังแล้วไม่มีประโยชน์ ผู้พูดก็เหนื่อยฟรี ผู้ฟังก็เสียประโยชน์

ข้อที่ ๔ พูดด้วยจิตเมตตา

ข้อนี้ก็เช่นกัน อยากจะเน้นว่าให้เราพูดโดยไม่ถือเอาตัวเราเป็นหลัก แต่ให้มองผู้รับสารเป็นหลัก คำว่าพูดด้วยจิตเมตตา เราอาจจะคิดว่า เราเมตตาแล้วถึงได้เตือน แต่ถ้าขี้เมากำลังกินสุรา เมาอยู่กลางวง เราไปเตือนเข้าเดี๋ยวก็เกิดเรื่อง จะถือว่าเรามีจิตเมตตาแล้วพูดออกไปเลย แค่นี้ไม่พอ  การพูดด้วยจิตเมตตาต้องเข้าใจความคิดของผู้ที่รับสารจากเราก่อน คือต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตอนที่เขาพูด เราต้องฟังให้ดี ระหว่างที่เราพูดก็ต้องสังเกตสีหน้าท่าทางเขาให้ดี ไม่ได้คิดแต่เพียงว่า เราอยากพูดอะไรก็พูด และเวลาเขาพูดมา เราก็อย่าฟังแค่คำพูด ต้องสังเกตด้วยว่า เขาพูดอย่างนี้แสดงว่าเขาคิดอะไร พอเข้าใจตรงนี้แล้ว เราจะสามารถใช้คำที่พอเหมาะพอดีพูดตอบไปได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าพูดด้วยจิตเมตตา ระหว่างที่เราเป็นผู้พูด ก็ต้องไตร่ตรองหาถ้อยคำที่เหมาะสม พูดออกไปแล้วต้องสังเกตว่าปฏิกิริยาเขาเป็นอย่างไรบ้าง เดิมเราคิดว่าน่าจะโอเค พอพูดไปแล้วอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด ก็ปรับเนื้อหาและวิธีการพูดของเราให้พอเหมาะพอดี ตรงกับใจของผู้ฟัง และยกใจเขาให้สูงขึ้นได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการพูดด้วยจิตเมตตา

ข้อที่ ๕ พูดถูกกาลเทศะ

เวลาจะพูดแต่ละเรื่องต้องสังเกตให้ดีว่าพูดตอนไหนถึงจะดี เขากำลังยุ่งอยู่หรือเปล่า มีอารมณ์จะฟังเรื่องนี้หรือเปล่า สังเกตเวลาและสถานที่ให้ดี ถ้าเขากำลังยุ่งก็อย่าไปกวนเขา เวลาจะโทรศัพท์ถ้าดึกเกินไปก็ไม่โทร เช้าเกินไปก็ไม่โทร ถ้าเป็นนักธุรกิจเช้า ๆ มักจะงานยุ่ง บ่าย ๆ รับประทานอาหารเสร็จ อารมณ์กำลังดี ร่างกายมีสารอาหารไปหล่อเลี้ยง จิตก็ปลอดโปร่ง สมองก็โล่ง ๆ น้ำตาลในเลือดก็เพียงพอ ถ้าก่อนเที่ยงกำลังหิว มักคุยกันไม่ค่อยได้เรื่อง และต้องสังเกตด้วยว่าเรื่องไหนควรจะพูดตอนไหน แล้วถ้าได้เจอเขา ก็ให้สังเกตดูอารมณ์ จังหวะ เวลา และสถานที่ให้ดี แล้วเราจะสามารถสื่อสารออกไปได้พอเหมาะพอดี

ถ้าครบ ๕ ข้อ ใจเปิดแน่นอน ทั้งพูดเรื่องจริง พูดด้วยคำสุภาพ พูดเรื่องมีประโยชน์ พูดด้วยจิตเมตตา และพูดถูกกาลเทศะ ครบ ๕ ข้อเมื่อไร ผลสำเร็จเกิดขึ้นทันที

ดูตัวอย่างจากเรื่องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไปโปรดองคุลิมาล มหาโจรที่ฆ่าคนมาเกือบพันคน เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจอกับองคุลิมาลครั้งแรก พระองค์ยังไม่ตรัสอะไร ได้แต่เสด็จไปเรื่อย ๆ องคุลิมาลก็ถือดาบไล่ฆ่าพระองค์ พระองค์เสด็จต่อไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ แต่องคุลิมาลวิ่งตามสุดฝีเท้า ตามอยู่ ๓ โยชน์ คือ ๔๘ กิโลเมตร วิ่งจนหมดแรง ยังตามไม่ทัน เลยตะโกนบอกว่า “สมณะหยุดก่อน”  พูดง่าย ๆ ว่าหยุดให้เราฆ่าหน่อย เราหมดแรง วิ่งตามท่านไม่ทันแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  “ตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด” องคุลิมาลสวนกลับมาว่า “พระอะไรโกหก เดินอยู่แท้ ๆ บอกว่าหยุดแล้ว” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ตถาคตหยุดแล้วจากการปลงสัตว์จากชีวิต เธอล่ะเมื่อไรจะหยุด” สิ้นพระสุรเสียง องคุลิมาลทิ้งดาบจากมือ คุกเข่ากราบขอบวชเลย

เราอาจจะนึกว่าทำไมง่ายอย่างนี้ นี้ก็คือ  "พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด"  มหาโจรฆ่าคนเป็นพัน ฟังไม่กี่คำเท่านั้น ทิ้งดาบขอบวชเลย ทำไมง่ายอย่างนี้ แต่ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า คำพูดไม่กี่คำก็จริง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้หลักครบทั้ง ๕ ข้อ คือ สิ่งที่พระองค์ตรัสเป็นเรื่องจริง คำพูดก็สุภาพ เพราะสามารถเปิดใจองคุลิมาลได้ เข้าไปสว่างกลางใจเหมือนสายฟ้าแลบแปล๊บเข้าไปเลย เรื่องที่พูดก็มีประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ ทำให้องคุลิมาลหยุดทำบาปกรรม และพูดด้วยจิตเมตตาอย่างยิ่ง ข้อสุดท้ายนี้ประสานกับข้อกาลเทศะด้วย คือ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนองคุลิมาลตั้งแต่ตอนแรกที่พบกัน การสอนจะไม่ได้ผล แต่พระองค์ทรงเข้าใจองคุลิมาลดีว่าเป็นคนที่ชอบวิชา ที่ยอมมาฆ่าคนเป็นพันก็เพราะหวังจะได้วิชาจากอาจารย์ ฉะนั้นการที่พระองค์ใช้อิทธิปาฏิหาริย์เสด็จไป แล้วองคุลิมาลต้องวิ่งตามอยู่ ๔๘ กิโลเมตร ระหว่างที่วิ่งก็ต้องมีความคิดเกิดขึ้นมาเป็นชั่วโมง ๆ แล้วว่า พระรูปนี้ไม่ธรรมดา เราเองก็มีฝีมือมาก ฝีเท้าก็เร็ว แต่ทำไมพระรูปนี้แค่เดินธรรมดา ๆ เราวิ่งจนเหนื่อย ก็ยังตามไม่ทัน ทิฐิในตัวค่อย ๆ คลายลง เกิดการยอมรับ เครดิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถึงคราวที่พระองค์ตรัสออกมาองคุลิมาลจึงใจเปิดทันที




นี้เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าใจธรรมชาติขององคุลิมาล การแสดงความเมตตา ไม่ใช่ว่า ฉันหวังดีกับเธอ เจอหน้าก็พูดเลย ต้องเข้าใจก่อนว่า เขาคิดอย่างไร ใจเขาเป็นอย่างไร เราต้องพูดแบบไหนถึงจะเปิดใจเขาได้ ต้องประสานทั้ง ๕ ข้อเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ในคำพูดไม่กี่ประโยค พอได้เวลา ได้จังหวะ องคุลิมาลกำลังเหนื่อย ใจเปิดแล้ว พระองค์ตรัสอีกไม่กี่คำ องคุลิมาลทิ้งดาบกราบพระพุทธเจ้าขอบวชเลย นี้คือ "พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด" แต่ต้องครบองค์ประกอบทั้ง ๕

ลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำของประเทศอินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามในสัดส่วนประมาณ ๓ : ๑ ถึงคราวกำลังจะได้เอกราชจากอังกฤษ คนในประเทศก็เริ่มทะเลาะกันเอง พอถึงจุดหนึ่งก็เกิดสงครามกลางเมือง คนมุสลิมฆ่าคนฮินดู คนฮินดูฆ่าคนมุสลิม เกิดจลาจลฆ่าฟันกันขนานใหญ่ มหาตมะ คานธี ประกาศอดอาหารจนกว่าจะเลิกฆ่ากัน ไม่น่าเชื่อ ด้วยบารมีของท่านทำให้คนที่กำลังฆ่ากันค่อย ๆ สงบลง แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย ในระหว่างที่มหาตมะ คานธี นอนป่วยอยู่บนเตียง มีฮินดูคนหนึ่งเข้าไปหาท่าน ถือสายโซ่เปื้อนเลือดมา ท่าทางดุดัน บุกเข้าไปหาท่านแล้วบอกว่า "ท่านบอกให้ข้าพเจ้าเลิกฆ่าชาวมุสลิมหรือ ท่านรู้ไหมว่าข้าพเจ้าเจออะไรมาบ้าง ลูกน้อยที่น่ารักของข้าพเจ้าถูกพวกมุสลิมฆ่าตาย ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ต้องหาอาวุธเท่าที่จะหาได้ไปฆ่าล้างแค้น ท่านบอกมาสิว่า ข้าพเจ้าควรจะทำอย่างไร"

ชายคนนี้ทั้งรักทั้งเคารพมหาตมะ คานธี แต่ก็มีแรงแค้นอยู่เต็มหัวใจ มหาตมะ คานธี กำลังอดอาหารอยู่ แรงก็ไม่ค่อยมี จึงตอบเบา ๆ ว่า “วิธียังมีอยู่ สิ่งที่ท่านควรทำคือ ไปหาเด็กมุสลิมที่พ่อแม่ของเขาถูกคนฮินดูฆ่าตายมาเลี้ยง เลือกเด็กกำพร้าอายุพอ ๆ กับลูกของท่าน แล้วเลี้ยงเขาให้โตขึ้นมาเป็นมุสลิมที่ดี ไม่ต้องให้เป็นฮินดู และสอนเขาอย่าให้ไปรังแกคนอื่น” ฟังเสร็จชายคนนี้ช็อก โซ่ตกจากมือ ล่าถอยออกไปเลย แล้วคำพูดเหล่านี้ไม่ได้มีผลกับชายคนนี้คนเดียว แต่ถูกถ่ายทอดออกไป ทำให้คนได้สติ คิดได้ว่า เราฆ่าเขา เขาฆ่าเรา ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา ฆ่าเท่าไรก็ไม่จบ ถ้าคิดเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วมาปรับ อย่างนี้จบได้ ตรงกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" จะเห็นได้ว่า คำพูดสั้น ๆ ของมหาตมะ คานธี ครบองค์ประกอบ ๕ อย่าง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ จึงสามารถหยุด ชายคนนี้ และหยุดกระแสความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียขณะนั้นได้

ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อครั้งที่อังกฤษกับเยอรมันรบกันอย่างสาหัสสากรรจ์ และมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นศัตรูกัน แต่หลังจากเลิกรบแล้ว มีอยู่คราวหนึ่งเป็นวันฉลองวันกองทัพเรือของอังกฤษ ผู้บัญชาการกองทัพเรือของเยอรมันส่งสารไปแสดงความยินดี มีใจความสั้น ๆ ว่า “ทุกครั้งที่เรารบกับกองทัพเรือของอังกฤษ เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ” ปรากฏว่า คำพูดแค่ไม่กี่คำสามารถคลายความรู้สึกเป็นศัตรูกันระหว่างกองทัพเรือของอังกฤษกับกองทัพเรือของเยอรมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

คำพูดแบบนี้ถามว่าเป็นเรื่องจริงไหม? จริง เขาเอาเรื่องจริงมาพูด ถ้าไปชมแบบไร้สาระไม่มีพื้นฐานความจริง ก็จะไม่ค่อยมีผลอะไร แต่นี่เป็นคำจริงที่คนรับสารยอมรับว่าจริง เพราะอังกฤษก็ภูมิใจว่ากองทัพเรือของตัวเองเก่ง แล้วใช้คำสุภาพไหม? สุภาพอย่างยิ่ง ให้เกียรติผู้รับสารเต็มที่ เป็นประโยชน์ไหม? การพูดเรื่องจริงในจังหวะที่เหมาะสม คือวันนั้นเป็นวันฉลองวันกองทัพเรืออังกฤษ การแสดงความยินดีโดยพูดสั้น ๆ อย่างนี้ เป็นคำที่มีประโยชน์และพูดด้วยจิตเมตตา คือชื่นชมยกย่องผู้รับสาร ไม่ใช่มาอวดตัวเองว่าฉันเก่ง และพูดถูกกาลเทศะทุกอย่าง พอครบองค์ ๕ เท่านั้น แค่คำพูดสั้น ๆ ไม่กี่ประโยคสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของผู้คน ไม่เฉพาะทหารเรือของทั้ง ๒ ประเทศเท่านั้น แต่พอเรื่องนี้แพร่ออกไป ก็มีผลต่อความรู้สึกของคน ๒ ชนชาติ สลายความรู้สึกเกลียดชังและเป็นศัตรูให้กลายเป็นความรู้สึกดี ๆ ขึ้นมาแทนได้

ฉะนั้น "พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด" ถ้ารู้หลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเอาหลักของพระองค์ไปใช้ เราก็จะสามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๗  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๓
พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด พูดดี พูดโดน ง่ายกว่าที่คิด Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.