เวลาอ่านหนังสือเรียนทีละหลาย ๆ วิชา มักสับสนจนแยกแยะไม่ออก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
ถาม : หลวงพ่อเจ้าคะ เวลาอ่านหนังสือเรียนทีละหลายๆ เล่ม หลายๆ วิชาแล้ว มักจะแยกแยะ ไม่ออก ตอนเข้าห้องสอบหนูจะสับสนกับสิ่งที่อ่านมา บางครั้งถึงกับปวดศีรษะมาก จนทำข้อสอบ ไม่ค่อยได้ ปัจจุบันหนูสอบได้เกรดเฉลี่ย ๒.๙ แต่ก็อยากจะทำให้ได้ดีกว่านี้ อยากเรียนถามว่า จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรเจ้าค่ะ ?
ตอบ : ที่คุณหนูบอกว่าสอบได้เกรดเฉลี่ย ๒.๙ หลวงพ่อว่าก็ทำได้ดี แต่ถ้าทำได้มากกว่านี้ ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก ส่วนปัญหาของคุณหนูนั้น อยู่ตรงที่อ่านหนังสือแล้วมึนศีรษะ
สำหรับเรื่องนี้ อยากจะฝากเป็นข้อคิดไปถึงลูก ๆ หลาน ๆ ที่อยู่ที่บ้านทุกคนด้วย
เมื่อสมัยหลวงพ่อยังเรียนหนังสืออยู่ เคยเห็นเพื่อน ๆ ที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกันหลายคน ที่ไม่เฉพาะตอนสอบเท่านั้น แม้แต่ตอนเรียน ถ้าอ่านหนังสือมาก ๆ เขาก็บ่นว่าปวดศีรษะเหมือนกัน แล้วยังพบอีกว่า เกิดจากสาเหตุที่ไม่เหมือนกัน คือ
ประเภทที่ ๑ อ่านหนังสือไปสักพักจะมึนศีรษะ ยิ่งอ่านหนังสือเล่มโต ๆ ก็ยิ่งมึนศีรษะมากขึ้นไปอีก ซึ่งพบว่าเกิดจากสาเหตุสายตาสั้นบ้าง สายตาเอียงบ้าง ประเภทนี้ก็คงต้องไปหาจักษุแพทย์
ประเภทที่ ๒ เกิดจากการจับประเด็นเนื้อหาสาระวิชาที่คุณครูอธิบายไม่ได้ ก็เลยพยายามที่จะท่องให้ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะสามารถท่องจำตำรับตำราเล่มใหญ่ ๆ ได้ทั้งเล่ม แต่จะจำได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจในหลักการของเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้น จึงค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ ตะล่อมกัน ในที่สุดตอนเป็นนักศึกษาปีท้าย ๆ เจ้าเพื่อนคนนี้ก็สามารถจับหลักการ หรือจับประเด็นในแต่ละเรื่องที่เรียนได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องท่องหนังสือเล่มโต ๆ ไม่ต้องพยายามจำรายละเอียดต่าง ๆ ให้มากมายนัก เขาก็กลายเป็นคนเรียนดีได้
ถ้าคุณหนูคิดว่าตัวเองอยู่ในลักษณะจับประเด็นไม่เป็น ย่อความไม่เป็น หรืออะไรทำนองนี้ ก็ควรจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนวิชานั้น ๆ ขอให้ท่านช่วยอธิบาย ในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจให้ฟังใหม่ ก็จะทำให้การเรียนดีขึ้น
ประเภทที่ ๓ หลวงพ่อเองก็เคยเป็น คือถ้าไปเจอเรื่องที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แล้วเป็นเรื่องที่ยากจริง ๆ คนอื่น ๆ ก็บ่นว่ายากเหมือนกัน
ในกรณีนี้ วิธีแก้ไขต้องใช้อำนาจของสมาธิเข้ามาช่วย แต่ตอนนั้นหลวงพ่อก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องสมาธิดีนัก เพราะว่ายังไม่ได้พบกับคุณยายอาจารย์ฯ ของเรา
วิธีที่หลวงพ่อทำก็คือ เรื่องที่เราไม่เข้าใจก็อ่านแล้วอ่านอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่านเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่จะเข้านอน คืออ่านจนกระทั่งจบ แล้วก็หลับกันไปเลย
ตื่นเช้าขึ้นมาแทนที่จะไปล้างหน้าล้างตา ก็คว้าเจ้าเรื่องนั้นแหละมาอ่านก่อน เข้าใจไม่เข้าใจก็อ่านไปจนจบ แล้วค่อยไปล้างหน้าล้างตา เข้าห้องน้ำห้องท่า
กลางวันขณะที่เรียนเรื่องอื่นก็เรียนไป แต่พอมีเวลาว่าง หรือขณะทำภารกิจส่วนตัวก็จะตรึกนึกถึงแต่เรื่องนี้ จะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร
ก่อนนอนก็เอามาอ่านเป็นวิชาสุดท้ายอีก อ่านจนกระทั่งหลับไป เช้ามืดพอตื่นขึ้นมา ก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านอีก
ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป พอเข้าวันที่ ๓ ไม่เกินวันที่ ๔ จำได้เป็นฉาก ๆ เลย แล้วก็เข้าใจขึ้นมาได้เองโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
จนกระทั่งเมื่อมาพบคุณยายอาจารย์ฯ ก็เล่าให้ท่านฟังว่า “คุณยาย กระผมได้เจออย่างนี้ ๆ มา เมื่อสมัยเป็นนักศึกษา ช่วยตอบทีเถอะว่าเป็นเพราะเหตุใด”
คุณยายท่านตอบชัดดี ท่านบอกว่า “คุณ เมื่อคุณทำอย่างนี้ ก่อนนอนใจก็จดจ่ออยู่ในเรื่องนั้น ตื่นนอนใจก็จดจ่ออยู่ในเรื่องนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ติดต่อกัน ๓-๔ วัน กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันของคุณ ก็เริ่มทำงานน่ะซิ
“เพราะคนเราไม่ได้มีกายเนื้อเพียงกายเดียว แต่มีกายในกาย หรือกายซ้อนกายอยู่ด้วย แล้วไม่ใช่ซ้อนแค่กายสองกายนะ ซ้อนกันอยู่ในนั้นอีกเป็นสิบ ถ้าใครฝึกสมาธิมาก ๆ จะไปเจอกายในกายมากมายเลย”
แสดงว่าเมื่อเราเอาใจจดจ่อในเรื่องใดมากเข้า ๆ ในที่สุดกายฝัน หรือกายมนุษย์ละเอียดก็จะรับรู้กับกายเนื้อของเราไปด้วย
กลายเป็นว่า สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความจำ ยกเป็นกำลัง ๒ ขึ้นมา ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เมื่อเริ่มแรกรู้สึกว่ายาก ไม่เข้าใจอะไรเลย
การที่กายมนุษย์ละเอียด หรือว่ากายฝันมาช่วยอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แต่ว่าเป็นความพยายามของลูกผู้ชายอย่างจริงจัง นี่ก็เป็นประสบการณ์ของหลวงพ่อ
ประเภทที่ ๔ ในกรณีที่อ่านหนังสือแล้ว มีความรู้สึกมึน ๆตื้อ ๆ ยังพบอีกว่า เนื่องจากห้องพักนั้น เป็นห้องที่อับ อากาศถ่ายเทได้ไม่ค่อยสะดวก แถมยังขนข้าวของไปเก็บเอาไว้จนเต็มไปหมดเสียอีก
เมื่อการระบายอากาศในห้องนั้นไม่ดี และมักจะนอนดึกบ่อย ๆ ก็เลยทำให้เป็นโรคตื้อ ๆ มึน ๆ อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น เวลาอ่านหนังสือก็เลยย่ำแย่ พอแก้ไขด้วยการจัดห้องใหม่ ให้อากาศถ่ายเทได้ดี เขาก็เรียนดีขึ้น
สำหรับตัวคุณหนูเอง ก็อาจจะอยู่ในเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๔ เรื่องที่ว่ามา หรือมีเรื่องพิเศษอะไรก็ค่อย ๆ ค้นหาไป และในระหว่างที่กำลังค้นหาอยู่นี้ ก็อยากจะฝากไว้ว่า
๑. ต้องมีความอดทน และพยายามแบ่งเวลาให้ดี เดี๋ยวคุณหนูก็จะแก้ไขอะไรต่ออะไรได้พอสมควร
๒ . เริ่มลงมือฝึกสมาธิเถอะคุณหนู ฝึกสมาธิไม่ยากหรอก โดยก่อนนอนก็กำหนดนิมิตเป็นองค์พระ หรือจะกำหนดเป็นดวงแก้วก็ได้ ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย หรือที่กลางท้องของเรา
ให้ทำเหมือนอย่างกับเรากลืนองค์พระเอาไว้ในท้อง เป็นองค์พระแก้วใส ๆ นั่งขัดสมาธิ หันหน้าไปทางเดียวกับเรา หรือจะนึกว่ากลืนดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เอาไว้กลางท้องก็ได้
หัดทำสมาธิโดยนึกง่าย ๆ สบาย ๆ อย่างนี้สัก ๑๕-๒๐ นาที ก่อนนอนทุกคืน แล้วถ้าจะแถมสวดมนต์ด้วย ก็ยิ่งดี
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณหนูไม่ได้ชอบเที่ยวกลางคืน ไม่ได้ชอบเล่นไพ่ ไม่ได้ชอบพนันบอล ไม่ได้จมอยู่ใน อบายมุขต่าง ๆ และศีล ๕ ก็รักษาอย่างดี ตั้งใจเรียน ตั้งใจนั่งสมาธิ อย่างที่ว่าไป หลวงพ่อเชื่อว่า ไม่นานอาการมึนศีรษะ ปวดศีรษะ ก็จะค่อย ๆ หมดไปเอง
ก็ขอให้บุญรักษา ให้สามารถแก้ไขตัวเองได้สำเร็จ ให้เรียนเก่งสมใจนึก ให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วอย่าลืมเอาเกียรตินิยมมาฝากหลวงพ่อด้วยนะ
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๓๕ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘
เวลาอ่านหนังสือเรียนทีละหลาย ๆ วิชา มักสับสนจนแยกแยะไม่ออก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:01
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: