ช่วงเวลาที่ดีที่สุด
จากนั้นจึงถามผมว่า อยู่กับหลวงพ่อได้จดบันทึกไว้บ้างหรือเปล่า ?
ผมรู้สึกโชคดีที่ได้เริ่มจดบันทึกไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาช่วยรับบุญดูแลหลวงพ่อ
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ผมเคยจดบันทึกไว้แค่เพียงสองครั้ง
ครั้งแรกสมัยเรียนมัธยม ผมจดเพราะพี่สาวให้สมุดบันทึกมาใช้ เพราะถ้าหากไม่จดเลยเธอจะเสียใจเป็นแน่
ผมจดไปได้สัปดาห์กว่า คาดเดาว่าพ้นขีดที่เธอจะเสียใจแล้ว ผมก็เลยเลิก
อีกหลายปีต่อมาเมื่อต้องออกเดินทางไปกับเรือฝึกในการฝึกภาคทะเล ผมจดบันทึกติดต่อกันได้ ๒ อาทิตย์ ที่จดบันทึก เพราะเป็นการบ้านที่ทุกคนต้องทำส่งอาจารย์ ใครไม่ส่งบันทึกจะไม่ได้คะแนน
ช่วงเริ่มต้นที่ผมเข้าไปรับบุญดูแลหลวงพ่อ
หลวงพ่อถามถึงประสบการณ์ที่ผมไปฝึกภาคทางทะเลอย่างเช่นถามว่า เคยเจอพายุไหมและเป็นอย่างไรบ้าง ?
พอผมเล่าให้หลวงพ่อฟังแล้ว ท่านก็บอกว่าการใช้ชีวิตในทะเลเป็นเรื่องที่แปลกและน่าสนใจ
แล้วจากนั้นหลวงพ่อก็ให้ผมไปเขียนเล่ามาให้ท่านฟัง
ผมเขียนเล่าให้ท่านฟังด้วยลายมือโย้เย้แบบคนเมาเรือไป เขียนเสร็จแล้วนำไปวางแอบไว้ เพราะคิดว่างานหลวงพ่อเยอะอยู่แล้ว ท่านคงไม่มีเวลามาอ่าน
แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่ผมคิด
หลวงพ่อนอกจากจะอ่านแล้วยังให้ผมเขียนเล่ามาให้ท่านอ่านอีก
หลังจากนั้นผมเขียนเล่าส่งให้ท่านอีกสองสามครั้ง หลวงพ่อบอกให้เขียนไปเรื่อย ๆ หลวงพ่อไม่เร่งเวลา
เมื่อไม่เร่งเวลาผมก็เลยไม่ได้เล่าต่อ
แต่ผมก็ได้นำเอาเหตุนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการจดบันทึกอย่างจริงจัง
ผมมาคิดทบทวนอยู่หลายครั้งจนแน่ใจว่า อาจเป็นวิธีการที่หลวงพ่อต้องการแนะนำและฝึกบางอย่างให้แก่ผม
เคยได้ยินมาว่า หลวงพ่อท่านมักมีวิธีฝึกคนตามอุปนิสัย อย่างพี่ท่านหนึ่งมีนิสัยหงุดหงิดง่าย ใจร้อนและมือหนัก ต่อมาหลวงพ่อได้ชวนให้พี่ท่านนั้นได้รับบุญจัดดอกไม้หอมไปถวายพระประธานในโบสถ์
การจัดเรียงดอกไม้หอมใส่พานให้เป็นระเบียบ ซ้อนเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปโดยที่ดอกไม้ไม่ช้ำ เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน ที่ต้องทำด้วยความใจเย็น อดทน ประณีต และต้องเบามือเป็นที่สุด
แน่นอนว่าต่อมาอุปนิสัยของพี่ท่านนั้นเปลี่ยนไป เหมือนมองดอกไม้แห้งกับดอกไม้สด เราสามารถมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนอย่างนั้นเลย
สำหรับผมก็คงเหมือนกับหลาย ๆ ท่านที่เวลาอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อแล้วพูดไม่ออก ความตื่นเต้นเกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ทำให้ผมปรับปรุงและพัฒนาฝึกการเรียบเรียงความคิด และการจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล หลวงพ่อจึงเมตตาที่จะฝึกผมโดยวิธีการถ่ายทอดผ่านการเขียน
เมื่อเห็นประโยชน์จากการจดบันทึก ผมจึงเริ่มทำอย่างจริงจัง
แล้วผมก็ค้นพบกับตัวเองว่า ช่วงเวลาที่เราได้จด ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไปในสมุดส่วนตัวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งของผม
ผมเคยอ่านพบในหนังสือว่า ความยากอย่างหนึ่งในการจดบันทึกนั่นคือการทำให้มันต่อเนื่อง ความยากต่อมาคือ การเก็บรักษาให้อยู่กับเราไปนานๆ
สำหรับผมการจดบันทึกให้ต่อเนื่องหรือการเก็บรักษาให้คงอยู่แม้เป็นเรื่องยาก แต่ยังมีเรื่องที่ยากกว่านั้น
หากเราสามารถเอาสิ่งที่บันทึกมาปรับใช้และพัฒนาฝึกฝนตัวเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากกว่า
ความยากมันอยู่ที่เรากล้าพอที่จะเปิดใจยอมรับที่จะฝึกฝนตนให้ดีขึ้นกว่าเดิมไหม และจะตั้งใจอดทน จนประสบความสำเร็จ ได้หรือเปล่า
ถ้าการจดบันทึกอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องยาก การแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองเป็นเรื่องยากกว่า ผมว่าเบื้องหลังสิ่งที่ยากนี้ ยังมีสิ่งที่ยากกว่าซ่อนอยู่อีก
นั่นคือการที่จะมีครูบาอาจารย์สักคนหนึ่งพร่ำสอนให้รักการทำดี เคี่ยวเข็ญให้รักบุญกุศล พร่ำสอนให้ได้รู้จักวิชาชีวิต อยู่ทุกค่ำคืน และสอนอย่างมีศิลปะอีกด้วย
บางครั้งบอกสอนตรงๆ บางครั้งสอนโดยการทำเป็นตัวอย่างให้ดู บางทีสอนผ่านเรื่องเล่า ผ่านบทเพลง ผ่านบทกลอน สอนผ่านกำแพงอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เข้าไปสู่จิตใจ
และที่สอนมาทั้งหมดก็เพื่อมุ่งจูงให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าถึงที่พึ่งภายใน
อาจเรียกได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุดก็ว่าได้
ที่ยากเพราะไม่ใช่แค่ต่อเนื่องปีสองปีหรือสิบปี
แต่ท่านได้ทำตลอดต่อเนื่องมาทั้งชีวิต
และจะทำไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
นี่เป็นเรื่องที่ผมว่ายากที่สุด
แต่เรื่องยากสุดนี้กลับเป็นเรื่องไม่ยากเลย หากร่วมมือกับท่านในการทำการบ้าน ๑๐ ข้อ โดยเฉพาะข้อสองที่ว่า ให้จดบันทึกผลการปฏิบัติธรรม
รู้จักสังเกต แล้วหัดปรุงใจให้พอดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ทำหยุดให้มันนิ่ง แล้วก็ดิ่งเข้าสู่ภายใน
การได้มาเปิดอ่านบันทึก นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่ง
บันทึกสามารถย้อนวันเวลาและความรู้สึกให้กลับไปอยู่ในตอนนั้นได้
อย่างล่าสุดผมเปิดบันทึกไปเจอวันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ตรงกับ วันวาเลนไทน์
วันแห่งความรัก วันที่หลวงพ่อสอนให้รู้จักรักตัวเองก่อนที่จะแบ่งปันความรักให้กับคนอื่น
วันนั้นหลวงพ่อได้ไปเยี่ยมหมู่กุฏิสามเณร ตรวจดูความเป็นอยู่ทั้งที่พักและการเรียน และเป็นกำลังใจในการสอบบาลี แล้วหลวงพ่อก็เห็นกระดานดำมีกลอนที่สามเณรเขียนไว้ว่า
แม้บุญนิดหน่อยนั้น ควรทำ
ทำบ่อยเป็นประจำ ไม่เว้น
เหมือนฝนตกพรำๆ เต็มตุ่ม แลเฮย
ทำบ่อยๆ ได้ Sense แผ่กว้างจักรวาล
อ่านแล้วหลวงพ่อจึงเขียนตอบเพื่อสอนสามเณรว่า
บาปนั้นแม้หน่อยนั้น อย่าทำ
จิตจักทุกข์ระกำ หม่นไหม้
หากแม้นพลาดทำ รีบกลับ ตัวเฮย
ตั้งหลักใจใหม่ไซร้ เร่งสร้างความดี
จากนั้นก่อนที่หลวงพ่อจะกลับหลวงพ่อก็ให้พรรวมทั้งให้ลูกเณรสอบบาลีให้ได้ยกชั้นกันหมดทุกรูป
เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว แต่ความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อวาน
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งของคนเรา คือการได้ทบทวนบุญที่เราได้ทำขณะที่เรายังแข็งแรง ยังมีชีวิตและมีลมหายใจอยู่
ทุกครั้งที่เปิดอ่านเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งงานบุญที่ผมได้มาร่วมพิธีและได้ร่วมทำบุญจะกลับมาปรากฏอย่างแจ่มชัดอีกครั้ง
ซึ่งบางงานบุญเริ่มเลือนหายจากความทรงจำของผมไปแล้ว
โชคดีที่บันทึกนี้ช่วยเรียกกลับคืนมาได้
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒
ช่วงเวลาที่ดีที่สุด
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:19
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: