นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงโลก
นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลก
ในอีก ๕ ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องคอมพิวเตอร์ คือ
เอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
ปรับตึกให้เป็นตึกอัจฉริยะ ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความคล่องแคล่ว
แต่ที่อยากให้พวกเราให้ความสำคัญ ก็คือ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องจิตใจ
เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับเรามาก ๆ และจะช่วยเปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลกในอีก ๕
ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน
ภาวะความเป็นจริงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
คือ เมืองขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คนในชนบทอพยพมาอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะว่าเมืองเป็นทั้งแหล่งเรียนหนังสือ
เป็นทั้งแหล่งทำงานที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าในชนบท โอกาสที่มากกว่าจึงเป็นแรงดึงดูดให้คนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น
ยิ่งมาอยู่มาก ก็ยิ่งเกิดระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มารองรับผู้คนจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ
ในชนบทคนรู้จักกันเกือบทั้งหมู่บ้าน แต่คนในเมืองที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร
หรือตึกแถวที่ติด ๆ กัน บ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน อยู่มาเป็น ๑๐ ปี ก็ยังไม่รู้จักกัน
อาจจะเคยทักกันคำสองคำ ยิ่งถ้าห่างออกไป ๒-๓ บ้าน บางทีอยู่มาแล้วเป็น ๑๐ ปี
ไม่เคยคุยกันเลยก็มี ถามว่าในหมู่บ้านจัดสรร ที่อาจมีสัก ๕๐๐ หลังคาเรือน
จะรู้จักกันถึง ๕ หลังคาเรือนหรือเปล่า แต่ในชนบท ๕๐๐ หลังคาเรือน อาจจะรู้จักกัน
๓๐๐-๔๐๐ หลังคาเรือน รู้จักกันถึงรุ่นพ่อ รุ่นปู่
มีอาจารย์ท่านหนึ่ง
เรียนจบปริญญาเอกจากญี่ปุ่น เล่าให้อาตมาฟังก่อนที่อาตมาจะไปญี่ปุ่นว่า
ในโตเกียวมีคนอยู่ ๑๐ กว่าล้านคน เวลาท่านเดินในโตเกียว รอบ ๆ
ตัวมีคนเดินพลุกพล่าน แต่ในใจของท่านรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เป็นความโดดเดี่ยวและความเหงาที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้คนมากมายมหาศาล
คิดว่าในกรุงเทพฯ คนที่รู้สึกอย่างนี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เวลาไปตามห้างสรรพสินค้า
ไปตามสถานีรถไฟฟ้า หรือเดินตามถนน แม้มีคนมากมาย แต่ก็เหงา เพราะว่าไม่รู้จักใคร
ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น บางครั้งในบ้านเดียวกัน พ่อ แม่ ลูกยังแทบไม่ค่อยได้คุยกัน
ต่างคนต่างก็นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จอใครจอคนนั้น เข้าอินเทอร์เน็ตบ้าง เล่นเกมส์บ้าง
มีโลกส่วนตัวอยู่ในนั้น
แต่ละคนมีความรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกกับสังคมรอบตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลองมาดูในระดับชุมชนกันก่อน ทำไมคนในชนบทรู้จักกัน
แต่คนในกรุงไม่ค่อยรู้จักกัน เราอย่าไปโทษว่าเป็นเพราะคนในกรุงไม่มีน้ำใจ จริง ๆ
แล้วไม่ใช่ แต่เป็นเพราะวิถีชีวิตต่างกัน ในชนบทเขาทำการเกษตร ทำไร่ ไถนา
ปลูกพืชปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ แล้วก็อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย งานที่ทำอยู่บางคราวก็มีกิจกรรมให้ต้องทำร่วมกัน
เช่น คนที่ทำนาถึงเวลาก็ต้องไปลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว นวดข้าว วันนี้เกี่ยวข้าวนาของฉันเธอมาช่วย
วันที่เกี่ยวข้าวนาของเธอ ฉันจะไปช่วยเธอ สลับกันไป
มีกิจกรรมให้ต้องช่วยกันอย่างนี้ตลอดทำให้รู้จักคุ้นเคยกัน
ถึงคราวจะพักผ่อนหย่อนใจก็ไปที่วัดเพราะวัดเป็นแหล่งรวมทุกอย่าง ไปถึงฝ่ายหญิงเข้าครัวช่วยเตรียมข้าวปลาอาหาร
ฝ่ายชายช่วยกันเตรียมสถานที่ แล้วก็ฟังพระเทศน์ด้วยกัน และช่วยกันทำงานบุญต่าง ๆ
เช่น ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย
ฉะนั้นคนในชุมชนจึงมีกิจกรรมร่วมกันตลอดเวลา
องค์ประกอบอื่นของสังคมที่จะดูดเวลาไปยังมีน้อย โรงหนังก็ยังไม่มี บาร์ ผับ ก็ไม่มี
อะไร ๆ ก็อยู่ที่วัด และวัดก็มีลักษณะ open คือ มีลักษณะเปิด ใครมาก็เจอหน้าเจอตากัน
แต่ว่ายุคปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ
หรือในเมืองใหญ่ ๆ มีคนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ
ที่มาเรียนหนังสือก็ไปเรียนกันคนละโรงเรียน มหาวิทยาลัยคนละแห่ง ทำงานคนละบริษัท
เช้าตื่นมาต้องรีบไปทำงาน บางคนก็ขับรถไป บางคนก็ขึ้นรถเมล์ เย็นกว่าจะกลับก็มืดค่ำ
หมดแรง ต่างคนต่างเข้าบ้านของตัว ในชุมชนแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร
หรือชุมชนต่าง ๆ ในเมืองกิจกรรมร่วมที่ทุกคนในชุมชนทำร่วมกันมีน้อยกว่าในชนบทมาก
ทำให้ความคุ้นเคยของคนมีจำกัด บางทีถ้าจะมีความคุ้นเคยเกิดขึ้น
ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าประสงค์ เช่น วัยรุ่นมาจับกลุ่มกันไปขับมอเตอร์ไซค์ซิ่ง
หรืออะไรต่าง ๆ อันนี้กลับไม่ค่อยดี ยิ่งสังคมพัฒนามากขึ้น
กลายเป็นว่าสิ่งที่เราต้องเสียไป กับสิ่งที่เราได้มาต้องดูว่าคุ้มกันหรือเปล่า
ต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจ พัฒนาไป ชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้นมาก
บางคนมีลักษณะโหยหาอดีต รู้สึกว่าสังคมเมื่อร้อยปีที่แล้วสวยงามมาก
อันที่จริงก็เป็นบางมุม แต่ในบางมุมก็ขาดแคลน เช่น เวลาไม่สบาย
หยูกยารักษาโรคก็หาลำบาก ไม่สบายขึ้นมาก็ตายง่าย ๆ เพราะว่าหาหมอยาก เดินทางก็ไม่สะดวก ข้าวของสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีน้อย
ปัจจุบันต้องการอะไรสะดวกสบายไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่ต้องแลกไปคือเวลา
สมัยก่อนคนมีอาชีพทำไร่ ทำนา ในเวลา ๑
ปี เวลาที่งานยุ่งจริง ๆ ไม่นาน ไถนา หว่านข้าวเสร็จ ก็ไม่ค่อยยุ่งแล้ว
รอให้ข้าวออกรวง ระหว่างนั้นก็ไปวิดน้ำเข้านาบ้าง หรือว่าดูระดับน้ำให้พอดี
และคอยระวังอย่าให้มีศัตรูพืชมารบกวน เป็นงานสบาย ๆ
ไปยุ่งอีกครั้งตอนเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ถ้าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก็จะค่อนข้างว่าง
จะยุ่งอีกครั้งก็ฤดูฝนหน้า ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ในเวลา ๑ ปี งานไม่ยุ่งมากนัก
เวลาเหลือค่อนข้างมาก แต่ยุคปัจจุบันยุ่งตลอด ชีวิตถูกบีบรัดด้วยเวลามาก ๆ
เพราะถ้าเราไม่รีบเดี๋ยวสู้เขาไม่ได้ ส่วนตัวก็ต้องแข่งกับคนอื่น
บริษัทก็ต้องแข่งกับบริษัทอื่น ถ้าไม่ทุ่มเทเดี๋ยวก็สู้เขาไม่ได้
ทุกคนถูกบีบให้อยู่ในลู่ แล้วก็วิ่งแข่งกัน แต่พอแข่ง ๆ ไปแล้ว
สิ่งที่ได้มาคือความสะดวกสบายบางอย่าง แต่ถ้าทางใจพร่อง เหงา พอทำ ๆ
ไปแล้วไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร อย่างนี้ก็น่าเสียดาย
ถามว่าจะแก้อย่างไร
เขาบอกว่าตอนนี้กำลังจะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนเมืองทั่วโลก
ก็คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ต้องสร้างกิจกรรมร่วมในชุมชน เราจะเปลี่ยนเมืองให้เป็นเหมือนในชนบทไม่ได้
เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปแล้ว ต้องเสริมจุดที่ขาด
คือดึงให้คนในชุมชนมามีกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้เรื่องการศึกษาธรรมะ
เพราะเรื่องธรรมะเป็นเรื่องที่ไม่มีวัย
จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถศึกษาธรรมะได้เช่นเดียวกัน ไม่จำกัดด้วยวัย
ไม่จำกัดด้วยเพศ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นความสนใจจะต่างกัน เช่น เรื่องหนัง
เด็กจะสนใจหนังแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่สนใจอีกแบบหนึ่ง ความสนใจที่ต่างกันทำให้มีช่องว่างระหว่างวัย
แต่ธรรมะเป็นเรื่องกลาง ๆ ที่ทุกคนสามารถศึกษาได้หมด แล้วถ้าหากทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบุญ
เรื่องวัฏสงสาร เรื่องนรก สวรรค์ บุญ บาป เป้าหมายชีวิต ชีวิตก็จะมีเป้าหมาย
ไม่เคว้งคว้างไปวัน ๆ หนึ่ง แม้ต้องทำการงานเพื่อหาปัจจัย ๔
มาหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ขณะเดียวกันบุญก็ต้องสร้างด้วย
จะได้เป็นเสบียงต่อไปในภพเบื้องหน้า เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเกิดแรงบันดาลใจที่จะมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องการบุญการกุศลร่วมกัน
สิ่งนี้หลาย ๆ คนก็เคยคิดว่าน่าจะมี
แต่ก็เป็นแค่แนวคิด แต่บัดนี้จากแนวคิดเริ่มจะไปสู่การปฏิบัติแล้ว คือ
การบวชอุบาสิกาแก้ว การบวชพระธรรมทายาท บางครั้งเป็นแสนหรือหลาย ๆ แสนรูป
ซึ่งจะค่อย ๆ กระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม การสร้างบุญสร้างกุศลมากขึ้น
ๆ จะได้ไปเป็นผู้นำทางศีลธรรมในชุมชน
ถ้าสามารถขยายสิ่งนี้ให้ทั่วถึงและกว้างขวางไปทั้งประเทศ
ผลคือทุกชุมชนจะเกิดกิจกรรมขึ้นมา เช่น วันจันทร์ไปสวดมนต์บ้านนี้
วันอังคารไปบ้านนั้น บ้านใครสะดวกรวมคนได้ก็รวม แล้วมาสวดมนต์ ทำกิจกรรมร่วมกัน
ชุมชนจะเริ่มเกิดกิจกรรมร่วมกันแบบใหม่ แม้ที่ทำงานอยู่คนละที่
เรียนหนังสือคนละแห่งก็ไม่มีปัญหา ถึงคราววันเสาร์เช้านิมนต์พระมารับบาตร
วันอาทิตย์ไปวัด อย่างนี้เป็นต้น ก็จะเกิดกิจกรรมร่วมกัน
ชุมชนก็จะเริ่มมีความคุ้นเคย ความเหงาในท่ามกลางผู้คนมากมายก็จะไม่เกิดขึ้น
และยังเป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนที่สร้างสรรค์ ทำให้ชุมชนสงบร่มเย็น
เด็กก็เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้ใหญ่ก็มีความสุข มีอะไรก็เกื้อกูลกัน
นั่นคือสังคมในอุดมคติที่เราอยากจะเห็น
บัดนี้ สิ่งนี้ไม่ใช่ความฝันอีกแล้ว
แต่กำลังจะเป็นความจริง เพราะเราได้ทำกันมาแล้ว และทำในสิ่งที่ใคร ๆ
คิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่ก็ก้าวมาหลายก้าวแล้ว บวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ก็ช่วยกันทำมาแล้ว
อุบาสิกาแก้ว ๑๐๐,๐๐๐ คน ก็ทำแล้ว อุบาสิกาแก้ว ๕๐๐,๐๐๐ คน ก็ทำมาแล้ว
ธันวาคมนี้ก็จะทำอุบาสิกา แก้ว ๑,๐๐,๐๐๐ คน คลื่นความดีเริ่มขยายกว้างออกไป
เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกทั้งโลกแสวงหา ไม่เฉพาะที่ประเทศไทย
แต่ที่ผ่านมาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร บัดนี้ วิธีการมาถึงแล้ว รอแต่เพียงให้ทุกคนเห็นความสำคัญ แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือ
เดินหน้าเข็นกงล้อธรรมจักรให้เคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อนำความสงบเย็นแห่งพุทธธรรมไปเป็นที่พึ่งของมหาชน
นวัตกรรมนี้ต่างหากที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลกภายใน
๕ ปีได้อย่างอัศจรรย์ ช่วยกันทำให้ขยายไปทั่วทั้งประเทศไทยให้เร็วที่สุดภายใน ๒-๓
ปี แล้วให้ขยายออกไปทั้งโลก เพื่อนำความสงบร่มเย็น กลับคืนมาสู่สังคมโลก
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่
๙๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: