วิสาขา ยอดอุปัฏฐายิกา มหาอุบาสิกาแก้ว






วิสาขาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีกับนางสุมนาเทวี อาศัยอยู่ในภัททิยนคร แคว้นอังคะ ตอนที่นางวิสาขามีอายุได้ ๗ ขวบ นางได้สร้างวีรกรรมที่เด็กหญิงทั่วไปทำได้ยาก คือ นางได้พาบริวาร ๕๐๐ คน ไปต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาที่ภัททิยนคร ครั้นได้ฟังธรรมแล้ว ทั้งหมดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

วิสาขา วัยรุ่น ไม่วุ่นวาย

ต่อมา นางย้ายเมืองไปอยู่ที่แคว้นโกศล เมื่อโตเป็นสาว นางเป็นหญิงที่พร้อมด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี คือ มีความงาม ๕ อย่าง ได้แก่ ผมงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม  มิคารเศรษฐีได้ส่งพราหมณ์ไปดูตัวนาง ก่อนที่จะไปสู่ขอ พวกพราหมณ์สังเกตเห็นหญิงสาวคนอื่น ๆ ต่างวิ่งเข้าไปในศาลาเพื่อหลบฝน  แต่วิสาขากลับเดินด้วยอาการปกติ จึงถามดูว่า ทำไมไม่รีบวิ่งหลบฝน วิสาขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะว่า ไม่รีบร้อน เพราะมีเหตุ ๒ ประการ คือ

ประการแรก มีชนอยู่ ๔ จำพวก เมื่อวิ่งแล้ว ไม่งาม คือ

๑. พระราชาเมื่อทรงเครื่องประดับแล้ววิ่งย่อมไม่งาม

๒. ช้างมงคลที่ประดับตกแต่งแล้ววิ่งย่อมไม่งาม

๓. บรรพชิตเมื่อวิ่งย่อมไม่งาม ย่อมถูกติเตียนว่า ทำไมจึงทำกิริยาเหมือนคฤหัสถ์

๔. สตรีเมื่อวิ่งย่อมไม่งาม ย่อมถูกติเตียนว่า ทำไมหญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย

ประการที่ ๒ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกสาวมาอย่างทะนุถนอม เพื่อจะให้แต่งงานในตระกูลดี ๆ ถ้าดิฉันวิ่งไปเหยียบชายผ้านุ่งแล้วลื่นล้ม ก็จะทำให้ท่านทั้งสองต้องเดือดร้อน ส่วนเครื่องประดับแม้เปียกฝนแล้วก็แห้งได้ เหตุนี้ดิฉันจึงไม่วิ่ง

พราหมณ์เห็นฟันของนางมีลักษณะเรียบสนิท จึงกลับไปเล่าเรื่องทั้งหมดให้ท่านเศรษฐีฟัง มิคารเศรษฐีจึงยกขันหมากไปสู่ขอนางทันที ฝ่ายพ่อของวิสาขาได้สำรวจทรัพย์สินของฝ่ายชาย ครั้นทราบว่า มีแค่ ๔๐ โกฏิ จึงคิดในใจว่า โอ้! สมบัติมีแค่ หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่เป็นไร ขอให้เขาดูแลลูกสาวเราให้ดีก็แล้วกัน ในวันแต่งงาน พ่อของวิสาขาตั้งใจว่า จะมอบเครื่องประดับที่สวยงามที่สุดและมีมูลค่าแพงที่สุดในโลกให้ลูกสาว นั่นก็คือ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มูลค่า ๙ โกฏิ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ เกิดจากผลบุญเมื่อครั้งอดีตชาติ ที่นางได้จัดเตรียมผ้าไตรจีวรถวายแด่ภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป โดยมีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประธาน

ลูกสะใภ้ยอดกัลยาณมิตร

เมื่อวิสาขาได้แต่งงานไปอยู่ในบ้านของมิคารเศรษฐีแล้ว มีอยู่วันหนึ่งเศรษฐีได้เชิญนักบวชชีเปลือย ๕๐๐ คน มารับประทานอาหาร เมื่อวิสาขาได้ยินว่า มีพระอรหันต์มาเป็นเนื้อนาบุญ จึงออกมาต้อนรับ แต่เมื่อได้เห็นชีเปลือยเธอก็ตกตะลึง บอกพ่อสามีว่า พวกเปลือยกายเหล่านี้ไม่มีความละอาย ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ว่าแล้วก็เดินจากไป ส่วนพวกชีเปลือยไม่พอใจวิสาขามาก จึงบอกให้เศรษฐีขับไล่นางออกไปจากคฤหาสน์ เศรษฐีคิดว่า นางมาจากตระกูลใหญ่ จะไล่ออกไปดื้อ ๆ คงไม่ได้ จึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าไปถือสาเด็กเลย ขอเชิญบริโภค อาหารต่อไปเถิด

วันหนึ่งวิสาขาได้นิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้ว ทรงเทศน์ให้วิสาขาและบริวารฟัง ส่วนท่านเศรษฐีนั่งอยู่หลังม่าน ไม่กล้าออกมา เพราะนักบวชชีเปลือยห้ามเอาไว้ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ ทำให้ท่านเศรษฐีแม้นั่งอยู่หลังม่านก็ดื่มด่ำในรสพระธรรม จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่นั้นมา ท่านเศรษฐีจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต




วิสาขา สวยไม่สร่าง

นางวิสาขาเป็นผู้มีความงามตลอดทุกวัย แม้อายุมากถึง ๑๒๐ ปี ก็งามราวกับสาววัยรุ่น แม้อายุ มากผมก็ยังดกดำโดยไม่ต้องย้อม ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่นางสั่งสมมา คือบุญที่ได้ถวายมหาสังฆทาน แด่พระภิกษุสงฆ์เรือนหมื่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อนางวิสาขาเดินมาพร้อมกับลูก หลาน เหลน หน้าตาจะคล้าย ๆ กัน เหมือนวัยเดียวกัน ชนผู้มาใหม่ที่ไม่เคยเห็นนางวิสาขาต่างพากันสงสัยว่า คนไหนคือ นางวิสาขา ผู้ที่รู้จักนางวิสาขาจึงบอกว่า ผู้ที่สง่างามที่สุดนั่นแหละ คือ นางวิสาขา แม้ลูก หลาน เหลน จะมีลักษณะคล้าย ๆ นาง แต่ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง เพราะทำบุญมาไม่เหมือนกัน

นอกจากนางวิสาขาจะมีความงามเป็นเลิศแล้ว นางยังมีกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือกอีกด้วย พระราชาอยากจะทดลองว่า นางจะมีแรงมากอย่างนั้นจริงหรือ ไม่ จึงได้ส่งช้างตกมันดุเชือกหนึ่งออกมาในขณะที่นางกำลังกลับมาจากการฟังธรรม หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ คนของนางวิสาขา เห็นช้างแล้วต่างก็พากันวิ่งหนี แต่บางคนก็ไม่วิ่งหนีเพราะรักนางวิสาขา นางวิสาขารู้ว่า ถ้าเราจับช้างอย่างเต็มกำลังของเรา ช้างก็จะตาย เราก็จะบาป พระราชาก็จะเสียช้าง เราก็เสียศีลเพราะไปทำให้ช้างตาย นางมีอาการเป็นปกติ ราบเรียบแบบคนมีบุญ รู้พละกำลังของตัว เห็นช้างเหมือนเห็นตั๊กแตน ด้วยความเมตตาไม่อยากให้ช้างตาย นางวิสาขาเผชิญหน้ากับช้าง พร้อมกับส่งยิ้มแผ่เมตตา แต่ช้างไม่สนใจเพราะกำลังตกมัน ช้างวิ่งมาอย่างเร็วแรง เธอก็ใช้นิ้วจับไปที่งวงของช้างแล้วก็ผลักไปเบา ๆ ด้วยลีลาที่นุ่มนวล ช้างก็ไถลลื่นไปกับพื้น เสียการทรงตัว เกิดอาการงงงวยว่า มนุษย์ท่านนี้เป็นใคร ทำไมถึงมีกำลังมากเหลือเกิน ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เคยเป็นอย่างนี้เลย ช้างตกตะลึง ถึงกับหายตกมันทันที หันหลังกลับเข้าโรงช้างด้วยอาการงุนงงและเชื่องยิ่งนัก

สร้างบุพพาราม อัครสถานแห่งบุญ

ต่อมานางวิสาขามีความปรารถนาจะสร้างวัด จึงขายเครื่องประดับซึ่งมีมูลค่า ๙ โกฏิ นางใช้ทรัพย์ในการซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ ใช้เป็นค่าก่อสร้าง ๙ โกฏิ และทำการฉลองวิหารอีก ๙ โกฎิ รวมเป็น ๒๗ โกฏิ อาคารที่นางสร้างนั้น มี ๑,๐๐๐ ห้อง มี ๒ ชั้น ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง นางประดับประดาตกแต่งวิหารบุพพารามจนวิจิตรงดงาม

กิจวัตรของยอดมหาอุบาสิกาแก้ว

กิจวัตรประจำวันที่วิสาขามหาอุบาสิกาแก้วทำเป็นประจำจนตลอดชีวิต คือ

๑. ถวายผ้าอาบน้ำฝน ทุกปี

๒. ถวายภัตตาหารแด่พระที่เดินทางมาจากที่อื่นเป็นประจำ

๓. ถวายภัตตาหารแด่พระที่เตรียมจะเดินทางไปที่อื่นเป็นประจำ

๔. ถวายภัตตาหารแด่พระผู้อาพาธเป็นประจำ

๕. ถวายภัตตาหารแด่พระผู้เฝ้าไข้เป็นประจำ

๖. ถวายเภสัชสำหรับพระผู้อาพาธเป็นประจำ

๗. ถวายข้าวยาคูแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ

๘. ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุณีเป็นประจำ




วิสาขา ญาติพระศาสนา

วิสาขานอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นยอดอุปัฏฐายิกา ที่ไม่มีใครทำได้ดีกว่าแล้ว นางยังเป็นต้นบุญต้นแบบในการชักชวนลูกหลานไปฟังธรรมที่วัดไม่เคยขาด นางไม่เคยไปวัดมือเปล่า ตอนเช้านางจะถวายข้าวต้ม ช่วงเพลก็ถวายภัตตาหารเพล ช่วงบ่ายถวายน้ำปานะ นางชักชวนญาติมิตรทั้งชายและหญิงไปบวชมากมาย และอนุญาตให้ลูกชายบวชตลอดชีวิต บุตรชายของนางเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทำให้นางได้ชื่อว่าเป็นญาติพระศาสนาเต็มตัว เมื่อละโลกแล้ว นางได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี เป็นเทพธิดาผู้มีรัศมีกายสว่างไสว

ทั้งหมดนี้ คือประวัติย่อ ๆ ของอุบาสิกาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งในโลกมนุษย์และเทวโลก เป็นมหาอุบาสิกาที่เหล่าอุบาสิกาแก้วยุคนี้ควรศึกษาและเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะยุคนี้ คือยุคที่เหล่าอุบาสิกาแก้วจะรวมพลังกันฟื้นฟูศีลธรรมโลก จะเป็นประดุจช้างเท้าหลังที่ทรงพลังในการขับเคลื่อน พระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาสากล และนำทุกคนมาเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ให้ผองชนทั่วหล้ารู้จักหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ





Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๘  เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
วิสาขา ยอดอุปัฏฐายิกา มหาอุบาสิกาแก้ว วิสาขา ยอดอุปัฏฐายิกา  มหาอุบาสิกาแก้ว Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:24 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.