ผู้ที่มีนิสัยชอบอิจฉาผู้อื่น จะมีผลเสียต่อตัวเองอย่างไร นิสัยนี้มีวิธีแก้ไขอย่างไร
ถาม : คนที่มีนิสัยชอบอิจฉาผู้อื่น จะมีผลเสียกับตัวเขาเองอย่างไรบ้าง และจะสามารถแก้นิสัยนี้ได้อย่างครับ ?
ตอบ : พูดง่าย ๆ คือ นิสัยไม่อยากให้ใครได้ดี มีผลเสียอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไรนั่นเอง
คุณโยมก็ต้องดูให้ถึงต้นตอเสียก่อนว่า นิสัยของคนที่ชอบอิจฉาตาร้อน หรือว่าไม่อยากให้ใครได้ดีเกินกว่าตัวเองนั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นิสัยอิจฉาริษยานี้ จะเกิดขึ้นกับคนที่มีความดีในตัวน้อยกว่าคนอื่น เพราะถ้าหากมีคุณงามความดีอยู่ในตัวมากกว่าคนอื่น เขาคงไม่มีความจำเป็นต้องไปอิจฉาตาร้อนใคร
เนื่องจากมีคุณงามความดี มีความรู้ มีความสามารถ น้อยกว่าคนอื่น แล้วอยากจะให้ได้ดีเท่ากับเขา หรืออยากจะให้ดียิ่งกว่าเขา แต่แทนที่จะคิดแก้ไขตัวเอง กลับไปคิดในทางผิด ๆ ในทางร้าย ๆ
คือแทนที่จะยกตัวเองขึ้นมาด้วยการทำความดีให้ยิ่งขึ้นไป กลายเป็นว่าความดีก็ไม่ทำ แถมยังคิดจะเหยียบคนอื่นลงไป ด้วยฤทธิ์แห่งความเข้าใจผิด จนกลายเป็นความอิจฉาริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดีเสียอีก
เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นเหตุแห่งความอิจฉาริษยานั้น มาจากความที่ตัวเองมีคุณงามความดีน้อย ก็สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าอย่างนั้นในใจของคนที่ชอบอิจฉาริษยา คงจะมีแต่ความเศร้าหมอง คิดที่จะสร้างสรรค์อะไรกับใครเขาไม่เป็น คิดออกแต่ในเรื่องที่จะทำลายทำร้ายคนอื่นอยู่ร่ำไป เช่น คิดจะทำลายทรัพย์สินเงินทอง คิดจะทำลายเกียรติยศชื่อเสียง คิดจะทำร้ายคนอื่นให้เจ็บทั้งกาย เจ็บทั้งใจ คิดวนเวียน ๆ อยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้น คนที่มีนิสัยชอบอิจฉาริษยา จึงเป็นคนที่ใจเศร้าหมองทั้งวัน เมื่อมีใจเศร้าหมองอย่างนี้ แม้คำพูดก็เป็นคำพูดที่ชวนให้เศร้าหมอง คือมีแต่เรื่องร้าย ๆ ออกจากปาก ไม่มีคำพูดที่เป็นภาษาดอกไม้ มีแต่พ่นพิษพรวด ๆ ออกมา
เมื่อเป็นอย่างนี้หนักเข้า ๆ ก็จะเลยไปจนกระทั่งถึงการกระทำทางร่างกาย ทำให้แสดงอาการร้าย ๆ ออกมา ตั้งแต่การกระทบกระแทกแดกดัน ทำอะไรโครมคราม หรือมีอาการหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่กัน เป็นต้น
คนที่มีนิสัยชอบอิจฉาริษยาผู้อื่น หรือคนที่มีบุญน้อย แล้วไม่คิดจะทำบุญเพิ่มเติม แต่กลับไปคิดทำร้ายคนอื่น จึงมีอาการเช่นนี้
เมื่อความดีเก่าที่มีอยู่น้อยจนทำให้สู้ใครเขาไม่ได้ แล้วความดีใหม่ก็ไม่คิดจะทำเพิ่ม ตรงกันข้ามมีแต่จะเพิ่มความร้ายกาจ เพิ่มความบาปเข้าไปทุกวันๆ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเผาผลาญ เป็นการทำลายล้างตัวเองไปทุกวัน ๆ นี้คือผลเสียต่อตัวเองของความที่เป็นคนขี้อิจฉาริษยา
เพราะฉะนั้น พวกเราอย่าได้เป็นเข้าทีเดียว ถ้าครั้งใดใจคิดแวบไป ชักเริ่มจะอิจฉาชาวบ้านที่เขาดังกว่าเรา เด่นกว่าเรา ดีกว่าเราขึ้นมาละก็ รีบติดเบรกเสีย โดยเตือนตัวเองว่า ที่เรายังต้องตกต่ำอยู่อย่างนี้ เพราะว่าชาติที่แล้ว รวมทั้งชาตินี้ด้วย เราสั่งสมคุณงามความดีมาน้อยไป
เตือนตัวเองได้อย่างนี้ หนทางที่จะแก้ไขให้ดีก็มีมากขึ้น เพราะจับทิศทางถูกว่า เมื่อเรามีบุญน้อย ก็ต้องหาวิธีเติมบุญ คือ ในเรื่องของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจากหมู่คณะ จากครอบครัว หรืองานเลี้ยงชีวิตเราเองก็ตาม นอกจากทำให้สุดฝีมือแล้ว ยังต้องปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
แต่ในกรณีที่ถึงจะปรับปรุงอย่างไรก็ยังสู้ไม่ได้ อย่างนี้ต้องรีบเข้าไปกราบขอความรู้จากเขา ซึ่งจะทำให้เราย่นระยะเวลาทั้งในการปรับปรุงฝีมือและเวลาที่ไม่ต้องไปตกนรกได้อีกมาก
จากนั้นก็หันหน้าเข้าวัด ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำบุญทำทาน ไม่เคยรักษาศีล ไม่เคยนั่งสมาธิ ต่อแต่นี้ให้รีบไปทำกัน ด้วยการศึกษาจากหลวงปู่ หลวงพ่อ ว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วดีอย่างไร เช่น การทำทานมีผลทำให้รวย การรักษาศีลมีผลทำให้สวย การเจริญสมาธิภาวนามีผลทำให้เฉลียวฉลาด มีสติปัญญา
พอจับหลักตรงนี้ได้ ถ้าอยากจะเพิ่มเติมความรู้อะไรเป็นรายละเอียด ให้ยิ่งขึ้นไป ก็ค่อย ๆ ศึกษาจากหลวงปู่ หลวงพ่อท่าน ยกตัวอย่าง เรามีอะไรต่ออะไรพร้อมแล้วแต่ที่ไปอิจฉาเขานั้น เพราะว่าเราไม่มีบริวาร เวลาไปไหนมาไหน ทั้งที่รวยก็แสนรวย สวยก็แสนสวย แต่ว่าใคร ๆ ก็ไม่รัก แทนที่จะถามว่าทำไมใคร ๆ ถึงไม่รักเรา กลับเที่ยวไปโกรธไปเคืองเขา หรือว่าเที่ยวไปอิจฉาคนที่มีคนรักเต็มบ้านเต็มเมือง
เพราะฉะนั้น ต้องมองและตั้งคำถามใหม่ให้เป็น คือแทนที่จะตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่รักเรา ก็ตั้งคำถามเสียใหม่ว่า เราไม่น่ารักตรงไหน แล้วเริ่มสำรวจตรวจสอบตัวเอง ถ้ายังหาไม่พบจริง ๆ ไปถามหลวงปู่หลวงพ่อท่านก็ได้ แล้วเราจะรู้ว่าวิชาเจ้าเสน่ห์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้นั้น มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ
๑. หมั่นให้ทาน คำว่า "ทาน" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการตักบาตรกับพระภิกษุสามเณร ทานในที่นี้ หมายถึง มีอะไรก็ปันกันกิน ปันกันใช้ รวมทั้งปันกันดังด้วย
๒. ปิยวาจา เวลาพูดจากับใครก็พูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ เพราะสิ่งที่จะให้กำลังใจคนได้ดีนั้น ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่เพราะ ๆ ในทำนองเดียวกันสิ่งที่จะทอนกำลังใจคน ก็ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่ระคายหูเช่นกัน
๓. อัตถจริยา คือ ความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ ถ้าเอาไปช่วยใครได้ ก็ช่วย ๆ กันไป อย่าไปหวงเลย
๔. สมานัตตตา คือ ไม่ว่าคบกับใครก็มีแต่ความจริงใจให้เขา ไม่แทงใครข้างหลัง ไม่ว่าร้ายใครลับหลัง มีแต่ความจริงใจ มีแต่ความปลอดภัยให้เขาเสมอ
ทั้ง ๔ ประการนี้จะเป็นที่มาแห่งเสน่ห์ของเรา พูดง่าย ๆ โปรยเสน่ห์ด้วยการให้ ทั้งสิ่งของ ทั้งคำพูด ทั้งกำลังอกกำลังใจ ทั้งความปลอดภัยแก่เขา ทำอย่างนี้แล้วใครยังไม่รัก ก็ให้รู้ไป
ส่วนคุณสมบัติที่ดีอย่างอื่น ไปกราบหลวงปู่ หลวงพ่องาม ๆ ประเดี๋ยวท่านก็หาวิธีที่จะประกอบคุณงามความดีที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้เราเอง แล้วในไม่ช้าเราจะต้องย้อนกลับมาถามหลวงพ่อว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ เวลาไปไหนมาไหน ถึงมีแต่ถูกคนอื่นเขาตามอิจฉากันทั้งบ้านทั้งเมือง
ถึงตอนนั้นก็ช่วยไปสอนคนอื่น ๆ ที่กำลังอิจฉาคุณให้รู้ว่า เมื่อก่อนคุณเองก็เคยเป็นอย่างเขาเหมือนกัน แล้วมีวิธีแก้ไขอย่างไร บอกเขาไปด้วย เพื่อจะได้เป็นบุญติดตัวเราต่อไป
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญฉบับที่ ๓๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ผู้ที่มีนิสัยชอบอิจฉาผู้อื่น จะมีผลเสียต่อตัวเองอย่างไร นิสัยนี้มีวิธีแก้ไขอย่างไร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:52
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: