ลูกคิดกับลูกสอน
ผมเคยได้ยินหลวงพ่อพูดเปรียบเทียบให้ฟังถึง ๒ คำว่า ถ้าให้เลือกจะเลือกเป็นลูกอะไร ระหว่างลูกคิดกับลูกสอน
ตอนนั้นผมได้ทำความเข้าใจเอาเองตามประสาของผม โดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่า เป็นอย่างไร
แล้วผมก็เพิ่งมากระจ่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากพระมหาเถระรูปหนึ่ง
ลูกคิดย่อมดีกว่าลูกสอน เพราะลูกคิดสามารถที่จะคิดเองได้ สอนตัวเองได้
ส่วนลูกสอนนั้น ผู้ปกครองหรือผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต้องเหน็ดเหนื่อยคอยพร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าคิดเองไม่เป็น
ได้ฟังท่านอธิบายอย่างนี้แล้ว ผมรู้สึกขำตัวเอง ที่ตอนนั้นก็มั่นใจว่า เราเองก็คิดได้ และคิดเป็น
ก็คิดเป็นจริง ๆ แต่เป็นคนละเรื่องกันไปเลย
ลูกคิด ที่ผมเข้าใจในตอนนั้นก็คือ อุปกรณ์ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้คำนวณในสมัยก่อน อย่างลูกคิดที่คนจีนใช้กัน
ส่วน ลูกสอน นั้น ผมกลับเข้าใจไปว่าเป็น "ลูกศร" อุปกรณ์ที่ใช้ในการยิงธนู
คงเพราะยังไม่เข้าใจถึงความต่างของทั้งลูกคิดและลูกสอน (ศร) ในตอนนั้นผมจึงไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกเป็นอะไร
แม้ตอนนี้อยากขอเลือกเป็น ลูกคิด แต่ก็ยังคงห่าง กว่าที่ผมจะเป็นลูกคิดที่ดีแบบที่คนอื่นเขาคิดเป็น คิดได้
และนี่คงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเริ่มฝึกคิดให้เป็นเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะอย่างน้อย โอกาสที่จะเป็นลูกคิดที่ดีเหมือนคนอื่นๆ เขา ก็จะขยับเข้ามาใกล้กว่าเดิม วันหนึ่งขณะที่รถแล่นผ่านต้นไม้ ผ่านฝูงไก่ที่กำลังคุ้ยเขี่ยหากินอยู่ข้างทาง ผมได้ยินหลวงพ่อพูดขึ้นว่า วัน ๆ ไก่มันทำอะไรบ้าง
ท่านเงียบไปสักครู่ แล้วท่านก็พูดต่อว่า แล้วคนเราวัน ๆ เขาคิดอะไรกันบ้าง หลวงพ่อมองดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรใหม่ วน ๆ ซ้ำแบบเดิมเหมือนชีวิตไก่ หลวงพ่อพูดค้างไว้เพียงแค่นี้
หากเรื่องนี้ปล่อยผ่าน มันก็จบ ไม่มีอะไร
แต่ถ้าจะเริ่มฝึกคิด บางทีอาจทำให้เรารู้ว่า หลวงพ่อกำลังจะสอนอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าชีวิตไก่ ที่คุ้ยเขี่ยหากินไปวัน ๆ
ต่อมาขณะที่หลวงพ่อกำลังลงจากรถเพื่อจะเดินเข้าไปยังห้องปฏิบัติธรรม ได้ยินเสียงจักจั่นดังระงมก้องไปทั่ว
เสียงแหลมที่ดังแข่งกันของจักจั่น ถ้าได้ยินช่วงสั้น ๆ จะรู้สึกเพลินใจ เหมือนกำลังได้อยู่ท่ามกลางป่าใหญ่
แต่ถ้าเสียงแหลมบาดหูดังต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงเช่นนี้ ก็ทำให้รู้สึกรำคาญได้ไม่น้อยทีเดียว
และก็เหมือนหลวงพ่อท่านจะทราบ ทันทีที่ท่านเดินออกมาจากห้องปฏิบัติธรรม ท่านได้พูดขึ้นว่า แม้เสียงจักจั่นจะหนวกหู แต่ก็ให้ความรู้สึกที่วิเวกแก่เรา
พอเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าท่านต้องการจะสอนอะไรแก่เรา
อีกครั้งท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นภายในวัด
ฝูงนกกระยางกำลังโผบินเกาะยอดไม้ แม่นกกระยางตัวหนึ่งได้คาบอาหารมาป้อนลูกน้อยในรัง
ขณะที่มองดูเพลิน ๆ อยู่นั้น หลวงพ่อก็พูดขึ้นว่า แปลกดี แม่นกรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องห่างแค่ไหน ปากยาว ๆ ถึงจะป้อนอาหารลูกน้อยได้ในระยะที่พอดี
ผมนึกภาพตามที่หลวงพ่อพูด ปากแหลมยาวของแม่นกกระยางค่อย ๆ บรรจงป้อนอาหารเข้าปากลูกนกตัวที่อ้าปากรอ แม่นยำ พอดิบพอดี ไม่มีขาดเกิน
หากแม่นกป้อนแรงไปอะไรจะเกิดขึ้น ปากแหลมก็คงจะทิ่มทะลุคอลูกน้อยแน่ ๆ
และหากป้อนเบาไป อาหารก็คงจะหล่น ไม่เข้าปากลูกนก
คราวนี้หลวงพ่อท่านกำลังจะบอกอะไรบางอย่างให้เราทราบหรือเปล่า เป็นเรื่องที่น่าคิดดู ฟัง สังเกต คิดพิจารณาจะรู้ว่า เราอย่าได้ดูเบากับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ผมคิดว่าหลวงพ่อท่านกำลังเตือนสติ ให้เรารู้จักคิดตั้งเป้าหมาย อย่าเพียงดำเนินชีวิตแค่ให้ผ่าน ๆ ไป เช่นชีวิตไก่
แล้วท่านก็ให้เราหาเวลาปลีกวิเวก มุ่งสู่ความสงบภายใน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของชีวิตที่ได้ตั้งไว้
โดยให้มองข้าม ไม่ไปสนใจกับเสียงจักจั่นที่ดังหนวกหู แต่ให้สนใจอยู่ที่ความวิเวก
ถ้าสิ่งที่สนใจอยู่ทำให้ทุกข์ เราก็แค่เปลี่ยนใหม่ หันความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกสุข
ในเมื่อเราปรับสิ่งแวดล้อมให้ได้ดังใจเราไม่ได้ เราก็เปลี่ยนมาปรับความคิด และปรับที่ใจเราแทน...แค่นี้เอง
แค่วางใจให้พอดี เพื่อมุ่งสู่ที่พึ่งภายในจุดหมายของชีวิต
ไม่วางใจเบาหรือหนักไป วางจังหวะให้พอดี ๆ เช่นเดียวกับระยะที่แม่นกกระยางป้อนอาหารลูกน้อย
ผมคิดตามประสาของผมเช่นนี้ ที่ต้องคิดเพราะไม่อยากดูเบาในสิ่งที่เราได้ยินอีกคำที่ฟังดูง่าย ๆ แค่คำว่า "หยุด" หรือคำว่า หลับตาเบา ๆ, ง่าย ๆ, นิ่ง ๆ, สบาย ๆ, ใจเย็น ๆ ฯลฯ แต่กว่าจะเข้าใจ เข้าถึงได้ กลับไม่ง่ายเลย
ตอนนี้ถ้ามีคำถามถามว่า หากให้เลือกจะเลือกเป็นลูกคิด, ลูกสอน, ลูกศร, หรือลูกอะไร?
บางทีเราอาจเป็นทั้งลูกคิดและลูกสอนไปพร้อม ๆ กัน ที่คิดเป็น คิดสอนตัวเองได้
หรืออาจเป็นลูกศร ที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลมดั่งลูกธนู มีความสามารถนำพาภารกิจพุ่งไปยังจุดหมายที่หลวงพ่อปรารถนาได้สำเร็จอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
หรืออาจเป็นทั้งหมด ทั้งลูกสอน ลูกศร ลูกคิด หรือลูกอะไรก็ตาม ที่รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวแล้วกลายเป็น "ลูกศิษย์" ที่คิดได้ คิดดี คิดเป็น คิดข้ามกำแพงอุปสรรค และคิดติดตามสร้างบารมี กับหลวงพ่อตลอดไป
Cr.โค้ก อลงกรณ์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ลูกคิดกับลูกสอน
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:35
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: