มาทำความเข้าใจเรื่อง "การทำทาน" กันเถอะ
ถาม : หลวงพ่อครับ การทำทานในพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภท ?
ตอบ : ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คำว่า "ทาน" จริงๆ แล้วเป็นภาษาอินเดีย พอมาเป็นภาษาไทยคำว่า "ทาน" แปลว่า ให้
วัตถุประสงค์ของการให้
แบ่งออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน ได้แก่
๑. ให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ผู้ใหญ่ให้สิ่งของกับเด็ก
๒. ให้เพื่อสงเคราะห์ คือ ใครตกทุกข์ได้ยาก หรือว่าใครเดือดร้อนมาหา ก็ช่วยเหลือกันไป เช่น เวลาเกิดไฟไหม้ เวลาเกิดน้ำท่วมขึ้นมา ใครมีข้าวก็ให้ข้าว ใครมีสิ่งของก็ให้สิ่งของ ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ
๓. ให้เพื่อตอบแทนคุณ คือ ให้โดยคำนึงถึงพระคุณที่ท่านเคยเลี้ยงดู เคยให้ความรู้เรามา หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยท่านเคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พอคิดถึงพระคุณของท่านอย่างนี้ เราก็เลยคิดที่จะหาทางตอบแทน เพราะฉะนั้น พอมีอะไรที่คิดว่าจะถูกใจ หรือเป็นประโยชน์ต่อท่าน เราก็เอาไปมอบให้ เพื่อให้ได้ชื่นใจกัน
๔. ให้เพื่อเอาบุญ คือ ให้เพราะรู้ว่าการให้นั้นเป็นความดี และเมื่อทำความดีด้วยการให้แล้วจะเกิดเป็นบุญขึ้นมา
เพราะฉะนั้น คำสอนที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ที่พวกเราต้องศึกษากันอย่างมากเกี่ยวกับการให้ จึงอยู่ที่การให้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ ๔ นี่เอง
การให้เพื่อให้เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดีขึ้นมานี้ ก็มีหลักมีเกณฑ์ ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห แต่ให้เพราะมีปัญญารู้ว่า การให้นั้นมีผลทางด้านจิตใจ คืออย่างน้อยก็ทำให้คลายความตระหนี่ คลายความหวงแหนไปได้
ยิ่งกว่านั้นยังต้องรู้ลึกไปอีกว่า นอกจากทำให้คลายความตระหนี่ คลายความหวงแหนลงไปแล้ว ยังทำให้บุญเกิดขึ้นในใจอีกด้วย เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้วก็จะทำให้ ใจใส ใจสว่าง ใจสะอาด ขึ้นมา
การให้เพื่อเอาบุญนี้ จัดเป็นการให้ของคนฉลาด ของคนที่มีปัญญา จนกระทั่งสามารถมองทะลุปรุโปร่งว่า ในเรื่องของการให้นั้น ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห เพราะว่าการให้หรือการทำทานก็มีผลเหมือนอย่างกับการปลูกพืชปลูกผักนั่นเอง
เวลาที่จะปลูกพืช ปลูกผัก หรือว่าปลูกข้าว สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือ
๑. พันธุ์ข้าวที่จะเอาไปปลูก
๒. พื้นที่นา คือ ถ้าเป็นที่นาที่แห้งแล้งไป หรือว่าน้ำท่วมจัดไป ก็ปลูกข้าวไม่ได้เรื่องหรอก มันต้องพอดี ๆ อย่างที่เขาเรียกว่าเนื้อนาดีนั่นเอง
๓. ตัวของเราเอง คือ ต้องมีปัญญาด้วย เพราะถ้าไม่มีปัญญา พอหว่านข้าวกล้าลงไปเดี๋ยวก็ตายหมด
เช่นเดียวกัน เมื่อเรารู้ว่าการทำทานก็เพื่อจะให้เป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องคำนึงถึงว่า
ประการที่ ๑ ประโยชน์อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำอย่างไรถึงจะให้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าเราสามารถตรองได้แล้วว่าประโยชน์จะสมบูรณ์อย่างไร เราก็จะมองทะลุปรุโปร่งว่าบุญนั้นจะส่งผลอย่างไร
ประการที่ ๒ พันธุ์ข้าวดี ๆ ต้องปลูกในเนื้อนาดีอย่างไร สิ่งของที่จะเอามาทำบุญทำทานก็ต้องคัดแล้วคัดอีก คัดเอาแต่สิ่งที่ดี ๆ ส่วนของที่เป็นเศษ ๆ เดน ๆ ป่วยการที่จะเอาไปทำทาน เพราะว่าทานนั้นจะมีผลต่อไปข้างหน้า
ประการที่ ๓ ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัวย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดีของเรา ซึ่งก็หมายถึงพระภิกษุที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหาพระภิกษุที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นบุคคลผู้มีศีลมีธรรมก็พอจะเป็นเนื้อนาบุญให้เราได้
ประการที่ ๔ ตัวของเราเองก็ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีศีล มีธรรมประจำใจด้วย ไม่ใช่ว่าดื่มเหล้าจนเมาแล้วไปทำทาน อย่างนี้ใช้ไม่ได้
การที่มีองค์ประกอบครบทั้ง ๔ ประการนี้ พูดง่ายๆ เมื่อไทยธรรมก็มี เนื้อนาบุญคือพระภิกษุก็มี ตัวเราเองก็มีความบริสุทธิ์อยู่ในตัว มีศรัทธาเต็มเปี่ยม มีสติ มีปัญญา มองทะลุปรุโปร่งว่าการให้ทานครั้งนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อไปในภายภาคหน้า คือทั้งชาตินี้ หรืออนาคตข้างหน้า รวมทั้งชาติหน้า คือชีวิตหลังความตายอีกด้วย ถ้าสามารถมองทะลุปรุโปร่งอย่างนี้แล้วจึงทำทาน อย่างนี้จะทำให้ได้บุญเยอะเลย
ส่วนที่ถามว่าทานมีกี่ประเภทนั้น ถ้าพูดโดยย่อก็มีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๑. ให้สิ่งของเป็นทาน เรียกว่า "อามิสทาน" เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร ให้ผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น
๒. ให้ความรู้เป็นทาน ถ้าให้ความรู้ทางโลกเป็นทานเรียกว่า "วิทยาทาน" ให้ความรู้ทางธรรมเป็นทานเรียกว่า "ธรรมทาน"
๓. ให้อภัยทาน คือ ไม่จองเวรจองกรรมอะไรกับใคร ใครเข้าใกล้เราก็มีแต่ความปลอดภัย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการทำทานในพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งทำให้ได้บุญ ได้กุศล ทั้งชาตินี้และติดตัวข้ามภพข้ามชาติกันทีเดียว
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญฉบับที่ ๒๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
มาทำความเข้าใจเรื่อง "การทำทาน" กันเถอะ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: