การทำบุญที่เรียกว่า "สังฆทาน" มีหลักในการถวายและได้ประโยชน์อย่างไร
ตอบ : ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า "สังฆทาน" กันเสียก่อน
คำว่า "สังฆะ" นอกจากจะแปลว่า พระสงฆ์แล้ว ยังแปลว่า หมู่หรือคณะอีกด้วย ซึ่งหมายถึง ความเป็นทีม
พระภิกษุที่เป็นคณะหรือเป็นทีมที่เรียกว่าสังฆะนี้ โดยพระวินัยแล้วอย่างน้อยต้องประกอบด้วยพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
เพราะฉะนั้น การทำบุญที่เรียกว่า "สังฆทาน" จึงหมายถึง การทำบุญกับพระภิกษุที่เป็นคณะ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
วิธีถวายสังฆทานกับพระภิกษุเพียงรูปเดียว
ถ้าเราทำบุญกับพระภิกษุเพียงรูปใดรูปหนึ่ง จะถือว่าเป็นสังฆทานได้หรือไม่ ตอบว่า เป็นทั้งได้และไม่ได้
คือถ้าเราจำเพาะเจาะจงว่า จะไปทำบุญกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จัดว่าเป็นสังฆทาน
ตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งใจไว้ว่า จะไปทำบุญกับพระภิกษุทีมใดทีมหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่ว่าขณะนั้นมีพระภิกษุอยู่เพียงแค่รูปเดียว ส่วนอีก ๓ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ท่านไม่อยู่
เราก็ต้องบอกกับท่านว่า เราจะถวายทานนี้ แล้วท่านช่วยเอาไปแบ่งเอาไปปันกัน ให้ได้เป็นสังฆทานกับเราด้วยก็แล้วกัน
อย่างนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นสังฆทานอยู่ดี เพราะใจที่เราตั้งเอาไว้ ว่าฉันจะถวายทานกับพระที่เป็นทีม อย่างนี้ชัดเจนไหม
เหตุที่ทำให้การถวายสังฆทานได้บุญมาก
สำหรับที่ถามว่า การถวายสังฆทาน ทำไมจึงได้บุญมากนัก หรือว่าทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสรรเสริญ
ก็ต้องมองทางโลกก่อน ในทางโลกนั้นไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ถ้าทำเพียงเดี่ยวๆ ตามลำพัง ผลที่ได้ก็น้อย แต่ถ้าทำเป็นทีม ผลที่ได้ก็มาก
เช่น ทำความดีเป็นทีมก็ได้บุญมาก ทำความชั่วเป็นทีมก็ได้บาปมากอีกเหมือนกัน แต่ทำความชั่วเป็นทีมไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะยังไม่อยากลงนรก มีแต่ว่าจะทำความดีหรือทำบุญกันเป็นทีม คือทำเป็นสังฆทาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการทำทานที่เป็นสังฆทาน หรือการทำทานที่มุ่งให้กับพระภิกษุที่เป็นทีม เพราะว่าการทำอย่างนี้จะเกิดผลดีทั้งฝ่ายพระภิกษุและเกิดผลดีทั้งฝ่ายโยมเองด้วย
ผลดีฝ่ายพระภิกษุ คือ เนื่องจากพระท่านก็มีจิตเมตตาโยมอยู่แล้ว ท่านอยากจะให้โยมได้บุญมากๆ เมื่อเห็นเราตั้งใจจะถวายสังฆทาน แต่ตอนนั้นมีพระอยู่แค่รูป ๒ รูป ท่านก็ต้องไปขวนขวายในการสร้างทีม โดยหาทางให้พระจากที่อื่นมาอยู่ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดเป็นทีมขึ้นมา
หรือว่าถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาพระจากที่ไหน ก็ลูกชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นแหละ ใครมีจิตศรัทธาก็ชวนมาบวช ส่วนที่ยังไม่มีจิตศรัทธา ก็เทศนาอบรมกล่อมเกลากันไป จนกระทั่งเขามีจิตศรัทธามาบวชกับท่านจนได้
ในที่สุด การถวายสังฆทานจึงเป็นการบังคับไปในตัว ให้พระท่านสร้างทีมขึ้นมาให้ได้
ผลดีฝ่ายโยม คือ พอเห็นพระท่านสร้างทีมได้มากๆ เราทำบุญไปใจก็ฟูไป แล้วไม่ฟูเฉพาะแต่ตัวเรา แม้พวกพ้องญาติพี่น้องของเราก็ใจฟูตามไปด้วย
เมื่อเป็นอย่างนี้อีกไม่นานทีมของเราเองก็โตขึ้น พอทีมของเราโตขึ้น และทำทานกันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งพระภิกษุกลุ่มนั้น คณะนั้น ทีมนั้น รับไม่ไหว ท่านก็ต้องขยายทีมต่อไปอีก
เมื่อท่านขยายทีมต่อ หรือว่าไปตามพระกลุ่มอื่น คณะอื่น มาร่วมทีมกับท่านอีก ก็เลยทำให้ความเป็นปึกแผ่นของการคณะสงฆ์เกิดขึ้นมา
เมื่อความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์เกิดขึ้น ประกอบกับท่านได้รับการทำนุบำรุงจากการถวายสังฆทานของเรา ก็จะทำให้คณะสงฆ์เกิดความ เข้มแข็ง และเป็นกลุ่มโตยิ่งขึ้นไปอีก
แล้วไม่โตแต่ทีมหรอกลูกเอ๋ย เดี๋ยวการให้ธรรมทานก็เกิดมากขึ้นมา เพราะว่าพระภิกษุแต่ละรูปท่านก็ฝึกตัวของท่านมาอย่างดี ท่านจึงมีความรู้ มีความดีหลายแง่หลายมุม พอมารวมกันมากรูป มากทีมเข้า ก็มากธรรมทานขึ้นมา
เมื่อธรรมทานมากขึ้น ตัวของเราซึ่งนำทีมไปถวายสังฆทาน ก็จะได้ซึมซับเอาภูมิปัญญาธรรมมาจากท่าน เราก็เลยมีโอกาสแก้ไขตัวเองมากขึ้น แล้วยังได้ธรรมทานซึ่งเป็นความรู้ เพื่อนำไปกำจัดกิเลสในตัวอีกด้วย
แถมได้บุญอันเกิดจากการทำทานนี้ เป็นเสบียงติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ทำให้เป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าเราจะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติ เรื่องที่จะอดอยากยากจนนั้น ไม่รู้จักเสียแล้ว รู้จักแต่ความอิ่มอร่อยข้ามชาติ
และแน่นอนศีลที่เราซึมซับมาจากพระภิกษุเหล่านั้น พร้อมทั้งกำลังใจที่ได้จากท่าน ก็จะทำให้เรามีศีลที่มั่นคงยิ่งขึ้น จากศีล ๕ กลายเป็นศีล ๘ จากศีล ๘ วันดีคืนดีก็กลายเป็นศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จนกระทั่งออกบวชตามท่านไป
เพราะได้เห็นแล้วว่า พระภิกษุที่อยู่เป็นหมู่คณะนี้ ท่านมีความน่าเข้าใกล้ มีความน่าเลื่อมใส มีความน่าเข้าไปเป็นสมาชิกด้วย
เมื่อฤทธิ์ของสังฆทานดีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่า การถวายสังฆทานย่อมได้บุญมากกว่าการถวายแบบจำเพาะเจาะจง
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๖ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
การทำบุญที่เรียกว่า "สังฆทาน" มีหลักในการถวายและได้ประโยชน์อย่างไร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:22
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: