เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย

พระธรรมเทศนา







 คุณสมบัติของคนดีประกอบด้วยอะไรบ้าง

บุคคลที่มีสัมมาทิฐิเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในใจ ย่อมสามารถประมวลคุณสมบัติของคนดีตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรต่าง ๆ แล้วนำมาสรุปเพื่อยึดเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ดังนี้

๑. รู้จักตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องดีงาม ๓ ระดับ คือ 


๑) เป้าหมายชีวิตระดับต้น หมายถึง การตั้งตนเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่เป็นคนหลักลอย มีอาชีพสุจริต มีรายได้ประจำแน่นอน รู้จักเก็บทรัพย์สมบัติที่หามาได้ให้ปลอดภัย รู้จักบริหารรายได้ให้มีเงินเหลือเก็บ คือ เก็บไว้ใช้ในยามที่มีอันตราย และเก็บไว้สร้างบุญกุศล

๒) เป้าหมายชีวิตระดับกลาง หมายถึง การตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่สุคติโลกสวรรค์ หลังจากละโลกนี้ไปแล้ว

๓) เป้าหมายชีวิตระดับสูง หมายถึง การอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมี เพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน หรือทำพระนิพพานให้แจ้ง หลุดพ้นจากสังสารวัฏไปโดยเด็ดขาด





การที่สัมมาทิฐิชนรู้จักการตั้งเป้าหมายชีวิต ๓ ระดับนี้ ก็เพราะปัญญาทางธรรมของเขานั่นเอง บุคคลที่มีปัญญาทางธรรมย่อมมีปัญญาทางโลกอย่างแน่นอน แม้เขาจะมีฐานะไม่ร่ำรวย แต่เขาก็สามารถพึ่งตนเองได้ เลี้ยงตนเองได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ไม่ต้องเป็นภาระของสังคมหรือของใคร ๆ ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยต่อสังคม เพราะเขาเป็นคนดี ขณะเดียวกัน เขาก็อาจจะเป็นที่พึ่ง หรือผู้ชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้ในงานที่เขาถนัดและมีประสบการณ์ แต่ถ้าเขามีฐานะร่ำรวย เขาก็จะสามารถเป็นทั้งที่พึ่ง และผู้ชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าคนดีมีสัมมาทิฐิเป็นคนมีปัญญา หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า  "ไม่โง่"  นั่นเอง

๒. มีความสำนึกรับผิดชอบ บุคคลที่มีสัมมาทิฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ย่อมจะพัฒนาสำนึก รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง แต่ความสำนึกรับผิดชอบที่เป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของ คนดีที่โลกต้องการนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑) ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง ด้วยการละกรรมกิเลส ๔  ประการ คือ การรักษาศีล ๔ ข้อแรกในศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นเอง

๒) ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นซึ่งอยู่ร่วมสังคม ด้วยการละอคติ ๔ ประการ

๓)ความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจด้วยการไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ๖ ประการ

๔)ความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๔.๑)สิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคล ได้แก่ ทิศ ๖ ของตนเอง ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อทิศ ๖

๔.๒)สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งสิ่งแวดล้อมในเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรตามธรรมชาติ ตามหุบเขาลำเนาไพร ด้วยการไม่ทำลายและพยายามช่วยกันอนุรักษ์ไว้

จากความตั้งใจและพยายามตั้งตนให้อยู่ในความดีดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมแสดงว่า คนดีมีสัมมาทิฐิ มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่แสบ" นั่นเอง

๓. รู้จักสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร การสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชน และสังคมโดยทั่วไป เพราะการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเป็นวิธีเดียว ที่สามารถป้องกันและกำจัดมิจฉาทิฐิชนให้หมดไปจากหมู่บ้าน ชุมชน และสังคมได้โดยเด็ดขาด

หมู่บ้านใดที่สมาชิกแต่ละคนล้วนมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร แน่นอนเหลือเกินว่าหมู่บ้านนั้นจะประสบแต่สันติสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะอะไร เพราะทุกคนในหมู่บ้านล้วนเป็นคนมีศีล ปลอดอบายมุข แต่ละคนล้วนขวนขวาย พากเพียรสั่งสมบุญกุศลไปพร้อม ๆ กับการทำมาหากิน เนื่องจากแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน คือ มุ่งตั้งตนให้ได้ในโลกนี้ ละโลกนี้แล้วก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ในโลกหน้า

ในการทำมาหากิน กัลยาณมิตรย่อมหาเป็น เก็บเป็น และใช้เป็น ขณะเดียวกันก็แบ่งทรัพย์ที่หามาได้ส่วนหนึ่งไว้เป็นงบประมาณสำหรับการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร

เครือข่ายกัลยาณมิตรจะยั่งยืน ก็เพราะมวลสมาชิกมาประชุมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ การประชุมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมวลสมาชิก เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เครือข่ายกัลยาณมิตรจะยั่งยืนและเจริญรุ่งเรือง ก็เพราะน้ำใจเสียสละของมวลสมาชิกนั่นเอง

การรู้จักสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรดังกล่าวมานี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนดีมีสัมมาทิฐินั้น ล้วนมีใจเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณาและความเสียสละเป็นนิสัย หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่เคยแล้งน้ำใจ"

ใครบ้างที่ต้องได้รับการปลูกฝังสัมมาทิฐิ

ทุกคนในหมู่บ้าน ในชุมชน และในสังคมทุกระดับ ต้องได้รับการปลูกฝังสัมมาทิฐิ โดยไม่มีการยกเว้น แต่เพื่อให้การปลูกฝังเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง การปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิจำเป็นต้องจัดทำให้เหมาะสมกับวัยของแต่ละคน








แบบแผนหรือกระบวนการปลูกฝัง
อบรมสัมมาทิฐิควรทำอย่างไร


แบบแผนหรือกระบวนการปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิ ควรที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับวัย สติปัญญา ความสามารถ ความสนใจ และความสะดวกของผู้เข้ารับการอบรม จึงควรแบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะ คือ

๑. การปลูกฝังให้เกิดเป็นลักษณะนิสัย การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเด็กทารกทั่วไป ขณะที่ยังไม่เข้า โรงเรียน สิ่งที่นำมาปลูกฝัง คือ ศีลและคุณธรรมความดีต่าง ๆ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยรักบุญกลัวบาป รักความดี เกลียดความชั่ว ตลอดจนวัฒนธรรมชาวพุทธเท่าที่เด็กจะสามารถทำได้

๒. การปลูกฝังลักษณะนิสัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเด็กระดับอนุบาลและประถมต้น เนื้อหาสาระของธรรมะที่นำมาปลูกฝังฝึกฝนอบรม ควรเป็นเนื้อหาธรรมะจากสัมมาทิฐิ ๑๐ ส่วนเด็กระดับประถมปลายก็ยังคงเน้นการปลูกฝังลักษณะนิสัยควบคู่กับการปฏิบัติ แต่เนื้อหาสาระของธรรมะที่นำมาปลูกฝังมีมากขึ้น

๓.การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติควบคู่กับภาคทฤษฎี การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติ มีความหมาย ๒ ประการ คือ

การนำธรรมะภาคทฤษฎีที่เรียนในชั้นเรียนมาปฏิบัติจริงในขณะที่อยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแต่ละวัน ๆ ประการหนึ่ง กับการเจริญสมาธิภาวนาอีกประการหนึ่ง

อนึ่ง การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติระดับนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การปลูกฝังลักษณะนิสัย กิจกรรมต่าง ๆ ควรมีลักษณะสืบเนื่องสอดคล้องกับการปลูกฝังในข้อ ๒ ที่ผ่านมา

๔. การถ่ายทอดความดีซึ่งกันและกัน การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับผู้ใหญ่โดยทั่วไป ซึ่งเข้าสู่อาชีพการงานแล้ว กระบวนการปฏิรูปมนุษย์ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นก็จัดอยู่ในการปลูกฝังวิธีนี้ด้วย

ผู้ให้การปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ทิศ ๖ ของแต่ละคนทำหน้าที่รับผิดชอบในการปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิให้เข้าไปอยู่ในใจของคนเรา โดยทรงกำหนดเป็นอริยวินัยให้ปฏิบัติตามหน้าที่ ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ในแต่ละทิศอย่างเคร่งครัด



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๒ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย  เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:39 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.