จะบาปไหม หากแพทย์รักษาคนไข้ แล้วเกิดความผิดพลาด


ถาม : หลวงพ่อเจ้าคะ ในกรณีที่แพทย์รักษาคนไข้ แต่เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา ทำให้คนไข้เสียชีวิต อยากกราบเรียนถามว่า จะมีผลบาปต่อแพทย์ไหมเจ้าคะ

ตอบ : คุณโยมตรงนี้คงต้องแยกเป็น ๒ ประเด็น เวลาแพทย์ตั้งใจรักษาคนไข้นั้น

กรณีที่ ๑ แพทย์เองมีความรู้ในยุคนั้นๆ ไปไม่ทันโรค ก็รักษากันไปเท่าที่จะรักษาได้ ก็บอกว่า มีรอดบ้างตายบ้าง

กรณีที่ ๒ ความรู้พอสู้กับโรคได้ทีเดียว แต่ประมาท แล้วไปทำเขาตาย

๒ ประเด็นนี้ไม่เหมือนกัน

ในกรณีแรกรู้อยู่ว่า ภูมิรู้ของเราไม่ทันกับโรคภัยไข้เจ็บ แล้วในวงการแพทย์ไม่ว่าใครก็ยังไปไม่ถึง เราก็พยายามสุดฝีมือแล้ว แต่รักษาไปได้แค่นี้ ปรากฏว่าคนไข้ก็มาตายในมือเรา ถามว่าตรงนี้จะมีบาปกับเราไหม มีวิธีพิจารณาคือ

๑. หมอมีเจตนาจะทำร้ายคนไข้หรือไม่? เราก็มีเจตนาดีไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อคนไข้เลย

๒. หมอประมาทในการรักษาหรือไม่? เราก็ยืนยันได้ว่าไม่ประมาท ทำสุดฝีมือแล้วไม่ได้ประมาท

๓. เมื่อความรู้หมอไม่ถึง ทำไมไม่ส่งไปให้หมอคนอื่นที่มือถึงไปรักษาต่อ

ก็ปรากฏว่าหมอคนอื่นในย่านนั้น เขาก็มีฝีมือไม่ถึงเหมือนกัน ส่งไปให้เขาก็ไม่อยากรับรักษาด้วย เมื่อคนไข้มาถึงมือเรา เราก็รับรักษาสุดฝีมือ แล้วปรากฏว่าคนไข้มาตายในมือเรา ก็อย่าโกรธอย่าโทษกันเลย เพราะว่าความรู้ความสามารถของหมอมีเท่านี้จริงๆ ไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ปิดโอกาสใคร

ตรงนี้หลวงพ่อว่า คงจะไม่มีบาปกรรมอะไรกันหรอก แล้วมั่นใจว่า คนไข้ก็คงไม่ได้คิดมาจองเวรจองกรรมอะไรกับหมอด้วย ทั้งคู่ต่างมีความบริสุทธิ์ใจด้วยกัน หมออยากให้หาย คนไข้ก็ไม่อยากตาย แต่หมอช่วยสุดฝีมือแล้วได้เท่านี้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า คนไข้ถึงคราวแล้ว

แต่ถ้าหมอรู้ตัวอยู่แล้วว่า เราก็คงจะเอาโรคไม่อยู่ ถ้าหลวงพ่อเป็นหมอคนนั้น ก็คงจะเตือนให้คนไข้นึกถึงบุญให้ดี หรืออยากจะทำบุญอะไร รีบๆ ไปทำเสีย

ถ้าคนไข้นอนป่วยอยู่ ลุกขึ้นไปทำบุญทำทานเองไม่ได้ แต่สั่งให้คนไปทำแทนได้ ถือโอกาสสอนคนไข้เลยว่า

ประการที่ ๑ คนเราตายแล้วไม่สูญ เขาจะได้ไม่ประมาท ชีวิตหลังความตายยังมี โลกหน้ายังมี

ประการที่ ๒ แล้วโลกหน้าจะไปต่ออย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดเจนว่า ถ้าใจขุ่นมัว มีที่ไปในโลกหน้าไม่ดีหรอก ถ้าใจผ่องใสก็ไปสวรรค์ได้ เพราะฉะนั้น พอรับคนไข้มาอยู่ในมือเราแล้วสอนให้ทำสมาธิไปด้วย ใจจะได้ใสๆ ตายก็ไปดี

เข้าทำนองที่ว่า ถ้าโรคไม่หนักหนาสาหัส ก็รักษาให้หายได้ แต่ถ้าโรคหนักหนาสาหัสถึงคราวจะต้องตาย แต่ว่าตายก็จะไปดี เมื่อคนไข้ถึงคราวตาย แต่ตายแล้วไปดี อยู่ในมือเราไม่น่าเสียใจอะไร

แต่ว่ากรณีที่ ๒ ความรู้ก็มี แต่หมอประมาทไม่ดูให้เรียบร้อย ปรากฏว่าคนไข้ตาย ตรงนี้บาปกรรมติดตัวกับคุณหมอแน่นอน เมื่อกรรมตามทันเข้า หมอเองก็จะต้องไปตายด้วยความประมาทของหมอในชาติใดชาติหนึ่งข้างหน้า หนีกันไม่พ้น

เมื่อรู้ตัวอย่างนี้แล้วว่า หลวงพ่อขอฝากข้อคิดถึงคุณหมอทั้งหลายว่า ขอให้ดูแลคนไข้ให้ดี ดูแลด้วยความระมัดระวัง ดูแลด้วยความละเอียดรอบคอบ เหมือนอย่างกับดูแลชีวิตของเราเอง เพราะถ้าประมาทพลาดพลั้งนิดเดียว อย่าว่าแต่ไปทำเขาตายเลย ไปทำเขาตาบอด หรือไปตัดขาเขาโดยวินิจฉัยผิด ภพชาติต่อไป คุณหมอก็ไปเตรียมขาด้วน ไปเตรียมตาบอด ด้วยแรงกรรมที่ทำไว้ก็แล้วกัน แม้คนไข้เขาไม่ได้ตามจองล้างจองผลาญ ก็ยังจะต้องไปเจอวิบากกรรมอย่างนี้ ถ้าคนไข้เขาโกรธตามจองล้างจองผลาญด้วย คุณหมอเอย หนักเป็นสองแรงนะ

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
จะบาปไหม หากแพทย์รักษาคนไข้ แล้วเกิดความผิดพลาด จะบาปไหม หากแพทย์รักษาคนไข้ แล้วเกิดความผิดพลาด Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:31 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.