เผยเคล็ดพิชิต World-PEC อันดับ ๑ ของประเทศ


จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด เพื่อตัวคุณเอง
วันสอบ World-Pec ใกล้เข้ามาทุกทีๆ
คุณจะ...

ก.อ่านหนังสือเต็มที่ เพื่อชิงรางวัลชนะเลิศ
ข. อ่านหนังสือเต็มที่ เพื่อเอาความรู้ ไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร
ค. ไม่ได้สมัครสอบ แต่จะอ่านหนังสือ เพื่อเอาความรู้
ง. กำลังตัดสินใจอยู่!!

ไม่ว่าคุณจะเลือกคำตอบไหน ก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะอ่านบทสัมภาษณ์ที่จะนำเสนอในลำดับต่อไป เพราะในชีวิตจริงแล้ว เราเลี่ยงที่จะไม่เลือกหนทางใดหนทางหนึ่งของชีวิตไม่ได้เลย...

ดังนั้นการสอบ World-PEC ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางคนลังเลที่จะสมัครสอบ เพราะความไม่พร้อมบางอย่าง แต่ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร เราอยากให้คุณจำไว้ว่า หากเราเรียกโอกาสที่ผ่านไปแล้ว กลับคืนมา หรือย้อนเวลาไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตไม่ได้ เราก็ควรเปิดโอกาสรับรู้ข้อมูลของผู้ที่ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดก่อนการตัดสินใจ ดังนั้น เราจะมาคุยกับเขากัน!!

ผศ.นพ.สุรินทร์ จิรนิรามัย รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด และ นพ.บูรณินทร์ ชีวสกุลยง ผู้สมัครสอบ World-PEC ประเภททีม ที่ชนะเลิศได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ ๑ จากผู้สอบเกือบสามหมื่นคนทั่วโลก!

"พอรู้ว่าหลวงพ่อจัดสอบ ก็รู้สึกอยากสอบขึ้นมาทันที เพราะเป็นคนชอบสมัครสอบแข่งขันมาตั้งแต่เล็ก ๆ ดังนั้นผมจึงได้ไปชวนเพื่อนมาสอบด้วยกัน เราต่างก็คิดว่า การสอบแข่งขันเป็นการฝึกทักษะ ทำให้เราได้ประสบการณ์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความรู้ธรรมะ ที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย"
หวังไว้ไหมว่าจะได้ที่ ๑ ?

ไม่คิดเลย เพราะคิดว่ามีคนเก่งกว่าทีมเราอีกเยอะ ถึงแม้เราจะผ่านสนามการสอบแข่งขันมามากก็จริง แต่ก็ไม่เคยได้ที่ ๑ อะไรกับเขา (หัวเราะ) แต่คิดว่าหากตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว จะต้องทำให้ดีที่สุด
จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ (ครอบครัวอบอุ่น) มากน้อยแค่ไหน ?

ต้องถามว่า.. คุณรักคนที่คุณคิดจะฝากชีวิตไว้ด้วยกันมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังมีความรักต่อกันอยู่ อะไรที่เป็นสิ่งดี ที่กำลังจะทำให้ครอบครัวดีขึ้น ก็น่าจะลองทำ แล้วอีกอย่างในฐานะที่คุณดำรงฐานะเป็นลูก หรือเป็นพ่อแม่อยู่ในขณะนี้ ควรป้อนคำถามเพิ่มให้กับตัวเองว่า เรามีความรู้แค่ไหนสำหรับการดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด เราแน่ใจมากแค่ไหนว่า ชีวิตครอบครัวของเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว อนาคตลูกหลานเราจะไม่เสียคน และเมื่อเราแก่ชรา ลูกหลานจะเห็นคุณค่ายอมเลี้ยงดูเราหรือไม่ หากไม่แน่ใจ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะหนังสือนี้สอนเราตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นชีวิตครอบครัว จนกระทั่งเราตายจากกันไปว่าต้องทำอย่างไร

และที่สำคัญหนังสือที่เกี่ยวกับครอบครัวเป็นหนังสือที่หาอ่านยากมาก ๆ ที่มีขายในท้องตลาดอยู่ในขณะนี้ อ่านแล้วเนื้อหาคล้ายกัน คือได้การแก้ไขที่ปลายเหตุเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้บอกวิธีการ แก้ปัญหาจากต้นเหตุอย่างแท้จริง แต่หนังสือครอบครัวอบอุ่นเล่มนี้ เนื้อหาเอามาจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ลองผิดลองถูกมาหลายชาติกว่าท่านจะตรัสรู้ แล้ว นำมาสอนพวกเรา เราก็ควรจะศึกษาแล้วดำเนินตามอย่างท่าน อีกทั้งสิ่งที่ท่านสอนก็เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยชีวิตของตัวเราเองแท้ ๆ เป็นชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอ แต่พอเจอแล้วเราแก้ปัญหาในขณะนั้น ๆ ได้หรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเราเคยสั่งสมประสบการณ์หรือ ความรู้ที่ถูกต้องมาหรือเปล่า แล้วอีกประการหนึ่ง เรายังเคยอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เป็นชีวิตของคนอื่นมาตั้งมากมาย แต่หนังสือเล่มนี้ เป็นการกล่าวถึงชีวิตของเราเองแท้ ๆ แล้วเราจะไม่อ่านเชียวหรือ
       

     
หากครอบครัวอบอุ่นอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหา ทำไมต้องสอบ ?

ก็จะได้ครอบครัวอบอุ่นขึ้นอีก เพราะลึก ๆ แล้ว ด้วยความที่เป็นพ่อ แม่ ลูกกัน บางเรื่องเราก็เตือนกันไม่ได้ คือ จะไม่ฟังกันด้วยความที่สนิทกันมาก ต่างก็มีทิฐิ หรือต่างก็รู้นิสัยกัน หากพูดไปก็จะไม่ฟัง ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งในเรื่องเดียวกันแทนที่เราจะเป็นผู้พูดเอง แต่ให้คนอื่นมาพูดคนในครอบครัวเราถึงจะยอมทำตามมากกว่าเราพูดเอง ซึ่งหนังสือครอบครัวอบอุ่นนี่แหละเสมือนเป็นสื่อเชื่อม หากทุกคนในครอบครัวได้อ่าน ก็จะทำให้ต่างคนก็ต่างเอาไปพิจารณาบทบาทและหน้าที่ของตัวเองว่า เขาได้ทำหน้าที่ขาดหรือเกินอะไรไปหรือเปล่า และแต่ละคน ก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า เขาต้องปรับตัวอย่างไร แล้วในที่สุด เราก็จะได้ครอบครัวที่มีความสุขทั้งทางโลก และทางธรรมควบคู่กันไป
ซื้อหนังสือมาอ่าน แต่ไม่สอบได้ไหม ?

อยากให้ดูว่า เรามีหนังสือที่ซื้อมา แต่ไม่ได้อ่านกี่เล่มแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกัน หากเราซื้อมา ช่วงแรก ๆ ยังเห่ออยู่ก็จะอ่าน แต่อ่านไปได้ไม่กี่หน้า ก็วางแล้ว ดังนั้นจึงมีหนังสือจำนวนมากที่เราอ่านไม่จบ แต่ถ้ามีการสอบแข่งขันเข้ามาร่วมด้วยแล้ว การอ่านของเราก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความตั้งใจเพิ่มขึ้น และการมาสอบก็ยังเป็นการวัดผลว่าเรารู้และเข้าใจในเนื้อหามากน้อยแค่ไหนอีกด้วย
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ได้ประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง ?

ได้มาก ขอยกตัวอย่าง เช่น หลวงพ่อสอนหลัก ๕ ย คือ ยิ้มแย้ม เยือกเย็น ยกย่อง ยืดหยุ่น ยินยอม หลักนี้ไม่ใช่ใช้ได้แค่ภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับคนรอบข้างเราทุกคน เพื่อให้สังคมเรา สงบสุขขึ้น เกิดการรอมชอม ลดการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้นในสังคม และทำให้โลกเกิดสันติสุข
คนแก่หรือเด็กอ่านได้ไหม ?

หนังสือเล่มนี้ ใช้ภาษาที่ง่ายมากอยู่แล้ว ไม่ใช่หนังสือธรรมะที่มีแต่ภาษาบาลีล้วน ๆ ดังนั้นคนแก่ก็อ่านได้ หากเด็กเกินไปก็ให้คุณพ่อคุณแม่อ่าน แล้วอธิบายให้ฟัง หรือจะดูเด็ก ๕ ขวบ คุณครูไอโกะ มาติวให้ทุกวันทาง DMC ก็ได้
ไม่อยากเสียเงินค่าสมัครต้องทำอย่างไร ?

ค่าสมัครคนละ ๒๐๐ บาท ถือว่าไม่แพงเลย เพราะกรรมการจัดสอบเขาต้องเอาเงินตรงนี้ไปเป็นค่าดำเนินการ ค่าหนังสือ ค่าพิมพ์ข้อสอบ หนังสือขนาดนี้หากซื้อตามท้องตลาดก็ราคาราวร้อยกว่าบาทแล้ว ถือว่าตรงนี้ถูกมาก ๆ หากแลกกับการที่เราจะได้อะไรดี ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ชีวิตครอบครัวของเราดีขึ้น
มีวิธีการอ่านหนังสืออย่างไร ?

หลังจากสมัครเสร็จ ตอนนั้นมีเวลาอ่านหนังสือ ๑ เดือน เราก็อ่านแบบไม่รีบเร่ง เอาแค่วันละบท อ่านแล้วก็มาทำความเข้าใจ เหมือนว่าเราจะเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ๆ การอ่านอย่างนี้จะเกิด ประโยชน์มากกว่า อีกทั้งการอ่านแบบนี้ เราจะจำได้มากกว่า และระหว่างอ่านก็จะเขียนสรุปย่อ ๆ ไว้ในสมุดโน้ต เพื่อเวลาใกล้สอบจะได้มาอ่านทวนเฉพาะที่ย่อเท่านั้น
        แล้วอีกอย่างคือเวลาอ่านหนังสือ เราจะใช้วิธีจำให้ได้มากที่สุด จำไว้ในสมองเราดีกว่า เพราะจะทำให้เราทำข้อสอบได้เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลา มาเปิด แม้ตอนสอบเขาจะอนุญาตให้เปิด และที่สำคัญคือ หากเราจำได้ ก็เหมือนกับเรามีความรู้ติดตัว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้เลย
อ่านเวลาไหนบ้าง ?

โดยส่วนตัวจะอ่านก่อนนอน อ่านเสร็จก็จะนั่งสมาธิ พอตื่นเช้ามาก็จะมาทวนสิ่งที่เราอ่านไปเมื่อคืนนี้อีกครั้ง อ่านแบบนี้ทำให้เราจำได้แม่นมาก ๆ และเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณได้เมตตาแนะนำเคล็ดลับนี้ไว้
มีวิธีทำข้อสอบอย่างไรให้ชนะ ?

พอได้ข้อสอบมา ก็จะมาดูในส่วนของอัตนัยเนื้อหาที่ต้องบรรยาย ๒ ข้อก่อน แล้วดูว่าในทีมของเราใครทำข้อไหนได้ ก็จะแบ่งให้คนที่ถนัดและมั่นใจทำไปก่อน ส่วนปรนัย ๑๐๐ ข้อ ก็จะมาเฉลี่ยแบ่งกันคนละ ๓๐ กว่าข้อ พอต่างคนต่างทำเสร็จก็จะมีคนหนึ่งที่แม่น ๆ มาเช็คทวนข้อสอบทั้ง ๑๐๐ ข้อ อีกครั้ง หากข้อไหนคิดว่าไม่น่าใช่คำตอบที่ถูก ก็จะมาปรึกษาเปิดหนังสือกันอีกที
คิดอย่างไรกับรางวัลที่ได้ และเอาไปทำอะไร ?

ตอนได้รางวัลดีใจมาก ๆ โล่ก็สวยมาก ไม่ซ้ำกับที่ไหนเลย ส่วนปัจจัยที่ได้มาเราก็เอาไปทำบุญสร้างองค์พระธรรมกายจารึกชื่อบูชาธรรมพระเดชพระคุณหลวงปู่ หลวงพ่อ และคุณยายอาจารย์ กันอย่างปีติ
คิดว่าวัดเอารางวัลมาล่อไหม ?

รางวัลนั้นเป็นสิ่งมาตรฐานสากลที่คนทั้งโลก ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหนเขาก็ใช้กัน เช่น รางวัลโนเบล รางวัลซีไรต์ แม้ในหลวงของเรา ท่านก็ได้รับการถวายรางวัลอย่างมากมายสมกับที่ท่านได้ทำความดีไว้กับแผ่นดิน แม้ในตอนเด็ก ๆ เราสอบได้เกรดดี ๆ ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่เราก็ยังให้รางวัล เพราะการให้รางวัล ถือว่าเป็นการให้กำลังใจกัน เพื่อให้คนดีทำความดีให้ยิ่งขึ้นต่อไป...

และอีกไม่นานการสอบ "World-PEC" ก็กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งถือว่าโอกาสทองที่จะทำให้ครอบครัวเราอบอุ่นขึ้นอีกกำลังมาถึงแล้ว ดังนั้นโปรดอย่ารอช้าเลยครับ ในเมื่อเราพยายามมาหลายวิธีแล้วยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ในครอบครัวได้ดีไปกว่านี้ "World-PEC" ครั้งนี้แหละ คือวิธีการที่จะช่วยคุณได้...



Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์  
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เผยเคล็ดพิชิต World-PEC อันดับ ๑ ของประเทศ เผยเคล็ดพิชิต World-PEC อันดับ ๑ ของประเทศ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:40 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.