การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนที่๑)

มนุษย์ทุกคนล้วนเกลียดทุกข์อยากได้สุขกันทั้งนั้น แต่ปัญหาก็คือมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ อีกทั้งยังมีความทุกข์ประจำชีวิต ได้แก่ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย คอยติดตามเล่นงานไม่หยุดหย่อนอยู่ทุกโมงยามอีกด้วย จิตใจของมนุษย์จึงตกอยู่ในสภาพความหวาดกลัวได้โดยง่าย จึงเป็นเหตุให้หลงผิดได้ง่ายผลสุดท้ายจึงกลายเป็นว่า ยิ่งแก้ปัญหายิ่งเจอทุกข์ ยิ่งเพิ่มความหวาดกลัว ยิ่งบานปลาย กลายเป็นสารพัดปัญหาที่ยุ่งเหยิงแก้กันไม่จบไม่สิ้น ชีวิตมนุษย์ในทุกวันนี้จึงตกอยู่ในสภาพลองผิดลองถูกกับการแก้ทุกข์ภัยต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าท้ายที่สุดชีวิตนั้น ตนเองจะต้องพบกับจุดจบอันเป็นชะตากรรมที่ดีหรือร้ายอย่างไร

นั่นย่อมหมายความว่า สิ่งที่มนุษย์ทั้งโลกขาดแคลนอย่างหนักในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ปัญญาที่สามารถใช้ขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัวให้หมดสิ้นไปได้อย่างตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกปัญญานั้นว่า "ธรรมะ" ซึ่งมิใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองด้วยความคิด แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการตรัสรู้ คือ "เห็นแล้วจึงรู้" ด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรคมีองค์ ๘ และนับแต่วันที่พระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นต้นมา งานเผยแผ่ธรรมะไปทั่วโลกจึงเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ชาวโลกจึงได้โอกาสแห่งการเข้าถึงธรรมตามพระองค์ไป

เพราะฉะนั้น ในฐานะที่พวกเราเป็นชาวพุทธมีโอกาสได้พบกับธรรมะที่ขจัดความไม่รู้ได้จริง ขจัดความทุกข์ได้จริง ขจัดความกลัวได้จริง ก่อนคนอื่นในโลกนี้ จึงมีภารกิจประจำชีวิตที่ติดตัวกัน มา ๓ ประการ คือ

๑) ต้องหมั่นเพียรทำภาวนา เพื่อมุ่งขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัวให้หมดสิ้นไป จะได้อาศัยปัญญา คือ ธรรมะเป็นที่พึ่ง

๒) ต้องช่วยกันเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทั่วโลก เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง
ธรรมให้ทั่วถึงแก่ชาวโลก อันจะเป็นที่มาแห่งการเกิดสันติภาพโลกที่แท้จริง

๓) ต้องช่วยกันสร้างและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเพื่อบรรลุธรรม โดยเฉพาะการดูแลวัดไม่ให้ร้าง การพัฒนาวัดให้เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ และการเพิ่มสถานที่ปฏิบัติธรรมให้ทั่วถึงทุกมุมโลก

เพราะเหตุแห่งภารกิจประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการนี้ ชาวพุทธจึงต้องศึกษาเรื่องการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกให้เกิดความชัดเจน จึงจะสามารถฝึกฝนอบรมตนเองให้มีศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของชาวพุทธได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด 

การเผยแผ่ศาสนาคือการทำอะไรแน่

"เผย" หมายถึง ทำให้ปรากฏ ดังเช่น เปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ
"แผ่" หมายถึง ทำให้กว้างขวาง หรือ ขยายตัวออกไปในลักษณะครอบคลุม เหมือนดวงอาทิตย์แผ่รัศมีครอบคลุมโลก
ตรงข้ามกับคำว่า แพร่ ซึ่งหมายถึง การขยายตัวออกไปในลักษณะแทรกซึม เช่น การแพร่ของโรคระบาด
คำว่า "ศาสนา" หมายถึงคำสั่งสอนที่เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัจธรรมไปพร้อม ๆ กัน
"การเผยแผ่ศาสนา" จึงหมายถึง การทำให้คำสอนที่เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะที่เป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัจธรรมปรากฏขึ้นชัด ทั้งในสายตาและจิตใจของชาวโลก และทุ่มเทให้คำสอนแสนวิเศษนั้นแผ่ขยายครอบคลุมกว้างไกลออกไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ชาวโลกมีที่พึ่ง ปลอดภัยไร้ความทุกข์และความกลัวนานา

กำเนิดศาสนา
มนุษย์ทั่วโลกต่างเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของตนเองและโลกที่เราอาศัยอยู่
จึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์ต้องประสบทุกข์ต่าง ๆ เพราะความไม่รู้ และกลายเป็นความกลัวภัยอันตรายนานาขึ้นมาในจิตใจ ความต้องการที่พึ่งทางใจเพื่อขจัดความทุกข์และความกลัว จึงเกิดขึ้นมาในจิตใจมนุษย์ และนี่คือที่มาของการกำเนิดลัทธิศาสนาต่างๆ

ลัทธิศาสนาบางลัทธิเกิดขึ้นจากความกลัวอดกลัวอยากจากภัยธรรมชาติ บ้างเกิดขึ้นจากความกลัวโรคระบาด บ้างเกิดขึ้นจากความกลัวชนต่างเผ่ารุกราน บ้างเกิดขึ้นจากความกลัวผู้ใต้ปกครองลุกฮือต่อต้าน เป็นต้น
พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นจากความกลัวเช่นกัน แต่ไม่ใช่เพราะความกลัวภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ภายนอกที่ธรรมชาติหรือมนุษย์เป็นผู้กระทำขึ้น แต่เป็นความกลัวภัยอันตราย ซึ่งเกิดจากภายในจิตใจของตน นั่นคือ "ความกลัวภัยจากกิเลส" นั่นเอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบความจริงว่า กิเลส คือ ต้นตอแห่งความไม่รู้ ความทุกข์และความกลัวทั้งมวล และเบื้องหลังปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต มนุษย์นั้นล้วนมีกิเลสเป็นตัวชักใยทั้งสิ้น กิเลสจึงเป็นภัยที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทุก ๆ ชีวิต ดังนั้น การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งโลกนี้ หากจะให้ได้ผลจริง ต้องสอนให้มนุษย์แต่ละคนรู้จักกำจัดกิเลสตนเอง มิฉะนั้นความไม่รู้ ความทุกข์และความกลัว ก็จะไม่มีวันจางหายไปจากใจได้เลย ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่มุ่งสอนเรื่องการกำจัดกิเลสอย่างจริงจัง ซึ่งศาสนาไหน ๆ ในโลกก็ไม่เคยมีการสอนเช่นนี้มาก่อนเลย

เพราะฉะนั้น ผู้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถูกก่อนว่า "การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การนำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัจธรรม ไปให้ชาวโลกได้เห็นและเข้าใจ กำจัดทุกข์และกำจัดกิเลสในใจของเขาหมดลงได้เด็ดขาด และเป็นประโยชน์จริงให้ปรากฏเด่นชัดแก่สายตาชาวโลก และแผ่ขยายให้กว้างไกลครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ชาวโลกมีที่พึ่งที่แท้จริงในการกำจัดทุกข์และความกลัวภัยต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากผู้ทำงานเผยแผ่มองไม่ออกแล้ว ก็ยากที่จะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและต่างประเทศได้ดีเท่าที่ควร

ระดับการทำงานเผยแผ่คำสอนในแต่ละศาสนา

เนื่องจากกิเลสและความกลัวภัยของมนุษย์มีหลายระดับ ทำให้การเผยแผ่ของแต่ละลัทธิศาสนา ต้องแบ่งออกเป็นหลายระดับตามไปด้วย แต่โดยรวม ๆ แล้ว แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ

๑) คำสอนระดับการดำเนินชีวิต คือ คำสอนที่มุ่งเน้นให้ประกอบสัมมาอาชีพ โดยไม่ขัดต่อตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง คือ เน้นแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นหลัก
๒) คำสอนระดับศีลธรรม คือ คำสอนที่มุ่งเน้นให้รู้จักควบคุมกาย วาจา ใจของตนเอง ไม่ให้เป็นพิษภัยต่อตนเองและผู้อื่น โดยเน้นให้มีความเมตตากรุณาต่อกัน ตลอดจนความมีกิริยามารยาทงดงาม น่ารัก น่าเข้าใกล้ น่าเชื่อถือ เป็นต้น

๓) คำสอนระดับกำจัดกิเลส คือ คำสอนที่มุ่งเน้นการทำภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อการกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ลัทธิศาสนาต่าง ๆ โดยทั่วไปจะสอนสูงสุดได้เพียงระดับการดำเนินชีวิตและระดับศีลธรรมเท่านั้น มีเพียงพระพุทธศาสนาที่นอกจากสามารถสอนได้ในระดับเดียวกับลัทธิศาสนาอื่นแล้ว ยังสามารถสอนในระดับสูงสุด คือ การกำจัดกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษออกจากใจของผู้ปฏิบัติแต่ละบุคคลได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง หากศึกษาด้วยความรอบคอบย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในคำสอนทุกเรื่องของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน การพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นในทุกระดับจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นล่างก็พัฒนาตนเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางก็พัฒนาตนเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นสูงก็พัฒนาตนเป็นต้นแบบนักสร้างบารมีให้แก่สังคม และทุกคนก็คือกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือความถูกต้อง ความดีงามสากลให้กว้างไกลไปทั่วโลกนั่นเอง

ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศจำต้องศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจคำสอนทั้ง ๓ ระดับดังกล่าวชัดเจนเสียก่อน หากตนเองยังเข้าใจไม่ชัด อย่างดีก็จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เพียงในระดับการดำเนินชีวิตและการรักษาศีลธรรมเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวต่างชาติ ต่างลัทธิศาสนาในประเทศนั้น ๆ เข้าถึงคำสอนในระดับกำจัดกิเลส ซึ่งทรงคุณค่าวิเศษแตกต่างจากลัทธิศาสนาดั้งเดิมของเขา ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมากเพราะนอกจากเขาจะไม่ให้ความสนใจในพระพุทธศาสนาเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังจะหลงเข้าใจผิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นของส่วนเกิน เกะกะบ้านเมืองเขาอีกด้วย

นอกจากนี้ การที่เราต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ต่างประเทศ กว่าที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตของคนในบ้านเมืองนั้นได้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะในขั้นต้น คือการปรับตัวให้เข้ากับความเคร่งครัดในเรื่องกฎหมายและระเบียบวินัยต่าง ๆ อย่างจริงจัง หากในระหว่างการปรับตัวนั้น เราพลาดพลั้งวางตนไม่เหมาะสมในสายตาของเขา แม้ในเรื่องเล็กน้อยก็อาจเป็นที่ดูถูกดูแคลนของคนในบ้านเมืองนั้นได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้น การคัดพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ไปทำงานเผยแผ่ในต่างประเทศ จึงถูกบังคับโดยปริยายให้คัดคนที่มีความเคร่งครัดในวินัยและการปฏิบัติธรรมส่งไป เพราะว่าการเผยแผ่ไม่ใช่แค่การไปเทศน์สอน แต่ทุกอิริยาบถตกอยู่ในสายตาของคนในบ้านเมืองนั้นตลอดเวลา หากเขามีความรู้สึกหรือเกิดทัศนคติผิด ๆ ว่า พลเมืองทั่วไปในประเทศของเขายังมีวินัย กิริยามารยาท เหนือกว่าพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ของเราเสียอีก การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้น ย่อมปิดตายทันที นี่คือสิ่งที่นักเผยแผ่ทุกรูปทุกคนต้องระมัดระวังให้มาก ๆ



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนที่๑) การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนที่๑) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.