หลวงพ่อตอบปัญหา




ถาม : หลักธรรมที่จะทำให้การประกอบธุรกิจการงานมั่นคงเจริญรุ่งเรือง

ตอบ : ชีวิตมนุษย์โดยทั่วไป เมื่อเกิดและเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว ด้วยเกรงกลัวต่อความเจ็บและความตาย วันคืนที่ล่วงไป จึงรู้จักแต่ว่าจะต้องทำงานหาทรัพย์ หาปัจจัย ๔ มายังชีพของตัวเองให้คงอยู่ แม้จะยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งรู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่าเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งก็ตาม แต่ก็ยังมุ่งหวังอยากให้ชีวิตประสบกับความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ขัดสน แร้นแค้นปัจจัย ๔ ในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม ในสมัยพุทธกาล คนที่มีความเข้าใจความจริงของโลกและชีวิต แต่ก็สนใจในระดับแค่การเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ก็มีไม่น้อย บางคราวก็ได้เกิดเป็นยักษ์ในระดับหัวหน้ายักษ์ เมื่อมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า จึงได้ถามพุทธองค์ว่า ทำอย่างไรจึงมีชีวิตอยู่ก็เป็นสุข ตายแล้วก็ไปสวรรค์ ความจริงคำถามนี้พวกยักษ์ได้ยินได้ฟังต่อ ๆ กันมา และเฝ้าแสวงหาผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราะผู้จะตอบคำถามนี้ได้ต้องเป็นผู้รู้จริงเท่านั้น พุทธองค์ก็ทรงตอบว่า บุคคลมีศรัทธาเชื่อในคำสอนของพระอริยเจ้า แล้วมีความประพฤติ ๔ ข้อ คือ


๑. มีสัจจะ

๒. มีทมะ

๓. มีขันติ

๔. มีจาคะ


มีครบ ๔ อย่างนี้ แต่ความจริงมันคือ ๕ เพราะก่อนอื่นต้องมีศรัทธาด้วย มีครบอย่างนี้ มีชีวิตในโลกก็มีความสุข ตายแล้วสวรรค์ก็รออยู่ เพราะเมื่อจะประกอบกิจการงานใด ๆ เมื่อปฏิบัติคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ควบคู่ไปด้วย ก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป


สัจจะ ที่แปลว่า ซื่อตรง นั้น เป็นการแปลแบบผู้มีปัญญาลึก แต่ถ้าแปลในลักษณะเอาไปฝึกด้วย ใช้งานด้วย จะแปลสัจจะว่าคือ ความรับผิดชอบเพื่อความถูกต้อง เมื่อทำขึ้นมาแล้ว ถ้าผิดก็รับไป ถ้าถูกถ้าชอบก็รับไป เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ความถูกต้องที่จะต้องทำไม่ใช่มีแค่เรื่องเดียว แต่มีถึง ๕ เรื่องด้วยกัน คือ


หลวงพ่อขอยกตัวอย่างเหตุการณ์เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น สมมติคุณเป็นผู้จัดการของบริษัทผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง คุณตั้งใจจะรักษาสัจจะ ตั้งใจที่จะกระทำด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์ มาดูกันว่าจะแยกรายละเอียดในสิ่งที่คุณจะต้องทำได้เป็นอย่างไรบ้าง


๑. รับผิดชอบต่อหน้าที่ หน้าที่ของผู้จัดการมีอะไรบ้าง อาจจะ ๓ ข้อ ๕ ข้อ หรือเท่าไรก็แล้วแต่ แต่ต้องทำให้ครบทุกหน้าที่จึงจะดี

๒. รับผิดชอบต่อการงาน ในหน้าที่แต่ละข้อก็จะมีการงานที่ต้องทำอีกมากมาย การงานอะไรก็ตามทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด

๓. รับผิดชอบต่อคำพูด เมื่อไม่ได้ทำเอง ต้องให้คนอื่น หรือลูกน้อง เอาไปทำให้ คำพูดที่บอกเขาให้ไปทำก็ต้องถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วนที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบต่อคำที่พูดสั่งงาน มอบหมายงานออกไป

๔. รับผิดชอบต่อบุคคล คือบุคคลที่อยู่ในความดูแลและบุคคลที่เป็นลูกค้าของคุณด้วย

๕. รับผิดชอบต่อความดีของตัวเอง ซึ่งก็คือบุญบาปที่จะเกิดกับคุณ รวมทั้งนิสัยดีหรือไม่ดีที่จะเกิดกับคุณ


ความรับผิดชอบเพื่อความถูกต้องนี้ มันเป็นงานที่ต้องทำให้เป็นนิสัย ต้องมีสำนึกรับผิดชอบในเรื่องบุญเรื่องบาป เชื่อว่ามีบุญมีบาป มีนรกมีสวรรค์ มีชีวิตหลังความตาย ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “ศรัทธา” เมื่อเป็นเช่นนี้มันจำเป็นต้องทำทั้ง ๕ อย่าง จนกระทั่งเป็นนิสัย ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น หน้าที่ของคุณต้องวิจัย ทดลองจนได้ผลแน่นอน ต่อไปก็ควบคุมให้งานที่ทำออกมามีคุณภาพสม่ำเสมอ กำชับลูกน้องทุกระดับทำให้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นสินค้ายี่ห้อที่เราผลิตออกมาขาย จะขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ฉลากสินค้า ข้อมูลทุกตัวอักษรมันคือคำพูดของคุณ ก็ทำให้ดี ไม่อย่างนั้นมีสิทธิ์ติดคุกและมุสาด้วย นี่คือความรับผิดชอบต่อบุคคลของคุณ ของบริษัทด้วย สุดท้ายจะได้บุญ จะได้บาป ได้เงินก็ขึ้นอยู่กับอย่างนี้


ขณะที่ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ว่าอยู่นี้ คุณธรรมอันหนึ่งจะตามมาคือ ทมะ มีสัจจะแล้วต้องมีทมะ ทมะ แปลว่า ฝึก ข่ม คือ ฝึกนิสัยดี ๆ ขึ้นมาใหม่ แล้วในเวลาเดียวกันก็ต้องข่มนิสัยไม่ดีให้มันหมดไป ต้องแก้ไขและกำจัดกันไป ทมะนี้ต้องทำในทุก ๆ เรื่อง ทั้งนิสัยการทำงาน ทั้งการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งความซื่อสัตย์ของฝ่ายขายต่อผู้บริโภค ต่อลูกค้า


แล้วก็ต้องมี ความอดทน การทำงานจำเป็นต้องมี ขันติ ๑) ทนแดดทนฝน ไปตรวจตรางานที่ทำ ที่มอบให้ลูกน้องทำ ๒) ทนต่อความเจ็บป่วย ป่วยไข้อย่างไร ถ้าไม่หนักหนาสาหัสก็จะอดทนทำงานต่อไป ๓) ทนต่อคำติฉินนินทา ลูกน้องที่มักจะตั้งความหวังไว้สูงต่อเจ้านาย เจ้านายต่อให้ดีเท่าไร ก็ไม่วายจะเจอคำนินทา ก็ต้องทนให้ได้ และ ๔) อดใจต่อคำสรรเสริญเยินยอ ไม่ให้หลงไปกับคำชม ถ้าไม่เช่นนั้นการสร้างสรรสิ่งที่ดีก็อาจจะหยุดชะงักไม่เดินหน้าไปต่อได้


ขณะที่ฝึกอยู่นี้มีอีกอย่างต้องตามมาคือ จาคะ หรือ เสียสละ สละเวลาพักผ่อน อย่าเกียจคร้าน เห็นแก่การหลับนอนเกินจำเป็น สละความรู้ความสามารถ สละทรัพย์สมบัติ สิ่งของ ลูกน้องที่ร่วมงานกันมา เราก็ต้องรู้จักให้รางวัล ให้เขาได้ชื่นอกชื่นใจ สร้างความอบอุ่น ความสามัคคี เพื่อรักษาองค์กรให้มั่นคง และสละอารมณ์ขุ่นมัวต่าง ๆ ที่มากระทบ


ทั้งสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มันไม่ใช่ของ ๔ เรื่อง แต่มันคือเรื่องเดียวกัน เหมือนหยิบเพชรขึ้นมาเม็ดหนึ่ง สีสวย เนื้อแกร่ง น้ำดี สะท้อนแสงวับ ๆ เห็นแล้วชื่นใจ เพชรเม็ดเดียวยังแยกแยะเป็น ๔ เรื่อง ธรรมะก็เหมือนกัน เมื่อเราตั้งใจฝึกให้มีสัจจะให้ได้ และอีก ๓ ประการ จะต้องฝึกตามมาเพื่อให้สัจจะนั้นเกิดขึ้นจริง


เราทำกิจการทำการค้าก็มุ่งหวังกำไร แต่คนเรามันต่างกันที่คนหนึ่งคิดว่าจะทำให้มันดี จะเอาดีก่อนแล้วค่อยเอากำไร แต่อีกคนคิดจะเอากำไรก่อน สินค้าจะดีหรือไม่ดียังไม่คำนึงถึง สองคนต่างกันที่การจัดลำดับความสำคัญอะไรก่อนอะไรหลัง เมื่อทำการสิ่งใดแล้วจะให้ประสบความสำเร็จได้ประโยชน์ไปตลอดทางทั้งปัจจุบันและอนาคตอันยาวไกล พระพุทธองค์จึงเริ่มด้วยสัจจะ ให้ความสำคัญต่อความดีเป็นลำดับแรก แล้วผลแห่งความดีจะส่งให้ประสบความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่แต่เพียงโลกนี้ แม้ละโลกไปแล้ว ความดีก็ตามส่งผลต่อไปให้ชีวิตหลังความตายอีก


เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๓ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***


คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๓ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ที่นี่

    คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
    หลวงพ่อตอบปัญหา หลวงพ่อตอบปัญหา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:45 Rating: 5

    ไม่มีความคิดเห็น:

    ขับเคลื่อนโดย Blogger.