ครั้งหนึ่งในชีวิต.. เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้


บางคนบอกว่า.. ขอให้มีเงินเถิด จะทอดกฐินเมื่อไรก็ทอดได้
อีกทั้งยังบอกต่อว่า.. เรารวยและมีศรัทธาจะกลัวอะไร
ถ้าเราเตรียมปัจจัยและผ้าไตรไว้ให้มาก ๆ
อย่างไรที่วัดเขาก็ต้องรับเราเป็นประธานกองกฐินอยู่ดี

แต่เชื่อไหม?...ความคิดเช่นนี้ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก!!!

เนื่องจากการทำบุญทอดกฐินมี ข้อจำกัดหลายประการ ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังเป็นบุญที่ไม่สามารถทำได้ทุกวัน  หรือไม่ใช่นึกอยากจะทอดกฐินวันไหนก็ทำได้ เนื่องจากวัดหนึ่งสามารถรับกฐินได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น

นอกเหนือจากนี้.. ถ้าวัดนั้นมีพระอยู่น้อยกว่า ๕ รูป หรือมีครบ ๕ รูป แต่รูปใดรูปหนึ่งจำพรรษาไม่ครบไตรมาส วัดนั้นก็หมดสิทธิ์รับกฐิน  ดังนั้นจะเห็นว่า ทุกวัด ไม่สามารถจะรับกฐินได้ง่าย ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

แค่ข้อจำกัดเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก็พบว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก เพราะต่อให้เรามีปัจจัยหรือมีศรัทธามากขนาดไหนก็ตาม ถ้าการทำบุญไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มีอยู่ถึง ๗ ประการ ของการทอดกฐิน ก็จะไม่ถือเป็นการทอดกฐิน เพราะหากทำ ผู้ทำก็จะไม่ได้อานิสงส์กฐินเลย อีกทั้งพระภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นก็จะไม่ได้อานิสงส์กฐินเช่นกัน เพราะการทำบุญที่ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดของการทอดกฐิน จะถือเป็นการทำบุญอย่างอื่น เช่น บุญถวายสังฆทาน บุญทอดผ้าป่า ซึ่งจะได้อานิสงส์ตามประเภทของบุญนั้น ๆ แทน

เนื่องจากการทอดกฐินเกิดได้ยากอย่างนี้ ในโบราณกาลจึงนิยมทอดกฐิน เพราะความยากจึงทำให้การทอดกฐินกลายเป็นบุญพิเศษ  เมื่อทำแล้วได้อานิสงส์พิเศษมากอย่างแตกต่าง แต่จะได้มากขนาดไหน ถ้าไม่มีการขยายความเพิ่ม ก็จะนึกภาพกันไม่ออก เพราะเวลาใครมาชวนเราทำบุญ ก็มักจะบอกว่าได้บุญมากด้วยกันทั้งนั้น  ดังนั้นในบรรทัดถัด ๆ ไป จะขอยกตัวอย่างอานิสงส์ที่โดดเด่นของการถวายผ้ากฐิน เพื่อให้เห็นภาพของผลบุญชัดเจนขึ้น

เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม หากเกิดเป็นชาย ในชาติที่เกิดมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้รับการบวชแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง แต่ใครจะบวชแบบนี้ได้ต้องสั่งสมบุญบารมีมาในภพอดีตอย่างมหาศาลเลยทีเดียว อีกทั้งก่อนบวชก็ต้องบรรลุธรรมเป็น   พระอริยบุคคลตั้งแต่ พระโสดาบัน ขึ้นไป และเมื่อบรรลุแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องทรงตรวจตราด้วยญาณทัสนะของพระองค์ก่อนว่า..ผู้ที่จะบวชมีบุญจากการถวายบาตรและจีวรมามากพอหรือไม่ เพราะการบวชแบบนี้ บาตรและจีวรจะเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ ซึ่งเทวดาจะเป็นผู้มาเนรมิตให้ โดยอาศัยกำลังบุญของผู้บวช  ถ้ากำลังบุญน้อย ผู้ที่เนรมิตก็จะเป็นเทวดาระดับหัวหน้าเขต ถ้ามีกำลังบุญปานกลาง  ผู้เนรมิตก็จะเป็นเทวดาระดับท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์  แต่ถ้ามีกำลังบุญมาก ผู้เนรมิตก็จะเป็นพรหมในชั้นพรหมโลกเลยทีเดียว


ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจตราดูด้วยญาณทัสนะแล้วพบว่า ผู้บวชมีบุญจากการถวายบาตรและจีวรมามากพอ (ในกรณีที่ผู้บวชบรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป แต่ยังไม่บรรลุอรหัตผล) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะประทานการบวชให้ โดยการเหยียดพระหัตถ์ขวาออกไป แล้วเปล่งพระสุรเสียงว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิดและด้วยอานุภาพบุญก็จะบังเกิดองค์พระขนาดใหญ่ เปล่งรัศมีเจิดจ้าสว่างไสวครอบคลุมร่างของผู้บวช ในขณะเดียวกัน  ผ้าไตรจีวรก็จะลอยลงมาจากอากาศ มาปรากฏอยู่ระหว่างมือที่พนมขึ้นกับอก แล้วบาตรก็จะถูกวางไว้ข้าง ๆ ซึ่งในบาตรจะมีบริขารต่าง ๆ เช่น เข็ม ด้าย มีดโกน ที่กรองน้ำ เป็นต้น และจากนั้นผู้บวชก็ต้องไปปลงผม ห่มจีวร เป็นพระภิกษุที่ครองผ้าเรียบร้อยในลำดับต่อไป

แต่ในกรณีที่ผู้บวชฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบรรลุอรหัตผล  เมื่อได้รับประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกไป แล้วเปล่งพระสุรเสียงแค่ว่า จงเป็นภิกษุมาเถิดและด้วยอานุภาพบุญจะบังเกิดองค์พระขนาดใหญ่หน้าตัก ๒๐ วา เปล่งรัศมีเจิดจ้าสว่างไสวครอบคลุมร่างของผู้บวช ซึ่งตามนุษย์จะมองไม่เห็น เพราะเป็นของละเอียด จะเห็นก็เพียงแค่ความสว่างที่พรึบขึ้นมาเท่านั้น  จากนั้นเส้นผมบนศีรษะก็จะสั้นลง จากคฤหัสถ์กลายเป็นเพศสมณะ ครองจีวรและสะพายบาตรอันเป็นทิพย์ที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ทันที

แต่ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจตราดูด้วยญาณทัสนะแล้วพบว่า ผู้นั้น ไม่ได้เคยถวายผ้าไตรจีวรบริขารมาเลย แม้บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ต้องให้ไปแสวงหาผ้ามาทำจีวรก่อน พระองค์ถึงจะประทานการบวชให้ เหมือนในกรณีของ พระพาหิยะ ซึ่งไม่เคยมีบุญจากการถวายผ้าไตรจีวรมาเลย ทำให้ระหว่างไปหา   เศษผ้าจากกองขยะมาทำจีวร ได้เจอกับยักษินีที่เคยผูกเวรกันมาจากอดีตชาติเข้าสิงโค แม่ลูกอ่อน แล้ววิ่งมาขวิดท่านจนตายในทันที

ฉะนั้น การทอดกฐินและถวายผ้าไตรจีวรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ถวายไม่ได้ เพราะสักวันหนึ่งในอนาคตหรือชาติใดชาติหนึ่ง  เราก็ต้องเป็นนักบวช

ดังนั้น จงอย่าไปเสี่ยงเลย เราอาจมีสิทธิ์เป็นแบบพระพาหิยะก็ได้ ที่แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องลำบากถึงขนาดต้องไปหาเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะมาทำจีวร อีกทั้งยังอดบวชอีกด้วย !!!

ส่วนอานิสงส์ของฝ่ายหญิง เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมก็จะได้ครอบครองเครื่องประดับอันสูงค่าที่สุดในยุคนั้น คือ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งทำจากรัตนชาติมีมูลค่าสูงถึง ๙ โกฏิ อันประกอบด้วยเพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน แม้เส้นด้ายก็ทำจากเงิน และยังมีแหวนรูปนกยูงที่มือทั้งสองข้าง มีต่างหู สร้อยคอ ปลอกรัดต้นแขน เข็มขัด และรองเท้า อีกทั้งเครื่องประดับที่ศีรษะยังออกแบบเป็นตัวนกยูงรำแพนคล้ายนกยูงยืนอยู่บนเนินเขา โดยขนปีกทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน รวมเป็น ๑,๐๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตา คอ และแววหาง ทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน ทำให้เวลาเดินเกิดเสียงกระทบกันของก้านปีก จนเกิดความไพเราะประดุจเสียงทิพยดนตรี


แต่กว่านางวิสาขาจะได้เครื่องประดับที่เลิศที่สุดในปฐพีขนาดนี้ ก็ไม่ได้เกิดจากการเป็นประธานถวายผ้าจีวรแค่ผืนสองผืนเท่านั้น  แต่เกิดจากนางเคยถวายจีวรพร้อมด้วยเข็มและเครื่องย้อมแด่พระภิกษุมามากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และสั่งสมบุญบารมีประเภทนี้มานับชาติไม่ถ้วน

ดังนั้น การที่เราจะถวายผ้ากฐินหรือจีวรเพียงแค่ปีละ ๑ ผืน ซึ่งต่อให้ถวายตลอดชีวิตจนหมดอายุขัย อย่างมากก็ได้ไม่เกิน ๑๐๐ ผืน  ฉะนั้นการเป็นประธานกองกฐินปีละ ๑ ครั้ง จึงไม่ถือเป็นการสั่งสมบุญที่มากเกินไป  จากข้อมูลตรงนี้เอง จะเห็นว่า..ถ้านางวิสาขาไม่มีบุญจากการถวายผ้าจีวรมามากพอ ก็จะไม่ไปดลจิตดลใจให้ใครคิดจะทำเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ให้นาง เพราะเป็นเครื่องประดับที่ทำยากมาก ต้องใช้คนทำจำนวนมาก จนบิดาของนางวิสาขาต้องจ้างช่างทองมาช่วยกันทำมากถึง ๕๐๐ คน อีกทั้งยังต้องใช้เวลาทำนานถึง ๔ เดือน แถมค่าจ้างช่างยังแพงถึง ๑แสนกหาปณะ แต่ด้วยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมของนางวิสาขา จึงบันดาลให้มีเครื่องประดับคู่บุญเกิดขึ้น

เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์กฐินกันพอสังเขปแล้ว ก็จะขอเล่าถึงเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น ก่อนจะถึงวันทอดกฐินของวัดพระธรรมกายกันบ้าง คือ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗  เวลา ๐๙.๐๐ น. คุณครูไม่ใหญ่ท่านเมตตาให้นำผ้าไตรจักรพรรดิที่จะมอบให้ประธานกองกฐินเข้าไปในอาคารภาวนา ซึ่งเป็นสถานที่ทำวิชชา เพื่อท่านจะได้นั่งสมาธิอธิษฐานจิตเติมความศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน โดยมีคณะสงฆ์ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมเป็นตัวแทนในการอัญเชิญเข้าไป และผ้าไตรทั้งหมดนี้จะนำออกมามอบให้เจ้าภาพผู้เป็นประธานกองกฐิน ในวันที่สว่างที่สุด ดีที่สุด คือ วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันที่หลวงปู่ค้นพบวิชชาธรรมกาย ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางคูเวียง จ.นนทบุรี โดยปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กันยายน และเมื่อรับผ้าไตรจักรพรรดิไปแล้ว ก็ขอให้ทำตามหลักวิชชาที่คุณครูไม่ใหญ่ให้ไว้ ดังโอวาทในลำดับต่อไป...


โอวาทจากคุณครูไม่ใหญ่

เมื่อได้ผ้าไตรไปแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำในขั้นตอนต่อไปก็คือ ไปเช็ดโต๊ะหมู่ หิ้งบูชา หรือบนหัวนอน ที่เราจะเอาไว้วางผ้าไตร ให้เช็ดทุกด้าน ทุกทิศ ทุกทาง  ให้สะอาดปราศจากสิ่งสกปรกหรือฝุ่นผง เช็ดอย่าให้เหลือแม้แต่นิดเดียว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อสมบัติและสิริที่จะเข้ามา

พอทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เราไปอาบน้ำอาบท่าให้สดชื่น จนจิตใจสบาย ร่างกายสดชื่นดีแล้ว ก็นำผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติไปวาง โดยหาพานหรือภาชนะอะไรก็ได้ที่วางแล้วดูสวยงาม ดูแล้วเหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งแห่งผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติ

จากนั้น ก็อัญเชิญผ้าไตรไปตั้งด้วยความเคารพ เพราะว่าทุกเส้นด้าย ทุกอณูเนื้อของเส้นด้าย เต็มไปด้วยผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพ และมหาสมบัติทั้งหลาย เมื่อนำไปตั้งแล้ว ก็ให้กราบที่ผ้าไตรซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ แล้วก็นั่งสมาธิให้จิตใจเราสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส หลังออกจากสมาธิแล้วก็กราบไปที่ผ้าไตรอีกครั้ง และตั้งใจมั่นอธิษฐานจิตให้ดีว่า ข้าพเจ้าได้นำผ้าไตรจีวรนี้มาตั้งไว้เพื่ออธิษฐานเป็นประธานกองกฐินสามัคคี ขอให้ความปรารถนานี้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ และให้มีสมบัติอัศจรรย์ทันใช้สร้างบารมีในชาตินี้ มีสมบัติไหลมาเทมาตั้งแต่วินาทีที่ได้อัญเชิญผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติขึ้นประดิษฐานไว้บนพาน

ให้ทำอย่างนี้ทุกวัน อย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียวจนกระทั่งถึงวันทอดกฐิน...
และเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ คุณครูไม่ใหญ่ก็ฝากโอวาทในช่วงปลีกวิเวกมาว่า...

ผ้าไตรกฐินปีนี้ซ้อนความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษในอาคารภาวนา ซ้อนให้ใสทุกผืน ใสข้างในกลาง และตั้งผังให้ได้ทรัพย์ทั้งภายใน ภายนอก ครูไม่ใหญ่อยากให้ทุกคนเป็นประธานกองกฐิน อยากให้เขามีบุญเยอะ ๆ ดังนั้นต้องตั้งเป้า ตั้งผังไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้




Cr. เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ 
ภาพ : อมรรัตน์  สมาธิทรัพย์ดี
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๓  เดือนกันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๗

ไม่มีบทความ
ทอดกฐินอย่างไร ให้รวยอย่างในสมัยพุทธกาล






คลิกอ่านเรื่องจากปกของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทอดกฐินอย่างไร ให้รวยอย่างในสมัยพุทธกาล
ครั้งหนึ่งในชีวิต.. เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้ ครั้งหนึ่งในชีวิต.. เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.