การบวช มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของชาวพุทธ?


เมื่อบุตรชายมีอายุครบ ๒๐ ปี เหตุใดชาวพุทธจึงให้ความสำคัญต่อประเพณีการบวชให้ครบ ๑ พรรษา การบวชมีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตชาวพุทธและครอบครัวชาวพุทธ?

การบวชเป็นพระภิกษุ ถ้ากล่าวกันตามประเพณีที่มีมา เรามักจะได้ยินกันว่า บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ แต่ถ้ามองในมุมมองของพระพุทธศาสนาแล้ว นั่นยังไม่ใช่เหตุผลหลักในการบวช เพราะถ้าเรายังไม่ฝึกฝนอบรมตนให้ดีขึ้น ก็จะไม่มีความดีอะไรไปทดแทนพระคุณพ่อแม่ ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องเป็นอันดับแรกของการบวช คือ บวชเพื่อแก้ไขนิสัยไม่ดีของตัวเอง

การที่เรามาบวช ความเป็นพระก็เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นทันทีที่บวช ผู้บวชต้องรู้ว่า ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ใต้พระธรรมวินัยและจารีตประเพณีของพระพุทธศาสนาอีกด้วย

องค์ประกอบของมนุษย์

การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้พระองค์ทรงค้นพบว่า คนเรามีองค์ประกอบหลัก คือ ใจ กับ กาย

ใจ ทำหน้าที่เป็นนายของกาย สั่งให้เราคิดได้ พูดได้ ทำได้ กาย ทำหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของใจ แต่ว่าร่างกายของคนเรามีโรคติดมาด้วย เมื่อคลอดออกมาจึงต้องให้วัคซีนป้องกันสารพัดโรคที่แฝงอยู่ในกายของเรา โรคเหล่านี้รอวันที่จะกำเริบขึ้นมาบ่อนทำลายสุขภาพกายของเรา

ใจก็ทำนองเดียวกับกาย คือมีโรคติดมาด้วย แต่โรคที่ติดมากับใจไม่ได้เป็นเชื้อโรค มันเป็นธาตุสกปรกที่มีความละเอียดมาก ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันแอบแฝงอยู่ในใจของเรา เกาะกินใจเราข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกธาตุละเอียดที่ทำให้ใจสกปรกนี้ว่า กิเลส

กิเลสคืออะไร?

กิเลสอุปมาเหมือนโรคร้ายที่บ่อนทำลาย บีบคั้น กัดกร่อนกินใจเราให้สกปรก ทำให้คิดสกปรก พูดสกปรก ทำสกปรก

กิเลสอุปมาเหมือนสนิมที่เกิดจากเนื้อในเหล็ก กัดกร่อนเหล็กจนกระทั่งผุพังไป ฉันใด กิเลสที่เกิดในใจก็กัดกร่อนกินใจเราจนกระทั่งตายไป ฉันนั้น

เมื่อเราตายไปแล้ว เขาก็เอาร่างของเราไปเผา เชื้อโรคทางกายก็ถูกเผาตายไปจนหมด แต่กิเลสไม่ถูกเผาไปด้วย มันยังคงฝังอยู่ในใจเรา ติดตามเราไปสู่ภพภูมิใหม่ด้วย กิเลสนี่เองที่บังคับใจเราให้คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี เมื่อเราคิด พูด ทำไม่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้เราเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเพาะเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวเราไปด้วย เมื่อความคุ้นกิเลสกลายเป็นนิสัยไม่ดีในตัวของเราขึ้นมาแล้ว หากวันไหนไม่ได้คิดชั่ว ไม่ได้พูดชั่ว ไม่ได้ทำชั่ว วันนั้นจะหงุดหงิดทั้งวัน

ยกตัวอย่างเช่น บางคนเคยสูบบุหรี่ เคยกินเหล้าจนติดเป็นนิสัย ถ้าวันใดไม่ได้สูบ ไม่ได้กิน  จะหงุดหงิด บางคนก็ลงแดงตาย เพราะติดเหล้าติดบุหรี่อย่างหนัก คนที่คุ้นกับกิเลสจนเป็นนิสัยไปแล้วนั้น เวลาจะให้คิดเรื่องดี ๆ คิดไม่ออก จะหงุดหงิด อยากจะกลับไปคิดเรื่องชั่ว ๆ เหมือนเดิม

ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขนิสัยไม่ดีให้หมดสิ้นไปได้?

ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบังเกิดขึ้น ใคร ๆ ก็หาวิธีแก้ปัญหานิสัยไม่ดีที่เกิดจากกิเลสไม่ได้ จนกระทั่งพระองค์ทรงค้นพบสาเหตุว่า นิสัยไม่ดีของคนเรามีสาเหตุมาจากกิเลส พระองค์จึงทรงนำสิ่งที่ได้จากการฝึกฝนอบรมตนเองกระทั่งกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเด็ดขาดแล้ว มาสอนชาวโลกให้รู้จักวิธีแก้นิสัยไม่ดี นั่นคือ การออกบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนวิธีแก้ไขนิสัยไม่ดีตามที่พระองค์ตรัสรู้มาเท่านั้น ส่วนผู้บวชจะแก้ไขนิสัยได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับตัวของผู้บวชเอง ไม่ใช่อยู่ที่พระพุทธองค์

ดังนั้น การบวชในพระพุทธศาสนาจึงมีวัตถุประสงค์หลัก คือ บวชเพื่อแก้ไขนิสัยไม่ดี บวชเพื่อกำจัดกิเลสอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดนิสัยไม่ดีหมดสิ้นไป

การบวชในพระพุทธศาสนาแก้ไขนิสัยไม่ดีของตัวเราได้อย่างไร?

การแก้ไขนิสัยไม่ดีต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขพฤติกรรมประจำชีวิตของเรา ได้แก่ เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอยู่ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันทั้งหมด จากที่เคยกิน  ๓ มื้อ ก็เหลือ ๒ มื้อ จากที่เคยนอนฟูก ก็มานอนเสื่อ จากที่เคยอยู่บ้านมีเครื่องปรับอากาศ  มาอยู่วัดไม่มีให้ จากที่เคยมีเสื้อผ้าหลายชุด บวชแล้วก็เหลือชุดเดียว

เหตุใดการแก้ไขนิสัย ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน? เหตุผลก็คือ

๑) เปลี่ยนเพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่เอาแต่ใจตัวเอง
๒) เปลี่ยนเพื่อฝึกฝนพฤติกรรมการใช้ปัจจัย ๔ ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง

ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า พระพุทธองค์ทรงมีพระวินัยบังคับ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ชายมาบวช แต่ทรงให้นุ่งสบง ขอบผ้าด้านบนให้ปิดเหนือสะดือ ขอบผ้าด้านล่างให้ยาวปิดครึ่งหน้าแข้ง เพื่อเป็นการบังคับให้รู้จักระมัดระวังตัว ทั้งในท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่านอน ถ้าไม่ระมัดระวัง เดี๋ยวจะกลายเป็นไม่สำรวม

ดังนั้น พระทุกรูปเมื่อบวชใหม่ จะต้องฝึกนุ่งห่มใหม่ ฝึกอิริยาบถใหม่ตามพระธรรมวินัย เพื่อให้ได้นิสัยใหม่ คือมีสติสำรวมระวังและเลิกเอาแต่ใจตัวเอง

อาหาร ก็เพาะนิสัยทั้งดีและชั่วได้เหมือนกัน ถ้าหากเราจะเลิกนิสัยตามใจปาก เลิกนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ก็ต้องฝึกวิธีหักห้ามใจ โดยฝึกจากข้าวแต่ละคำกลืนนี่เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกให้เป็นคนประเภทไม่ตามใจปากตามใจท้อง ให้ฉันแต่พออิ่ม ฉันเพื่อประทังชีวิต กินอาหารเหมือนกับกินยา

การบวชมีความสำคัญต่อชีวิตชาวพุทธอย่างไร?

ผู้ที่มาบวชจะถูกฝึกด้วยพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากความประพฤติในชีวิตประจำวันเช่นนี้ ซึ่งก็คือการฝึกดูแลตัวเองไปพร้อม ๆ กับการฝึกแก้ไขนิสัยไม่ดีของตัวเอง เมื่อแก้นิสัยไม่ดีได้สำเร็จ หนทางข้างหน้าก็จะราบรื่นขึ้น เพราะใจจะคิดในสิ่งที่ควรคิด ปากจะพูดในสิ่งที่ควรพูด กายจะทำในสิ่งที่ควรทำ

เมื่อเราคิด พูด ทำ ในสิ่งที่ควรจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว บาปก็จะไม่เกิด หรือหากเผอเรอหลงลืมไปบ้าง แม้เป็นบาปก็เกิดน้อย ในขณะที่ความดีมีเพิ่มมากขึ้น บุญก็เกิดมากขึ้น เมื่อบุญเกิดกับตัวเองมากขึ้น ถึงเวลาจะอุทิศให้คุณพ่อคุณแม่ที่ละโลกไปแล้ว ก็อุทิศไปให้ท่านได้มากขึ้น หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เบาใจว่า เราบวชแล้วได้มาฝึกหัดขัดเกลาตัวเองตามพระธรรมวินัย เพื่อแก้ไขนิสัยไม่ดีให้หมดไป

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์หลักของการบวช ก็คือบวชเพื่อแก้ไขนิสัยตัวเองตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งแก้ไขนิสัยไม่ดีได้มากเท่าไร บุญก็เกิดมากเท่านั้น ความศรัทธา ซาบซึ้งในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมากขึ้นเท่านั้น ความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์ อยากจะตอบแทนพระคุณก็เกิดมากขึ้นเท่านั้น เมื่อความกตัญญูกตเวทีเกิดขึ้น ความทุ่มเท ฝึกฝนอบรมตนเองต่อไปก็จะเกิดขึ้นตามมา ความเป็นอายุพระพุทธศาสนา เพื่อจะนำสิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากพระธรรมวินัยไปแจกจ่ายให้สังคมต่อไป ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองยาวนาน

ดังนั้น ประเพณีการบวชลูกชายที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปของชาวพุทธให้ครบอย่างน้อย ๑ พรรษา จึงมีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้บวช ต่อพ่อแม่ ต่อสังคม ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนอบรมคนรุ่นต่อไปให้มีนิสัยดี ๆ มีศีลธรรม เป็นผู้นำที่ดีของครอบครัว เป็นชาวพุทธที่ช่วยกันทำให้สังคมเกิดความสงบสุขร่มเย็นนั่นเอง..

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
การบวช มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของชาวพุทธ? การบวช มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของชาวพุทธ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:30 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.