ความขัดแย้ง การทำลายล้างกัน


ช่วงนี้ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งในสังคมมากมาย สาเหตุหลักๆ เกิดจากอะไร?

สาเหตุใหญ่ๆ ของความขัดแย้งแบ่งได้ ๒ ประการ ประการแรกคือเรื่องผลประโยชน์ ดังที่มีคำพูดสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของทิฐิ คือความเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งคิดว่าอย่างนี้ถูก แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยคิดว่าอีกอย่างถูก บางทีแค่ทิฐิต่างกันก็ทำให้ทะเลาะหรือรบราฆ่าฟันกันได้ เหมือนอย่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ กว่าจะสรุปกันได้ว่าระบอบไหนดีไม่ดี ทั้งโลกก็ตกอยู่ในความขัดแย้งมาเป็นร้อยปีทีเดียว

ปัจจุบันพูดผิดหูกันก็ทะเลาะกันแล้ว ต้องทำอย่างไรเรื่องนี้ถึงจะลดลง?

เราจะเห็นว่าคนสมัยนี้หงุดหงิดง่าย เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป คนปัจจุบันมีความเร่งร้อนมากในแต่ละวัน ชีวิตเหมือนถูกเร่งตลอดเวลา จนกระทั่งเวลาพักสงบใจไม่ค่อยมี สิ่งเร้ารอบตัวก็เยอะ มีข้อมูลข่าวสารส่งมาถึงตัวเองมากมายหลายทิศทาง เพราะฉะนั้นระดับอารมณ์จึงค่อนข้างตึงเปรี๊ยะ พอเจออะไรกระทบเข้านิดหน่อยก็รู้สึกว่าฟิวส์ขาด

ลองดูง่ายๆ วิถีชีวิตของคนสมัยก่อน อย่างในประเทศไทยของเราเอง แต่เดิมเป็นสังคมเกษตร ผู้คนทำไร่ทำนา ซึ่งจะยุ่งตอนไถตอนหว่าน แต่พอหว่านเสร็จช่วงที่รอให้ข้าวโต รอเกี่ยว ก็มีเวลาว่าง พอเกี่ยวเสร็จก็ว่างอีก ดังนั้นชีวิตคนยุคนั้นจะสบายๆ รายได้อาจจะไม่สูงมากนัก สิ่งอำนวยความสะดวกอาจไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่มีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาสูงกว่า ทำให้คนมีอารมณ์สบาย เวลามีอะไรมากระทบ ก็หยวนๆ กันไป

แต่ปัจจุบันทุกอย่างเร่งรัดไปหมด อารมณ์ก็ค่อนข้างตึงเครียดอยู่แล้ว พอกระทบกันจึงเกิดเรื่องได้ง่าย เราจะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลับไปเป็นแบบเกษตรกรอย่างเก่าก็ไม่ได้ ที่สำคัญคือต้องรู้เท่าทัน ว่าวิถีชีวิตของเราในปัจจุบันค่อนข้างรีบร้อน เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มภูมิต้านทานทางจิตใจ ซึ่งการทำสมาธิเป็นวิธีที่ดีที่สุด ตรงนี้อาจจะเป็นคำตอบว่า ทำไมในสังคมที่เขาก้าวไปก่อนเรา เช่น ในอเมริกา ยุโรป ผู้คนถึงหันมาฝึกสมาธิกันเป็นสิบๆ ล้านคน นั่นเป็นเพราะเขาพบคำตอบว่า สมาธิทำให้เกิดความสุขได้ ทำให้อารมณ์นิ่งขึ้น ทำให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงกว่าเดิม และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

วิธีระงับความโกรธสำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิมีอย่างไรบ้าง?

ต้องมาดูกันก่อนว่า ความโกรธเกิดจากอะไร ความโกรธเกิดจากความคิดในเรื่องเดียวกัน ถ้าเราคิดไปอย่างหนึ่งเราอาจจะโกรธ พอคิดไปอีกอย่างจะไม่โกรธ สมมุติว่าคุณแม่อุ้มลูกอายุสักขวบสองขวบ กำลังซนทีเดียว อุ้มเสร็จแล้วเด็กหยิกแก้มบ้าง ดึงผมบ้าง แม่รู้สึกอย่างไร บางทีก็รำคาญ บางทีก็รู้สึกว่าน่ารัก รู้สึกว่าลูกแข็งแรงอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเกิดเป็นคนอื่นลองไปหยิกแก้ม ไปดึงผมเข้า สงสัยได้เรื่องแน่ ที่ความรู้สึกไม่เหมือนกันเพราะความคิดต่างกัน ลูกทำรู้สึกว่าโอเค แต่คนอื่นทำไม่ได้ แล้วเชื่อไหมว่าหลายๆ ครั้ง เราไปหลงโกรธเสียเปล่าโดยไม่จำเป็นเลย

ยกตัวอย่างเช่น พ่อคนหนึ่งมีลูกอายุประมาณ ๓-๔ ขวบ วันหนึ่งพาลูกนั่งรถไปเที่ยว ลูกกำลังซน ก็เอาลูกไว้เบาะท้าย พ่อก็ขับไปเรื่อยๆ อยู่ๆ มีรถที่ขับตามหลังมากดแตร เขานึกว่ารถคันนั้นจะแซงก็ขับชิดซ้ายหลบทางให้ แต่คันนั้นไม่ยอมแซง ได้แต่บีบแตรปิ๊นๆ เขาชักหงุดหงิดก็เลยชะลอความเร็วแล้ว ชิดซ้าย รถคันนั้นก็แซงขึ้นมา แต่แทนที่แซงแล้วจะเลยไป กลับขับปาดหน้าแล้วก็จอด เขาก็เลยต้องจอดด้วย ชักหงุดหงิดแล้ว นึกว่าจะมาหาเรื่อง พอคิดแบบนี้อารมณ์ชักขึ้น

ส่วนคนขับคันหน้าพอจอดรถปั๊บ ก็เปิดประตูแล้ววิ่งเหยาะๆ ลงมา พอเห็นแบบนั้นคันนี้คิดต่อเลยว่า เฮ้ย! จะเอาเรื่องจริงๆ โว้ย มือลงไปกุมปืนไว้ กะว่าผิดท่าจะยิงเลย พอคนขับคันหน้าวิ่งมาถึงก็เคาะกระจก คนเป็นพ่อก็ตาถมึงทึงจ้องหน้า มือหนึ่งกุมปืน มือหนึ่งกดปุ่มเลื่อนกระจกลง มองว่าจะเอาอย่างไร พอกระจกเปิดปั๊บ คนที่มาเคาะกระจกบอกว่า ประตูหลังปิดไม่สนิท เหลียวไปดูประตูหลังปิดไม่สนิทจริงๆ แล้วเด็กเกาะประตูอยู่ รถคันหลังวิ่งมาเห็นกลัวเด็กจะตกรถ ก็กดแตรเตือน แต่คันหน้าไม่รู้เรื่อง เขาก็เลยรีบขับแซงแล้วปาดหน้าให้จอด แล้วรีบวิ่งมาบอก เพราะเป็นห่วงเด็ก คนเป็นพ่อแค่เหลือบไปเห็นประตูหลังปิดไม่สนิท แล้วลูกตัวเองเกาะประตูอยู่ อารมณ์โกรธหายไปไหนก็ไม่รู้ มือที่กุมปืนอยู่ซุกหลบแทบไม่ทัน รีบยกมือไหว้ขอบคุณ อารมณ์เปลี่ยนไปในวินาทีเดียวเอง จากความโกรธกลายเป็นความขอบคุณ เพิ่งรู้ว่าหลงไปโกรธเขา

กรณีนี้ เผอิญรู้ทันทีว่าเรื่องที่โกรธเขาอยู่เป็นการเข้าใจผิด จริงๆ แล้วเขาหวังดีกับเรา แต่ในกรณีอื่นที่ไม่รู้ล่ะ เคยไหมที่เราหวังดีกับคนอื่นแล้วถูกเข้าใจผิด เขาโกรธเรา แล้วถามว่ามีไหมที่เราไปโกรธคนอื่นเพราะเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่เขาหวังดีกับเรา ก็คงมีเหมือนกัน เท่ากับว่าเราหลงโกรธกินเปล่า เอาทุกข์กินเปล่าเข้าใส่ตัว ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปถือสากันเลย เกิดอะไรขึ้นก็หยวน ๆ กันไป ผ่อนกันได้ก็ผ่อนๆ กันไป และให้เฝ้าระวังความคิดตัวเองว่า เราคิดเป็นหรือเปล่า ถ้าคิดแล้วความโลภเพิ่มขึ้น ความโกรธเพิ่มขึ้น ความหลงเพิ่มขึ้น แสดงว่าเราคิดไม่เป็น ศัพท์พระเรียกว่า ขาดโยนิโสมนสิการ แต่คนที่คิดเป็น ยิ่งคิดความโกรธยิ่งลดลง ความลุ่มหลงมัวเมายิ่งลดลง ความอยากได้ใคร่มีก็เบาบางลง เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงโกรธใครโดยใช่ที่ ให้คิดไปในทางบวก ทางสร้างสรรค์ แล้วชีวิตจะมีความสุข ความทุกข์จะหายไปเยอะ สังคมจะสงบร่มเย็นขึ้นอีกเยอะ

หลักธรรมอะไรที่ควรยึดไว้ประจำใจเวลาที่โกรธ?

ถ้าโกรธขึ้นมาอย่าเพิ่งพูด ให้นิ่งไว้ก่อนดีกว่า สมมุติว่ากำลังโกรธลูกอยู่ก็อย่าเพิ่งสอน เพราะสอนตอนนั้นไม่ได้ผล การสอนคนด้วยอารมณ์เขาจะรับไม่ได้ ถ้าเราใช้อารมณ์ออกไป จะเหนี่ยวนำให้อีกฝ่ายมีอารมณ์กลับมา แล้วจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เขาอาจไม่กล้าพูดไม่กล้าเถียงเพราะกลัวเรา แต่เขายังไม่เข้าใจ ถ้าเราจะสอนใครให้สอนตอนที่เอาความโกรธออกไปแล้ว ใจสบาย ๆ แล้ว

ในสมัยพุทธกาล แคว้นต่าง ๆ หรือพระภิกษุสงฆ์มีความขัดแย้งกันบ้างไหม?

ที่ไหนมีมนุษย์ที่ยังไม่หมดกิเลสอยู่รวมกันหลายๆ คน ความขัดแย้งต่างๆ ก็ต้องมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่จะมีมากมีน้อยเท่านั้น ในสมัยพุทธกาลมีอยู่คราวหนึ่งเกิดเหตุใหญ่ที่เมืองโกสัมพี ณ วัดโฆษิตาราม วัดนี้มีพระภิกษุอยู่รวมกันมาก  ต่อมาพระภิกษุแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพระวินัยธร ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญพระวินัย อีกกลุ่มเป็นพระธรรมกถึก ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสอนธรรมะ

มีอยู่คราวหนึ่ง พระธรรมกถึกรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระอาจารย์ไปเข้าห้องน้ำ ออกมาแล้วไม่ได้คว่ำขัน คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเพิ่งบัญญัติพระวินัยเพิ่มว่า ตักน้ำในห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยต้องคว่ำขัน เพราะถ้าเกิดหงายขันเอาไว้ บางทีน้ำขังอยู่ จะมียุงมาไข่บ้าง มีลูกน้ำอยู่ในนั้นบ้าง พอใครมาทีหลังราดน้ำลงไปก็จะมีลูกน้ำลงไปตาย เพราะฉะนั้นพระตักน้ำเสร็จต้องคว่ำขัน บัญญัตินี้เพิ่งเกิดขึ้น พระธรรมกถึกยังไม่ทราบ ออกมาจากห้องน้ำไม่ได้คว่ำขัน พอพระวินัยธรเข้าไปทีหลังเห็นขันหงายอยู่ ก็ออกมาถามว่า ท่านไม่ได้คว่ำขันหรือ ท่านตอบมาว่าไม่ได้คว่ำ ทำไมหรือ อ้าวไม่รู้หรือว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มว่า พระภิกษุเข้าห้องน้ำแล้วต้องคว่ำขัน พระธรรมกถึกบอกว่า ผมไม่ทราบ เดี๋ยวผมจะขอปลงอาบัติ พระวินัยธรบอกไม่เป็นไร ท่านไม่รู้ คงไม่เป็นไร ไม่ต้องปลงอาบัติหรอก แล้วก็แยกย้ายกันไป

คราวนี้พระวินัยธรไปพูดกับลูกศิษย์ว่า พระธรรมกถึกไม่ได้เรื่องเลย ตักน้ำแล้วไม่คว่ำขัน พอลูกศิษย์พระวินัยธรพูดต่อๆ กันไป เรื่องไปเข้าหูพระธรรมกถึก ท่านก็หงุดหงิดขึ้นมาว่า ฉันบอกแล้วว่าไม่รู้ จะขอปลงอาบัติก็บอกว่าไม่เป็นไร แล้วตอนนี้มาพูดว่าฉันผิดพระวินัย  แสดงว่าพระวินัยธรพูดเท็จ คราวนี้เป็นเรื่องเลย ลูกศิษย์ ๒ ฝ่ายต่างเข้าข้างพระอาจารย์ตัวเอง เกิดการทะเลาะกันลุกลามใหญ่โตไปถึงชาวเมืองที่ศรัทธา กลายเป็น ๒ ฝ่าย เรื่องนี้ระบาดไปทั่วจนข่าวไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่อีกเมืองหนึ่ง พระองค์ส่งสาส์นมาบอกว่าให้เลิกทะเลาะกัน แต่ทางนี้ก็ไม่ยอมเลิก ส่งไป ๒ ที ๓ ที ก็ไม่ยอมเลิก สุดท้ายพระพุทธองค์เสด็จไปเองเพื่อห้ามพระภิกษุไม่ให้ทะเลาะกัน แล้วตรัสสอน

เกิดอะไรขึ้นรู้ไหม ขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามเอง คนเราพอทะเลาะกันจนเข้าที่แล้วไม่ยอมเลิก มีพระรูปหนึ่งกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย พูดง่ายๆ ว่า ขอให้พระองค์ปลีกตัวไปอยู่สบายๆ เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายยังอยากทะเลาะกันอยู่ เป็นถึงขนาดนั้น พวกเราจำได้ไหม? มีพระพุทธรูปอยู่ปางหนึ่ง เป็นปางที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาอยู่ในป่าปาลิไลยกะ ที่อยู่กับช้าง อยู่กับลิง รู้ไหมเกิดจากอะไร เกิดมาจากเรื่องนี้ ทรงห้ามเท่าไรไม่ยอมฟัง เลยเสด็จไปอยู่ป่า โดยไม่ทรงบอกใครเลย บอกแต่พระอานนท์ เสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่า ๓ เดือน มีช้างกับลิงคอยดูแลอุปัฏฐาก

พอชาวเมืองเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหายไป  ก็ไปสอบถามพระอานนท์จึงรู้ว่าพระองค์ทรงปลีกตัวไป เพราะพระ ๒ กลุ่มนี้ทะเลาะกันไม่ยอมเลิก ชาวเมืองเลยบอกว่า พวกเขาไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า ไม่ได้ฟังธรรมจากพระองค์ ไม่ได้ทำบุญกับพระองค์ เพราะพระ ๒ กลุ่มมัวแต่ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นลงมติเลิกใส่บาตร พอชาวเมืองเลิกใส่บาตรเท่านั้น อารมณ์ทะเลาะกันหายหมดเลย หันหน้าเข้าหากัน บอกว่าเห็นควรที่เราจะต้องดีกันแล้ว มิฉะนั้นอดทั้งคู่ แล้วรวมตัวกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปกราบทูลขออภัยโทษ เพราะชาวเมืองยื่นคำขาดว่า ตราบใดยังไม่อาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมา จะยังไม่ใส่บาตร พระองค์ก็ทรงให้อภัย แล้วให้ข้อคิดมา

บางทีเรื่องเล็กๆ แค่ตักน้ำแล้วคว่ำขันหรือไม่คว่ำขันก็ทำให้พระทะเลาะกันแตกเป็น ๒ ฝ่ายทั้งเมือง อย่างที่เขาบอกว่าน้ำผึ้งหยดเดียว แต่นี่ไม่ใช่น้ำผึ้งด้วย เป็นเรื่องน้ำหยดเดียว ยังทะเลาะกันได้ขนาดนี้ แล้วพอทะเลาะกันก็เกิดทิฐิ ต่างฝ่ายต่างอยากเอาชนะ ขนาดพระบรมศาสดาห้ามยังไม่ฟัง พวกเราอย่าเป็นอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าทรงให้ภาษิตในเรื่องนี้ไว้ (โกสัมพิยชาดก) ทรงบอกว่า คนพาลคือคนที่หลงผิด เข้าใจผิด มีเสียงอื้ออึงเหมือนกันหมด คือเวลาคนทะเลาะกันจะส่งเสียงอื้ออึงล้งเล้งๆ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนพาล แต่ละคนคิดว่าตัวเองเป็นบัณฑิต คิดว่าฉันฉลาด รู้ดีกว่าคนอื่น คนอื่นไม่ฉลาดเลยต้องมาทะเลาะกัน ต้องมาโจมตีกัน ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตัวเองเป็นคนพาล เมื่อสงฆ์แตกกันก็ไม่รู้ว่าจริงๆ สงฆ์แตกกันเพราะเหตุมาจากเรา ชาวบ้านชาวเมืองแตกกัน ก็ยังไม่รู้ตัวว่าเขาแตกกันเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุ ยังคิดว่าตัวเองหวังดี หารู้ไม่ว่าตัวเองเป็นต้นเหตุแห่งความทะเลาะและความขัดแย้งแตกแยก ไม่รู้ตัวเพราะเป็นคนมีสติหลงลืม แต่ยังพูดว่าตนเป็นบัณฑิต เขาถูกการทะเลาะนำไปแล้ว ยังไม่รู้ว่าการทะเลาะนั้นเป็นโทษ ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธเอาไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับไปได้ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับไปได้ แต่ไหนแต่ไรมาในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับไปได้ด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า เป็นธรรมคู่โลกที่พวกเราชาวพุทธฟังจนคุ้น มีที่มาจากเรื่องนี้

แต่ละคนตอนทะเลาะกันคิดว่าตัวเองฉลาด ตัวเองดี ตัวเองเก่ง ต้องเอาอย่างที่ฉันคิดแล้วทุกอย่างจะดี อีกฝ่ายไม่ได้เรื่อง ทุกคนแย่หมด ฉันฉลาดคนเดียว หารู้ไม่ตัวเองนั่นแหละคือคนพาล คือเหตุของความแตกแยก นำความเสื่อม ความล่าช้า ความตกต่ำมาสู่หมู่คณะ ดังนั้นดีที่สุดคืออย่าทะเลาะ ทะเลาะเมื่อไรเสียเมื่อนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย บางประเทศต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองรักชาติ แล้วคิดว่าชาติจะดีได้ต้องทำตามที่ตัวเองคิด ผลสุดท้ายชาติแตกเป็น ๒ ฝ่าย ดูอย่างเกาหลี ตอนมหาอำนาจเข้ามา ฝ่ายนี้คิดว่าต้องรัสเซีย อีกฝ่ายบอกต้องอเมริกา ผลสุดท้ายก็รบกัน ล้มตายเป็นล้าน ๆ คน เสียหายยับเยิน แล้วประเทศก็แตกเป็นเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ แตกเป็น ๒ ส่วนจนถึงปัจจุบัน ถามว่าได้อะไร

การแก้ไขอย่าแก้ด้วยการทะเลาะหรือการลงไม้ลงมือ ถ้าถึงจุดนั้นเมื่อไรความเสียจะเกิดขึ้น และไม่มีใครชนะ แพ้ทั้งคู่ ดูง่าย ๆ อย่างอเมริกาบุกอิรัก อิรักก็ลำบาก อเมริกาก็เดือดร้อน หมดงบประมาณไปแล้ว ๘ แสนล้านเหรียญ เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เสียทั้งคู่ ดีที่สุดคือหาวิธีแก้ปัญหาโดยไม่ต้องทะเลาะกัน แล้วก็อย่าถึงขนาดลงไม้ลงมือทำสงครามกัน ลงไม้ลงมือเมื่อไรก็เหมือนเอาบุญมาหักกัน สาดน้ำรดกันมันเปียกทั้งคู่ เสียทั้งคู่ อยู่ที่ว่าจะเสียมากหรือเสียน้อยเท่านั้น

ในเวทีชุมนุมประท้วงการเมือง ถ้าถูกเชิญไปเลือกข้าง เราควรคิดอย่างไร? ในเวทีที่มีการด่ากันจะบาปไหม?

อย่าเพิ่งไปบอกว่าบาปหรือไม่บาป เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าจะถูกลากไปรวมอยู่ด้วย กลายเป็นเพิ่มความขัดแย้ง ให้มองว่า จะหาทางสรุปอย่างไรดีกว่า เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ควรทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้ วิธีการแก้ไขคือต้องมีกติกากลางที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ สังคมยอมรับ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็คือประเทศยอมรับ สากลโลกยอมรับ ถ้าตัดสินกันด้วยกติกาแล้วเรื่องจะจบ แต่ถ้าตัดสินด้วยหลักของตัวเอง หรือที่บางคนใช้คำว่า กติกู อย่างนี้เรื่องไม่จบ ต้องมีกติกากลาง ๆ ที่ทุกคนยอมรับ แล้วทุกอย่างจะจบ

กติกาอันหนึ่งในสถานการณ์หนึ่ง ๆ อาจมีบางคนได้เปรียบ บางคนเสียเปรียบ ก็มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า คนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบต้องเปิดช่องให้อีกฝ่ายมีช่องหายใจด้วย ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา แม้แต่เรื่องธุรกิจก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบแล้วจะเอาคนอื่นตายหมด ตัวเองชนะคนเดียว อย่างนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องเปิดช่องให้เขาหายใจได้บ้าง เอื้อกันไป อย่างนี้ก็จะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ถึงขนาดต้องขัดแย้ง ไม่ต้องรุนแรงถึงขนาดลงไม้ลงมือกัน คนที่มีความได้เปรียบทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ก็ต้องรู้จักเอื้อเฟื้อเจือจุนคนจน ถ้าอย่างนี้ไปด้วยกันได้ แต่ถ้าจะเอาอย่างเดียวไม่ให้กันเลย แล้วก็สร้างรั้วบ้านสูง ๆ กันคนเข้ามา มันก็กลายเป็นการสร้างคุกล้อมตัวเองเอาไว้ สุดท้ายสังคมก็อยู่ไม่ได้ เกิดการทะเลาะวิวาทบาดหมางอย่างรุนแรง อย่างเช่นในอินโดนีเซีย เป็นต้น ดังนั้นทุกอย่างต้องมีกติกากลางที่ทุกคนยอมรับ แล้วเดินตามกติกา แต่กติกาไม่ใช่ของตายตัว  อาจจะปรับเปลี่ยนได้ แต่พอปรับเปลี่ยนตามขั้นตอนเสร็จแล้ว ผลเป็นอย่างไรก็ยอมรับ แล้วเดินตามนั้น ขณะเดียวกันให้เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนมีทางออก เขาก็จะออกตามช่องที่ควรจะเป็น แต่ถ้าถูกปิดทางไม่ให้มีทางออกเลย เดี๋ยวจะระเบิด เหมือนน้ำเดือดถ้ามีรูมันก็เป็นควันพุ่งออกมา ถ้าปิดรูไม่ให้ไอน้ำพุ่งออกมาเลย สุดท้ายจะระเบิด

ตำรวจหรือทหารที่ได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นการชุมนุม ซึ่งอาจจะเลยเถิดไปถึงการยิงกันจนเสียชีวิต จะบาปไหม?

ทุกอย่างต้องถือตามหลักการ ตามหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างง่ายๆ คือ ศีล ๕ ถ้าฆ่าคนเมื่อไรก็คือผิดศีล ถ้าว่าร้ายคนเมื่อไร พูดในทางที่เสียๆ หายๆ ก็คือผิดศีลข้อมุสาเหมือนกัน ยิ่งทำขนาดถึงตาย ยิ่งผิดใหญ่ ถ้าเจตนาก็บาปหนัก ถ้าไม่เจตนา เป็นความประมาทพลั้งเผลอ อันนี้ก็ยังมีวิบากกรรมเหมือนกัน แต่เบาบางลง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมีสติ แล้วพยายามแก้ไขปัญหาด้วยความละมุนละม่อม โอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน เอื้อเฟื้อกัน มีเมตตากัน และมีการยับยั้งชั่งใจ

คนที่มีความขัดแย้งกันจะมีหลักในการคิดเพื่อนำไปสู่วิธีการแก้ไขอย่างไร?

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเกิดเป็นญาติกัน ทุกคนล้วนเคยเกิดเป็นญาติกันทั้งสิ้น คนที่เรากำลังโกรธอย่างเอาเป็นเอาตาย กำลังโจมตีเขาให้ถล่มจมแผ่นดิน เชื่อไหมว่าภพใดภพหนึ่งในอดีต เขาอาจจะเป็นคุณพ่อเรา อาจจะเป็นคุณแม่ที่ดีกับเรามากๆ มาก่อน อาจจะเคยเป็นลูกเรา หรือเป็นผู้มีพระคุณที่เคยช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ แต่เราจำเรื่องราวในอดีตไม่ได้แล้ว ชาตินี้เราหลงไปโกรธเขา จะถล่มเอาเป็นเอาตาย เพราะเราไม่รู้ ถ้าเราตระหนักถึงความจริงอันนี้แล้ว เราจะมองทุกคนเสมอหนึ่งหมู่ญาติ มุมมองจะเปลี่ยนไปมาก ลองคิดว่าถ้าคนนั้นเป็นลูกเรา แล้วทำอย่างนี้กับเรา เราจะทำอย่างไร ถ้าเขาเป็นผู้ใหญ่กว่า ให้เราคิดว่า ถ้าเขาเป็นพ่อเราแม่เรา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร คิดอย่างนี้แล้วเมตตาจิตจะเกิด การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงจะตามมา เราจะพบทางออกว่าควรทำอย่างไร และถ้าทุกฝ่ายคิดอย่างนี้เหมือนกัน ปัญหาจะจบเลย ทุกอย่างแก้ได้หมด สบายใจกว่ามาก เพราะระหว่างทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่มีใครมีความสุขหรอก ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ก็เศร้าโศกเสียใจ และจะมีเรื่องมีราวตามมาอีกเยอะทั้งชาตินี้ชาติหน้า ไม่คุ้มจริงๆ

มีคนเคยสอนว่าถ้าโกรธให้นับหนึ่งถึงสิบ แต่บางทีนับถึงร้อยยังไม่หายเลย จะทำอย่างไรดี?

นับเลขเฉย ๆ บางทีไม่หาย ให้ใช้วิธีสวดมนต์ ทำวัตร ถ้าช่วงก่อนเที่ยงก็ทำวัตรเช้า หลังเที่ยงก็ทำวัตรเย็น ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที เสียงระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จะซึมซับเข้าไปอยู่ในใจเรา ความโกรธจะคลาย แล้วจะดีขึ้น

เคยเจอเหตุการณ์มาแล้ว คือปกติเป็นคนไม่ค่อยโกรธอะไรมาก แต่บางทีก็มีเหมือนกันที่เพื่อนทำไม่เข้าท่า สมัยเรียนแพทย์มีเพื่อนไม่รักษาคำพูด แล้วเรื่องราวมันเสียหาย ตอนนั้นรู้สึกหงุดหงิดมาก พอเจออย่างนี้ก็นิ่ง แล้วกลับไปที่หอพัก ปิดประตูห้องเสร็จสวดมนต์ทำวัตรเลย สวดจบไป ๑ รอบ ตรวจสอบใจตัวเอง ความโกรธหายไปประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่หมด สวดใหม่ พอจบรอบ ๒ หายไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่หมดหรอก แต่โอเคแล้ว ปรากฏว่าเพื่อนมาเคาะประตูห้อง ก็เลยชวนไปทานข้าวด้วยกัน และไม่พูดถึงเรื่องนั้นอีกเลย เราใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเคลียร์ปัญหาออกจากใจไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เรียกว่าไปกินข้าวด้วยกันที่โรงอาหารได้ แล้วก็ปิดฉากเรื่องนั้น  แต่สิ่งที่ได้มาคือเขาเกรงใจเรา โดยที่เราไม่ต้องไปบอกว่าคุณแย่ คุณผิด ถ้าเราพูดเดี๋ยวเขาก็แก้ตัว เดี๋ยวทะเลาะกัน พอเราไม่พูดอะไรเลย เขากลับเกรงใจยิ่งกว่าเราพูดอีก แล้วไม่ทำอย่างนั้นอีกเลย ทุกอย่างดีขึ้น เป็นการแก้ปัญหาด้วยความไม่โกรธ เอาหลักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด..

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ความขัดแย้ง การทำลายล้างกัน ความขัดแย้ง การทำลายล้างกัน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:40 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.