โครงการเดินธุดงค์ธรรมชัยจะทำให้พระพุทธศาสนาของเรามีการสืบทอดให้จีรังยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร ?
โครงการเดินธุดงค์ธรรมชัยตามเส้นทางพระผู้ปราบมารจัดขึ้นเพื่อให้ศิษยานุศิษย์รำลึกนึกถึงพระคุณของหลวงปู่และเจริญรอยตามปฏิปทาของท่าน
เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในอย่างแท้จริง
และเพื่อกลั่นผืนแผ่นดินไทยให้สะอาดบริสุทธิ์
ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองดังเช่นในสมัยพุทธกาล
เส้นทางพระผู้ปราบมาร คือ เส้นทางชีวิตของพระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งแต่สถานที่ถือกำเนิด : อ.สองพี่น้อง
จ.สุพรรณบุรี, สถานที่บรรพชาอุปสมบท : วัดสองพี่น้อง
จ.สุพรรณบุรี, สถานที่บรรลุธรรม : วัดโบสถ์บน อ.บางกรวย
จ.นนทบุรี, สถานที่สอนธรรมครั้งแรก : วัดบางปลา อ.บางเลน
จ.นครปฐม, สถานที่ทำวิชชา : วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
กรุงเทพมหานครและสถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย : วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร เป็นภารกิจสำคัญของการทำงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
เพราะว่าการเดินธุดงค์นี้มีประโยชน์ ๓ ด้าน คือ ๑.
เป็นการฝึกฝนอบรมตนเองของพระกองพันเนื้อนาบุญ ๒.
ชาวพุทธทั่วโลกมีโอกาสสร้างบุญใหญ่ตลอดเส้นทางซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง
บุญที่เกิดแก่ทุก ๆ คนจะรวมเป็นพลังบุญเพื่อทำให้ประเทศไทยร่มเย็น
และทำให้โลกทั้งโลกร่มเย็น ๓. เป็นความมั่นคงยั่งยืนของพระพุทธศาสนา การเดินธุดงค์นี้ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติประเภทที่ทำด้วยความสมัครใจ มิใช่การบังคับกัน
เรื่องธุดงค์นี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ เป็นอุบายกำจัดขัดเกลากิเลสอย่างเข้มข้น
ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษ
เพราะว่าในการเดินธุดงค์สมบัติต้องน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
การเดินธุดงค์ยังเป็นโอกาสดีที่พระธุดงค์จะได้ฝึกฝนตนเอง
เพราะการรู้จักตนเองและการพัฒนาตนเองอย่างถูกวิธีทำได้ยาก
ถ้าจะให้รู้จักตนเองชัด เราต้องเลิกมองออกนอกตัว ต้องมองเข้ามาในตัวเอง
ต้องรู้จักตนเองจากการรู้จักพฤติกรรมของตัวเอง
ต้องรู้จักนิสัยหรือคุณธรรมศีลธรรมของตนเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้หมั่นสำรวจตัวเอง ๕ ด้าน คือ ๑.
สำรวจว่าศรัทธาของเราต่อพระรัตนตรัยเป็นอย่างไร ๒. ศีลมั่นคงขนาดไหน ๓.
จาคะมีขนาดไหน ๔. ปัญญามีขนาดไหน ๕. ปฏิภาณมีขนาดไหน
การเดินธุดงค์เป็นการเดินฝ่ากระแสกิเลสของชาวโลกและตัวเอง
เพราะว่าพอเดินทางไกลเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร เมื่อเหนื่อยเข้าหิวเข้า
ศรัทธาของตัวเองต่อพระรัตนตรัยขณะนี้เป็นอย่างไร ต้องหมั่นประคับประคองให้ดี,
ศีลเป็นอย่างไร ยังรักษาได้ดีอยู่หรือไม่ โดยทั่วไปในยามเหนื่อย
ยามหิว ยามลำบาก ศีลมีโอกาสพร่อง, จาคะ
ทั้งสละความสะดวกสบายและอารมณ์ที่ไม่อยากจะให้มันมากระทบ แต่มันก็มากระทบ
สละได้ดีขนาดไหน
เมื่อเหนื่อย เพลีย หิว
ปัญญายังเฉียบอยู่ไหม ทำอย่างไรจะใช้ปัจจัย ๔
อย่างประหยัดและยังรักษาความสะอาดได้ด้วย
การเดินธุดงค์จะบังคับให้ฉลาดขึ้นในการใช้ปัจจัย ๔ และฉลาดในการบริหารเวลา
และตลอดการเดินก็มีปัญหาสุขภาพให้แก้ตลอด เช่น ควรทิ้งน้ำหนักอย่างไรในขณะเดิน
เท้าจะได้ไม่พอง ต้องมีปฏิภาณในการแก้ปัญหาเหล่านี้
การเดินธุดงค์ยังเคี่ยวเข็ญให้ผู้เดินมีศรัทธาเพิ่มขึ้น ศีลเข้มข้นขึ้น
จาคะความเสียสละ โดยเฉพาะการสละอารมณ์ไม่ดีทั้งหลายเพิ่มขึ้น ปัญญาและปฏิภาณก็เพิ่มขึ้นตลอดทาง
การเดินธุดงค์จึงเป็นวิธีหล่อหลอมความเข้มแข็งความเฉียบขาดของผู้ที่เดินธุดงค์อย่างดี
มิเพียงเท่านั้น ผู้ที่ให้การสนับสนุนการเดินธุดงค์ก็มีโอกาสพัฒนาทั้งศรัทธา ศีล
จาคะ ปัญญา และปฏิภาณตลอดทางอีกด้วยเช่นกัน
ในการเดินธุดงค์ กำหนดกันว่า
วันหนึ่งจะเดินประมาณ ๑ โยชน์ (๑๖ กิโลเมตร) ถือตามสมัยพุทธกาล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำสงฆ์หมู่ใหญ่เดินธุดงค์ไปโปรดสัตว์โลกทรงเดินประมาณวันละ
๑ โยชน์ เมื่อครบ ๑ โยชน์แล้ว ก็หาที่พัก เราก็ดำเนินรอยตามรอยบาทของพระองค์
เมื่อได้ที่พักกว้างขวางพอรองรับพระธุดงค์ทั้งหมดบริเวณไหน ในรัศมีประมาณ ๑ โยชน์
ก็เลือกเอาบริเวณนั้น
ในชีวิตจริง
เราต้องทำสมาธิให้ได้ในทุกอิริยาบถ
สำหรับผู้ฝึกใหม่ให้เริ่มต้นด้วยท่านั่งซึ่งจะทำให้มีกำลังใจฝึกได้อย่างยั่งยืน
จากนั้นก็ฝึกในท่ายืน ท่าเดิน พระธุดงค์เดินไปก็ “สัมมาอะระหัง”
ไป เป็นการอาศัยการเดินธุดงค์หลายร้อยกิโลเมตรฝึกสมาธิในท่าเดิน
ซึ่งเมื่อตั้งใจฝึกจริง ๆ แล้ว ด้วยจำนวนระยะทางขนาดนี้ พอที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จ
พร้อมที่จะเป็นขุนพลกองทัพธรรมในภายภาคหน้านำชาวพุทธทั่วโลกสู้กับกิเลสกันได้
การสู้รบกับกิเลสมารซึ่งฝังอยู่ในใจเรามาตั้งแต่เกิด
จำเป็นจะต้องรักษาอารมณ์ให้ดีในการเดินธุดงค์จึงต้องไม่ช้าไป ไม่เร็วไป
เดินเร็วจะเหนื่อยไป เดินช้ายืดยาด จังหวะการเดินไม่สม่ำเสมอ ก็จะเมื่อย
สิ่งที่ต้องฝึกก็คือ การรักษาอารมณ์ให้ได้สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงกำหนดชัดลงไปว่า
ระยะทางเท่านี้ควรใช้เวลาเท่านี้
พระธุดงค์ที่ปฏิบัติข้อวัตรอยู่ในขณะนี้ท่านทำหน้าที่พระได้อย่างดีที่สุดแล้ว
เพราะว่าท่านทำถูกข้อวัตรปฏิบัติ
สิ่งที่ท่านปฏิบัติอยู่เป็นบ่อเกิดแห่งศรัทธาของญาติโยม
ท่านทำให้ชาวพุทธไม่ลืมพระสงฆ์และมีศรัทธามากขึ้นต่างคนก็ต่างดีใจที่ได้เห็นชาวพุทธมารวมตัวกันต้อนรับพระ
บังเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่ศาสนาพุทธยังมีพระที่น่าเลื่อมใสมากมายอย่างนี้
ถ้าหากพระเราฝึกตัวแล้วอยู่แต่ในวัดญาติโยมทางบ้านคงไม่มีโอกาสทราบว่า
ในขณะนี้ยังมีขุนพลกล้าของกองทัพธรรมอีกจำนวนนับพัน
ที่ตั้งใจบวชศึกษาฝึกฝนอบรมตนเอง ปฏิบัติธรรมตามรอยบาทพระศาสดาเพื่อการบรรลุธรรม
เพื่อสู้กับกิเลส
ผู้นำบุญทั้งหลายก็ได้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนญาติโยมที่อยู่สองข้างทางให้มาต้อนรับพระธุดงค์
มาร่วมกันทำหน้าที่เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่ฟื้นฟูศีลธรรมโลก
ทั้งรักษา ทั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กัน ชาวบ้านตลอดทางก็ปลื้มปีติที่ได้รับพระธุดงค์
ถือเป็นบุญบารมีที่ทำได้ยากและดีใจที่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางบุญต้อนรับพระขอให้บุญบารมีที่สั่งสมนี้ทำให้ได้หลุดพ้นกิเลส
โครงการนี้ทำให้สาธุชนได้เข้าใจว่า
การธุดงค์ก็ตาม การปราบกิเลสก็ตาม มีอยู่จริงมิใช่เป็นเพียงตำนาน
เมื่อมีการแจ้งข่าวบุญนี้ออกไป
มีสาธุชนพากันออกมาต้อนรับพระธุดงค์จากทั่วทุกสารทิศ จากจังหวัดต่าง ๆ
จากประเทศเพื่อนบ้านก็มี แสดงให้เห็นว่า
ศาสนาพุทธของเรายังจะคงอยู่คู่โลกต่อไปอีกแสนนาน
การที่คุณครูได้พาเด็ก ๆ
มาต้อนรับพระธุดงค์ตามเส้นทางพระผู้ปราบมารนี้ จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่า
หลวงปู่บรรลุธรรมอย่างไร
และควรปฏิบัติตามท่านอย่างไร และนี้ก็คือวิธีปลูกฝังพระพุทธศาสนาลงไปสู่จิตใจเยาวชนที่ถูกต้องที่สุด
ให้ตาของหนูได้เห็นจีวรสีเหลืองอร่ามของพระภิกษุที่เดินฝ่าเปลวแดดมาด้วยใบหน้าผ่องใส
สงบเสงี่ยมสง่างาม ให้หูของหนูได้ฟังถ้อยคำอันเป็นทางมาแห่งบุญว่า “สาธุ”
ให้มือของหนูได้พนมขึ้นประดุจดอกบัวก้มกราบบูชาพระรัตนตรัย ให้ความดีงามปลูกฝังเข้าไปในใจของเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย
จะได้อยากรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ อนาคตโลกจะเฟื่องฟูด้วยศีลธรรม
ด้วยพลังแห่งความดีของลูกหลานชาวพุทธของเรา
เท้าของคนเรานั้นรับน้ำหนักตัวในขณะเดินและยืนไม่เท่ากัน
ย่างก้าวแต่ละก้าวเท้าต้องรับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า
เมื่อเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าเป็นหมื่น ๆ ก้าว น้ำหนักแต่ละก้าวจะทบทวีเข้าไปเรื่อย
ๆ เท้าก็มีโอกาสที่จะพอง
ก็ได้อาศัยความนิ่มและความเย็นของกลีบดอกไม้ทำให้เดินได้สะดวกขึ้น
การโปรยกลีบดอกไม้ต้อนรับพระธุดงค์จึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินธุดงค์
ทุกท่านที่มาอำนวยความสะดวก ก็จะมีอานิสงส์คือต่อไปจะได้รับความสะดวกสบายในทุกที่ที่ย่างก้าวไป
ในแต่ละวันที่เดินธุดงค์ไปถึงจุดหมายก็จะมีพิธีล้างเท้าอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่โบราณมาเวลาพระอาคันตุกะไปถึงวัดไหน
พระในวัดนั้นและชาวบ้านแถวนั้นจะมาช่วยกันล้างเท้าเป็นการต้อนรับ นวดเท้าให้ด้วย
ทำไมต้องทำเช่นนั้น ? ก็ลองคิดดูเถิดว่า
เมื่อพระท่านเดินมาเป็นระยะทางไกล เท้าจะทำงานหนักแค่ไหน ก็ต้องระบมเป็นธรรมดา
ถ้าได้ล้างเท้านวดเท้าด้วย กำลังก็จะฟื้นเร็ว
พร้อมที่จะไปทำภาวนาให้เข้าถึงธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ง่าย
ในการเดินธุดงค์แต่ละวันโดยมีระยะทางเป็นโยชน์ ถ้าเดินรวดเดียวคงย่ำแย่
ก็ต้องอาศัยจุดพักดื่มปานะระหว่างทางและจุดพักค้างในเวลากลางคืน
ซึ่งขบวนพระกองพันเนื้อนาบุญเป็นพันรูป
พื้นที่ที่จะใช้พักระหว่างทางต้องใหญ่พอสมควร
และเจ้าของพื้นที่ก็จะต้องตั้งใจรับบุญนี้ด้วย จึงจะได้รับความสะดวกสบาย
ระหว่างเดินธุดงค์นั้น
ก็ได้รับความเมตตาและการสนับสนุนจากคณะสงฆแ์ต่ละท้องที่ด้วยดี
ที่พักระหว่างทางบางครั้งก็ได้วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย
หรือองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีผู้นำและประชาชนในท้องถิ่นมาอำนวยความสะดวกจัดเตรียมสถานที่และถวายภัตตาหารแด่พระธุดงค์
ซึ่งเป็นบุญกุศลใหญ่ที่ทุกคนร่วมกันอนุโมทนา และเป็นเหตุให้ทุกคนจะประสบกับความสุข
ความเจริญ และบุญนี้ยังส่งถึงบรรพบุรุษของประเทศชาติ
ที่ได้ช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบทอดมาจนถึงรุ่นของเราที่ได้มาทำบุญใหญ่กันนี้
ผู้มีปัญญานั้น เมื่อเริ่มคิดจะทำบุญ
ก็จะมองให้ชัดเจนว่าบุญนี้มีอานิสงส์คือผลดีต่อเนื่องจากวันนี้ถึงวันที่สุดแห่งธรรมมากน้อยขนาดไหน
เช่น ข้าวที่ตักบาตรวันนี้ ๑ ช้อนหรือ ๑ ทัพพี ผลจะเป็นอย่างไร
หลวงพ่อหลวงพี่ที่รับบาตร จะเปลี่ยนข้าวนี้ให้เป็นเรี่ยวแรงของท่าน
เรี่ยวแรงนี้ถ้าท่านเอาไปศึกษาธรรมะความแตกฉานที่ท่านได้
ก็ได้เอาไปใช้ดับกิเลสในใจท่าน
แล้วถ้าท่านเอาไปเทศน์สอนญาติโยม เมื่อโยมได้รับธรรมะไป ก็เอาไปฆ่ากิเลสในใจของเขา
ถ้าขณะนั้นมีญาติโยมหลายคนฟังธรรมะจากท่าน บุญก็ทับทวีไปอีก
หากญาติโยมเหล่านั้นนำธรรมะไปปฏิบัติต่อเนื่องตลอดชีวิต แล้วญาติโยมได้ธรรมะ
ได้บุญเท่าไรต้นบุญก็เกิดจากข้าวช้อนนั้น ทัพพีนั้น
ของเราไม่ว่าญาติโยมไปทำความดีอะไร เราก็มีส่วนในบุญกับเขาด้วย
แม้ญาติโยมเหล่านั้นนำธรรมะที่ได้จากพระรูปนั้น
ที่ได้เรี่ยวแรงจากข้าวของเราไปอบรมลูกหลานได้บุญอีกเท่าไร เราเจ้าของข้าวช้อนนั้น
ทัพพีนั้น ได้บุญต่อเนื่องไปอีกด้วย ข้าวช้อนนั้น ทัพพีนั้น
ส่งผลเป็นทั้งเรี่ยวแรง เป็นทั้งบุญของพระ บุญของญาติโยม เป็นทั้งอายุพระพุทธศาสนา
เป็นทั้งความสุขของชาวโลกต่อเนื่องกันไม่รู้จบ
มองภาพการเกิดบุญที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่คิดที่จะทำยังเห็นภาพผลบุญต่อเนื่องกันขนาดนี้
ขณะทำบุญจะมองเห็นชัดยิ่งกว่า
เพราะว่าได้เห็นหลวงพ่อหลวงพี่ที่มารับบาตรท่านตั้งใจ เราผู้ถวายก็ยิ่งปลื้ม
ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารไปก็ปลื้มไป ก่อนนอนก็มาทบทวนอีกด้วย
ถ้าทบทวนอย่างนี้เป็นประจำ ไม่ว่าบุญน้อยบุญใหญ่ที่ทำไปแต่ละอย่าง แต่ละบาท
เราจะปลื้มได้พันล้านแน่นอนยิ่งทบทวนบุญด้วยความปลื้มบ่อย ๆ บุญก็ทับทวี
ก็ได้บุญบ่อย ๆ อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่า “อยู่ในบุญ”
อย่างนี้บาปจะไม่ได้ช่องแทรกเข้ามาในใจ เมื่อเป็นอย่างนี้
ความคิดก็จะมีแต่คิดดี ๆ เพราะมีแต่บุญหล่อเลี้ยงใจ คำพูดแต่ละคำก็เป็นคำพูดที่มีบุญเลี้ยง
เป็นคำพูดที่ดี ๆ และทุกย่างก้าว ทุกอิริยาบถก็มีแต่บุญเกิดตลอดทาง
บนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ของธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร
ได้หลอมดวงใจของพุทธศาสนิกชนให้คิดดี พูดดี ทำดี
ทุกแห่งที่พระธุดงค์ท่านเดินผ่านไป ก็มีบุญหล่อเลี้ยงตลอดทาง
เพราะท่านบริกรรมคาถาไปด้วย ท่านภาวนา “สัมมาอะระหัง” ตลอดทาง
แม้เจ้าหน้าที่ที่ติดตามอำนวยความสะดวกก็ภาวนา “สัมมาอะระหัง”
ไปด้วย
ญาติโยมที่โปรยกลีบดอกไม้ต้อนรับพระร่วมกันสาธุตลอดทางก็ได้บุญทั่วหน้ากัน
เส้นทางนี้จึงเป็นเส้นทางบุญ ใครถนัดจะสร้างบุญอย่างไร ก็มาร่วมเอาบุญตามถนัด
บุญกุศลที่ทำในครั้งนี้ก็จะหล่อเลี้ยงใจ เมื่อได้ทำบุญ
จิตใจของเราจะถูกยกให้สูงขึ้น
แล้วบุญก็จะติดตามเราไปให้บังเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทุกภพทุกชาติ
เข้าถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โดยง่ายไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
โครงการเดินธุดงค์ธรรมชัยจะทำให้พระพุทธศาสนาของเรามีการสืบทอดให้จีรังยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:50
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: