ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๕)



ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๕ : กำเนิดพรหมสร้างโลกและการเปลี่ยนขั้วอำนาจในระบบวรรณะ

ยุคพราหมณะ (Brahmana Period : ๓๐๐ - ๑๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช)


หากยังคงจำกันได้ ในยุคแรกที่ชนเผ่า อารยันเข้ามาครอบครองอินเดีย อารยันมีความเชื่อทางศาสนาที่เชื่อมโยงกับเทพเจ้าสูงสุดและเป็นเทพสงครามอย่าง พระอินทร์” (Indra) ดังนั้นในคัมภีร์ ไตรเพทซึ่งเป็นคัมภีร์ในยุคพระเวท จึงไม่เคยปรากฏเทพเจ้าสูงสุดนามว่า พระพรหม” (Brahma)

คำว่า พรหมเริ่มปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ยุคปลายพระเวทอย่าง อถรรพเวท” (Atharveda) หรือ ศตปถพราหมณะ” (Śatapatha Brāhmaṇa) ราว ๓๐๐ - ๑๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ได้กล่าวถึง พระพรหมว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นเทพเจ้าอันอุดม อยู่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงที่ปรากฏด้วยรูปกาย (ไร้รูป) และอยู่เหนือเพศภาวะทั้งปวง (ไร้เพศ) และในยุคนี้ ได้ลดบทบาทของ พระอินทร์ที่เคยเป็นเทพเจ้าสูงสุดลง ด้วยเหตุที่ พระอินทร์เมาสุราบ้าง เจ้าชู้บ้าง พ่ายแพ้ให้แก่พวกอสูรบ้าง

เมื่อ พระพรหมเริ่มเป็นที่ยอมรับแทน พระอินทร์แล้ว ได้มีการสร้าง ตำนานพรหมสร้างโลกโดยกล่าวว่า ก่อนโลกจะถือกำเนิดขึ้นมีสภาวะว่างเปล่า และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีการประชุมรวมกันของสภาวะบางอย่างเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนกลมเหมือนไข่ทองคำ และ พระพรหมถืออุบัติขึ้นในไข่ทองคำนั้น และบันดาลให้ไข่ทองคำแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็น เทวโลกส่วนล่างเป็น มนุษยโลกจากนั้นจึงได้สร้างพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และธรรมชาติต่าง ๆ ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

พระพรหมกลายเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง แต่ด้วยความที่ พระพรหมมีสภาวะอุดมคติ ไร้รูป จึงเป็นการยากที่จะเคารพสักการะ ต่อมาจึงได้ถือกำเนิด พระพรหม ๔ หน้าเพื่อดูแลตลอดทิศทั้ง ๔ ขึ้น แต่ด้วยความที่มีเพียง ผู้สร้างอย่าง พระพรหมจึงไม่อาจตอบปัญหากฎของธรรมชาติบางประการได้ ทำให้ในกาลต่อมาได้กำเนิด พระวิษณุ” (Viṣṇu) เทพเจ้าผู้รักษา และ พระศิวะ” (Śiva) เทพเจ้าผู้ทำลาย ที่รวมเรียกว่า ตรีมูรติ” (Trimūrti) เพื่อตอบกฎธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการเดิมในเรื่อง พระพรหมเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ดังนั้น พระพรหมจึงเป็นผู้ให้กำเนิดทั้ง พระวิษณุและ พระศิวะ

กำเนิดพรหมสร้างโลก

- ยุคพระเวท 800 ปี ก่อนพุทธศักราช พระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุด

แต่ด้วยเหตุที่ในตำนานพระอินทร์เมาสุราบ้าง เจ้าชู้บ้าง แพ้แก่พวกอสูรบ้าง ทำให้ไม่เป็นที่น่าศรัทธา พราหมณ์จึงต้องสร้างเทพที่เหนือกว่าพระอินทร์ขึ้นมาคือ พรหม” (Brahma) 
ซึ่งคำว่าพรหมไม่ได้มีมาแต่เดิมในคัมภีร์ยุคเก่าแก่คือ ไตรเพท
แต่ปรากฏขึ้นในคัมภีร์ยุคปลายพระเวทอย่าง อถรรพเวท

- ยุคพราหมณะ 300 - 100 ปี ก่อนพุทธศักราช พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด


พระพรหมยุคดั้งเดิมเป็นสภาวะอุดมคติยังไม่มีรูปร่าง
เป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง

ต่อมาสร้างรูปเคารพของพรหม เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรม
โดยทำเป็นพรหม ๔ หน้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการดูแลทิศทั้ง ๔

กำเนิดตรีมูรติ


เพื่อตอบกฎที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายไป 
จึงสร้างให้มีมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ ๓ องค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ รวมเรียกว่าตรีมูรติ

พราหมณ์ตอกย้ำระบบชนชั้นวรรณะ โดยกำหนดว่าวรรณะเกิดจากส่วนต่าง ๆ ของพรหม

______________________________

การเกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว 
เทพเจ้าอาจจะไม่ใช่ผู้สร้างมนุษย์
แต่ในทางกลับกัน
มนุษย์อาจจะเป็นผู้สร้างเทพเจ้า
______________________________


ตอนที่ ๕ (ต่อ)

ตรีมูรติมีอยู่ด้วยกันหลายรูปลักษณ์ บ้างว่ามี ๓ เศียร บ้างว่ามี ๑ เศียร แต่ ๓ พักตร์ แม้ว่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่องกฎธรรมชาติได้ แต่ในกาลต่อมา แนวความคิดเรื่อง ตรีมูรตินี้กลับกลายมาเป็นความขัดแย้งในเรื่อง เทพเจ้าสูงสุดจนกลายเป็นมูลเหตุในการแบ่งแยกนิกายคือ กลุ่มที่บูชา พระวิษณุได้ก่อกำเนิดเป็นนิกาย ไวษณวะมีอิทธิพลทางอินเดียตอนเหนือ ส่วนกลุ่มที่บูชา พระศิวะได้ก่อกำเนิดนิกาย ไศวะมีอิทธิพลทางอินเดียตอนใต้

จากแนวความคิดเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน ยุคพราหมณะนี้ นอกจากจะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วเทพเจ้าอาจจะไม่ใช่ผู้สร้างมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน มนุษย์กลับเป็นผู้สร้างเทพเจ้าต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ยังทำให้เห็นถึงแนวคิดในการถ่ายโอนอำนาจจากวรรณะ กษัตริย์ไปสู่วรรณะ พราหมณ์โดยจะเห็นได้จากใน ยุคพระเวทเทพเจ้าสูงสุด คือ พระอินทร์เป็นเทพสงครามเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ เปรียบเสมือนตัวแทนของวรรณะ กษัตริย์แต่เมื่อมาถึง ยุคพราหมณะเทพเจ้าสูงสุดถูกเปลี่ยนมาเป็น พระพรหมซึ่งเปรียบเสมือนกับตัวแทนของวรรณะ พราหมณ์ตรงนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจของวรรณะชั้นสูงทั้ง ๒ วรรณะ

ไม่เพียงแต่วรรณะ กษัตริย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่วรรณะชั้นล่างอย่าง แพศย์” (ไวศยะ) และ ศูทรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กล่าวคือ พราหมณ์ได้ยกเอาเนื้อความในคัมภีร์ ปุรุษสูกตะ” (Puruśasūkta) ซึ่งเป็นคัมภีร์ในปลายยุคพระเวท ที่มีใจความกล่าวถึงวรรณะพราหมณ์ว่ามีกำเนิดมาจาก ปากของพระพรหม วรรณะ กษัตริย์กำเนิดจาก แขนวรรณะ แพศย์กำเนิดจาก ต้นขาและวรรณะ ศูทรกำเนิดจาก เท้าของพระพรหม มาขยายผลในระบบวรรณะ เป็นการตอกย้ำให้ผู้ที่อยู่วรรณะชั้นล่าง ไม่เห็นหนทางในการเอาชนะระบบวรรณะได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการแบ่งชั้นวรรณะในสังคมอินเดียโบราณ ยุคพราหมณะอย่างชัดเจน เป็นความรุนแรงที่มีมากกว่าใน ยุคพระเวท

ใน ยุคพราหมณะนี้ เราได้เห็นถึงการกำเนิดขึ้นของ พระพรหมเทพเจ้าที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างโลกรวมถึงพัฒนาการไปสู่ ตรีมูรติเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและมีอำนาจของวรรณะ พราหมณ์ที่อาจจะกล่าวได้ว่าอยู่เหนืออำนาจของวรรณะ กษัตริย์อีกทั้งยังทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย แต่ทว่าความเรืองอำนาจของ พราหมณ์ใน ยุคพราหมณะนี้ กลับมีเหตุที่ทำให้ต้องหยุดชะงักลง จนเป็นเหตุให้แนวคิดในเรื่อง โมกษะ” (mokṣa) มีบทบาทขึ้นมาแทนที่ 

การเปลี่ยนขั้วอำนาจในระบบวรรณะ

พระอินทร์ผู้เป็นเทพสงคราม เสมือนตัวแทนของวรรณะ กษัตริย์ถูกลดความสำคัญ

พระพรหมเป็นผู้สร้าง เสมือนกับตัวแทนของวรรณะ พราหมณ์ถูกสร้างความสำคัญ 

แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจของวรรณะชั้นสูงทั้ง ๒ วรรณะ
พราหมณ์จึงสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำให้วรรณะของตนเข้มแข็งขึ้น


จะเห็นว่าวรรณะพราหมณ์มาจาก ปากของพระพรหม 
ส่วนวรรณะกษัตริย์มาจาก แขนซึ่งอยู่ต่ำกว่า
เป็นการแสดงอำนาจที่อาจกล่าวได้ว่าวรรณะพราหมณ์อยู่สูงสุด
ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจของพราหมณ์ และทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

และหลังจากนี้จะเกิดแนวคิดเรื่อง โมกษะที่ทำให้ยุคพราหมณะต้องชะงักลง 
ซึ่งจะเป็นอย่างไรและเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระพุทธศาสนา โปรดติดตามในตอนต่อไป.

คลิกอ่านตอนที่ ๖ ได้ที่นี่  http://dhamma-media.blogspot.com/2018/03/blog-post_6.html

Cr. เรื่อง : พระมหาดร. พงศ์ศักดิ์  ฐานิโย
ภาพ :  พระณัฏฐวัฒน์   ณฏฺฐิโต  (เปรม)

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๕) ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๕) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:12 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.