กรรมเท่ากันหรือไม่
กรรมเท่ากันหรือไม่
กฎแห่งกรรมมีผลต่อผู้กระทำเท่าเทียมกันหรือเปล่า
ระหว่างผู้ที่ทำโดยเจตนากับผู้ที่ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คำตอบ
การทำอะไรโดยเจตนากับไม่เจตนา อย่างไร ๆ
ก็มีผลไม่เท่ากัน เช่น เจตนาหรือไม่เจตนาในการสร้างความดี ผลแห่งความดีนั้นก็ออกมาไม่เท่ากัน แต่ว่าสิ่งที่จะต้องคำนึงให้มากก็คือ
เวลาทำสิ่งหนึ่งประการใดขึ้นมา ผลที่เกิดไม่ได้เกิดเฉพาะตัวเราเท่านั้น
เนื่องจากโลกนี้ไม่ได้มีเราคนเดียว ยังมีคนและสัตว์อยู่ร่วมโลกอีกมาก
การที่เราจะทำสิ่งหนึ่งประการใดลงไป ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายเลว ฝ่ายบุญหรือฝ่ายบาป
นอกจากจะมีผลกับเราแล้ว ยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์และสัตว์อีกด้วย
ในเมื่อมีผลกระทบกับมนุษย์และสัตว์อื่น
ก็เลยไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎธรรมชาติอีกเรื่องหนึ่ง โยงกันไปอย่างนี้
เรามาดูกันว่า
เมื่อเราทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็แล้วแต่ สมมุติว่า
ถ้าเราขับรถไปไม่เร็วนัก ขับตามที่กฎหมายเขากำหนดไว้ แล้วเกิดไปชนสุนัขตายโดยไม่เจตนา
เราก็ไม่สบายใจ นั่นเป็นผลแห่งความที่เราเหยียบเบรกไม่ทัน เราก็ไม่สบายใจแล้ว
นี้เป็นส่วนตัวของเรา และมีส่วนกระทบกับสัตว์เข้าไปด้วย ตรงนี้ถ้าจะมีใครเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วยอีก
ก็อาจจะเป็นเจ้าของสุนัข เขาก็อาจจะโกรธ แต่ก็พอจะคุยกันรู้เรื่อง
และเขาก็คงรู้ว่าการที่เขาปล่อยให้สุนัขมาวิ่งเพ่นพ่านกลางถนนเป็นความผิดของเขา
ส่วนเราเองก็ไม่ได้อยากที่จะขับรถไปชนให้มันตาย ดีไม่ดีเจ้าของสุนัขอาจจะต้องมาขออภัยเราด้วยซ้ำที่ปล่อยให้สุนัขวิ่งเพ่นพ่านมาให้เราชน
แล้วก็เลยมาเสียเวลากัน รถติดข้างหลังอีกตั้งเยอะ แต่ว่าแน่ ๆ เราเองก็ไม่สบายใจ
เจ้าของสุนัขก็ไม่สบายใจ
แล้วถ้าเหลียวไปดูรถที่ติดยาวเหยียดนั่นก็เป็นเรื่องผลกระทบกับสังคมขึ้นมาแล้ว
คนไปทำงานเช้าวันนี้ไม่ทันอีกเพียบ
ทำกรรมตรงนี้แม้ไม่ได้เจตนาเลย
แต่ว่ามีผลกระทบมาอย่างนี้ นี่ดีว่าเป็นลูกสุนัข ถ้าสมมุติว่าเป็นลูกคนจะเป็นอย่างไร
ตรงนี้ไม่ใช่มาขอโทษขอโพยกันเสียแล้ว ตำรวจจะมาจับเราด้วย โทษฐานขับรถชนคนตาย
เพราะฉะนั้นกฎแห่งกรรมนี้ เราจะพูดกันแค่เจตนาไม่เจตนาก็คงไม่ได้ จะเจตนาหรือไม่เจตนาไปชนสุนัข
สุนัขนั้นก็แค่ตาย แล้วก็มีคนไม่สบายใจอีกไม่กี่คน
แต่พอมาชนคนเข้าในลักษณะเดียวกัน กฎหมายจะมีส่วนเข้ามาร่วมตรงนี้
เพราะฉะนั้น อยากจะฝากเอาไว้ว่า
แทนที่จะมามุ่งดูว่าทำกรรมนั้นกรรมนี้โดยไม่เจตนากับเจตนาแล้ว ผลจะออกมาเหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน
หนักหนาสาหัสเท่ากันไม่เท่ากัน จะไปนรก ขุมตื้นขุมลึกอะไรนั้น
เรื่องนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อนและหาข้อยุติยาก เพราะเรายังไม่มีหูทิพย์ ตาทิพย์
ตามไปดูได้ว่า บาปกรรมนั้นเป็นผังสำเร็จเข้าไปในใจเราขนาดไหน จะต้องไปตกนรกขุมไหน
แต่ที่ง่ายกว่า คือนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทำอย่างไรเราจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา
แล้วจะไม่เผลอไผลไปทำอะไรที่เสียหาย มองตรงนี้แล้วก็หาวิธีที่จะทำให้เรามีสติ
มีความรู้ตัว ที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้รอบคอบขึ้นดีกว่า
ข้าวของต่าง ๆ ที่มีโอกาสจะแตก จะเสียหาย
ก็ป้องกันไว้ให้ดี อย่างนี้เป็นบทฝึกสติให้เราด้วย ให้กับลูกหลานด้วย อันนี้แบบโลก
ๆ ก่อน แต่เมื่อก้าวเข้าไปสู่ทางธรรม ลึกขึ้นไปอีกหน่อย ไม่ว่า จะยืน จะเดิน
จะนั่ง จะนอน หมั่นฝึกสติให้ได้ทุกอิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นเช้าก่อนนอน
ให้ฝึกว่าเราจะนึกถึงพระในตัวเราเป็นสิ่งแรก หรือจะนึกถึงพระคุณของพ่อแม่เป็นสิ่งแรก
ฝึกอย่างนี้ก่อน หัดให้เคย ก็เพราะอย่างนี้แหละ
ปู่ย่าตาทวดของเราตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้าล้างตาเสร็จสรรพ
ท่านก็สวดมนต์ไหว้พระก่อนจะไปเตรียมข้าวปลาอาหาร ก่อนจะออกไปทำงาน คือ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ฝึกสติให้นึกถึงเรื่องการทำบุญทำทาน
ฝึกสติให้นึกถึงพระในตัว นึกถึงความดีที่จะทำในวันนี้ พอถึงเวลาจะออกนอกบ้านจริง ๆ
ก็ฝึกสติอีก รีบไปที่ห้องพระ กราบพระประธานแล้วก็สมาทานศีล ๕ กับองค์พระ
เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยออกจากบ้านไปทำงาน เป็นการสัญญากับพระท่านว่าวันนี้ ศีล ๕
ข้อ จะไม่พลาดไปละเมิดทีเดียว
ถ้าโต๊ะหมู่ที่บ้านไม่มี
ก็อาราธนาพระที่ห้อยอยู่ในคอใส่มือเข้า แล้วก็สัญญากับหลวงพ่อในมือว่า
วันนี้จะระวังสติให้ดี ข้อที่ ๑ อย่าว่าแต่ไปฆ่าคนเลย มดสักตัวหนึ่งก็จะไม่บี้
ยุงสักตัวหนึ่งก็จะไม่ตบ ข้อที่ ๒ วันนี้อย่าว่าแต่ไปลักไปโกงใครเลย
แค่คิดอยากได้ของคนอื่นก็จะไม่คิด จะห้ามสติให้อยู่ ถ้าอย่างนี้ละก็ สติดีวันดีคืน
ข้อที่ ๓ วันนี้ไม่เจ้าชู้เด็ดขาด อย่าว่าแต่ไปเจ้าชู้
ไปตาหวานกับเมียเขาลูกใครเลย แม้แต่จะคิดเรื่องนี้ก็ไม่คิด จะตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน
ตั้งฐานะให้ดี ข้อที่ ๔ วันนี้ถ้าพูดแล้วต้องจริง ทำอย่างไรจะพูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น
เรื่องขี้โม้ขี้คุยจะไม่หลุดออกจากปากเราเป็นอันขาด ข้อที่ ๕
วันนี้ไม่ว่าเหล้าไม่ว่าเบียร์ จะไม่ให้ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าลำคอ บุหรี่ก็ไม่เอา
ฝึกสตินึกถึงศีลของเราอย่างนี้ โอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำไปทำกรรมไม่ดี
ไม่ว่าเจตนาหรือไม่เจตนาก็ยากที่จะเกิดกับเรา
พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัด ๆ
ในกิจวัตรทุกอย่างที่เราจะต้องทำในวันหนึ่ง ๆ จะหยิบเสื้อขึ้นมาใส่ก็พิจารณา เช่น
เสื้อตัวนี้ใส่แล้วรัดรูปมากไปไหม สั้นไปจนสะดือเปิดไหม
เดี๋ยวใครเห็นเข้าจะเผลอสติ นึกเรื่องที่ไม่เป็นมงคลกับเรา เราก็จะเดือดร้อน แล้วจะไปโทษเขาก็ไม่ได้
ต้องโทษเราที่เผลอสติไปใส่เสื้อรัดรูป ไปใส่เสื้อสั้น นุ่งกระโปรงสั้น
ฝึกสติไปอย่างนี้ แล้วโอกาสที่เราจะพลาดเรื่องอะไร ๆ ก็จะน้อยลงไปทุกที
ทุกอย่างที่เราทำจะทำอยู่บนพื้นฐานของความมีสติเรื่อยไป
ที่จะเผลอไปทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรก็จะไม่มี แล้วก็ไม่ต้องมาคิดเรื่องทำกรรมโดยเจตนากับไม่เจตนา
ทุกอย่างมีเจตนาหมด คือ มีเจตนาที่จะละชั่ว มีเจตนาที่จะทำดี
มีเจตนาที่จะทำใจให้ผ่องใส ทั้งให้ผ่องใสแก่ตัวเอง ให้ผ่องใสกับคนทุกคนที่เห็นเรา
ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เมื่อเราไปยืนอยู่แล้วมีแต่ความสดใส
มีแต่คนมีเจตนาที่จะทำความดีตามเรา ทำใจผ่องใสตามเรา ตามพระสงฆ์
ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป พิจารณาอย่างนี้
ทำอย่างนี้เหมาะกว่าที่จะมานั่งเจาะไปว่ากรรมโน้นกรรมนี้ ไหนหนักไหนเบา
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๐
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔
กรรมเท่ากันหรือไม่
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:42
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: