ทำบุญอย่างผู้มีปัญญา




เมื่ออาตมายังมีการหุงต้มอยู่ ก็ควรถวายโภชนะนั้นแก่ท่านผู้ไม่มีการหุงต้ม เมื่ออาตมายังมีความกังวลและความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะนั้นแก่ท่านผู้ไม่มีความกังวลและความถือมั่นแล้ว" (ปรัมปรชาดก)

เนื่องจากชีวิตมนุษย์บนโลกนี้แสนสั้น และมีเวลาอย่างจำกัด เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน เดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว ฉะนั้น เมื่อเราจะสั่งสมบุญ ก็ต้องรู้จักแสวงหาบุญเขต หรือผู้เป็นเนื้อนาบุญ เพราะว่าการเลือกให้นั้น พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ เหมือนการหว่านพืชลงในนาดี เมื่อมีดินดี ปุ๋ยดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ก็ย่อมเจริญงอกงามฉันใด การทำถูกเนื้อนาบุญ ก็ย่อมนำความปลื้มใจมาให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของผลบุญ ที่เกิดจากการให้ในบุญเขตฉันนั้น และย่อมมีอานิสงส์มากมายดังเรื่องราวต่อไปนี้

ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่งเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ในแต่ละวันท่านจะต้องทำบุญตักบาตร สมาทานศีล และฟังธรรมไม่ได้เคยขาด วันหนึ่งอุบาสกท่านนี้อยากทำสักการะแด่พระธรรมรัตนะบ้าง จึงนำของหอมและไทยธรรมจำนวนมากไปวัดพระเชตวัน กราบทูลความประสงค์ของตนเองให้พระพุทธองค์ทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสแนะนำว่า "ถ้าเธอปรารถนาจะทำสักการะแด่พระธรรมรัตนะ ก็จงทำสักการะแด่อานนท์ ผู้เป็นคลังแห่งพระธรรมเถิด"

อุบาสกทูลรับด้วยความร่าเริงเบิกบานใจ จึงรีบเข้าไปหาพระอานนท์ เมื่อนิมนต์ให้ท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการบูชาด้วยดอกไม้ของหอมและถวายโภชนะอันประณีตมีรสเลิศต่าง ๆ ทั้งยังได้ถวายผ้าจีวรราคาแพงด้วย พระเถระใคร่ครวญว่า สักการะนี้อุบาสกถวายเจาะจงแด่พระธรรมรัตนะ ไม่สมควรแก่เรา สมควรถวายแด่พระสารีบุตรผู้เป็นพระธรรมเสนาบดี ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศทางด้านมีปัญญา จึงนำบิณฑบาตและผ้าจีวรไปถวายพระสารีบุตรเถระ ซึ่งกำลังนั่งพักอยู่ในวิหาร

พระสารีบุตรเองก็คิดว่า สักการะนี้เขาถวายแด่พระธรรมรัตนะ เราไม่ได้เป็นเจ้าของธรรมะ ไม่ได้รู้ธรรมะเอง แต่ได้ยินได้ฟังมาจากพระบรมศาสดา สักการะนี้จึงสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ท่านจึงน้อมนำไปถวายแด่พระบรมศาสดา พระภิกษุสงฆ์ได้สนทนากันถึงเรื่องของอุบาสก ผู้รู้จักถวายไทยธรรมแด่พระทักขิไณยบุคคลอันเลิศ พระบรมศาสดาจึงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าให้ฟังว่า แม้ในกาลก่อน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เรื่องเช่นนี้ก็ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเหมือนกัน ดังนี้


ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในนครพาราณสี เมื่อทรงตรวจดูจริยาวัตรของพระองค์เอง ก็ไม่เห็นโทษอะไร วันหนึ่งทรงดำริว่าจะเสด็จไปฟังข่าวนอกเมืองสักหน่อย เพื่อดูว่าจะมีใครกล่าวโทษอะไรพระองค์บ้างไหม จึงทรงมอบพระราชอำนาจให้กับพวกเหล่าอำมาตย์ แล้วปลอมเป็นชาวบ้านธรรมดา เสด็จไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ พร้อมกับพราหมณ์ปุโรหิต เนื่องจากพระราชาทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม จึงไม่พบผู้ที่กล่าวถึงโทษของพระองค์เลย มีแต่คนกล่าวยกย่องสรรเสริญพระองค์เพียงอย่างเดียว

ต่อมา เมื่อพระราชาเสด็จไปถึงชายแดนประทับนั่งที่ศาลาริมทาง ขณะนั้น มีเศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่งกำลังไปที่ท่าน้ำพร้อมกับพวกพ้องบริวาร มองเห็นพระราชามีผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยามารยาทงดงามน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปสนทนาปราศรัยด้วย เมื่อทราบว่าเป็นพระราชา จึงรีบกลับไปบ้าน จัดแจงโภชนะมีรสเลิศมาถวายพระราชา

ในขณะเดียวกัน ดาบสซึ่งอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ได้เหาะมาแวะพักที่ศาลาหลังนั้นเช่นกัน ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเสด็จมาทางอากาศ และประทับนั่งที่ศาลาแห่งนั้นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งแต่ละท่านมาพักที่นั่นโดยไม่ได้นัดหมายกันเลย กุฎุมพีได้นำอาหารรสเลิศเข้าไปถวายพระราชา เมื่อพระราชาทรงรับแล้ว แทนที่จะเสวยเอง กลับพระราชทานแก่ปุโรหิต แต่พราหมณ์ปุโรหิตก็ถวายแด่ดาบสต่ออีกทอดหนึ่งฝ่ายดาบสเมื่อรับแล้วก็ได้น้อมนำไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า


เศรษฐีเห็นถาดอาหารถูกส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ เช่นนี้ ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาในใจ จึงทูลถามพระราชาว่า “ข้าแต่สมมุติเทพ เพราะเหตุใด เมื่อพระองค์รับอาหารมีรสเลิศแล้ว จึงไม่ทรงเสวยเอง แต่กลับพระราชทานแก่ปุโรหิตเล่า” พระราชาตรัสตอบว่า “พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้คอยตักเตือนฉันอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงควรให้โภชนะนี้แด่ท่านอาจารย์” เศรษฐีถามพราหมณ์ต่อว่า “เมื่อพระราชาพระราชทานอาหารรสเลิศ ทำไมท่านจึงนำไปถวายดาบสเล่า” ปุโรหิตตอบว่า “ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ ยังเป็นผู้ครองเรือน ต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา ข้าพเจ้าควรถวายโภชนะแด่ท่านฤๅษีผู้รุ่งเรืองด้วยตบะ อบรมตนมาดีแล้ว”


กุฎุมพีจึงถามท่านฤๅษีต่อไปว่า “ท่านฤๅษีผู้ซูบผอม ผู้สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านอยู่ในป่าผู้เดียว ไม่มีความห่วงใยในชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนาหาร นั้นดีกว่าท่านอย่างไร เพราะเหตุใดท่านจึงไม่ฉันเสียเองเล่า” พระดาบสตอบว่า “อาตมภาพยังขุดเผือกและมันมาบริโภค และยังมีความยึดมั่นถือมั่น เมื่ออาตมายังมีการหุงต้มอยู่ ก็ควรถวายโภชนะนั้นแก่ท่านผู้ไม่มีการหุงต้ม เมื่ออาตมภาพยังมีความกังวลและความถือมั่นอยู่ ก็ควรถวายโภชนะนั้นแก่ท่านผู้ไม่มีความกังวลและความถือมั่น”

กุฎุมพีถามพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไปว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านฤๅษีถวายอาหารอันเลิศแด่ท่านเมื่อท่านรับแล้วก็นั่งฉันเพียงลำพัง ขอนมัสการถามพระคุณเจ้าว่า อะไรเป็นธรรมอันประเสริฐในตัวท่าน” พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ใช้ให้ใครหุงต้ม ท่านฤๅษีรู้ว่าเราเป็นผู้ไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งหลาย จึงถวายภัตตาหารที่มีรสเลิศนี้แก่เรา บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใยและถือมั่น จึงให้ทานแก่เรา ผู้ไม่มีความถือมั่นในสังขารทั้งปวง” กุฎุมพีฟังแล้วรู้สึกดีใจมาก ถึงกับเปล่งอุทานว่า “วันนี้พระราชาเสด็จมาเพื่อประโยชน์ของเราหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใดแล้วจักมีผลมาก"

ทำบุญกับผู้น่าสรรเสริญหรือน่าสงสาร

เราจะเห็นได้ว่า มีผู้คนมากมาย พอคิดอยากจะทำทาน ก็ไม่รู้ว่าต้องทำกับใคร จึงจะได้บุญมาก บางคนมีจิตเป็นกุศลให้ทานกับสัตว์เดรัจฉานเพราะความสงสาร บางคนทำกับคนยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสด้วยจิตเมตตา ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ผู้ฉลาดจะหาโอกาสเติมเต็มให้กับตัวเองยิ่งขึ้นไปอีก คือจะไม่หยุดอยู่แค่มีเมตตาแต่จะทำด้วยจิตศรัทธา จะไม่เอาความสงสารนำหน้า แต่จะหาโอกาสดั้นด้นไปทำบุญกับบุคคลผู้น่าสรรเสริญและน่าเลื่อมใส ทำกับผู้ได้โอกาสในการทำพระนิพพานให้แจ้ง รู้ว่าผู้ที่เราให้ทานสามารถเป็นเนื้อนาบุญกับเราได้ บุญที่เกิดขึ้นจากการทำถูกทักขิไณยบุคคลนั้น จะปรับปรุงกาย วาจา ใจของเราให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใส อันจะเป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จทุกระดับชั้น


เนื้อนาบุญอันประเสริฐนั้น ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เพราะมีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งก็คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง นับเป็นบุญลาภอันประเสริฐของพวกเรา ที่ยังมีพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญให้เราได้มีโอกาสถวายทาน ฉะนั้น อย่าได้ประมาทชะล่าใจคิดว่า พระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญจะหาได้ทั่วไป บางคนไปเกิดอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา ทำให้พลาดโอกาสของการทำบุญอย่างถูกหลักวิชชา ยิ่งถ้าหากเกิดในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น โอกาสทำบุญกับเนื้อนาบุญก็หมดไป ดังนั้น ให้ทุกคนตระหนักในความเป็นผู้มีโชคของเรา แล้วหาโอกาสสั่งสมบุญกับพระสงฆ์ ด้วยการลุกรับ กราบไหว้ ถวายอาสนะ แบ่งปันสิ่งของ น้อมถวายทานด้วยความเคารพ เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม พิจารณาเนื้อความของธรรมะที่ได้รับฟัง แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเราจะได้สว่างไสวไปทุกภพทุกชาติตราบวันเข้าสู่พระนิพพาน



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ 
ภาพประกอบ : พุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๙   เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
ทำบุญอย่างผู้มีปัญญา ทำบุญอย่างผู้มีปัญญา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:41 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.