บ้านกัลยาณมิตร Change the World
บ้านกัลยาณมิตร
Change the World
...ความดีน่าโฟกัส
กับการสร้างสังคมให้เป็นบวก
คุณคิดว่า
สังคมเช่นนี้ ไกลตัวคุณไปหรือเปล่า
ก. ไม่น่าเชื่อเลย ติดยาไม่พอ
ยังทำร้ายแม่ตัวเองได้ขนาดนี้ ตำรวจจะต้องลากคอมันเข้าคุก ตกนรกหมกไหม้
ข. ไม่น่าเชื่อเลย
โอ..เหมือนขึ้นสวรรค์ แค่ยาเม็ดเล็ก ๆ เม็ดเดียว ฮ่า ๆ ๆ
ค. ไม่น่าเชื่อเลย เด็กอะไร แขนขาก็มี
ไม่รู้จักทำมาหากิน
ง. ไม่น่าเชื่อเลย บ้านติดกันแท้ ๆ
ไม่เคยคุยกันสักครั้ง แค่ชื่อยังจำผิด ๆ ถูก ๆ
คำพูดคำจาเหล่านี้ แม้จะลากไปถึง ตัว ฮ.
ก็ยังคงมีอีกเหลือแหล่ ทุกตัวเลือกไม่มีใครอยากตอบว่า ใช่
แม้หลายครั้งจะรู้ว่าเป็นความจริง แต่ยังมีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอต้องอุทานว่า “ไม่น่าเชื่อ”
เหมือนกัน “ไม่น่าเชื่อเลย เพียงแค่เราชวนเขามา มันจะมีความสุขได้มากขนาดนี้
เป็นความสุขที่บอกไม่ถูกเลย” คนอย่างเธอกำลังพบเรื่องราวที่แตกต่าง
แต่ว่าผู้หญิงคนนี้ ชวนใครไปทำอะไร แล้วความสุขอย่างที่ว่าเป็นอย่างไร
นี่คือเรื่องราวของคุณครูท่านหนึ่ง ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความชั่วในสังคม
และคอยเป็นแสงสว่างให้แก่ศิษย์ทั้งในห้องเรียนและในชีวิตของพวกเขา
“เครือวัลย์
แสนปัญญา” ด้วยวัย ๔๙ ปีที่ยังพอมีแรง “เธอ” ซึ่งใคร ๆ ในหมู่บ้านรู้จักกัน ในชื่อ “ครูยก”
เพิ่งจะตัดสินใจยกบ้านของตัวเองให้เป็นบ้านกัลยาณมิตรเมื่อไม่นานนี้...
จริง ๆ แล้ว “ครูยก” เพิ่งจบการอบรมอุบาสิกาแก้ว
รุ่น ๑ ล้านคนของวัดพระธรรมกายไปหมาด ๆ แต่หลังจากได้ทราบว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยต้องการให้บรรดายอดหญิงหัวใจพระเช่นเธอ
กลับไปทำหน้าที่ชักชวนคนรอบข้างให้มาทำความดีร่วมกัน
ทำให้เธอกลายเป็นเจ้าของเรื่องราวนักพัฒนาตัวอย่างบนเส้นทางวิถีพุทธ
พอจบโครงการบวชอุบาสิกาแก้วปุ๊บ
ก็เปิดบ้านกัลยาณมิตรปั๊บ รีบออกประชาสัมพันธ์ เชิญชวนทั้งกลุ่ม อสม. แม่บ้าน
ครูประจำชั้น นักเรียน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกเทศมนตรี
รวมถึงคณะสงฆ์วัดใกล้บ้านด้วย เธอยอมใช้เวลาที่ควรจะทำอะไรเพื่อตัวเอง
ไปเป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นอย่างสมัครใจ แม้จะดูเหมือนหว่านแหเผื่อจะพบคนดี ๆ
ที่คุยกันรู้เรื่อง แต่เอาเข้าจริงเธอเองแทบไม่เชื่อเลยว่าทุกที่ที่ไป
ทำไมถึงได้รับการต้อนรับและมีแต่คนให้ความร่วมมือ
เธอเปิดบ้านกัลฯ ทำไม
และทุกคนมองเห็นอะไรจากการกระทำนั้น
อาจเป็นคำถามของคนที่ไม่เคยรู้จักบ้านกัลยาณมิตรมาก่อน แต่ทว่าคำอธิบายต่าง ๆ อาจมีภาษีเป็นรอง
เมื่อเทียบกับประสบการณ์จริง “ทุกวันพฤหัสฯ จะมีเด็กนักเรียนในหมู่บ้านมาสวดมนต์
นั่งสมาธิ มากันเป็นประจำสัก ๑๙ คนได้ แล้วยังมีคุณครู ผู้ปกครอง
เพื่อนบ้านที่อุตส่าห์ไปชักชวนมา รวมแล้วกว่า ๓๐ คน” เป็นความบังเอิญหรือไม่
มิอาจทราบได้ แต่เธอก็เลือกเอาวันครู
(วันพฤหัสบดี) สำหรับสิ่งเหล่านี้ และสำหรับเด็ก ๆ แล้ว การสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ดูเหมือนเป็นของไกลตัวที่ไม่น่าสนุกเอาเลย
แต่เธอก็สามารถชักนำให้บรรดาตัวกะเปี๊ยกหัวเกรียน หันมาลองปฏิบัติกันสักตั้ง
“โอ
หลวงพ่อเจ้าคะ ไม่น่าเชื่อเลยค่ะ เพียงแค่เราเปิดบ้านกัลยาณมิตร
ชวนคนมาสวดมนต์นั่งสมาธิแล้ว จะมีความสุขได้มากขนาดนี้ บอกไม่ถูกเลยค่ะ”
ผลที่เกิดขึ้น ทำให้เธอมีโอกาสเขียนจดหมายไปถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
ในรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ทางช่อง DMC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เพื่อบอกเล่าความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับ
master piece
“ได้ยินเสียงสวดมนต์ของเด็กๆ
ได้เห็นเด็กๆ นั่งสมาธิอย่างตั้งใจ ในฐานะเป็นครูคนหนึ่งแล้ว
เป็นความรู้สึกที่ปลื้มปีติใจมาก หลังจากนั่งสมาธิเสร็จ ก็จะให้เด็ก ๆ ดูสื่อธรรมะ
ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สอนพวกเขาให้รู้จักกราบ รู้จักไหว้
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธที่ต้องปลูกฝัง สอนแม้กระทั่งเรื่องง่าย ๆ
ที่จะนำไปใช้ในชีวิต เช่น การพับกล่องนมค่ะ” ไม่เพียงแค่นั้น
ทุกครั้งก่อนจะขึ้นบ้านไปสวดมนต์ เธอยังตรวจเล็บมือเล็บเท้าของเด็ก ๆ
เหมือนอย่างที่บรรดาคุณครูเคยทำในโรงเรียน เพื่อให้รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกายควบคู่ไปกับการรักษาความสะอาดของจิตใจ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ไม่เด่นดังอะไร
กำลังก่อกำเนิดความดีที่ยิ่งใหญ่แก่สังคมเล็กๆ ของเธอเอง
“ตอนนี้ เด็กหลาย ๆ
คนเปลี่ยนไปในทางที่ดีเยอะมาก ๆ จากเด็กบางคนที่ชอบเถียงพ่อเถียงแม่ ด่าพ่อด่าแม่
ตอนนี้ไม่เถียงอีกแล้ว กลายเป็นคนละคน น่ารัก ว่านอนสอนง่าย และเด็ก ๆ
ก็ยังรู้จักการทิ้งขยะให้เป็นที่ ไม่ทิ้งข้าวของโดยเปล่าประโยชน์เหมือนเมื่อก่อน พ่อแม่เด็กทุกคนที่ส่งลูก ๆ มาที่บ้านกัลฯ
แห่งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ...สุดยอด โครงการนี้ดีจริง ๆ
พอได้ยินแล้วก็มีความสุข ปลื้มมาก รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้สูญเปล่า
แต่กลับสร้างคนดีให้แก่สังคม”
แต่ก่อน ตอนสอนหนังสือเธอก็เหมือนครูทั่ว ๆ ไป
คือ สอนไปแบบวัน ๆ เช้าไปสอน เย็นกลับบ้าน ทำอย่างนี้ทุกวัน ทำไปเรื่อย ๆ
โดยไม่เคยรู้ว่า คุณค่าของมือที่เปื้อนชอล์กนั้นเป็นอย่างไร
คำว่าครูที่แท้จริงหมายความว่าอย่างไร
แต่หลังจากเข้าอบรมอุบาสิกาแก้วรุ่นล้านและเปิดบ้านกัลยาณมิตรแล้ว
เธอก็ได้เจอกับความคิดอีกด้าน ชีวิตมันไม่ใช่แค่ให้ผ่านไปวัน ๆ นะคะ
แต่จะทำอย่างไรให้แต่ละวันที่ผ่านไป เป็นวันเวลาที่มีคุณค่าด้วย
ทุกวันนี้
ถ้าครูยกเจอใคร หรือมีใครมาสวดมนต์นั่งสมาธิที่บ้าน
ครูยกจะรีบทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิญชวนให้พวกเธอให้ไปอบรมอุบาสิกาแก้วรุ่นต่อไปทันที
ซึ่งเธอเปิดเผยว่าชวนได้ ๑๐ คนแล้ว และยังชวนผู้ชายไปบวชแบบตามมาติด ๆ ได้อีก ๗ คน
กล่าวได้ว่า เธอกำลังเอาเวลาที่เสียไปให้กลายเป็นกำไรชีวิต
จะไม่หยุดเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน แต่จะชวนต่อไปทุกวันให้ได้มากกว่านี้อีกค่ะ
เพราะอยากให้คนอื่น ๆ ได้มีโอกาสไปสัมผัสสิ่งดี ๆ จากการบวช
อยากให้เขาได้รับความสุขเหมือนอย่างที่เราได้รับ ความสุขจากการให้
และการได้เห็นสังคมรอบ ๆ ตัวเปลี่ยนแปลงจากมือของตัวเอง
กำลังตอกย้ำให้เธอเข้าใจเส้นทางของการสร้างบารมีมากยิ่งขึ้น
และมุ่งหน้าอยู่บนถนนสายนี้ต่อไปให้ถึงที่สุด ตอนนี้ เธอพบว่า
การชักชวนคนอื่นให้ทำความดี กำลังย้อนกลับมาทำให้ชีวิตครอบครัวของตัวเองดีขึ้น
พ่อบ้านก็ดีขึ้น และตัวเองกำลังมีความสุข เธอสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “มีสิ่งดี ๆ
เกิดขึ้นตลอดเวลาเลยค่ะ”
...จะทำอย่างไร ถ้าทุกคนพากันคิดว่า สังคมเป็นของเรา
แต่การแก้ไขปัญหาสังคมไม่ใช่เรื่องของเรา จากเรื่องราวเล็ก ๆ ตรงนี้
อาจจุดประกายให้ผู้อ่านอยากกลายเป็น “คนบ้านกัลฯ” เหมือนอย่างเธอ หรืออย่างน้อยก็ได้มองเห็นว่า
สังคมเรายังคงมีแง่มุมดี ๆ ที่น่าค้นหาอยู่อีกมาก
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองหาเป็นแบบอย่างหรือจะอยู่เฉย ๆ หากเป็นเช่นนั้น
ความสุขที่หลายคนค้นพบและเราเองก็คิดว่าดี
คงเป็นความสุขที่เราไม่มีโอกาสได้สัมผัสเลยตลอดชีวิต
บันทึกจากใจผู้เปิดบ้านกัลยาณมิตร
คุณครูยก
(กัลฯ
เครือวัลย์ แสนปัญญา)
“สอนหนังสือแบบวัน ๆ เช้าไปสอน เย็นกลับบ้าน
ทำอย่างนี้ทุกวัน โดยไม่เคยรู้ว่า คุณค่าของมือที่เปื้อนชอล์กนั้นเป็นอย่างไร
แต่หลังจากได้เปิดบ้านกัลยาณมิตรแล้ว จึงได้รู้ว่าการที่ทำให้เด็กเป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม
คือสิ่งที่ทำให้ครูอย่างเรามีความสุขใจและภูมิใจมากที่สุด”
Cr. ธัมมยันตี
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๑
เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
บ้านกัลยาณมิตร Change the World
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:05
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: