บวชพลิกชีวิต
“ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะเป็นได้” ถ้อยคำคลาสสิกนี้ทุกคนคงเคยได้ยิน
คนบางคนอาจเคยใช้เพื่อกระตุ้นเตือนตัวเองและเป็นกำลังใจในยามที่ท้อแท้ให้ลุกขึ้นสู้กับชีวิต
..บางคนเพื่อแลกกับอนาคตที่สวยหรูจึงสู้สุดพลัง จนลืมคิดถึงเรื่องวิธีการที่ใช้ว่าถูกหรือผิดศีลธรรม
ผลลัพธ์ที่ได้อาจสมใจแต่ไม่ดีงามสักเท่าไร
..บางคนสู้แต่ล้มเหลว
เลยเลือกใช้ชีวิตแบบผิด ๆ แบบคนสิ้นคิด ทำให้เสียผู้เสียคน หนักเข้าไปใหญ่
นั่นอาจเป็นเพราะความไม่รู้ในเรื่องความจริงของชีวิตที่ว่า บุญบาปนั้นมีจริงและบุญเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลังความสุขความสำเร็จของชีวิตทั้งปวง
และเป็นเพราะความไม่รู้นี่เอง
จึงทำให้ใครหลาย ๆ คน ต้องใช้ชีวิตแบบผิดครรลองคลองธรรม นำชีวิตที่ตัวเองไม่ได้เลือก
เพราะถูกกำหนด เพราะด้วยกรรมเก่าในชาติปางก่อน ไปสู่หนทางวิบากซ้ำแล้วซ้ำเล่า
วนไปเวียนมาแบบหาทางออกไม่เจอ ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรเป็นผู้ชี้ทางสวรรค์ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรชีวิตจะพลิกจากร้ายเป็นดี
และเริ่มต้นนับหนึ่งกระทำแต่ความดี สร้างบารมีเรื่อยไป
จนไปสู่ที่สุดแห่งธรรมกับเขาเสียที ดังเช่น อุบาสิกาแก้ว ๒ ท่าน
ที่ชีวิตพลิกผันหลังจากได้สั่งสมบุญด้วยการบวชเป็นอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ท่านแรก
เธอ...เผชิญหน้าอยู่กับโชคชะตาไม่เว้นแต่ละวัน วนอยู่กับความจน สามีตาย
สังขารไม่เอาด้วย แถมครอบครัวยังชิดติดขุม ๕ แต่การตัดสินใจเพียงครั้งเดียว
กลับเป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตเธอตั้งต้นดีอีกครั้ง เมื่อเธอเดินเข้าหาบุญ
ความทุกข์ที่ถาโถมโหมกระหน่ำแบบไม่เคยเกรงใจ
ในที่สุดก็มิอาจทำร้ายเธอได้อีกต่อไปแล้ว
พลิกชีวิตกลางสวนยางพารา
กัลฯ
วิภา เอี้ยนไทยสง
อุบาสิกาแก้ว จ.สงขลา
เธอแนะนำตัวให้เราฟังเป็นครั้งแรก
หลังจากได้ไปวัดพระธรรมกายเพื่อบวชหน่ออ่อน “เมื่อก่อนเป็นคนมีฐานะ ฐานะ จอ โอะ นอ
จน ยากจนมาก ๆ ต้องตรากตรำทำงานหนักมาอย่างโชกโชน อดหลับอดนอน
รับจ้างกรีดยางตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ถึง ตี ๕ และออกไปเก็บน้ำยาง ๗ โมงเช้า ถึง ๑๐
โมงเช้าทุกวัน บางวันมีเวลานอนแค่วันละ ๓ ชั่วโมงเท่านั้น
ต้องเผชิญกับความไม่มีมาโดยตลอด กู้หนี้ยืมสินเขาไปทั่ว สามีก็ตายแล้ว
หนำซ้ำยังต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพังถึง ๒ คน แถมคนโตก็เรียนในคณะที่ใช้เงินเยอะ
คือส่งให้เรียนหมอที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนลูกชายคนเล็กกำลังเรียนอยู่ชั้น
ม. ๔ กำลังใช้เงินทั้งนั้น ซ้ำร้ายยังไม่มีบ้านของตัวเอง ต้องไปพักอยู่ในที่ที่เจ้าของสวนยางเขาจัดให้
คือ ห้องขนาด ๔x๕ เมตร มีฝาทึบทั้ง ๓ ด้าน
มีทางออกทางเดียว นอกจากความทุกข์ที่ถาโถมโหมกระหน่ำมาแบบไม่เกรงใจกันเลย
ตั้งแต่เรื่องรายได้ ที่พัก เรื่องสุขภาพ
เรายังทุกข์ใจเรื่องพ่อแม่และน้องสาวด้วยเพราะทุกคนล้วนเป็นว่าที่สมาชิกมหานรกขุม
๕ เพราะดื่มกันอย่างหนักหนาสาหัส ความทุกข์รอบด้านมันรุมเร้า
จนเราเกิดความรู้สึกอยากออกบวช จนวันหนึ่งได้เดินไปคุยกับคนขายของในวัดหัวถนนว่า ‘ที่นี่มีบวชแม่ชีมั้ย’
คนขายของก็ตอบว่า ‘มีสิ..นี่ไง..โครงการบวชอุบาสิกาแก้ว รุ่น ๑ แสนคน’ ตอนนั้น
รู้สึกว่าตัวเองประดุจเป็นนักบินอวกาศเลยค่ะ คือ ดีใจจนตัวจะลอย แล้วก็ได้ไปบวช
อีกทั้งในวันที่ไปรับสไบแก้ว ก็ได้ยินหลวงพ่อพูดว่า พวกลูก ๆ
อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนทุกคนก็คือ ‘นักรบหญิงแห่งกองทัพธรรม
ให้มาช่วยกันฟื้นฟูและปกป้องพระพุทธศาสนา’ จิตใจตอนนั้น มันสปาร์กอย่างแรงค่ะ
เกิดฮึกเหิม ห้าวหาญ ราวกับได้ยินเสียงกลองรบ และก็อยากจะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมีอย่างสุดชีวิต
สุดกำลัง หลังจากบวชเสร็จ เราก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ ค่ะ คือ ลุยชวนคนบวชทุกโครงการที่ผ่านมาอย่างจริงจัง
และได้ออกอุบายชวนว่าที่ขุม ๕ ทุกคนที่เป็นญาติไปบวช ตั้งแต่พ่อ โดยบอกพ่อว่า
เพื่อนของพ่อสมัครบวชกันเยอะ ไปหาเพื่อนพ่อที่วัดกันนะ แต่ระหว่างที่พาพ่อไป
ก็พูดว่า ‘พ่อ...ลูกไหว้พระมาเยอะ ลูกอยากกราบพระที่เป็นพ่อของลูกเอง
พ่อบวชพระให้ลูกนะ’ พ่อก็ทำหน้างงตอบกลับมาว่า ‘เดี๋ยว ๆ พ่อขอคิดก่อน’
เราก็ตอบว่า ‘พ่อไม่ต้องคิดแล้ว พ่อคิดมานาน ๖๐ กว่าปีแล้ว เอาจริงไปเลย’
จากนั้นก็ทำเนียนบอกให้พ่อไปอาบน้ำเปลี่ยนชุดขาว
แล้วก็รีบจัดแจงไปสมัครบวชให้พ่อเสร็จสรรพ พ่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย ยอมบวชไปแบบงง ๆ แต่พอท่านบวชแล้วก็ไม่งงค่ะ
เกิดติดใจจนป่านนี้ยังไม่สึกเลย ส่วนแม่และน้องสาวก็ชวนบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน
ทุกวันนี้เลิกเหล้ากันหมดแล้วค่ะ
“นับจากนั้น..ชีวิตก็พลิกผัน คือ
เจ้าของสวนยางเกิดอยากขยายพื้นที่ทำงาน จึงต้องทุบที่พักเก่าของเราทิ้ง
และสร้างที่อยู่ใหม่ให้ ซึ่งมีขนาดกว้างกว่าเดิม และเมื่อย้ายไปที่ใหม่ ก็ไม่มีเสียงดังจากเครื่องจักรและกลิ่นยางพาราเลย
และในที่สุดก็หายจากการเป็นโรคภูมิแพ้ ที่เป็นมาตลอด ๑๐ กว่าปี
ตั้งแต่ไปบวชกลับมาและมาทำหน้าที่ชวนคนบวชอย่างเต็มที่ อยู่ ๆ
ราคายางก็ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รายได้จากการกรีดยางเพิ่มเป็น ๓
เท่าตัวอย่างอัศจรรย์ และตอนนี้เมื่อได้ทราบว่า
ทางวัดให้โอกาสคนใหม่สร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวได้ ก็ดีใจสุดขีดเลยค่ะ
จึงรีบเอาเงินเท่าที่มีจององค์พระไว้ก่อนค่ะ
แล้วก็ได้แต่อธิษฐานขอให้น้ำยางออกเยอะ ๆ
เพื่อจะนำปัจจัยไปสร้างองค์พระให้เต็มองค์ ซึ่งก็เหลือเชื่อค่ะ ทั้ง ๆ ที่กรีดยางเหมือนเดิมทุกอย่าง
แต่น้ำยา ต้นที่เรากรีดออกมากผิดปกติเป็นเท่าตัว จนเกือบปริ่มถ้วยรองน้ำยางอย่างอัศจรรย์
เราขอบารมีของหลวงพ่อให้สามารถมีเงินมาสร้างพระได้ครบสมดังใจด้วยค่ะ
แม้จะมีปัจจัยไม่พร้อม แต่เราก็เห็นคุณค่าของการสร้างพระมาก
จึงรีบไปชักชวนเพื่อนบ้านสร้างพระได้ ๕ องค์แล้ว
และทำหน้าที่เปิดบ้านกัลยาณมิตรได้ ๖ หลัง ที่สำคัญชวนคนบวชอุบาสิกาแก้วได้มากถึง
๑๓ คนแล้วค่ะ”
ไม่น่าเชื่อเลยว่า
การบวชอุบาสิกาเพียงครั้งเดียวจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เธอเฝ้าฝันหา
และที่สำคัญเธอไม่ยอมเลือกที่จะมีชีวิตที่ดีคนเดียว แต่ยังมีหัวใจกัลยาณมิตร
ชักชวนคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว ให้สามารถปิดอบาย ไปสวรรค์
สิ่งที่เธอกำลังพบขณะนี้ ทำให้เรารู้ว่า คนเราขาดบุญไม่ได้ เพราะถ้าขาดแคลนบุญ
ก็คือการขาดแคลนความสุข และความสำเร็จของชีวิตดังที่เธอเคยผ่านมา
กำนันหญิง หัวใจเพชรแห่งแดนอีสาน
กัลฯ
อรทัย พินิจมนตรี
อุบาสิกาแก้ว จ.กาฬสินธุ์
เช่นเดียวกับกำนันหญิง หัวใจเพชร
อย่างกัลฯ อรทัย พินิจมนตรี กำนันหญิง ๒
สมัย แห่งตำบลกุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ด้วยวัย ๔๐ ปี
เธอยังคงทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของลูกบ้านทั้ง ๑๑ หมู่บ้านอย่างเข้มแข็ง
เธอเล่าว่า "ด้วยความเป็นหญิงเก่ง บวกกับความเป็นลูกคนโต พอปี พ.ศ. ๒๕๕๔ หลังจากพ่อเสียชีวิต จึงต้องเข้ามารับช่วงธุรกิจซื้อขายอ้อยต่อจากพ่อ
โดยจะไปประมูลอ้อยจากเกษตรกรตามไร่ต่าง ๆ แล้วเอามาขายต่ออีกทอดหนึ่ง
ถ้าราคาดีก็จะได้กำไรงาม แต่ส่วนใหญ่จะประสบแต่ภาวะขาดทุน คือซื้อมาแพง
แต่ขายไม่ได้ราคา พอเป็นอย่างนี้บ่อยเข้า ก็เริ่มเป็นหนี้ มีแต่หนี้พอกพูนเพิ่มขึ้นทุกปี
ทุกคนในบ้านก็เครียด ดิฉันก็เครียดมาก เพราะตัวแดง ๆ ที่ติดอยู่กับหลาย ๆ ธนาคาร
รวมกันแล้วเป็นเลข ๗ หลัก ทุกอย่าง บีบคั้น ชีวิตมันมืดมน
จนแว้บหนึ่ง...เคยคิดสั้น อยากจะฆ่าตัวตาย
แต่แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไป
เพราะในชุมชนเริ่มมีการจัดบวชตามโครงการต่าง ๆ ของวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่บวชพระ ๑
แสนรูปทั่วไทย บวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ๑ แสนคน ทีแรกก็ไม่คิดอะไร
เพียงแต่รับรู้และช่วยให้ทีมงานทำหน้าที่ได้สะดวกขึ้นเท่านั้น
จนมาถึงโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ๑ ล้านคน ผู้นำบุญก็มาชวนบวช
เขาพูดไม่กี่คำ ดิฉันก็เขียนใบสมัครทันที แต่เขียนไปแบบเบลอ ๆ งง ๆ ไม่รู้คิดยังไง
รู้แต่ว่า ถ้าดิฉันไม่เขียนใบสมัคร ลูกบ้านที่อยู่ตรงนั้นอีก ๑๐ กว่าคน
ก็จะไม่เขียน ด้วยความเป็นกำนันและเป็นผู้นำชุมชน เราจึงต้องนำทุกคนทำความดี
พอเขียนใบสมัครปั๊บ ลูกบ้านที่อยู่ตรงนั้น ก็เขียนใบสมัครตามทุกคนเลยค่ะ
พอมาบวชแล้วปลื้มใจมาก
ดีใจที่ได้บวช เวลานั่งสมาธิจะรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว จิตใจมันปลอดโปร่ง
โล่งเบา ไม่มีความกังวลใจ มีความสุขมาก เพิ่งรู้ว่าการบวชนี้ดีจริง ๆ
พอจบโครงการแล้วก็ลุยเปิดบ้านกัลยาณมิตรในทันที โดยทุกวันตอนเย็นจะชวนลูกบ้านให้มาสวดมนต์
นั่งสมาธิที่บ้านของเรา และเปิดช่อง DMC ให้ลูกบ้านดู ทำให้ทุกคนตื่นตัวสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น
ซึ่งตอนนี้มีบ้านกัลยาณมิตรเกิดขึ้นแล้ว กว่า ๒๓ หลังค่ะ
แล้วก็จะหมุนเวียนไปสวดมนต์ นั่งสมาธิตามบ้านต่าง ๆ ทุกวัน บางครั้งก็นำลูกบ้านสวดมนต์
นั่งสมาธิด้วยตนเอง สอนให้พวกเขาภาวนา ‘สัมมาอะระหัง’ ถ้าวันไหน ตรงกับวันพระ
ทุกบ้านก็จะไปสวดมนต์ นั่งสมาธิ ร่วมกันที่ศาลาวัดในหมู่บ้านค่ะ
"ตั้งแต่ดิฉันได้บวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน
และเปิดบ้านกัลยาณมิตร อะไร ๆ ในชีวิตก็ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
จากที่เคยใจร้อนก็กลายเป็นคนใจเย็น ทำอะไรรอบคอบ มีสติมากขึ้น
เรื่องการงานการเงินก็ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จังหวะชีวิตก็ดีขึ้น
จากแต่ก่อนที่มองไม่เห็นช่องทาง เหมือนคนอยู่ในห้องที่ประตูถูกปิดตาย
แต่ตอนนี้ประตูทุกบานถูกเปิดออกเป็นช่องทางรับทรัพย์ มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา
ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ให้ความช่วยเหลือ ให้ยืมเงินไปทำธุรกิจ ทำให้เราไม่ต้องไปเป็นหนี้
ส่วนธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ ก็เจรจาผ่อนผันง่าย จนเหลือเชื่อ
อ้อยที่ไปประมูลมาก็ขายได้กำไรอย่างเดียว ไม่ขาดทุนเหมือนแต่ก่อน แล้วงานหัตถกรรมที่เราทำขายที่บ้าน
ก็มีลูกค้ามาขอซื้ออยู่เรื่อย ๆ เงินมันมาหาเราชนิดไม่ขาดมือเลยค่ะ
แถมเรายังได้รับเลือกเป็นกำนันดีเด่นระดับอำเภอ ปี ๒๕๕๔ อีกด้วย
ดิฉันเชื่อมั่นล้านเปอร์เซ็นต์ ว่าต้องเป็นอานุภาพบุญบวชและบุญชวนคนบวชอย่างแน่นอน
ที่ทำให้เราได้พบกับชีวิตใหม่ที่แฮบปี้สุด ๆ ค่ะ"
ถึงวันนี้
ยอดหญิงอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนทั้งสองยังออกแบบชีวิตของตนเอง
โดยเลือกที่จะกระทำแต่ความดี และมีพระนิพพานเป็นนิมิตหมาย
และยังคงเดินหน้าเป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรชวนบวชอยู่ต่อไป ...จะมีสักกี่ครั้ง
ที่เราจะสามารถคิดดี พูดดี ทำดีได้ตลอดเวลา จะมีสักกี่หน
ที่จะได้ทำในสิ่งที่แม้แต่เรายังต้องยกย่องตัวเอง ดังนั้น การบวชเมื่อยังมีโอกาส
จึงนับเป็นสิ่งที่พึงกระทำมากที่สุด เพราะจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้นว่า
ชีวิตที่ผ่านมา เราทำตัวได้ดีพอหรือยัง การแก้ไขความผิดพลาดควรเริ่มต้นที่ตรงไหน
ความสุขที่ยิ่งกว่า เราจะเป็นเจ้าของได้หรือไม่
และผลบุญที่ได้มาก็พร้อมจะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริง ๆ
Cr. ธรรมยันตี
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๒
เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
บวชพลิกชีวิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:10
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: